http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,991,656
Page Views16,299,829
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ปลดโซ่ตรวนไม้สักและไม้ยาง

 ปลดโซ่ตรวนไม้สักและไม้ยาง


ปลดโซ่ตรวน "ไม้สักและไม้ยาง" 


                            


เหตุเกิดที่หมู่บ้านทหารผ่านศึกรวมไทยพัฒนา อ.พบพระ จ.ตาก 

1.  กองทัพภาค 3 เช่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติตามมาตรา 16 เพื่อการเกษตรกรรม ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ท้องที่อ.พบพระ จ.ตาก จำนวน 125,244 ไร่ (พ.ศ.2530และ2533) แล้วตั้งหมู่บ้านขึ้น 18 หมู่ๆละ 100-200 ครอบครัว บนที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย ครึ่งไร่ ที่ดินทำสวนผลไม้ 5 ไร่ และที่ดินทำพืชไร่ 15 ไร่ พร้อมบ้านอีก 1 หลัง โรงเรียน อนามัย พร้อมสรรพ
2.  พ.ศ.2533  ทหารผ่านศึกจากทุกสารทิศอพยพเข้ามาอยู่เพราะว่าไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีบ้าน ยากจน ส่วนใหญ่มาจากอีสาน เหนือ และภาคกลาง สมัครตายมาเป็นรั้วมนุษย์  ทำกินด้วยการปลูกพืชไร่ ทำสวนกันไปตามเรื่อง มีหนี้สินประปราย
3.  พ.ศ.2537  กรมป่าไม้โดยป่าไม้จังหวัดตาก  เข้ามาส่งเสริมให้ประชาชนปลูกสัก เป็นสวนป่าตาม
พ.ร.บ.2535 พร้อมให้เงินงบประมาณแผ่นดินไร่ละ 3,000 บาท แบ่งจ่าย 5 ปี  ปลูกแล้วนำที่ดินขึ้นทะเบียนสวนป่าได้  ต้นเท่าขวดน้ำปลาก็รวยแล้ว ชาวบ้านยากจนอยากรวย สมัครปลูกกันทั้งสิ้น 844 ราย 5748 ไร่ รายละ 5-10-15  ไร่ ไร่ละ 200 ต้น ค่ากล้าต้นสักป่าไม้จัดให้โดยหักเงินจาก 3,000 บาท
4.  ปีพ.ศ.2537 และ2538 ต้นสักยังเล็กอยู่ ชาวบ้านยังทำไร่ระหว่างร่องต้นสักได้ แต่พอต้นสักโตเข้าปีที่ 3 เรือนยอดคลุมที่ดินหมด บดบังแสงแดดจนหมด ชาวบ้านปลูกพืชไร่ไม่ได้อีกต่อไป แต่ก็ยังมีความหวังว่าต้นสักคือทรัพย์ก้อนใหญ่ มีโอกาสรวยๆๆ
5.  ปีพ.ศ.2539 ป่าไม้จังหวัดตากรับขึ้นทะเบียนสวนป่า แต่เป็นหมัน ขึ้นทะเบียนไม่ได้ นั่นหมายความว่า ต้นสักตกต้องเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 เหตุผลที่ขึ้นทะเบียนไม่ได้เพราะว่ากองทัพเช่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา16 แต่ที่ดินเช่าป่าสงวนแห่งชาติจะขึ้นทะเบียนสวนป่าได้ต้อง เช่าตามมาตรา 16(ทวิ) และมาตรา 20 เท่านั้น
6.  มาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.ป่าไม้พ.ศ.2484 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 "ไม้สักและไม้ยาง เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก." นั่นหมายความว่า ไม่ว่าใครจะปลูกต้นสักและต้นยางที่ไหน บนที่ดินใดๆ ตกเป็นของรัฐทั้งสิ้น หากจะตัดต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ป่าไม้ประทับตราก่อน และต้องเสียค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่า 
7. 
ถ้าต้องแก้ พ.ร.บ.สวนป่าพ.ศ.2535 ต้องแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 (4) เป็น ที่ดินที่มีหนังสืออนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2528 ตามความนัยมาตรา 16 มาตรา 16(ทวิ) และมาตรา 20  ชาวบ้าน 844 รายก็จะนำที่ดินสวนสักขึ้นทะเบียนสวนป่าได้ แต่การแก้ไขกฎหมายไม่ง่ายอย่างที่คิด และกรมป่าไม้ไม่เคยคิดที่จะแก้ไขเพื่อช่วยเหลือประชาชนแต่อย่างใด  

7. ปีพ.ศ.2540-51  ต้นสักโตเท่าขวดน้ำปลา-วัดรอบต้น 90 ซม.  ชาวบ้านดีใจได้ปลื้มที่ต้นสักมันยังเติบโตขึ้นทุกปีๆ  แต่เศร้าใจที่ต้นสักตัดไม่ได้ ขายไม่ได้  ซ้ำร้ายยังมีคนหลายคนเข้ามาหลอกเก็บเงินเพื่อจะไปวิ่งเต้นเพื่อให้ขึ้นทะเบียนสวนป่าให้ได้ เก็บเงินครั้งละ 1000 -5000 บาท 844 รายได้เงินไปเท่าไร ได้กันไปกี่ครั้ง ชาวบ้านบเล่าว่าบางคนก็ให้ บางคนไม่มีจะให้ แต่มีบางคนไปกู้ดอกร้อยละ 20 มาให้ ก็ไม่สำเร็จสักที

8. ปีพ.ศ.2552  นางมะลิ ปิ้กก้ำ ภรรยาหม้ายทหารผ่านศึก โซ่น ปิ้กก้ำ ผู้วายชน มีเพื่อนรุ่นพี่ศิษย์ร่วมสำนักเจ้าแม่แห่งหนึ่งที่อำเภอวิเศษชัยชาญ รู้จักกันมานับสิบๆปี เพิ่งจะเล่าว่ามีปัญหาเรื่องสวนป่าไม้สัก เพื่อนผู้นี้จึงพาไปหาญาติที่นับถือ เรียกกันว่า อากู๋ ๆ จึงขึ้นไปดูพื้นที่จริงและรับปากว่าจะช่วยประสานงานให้ แต่ไม่มีการเรียกเก็บเงินจากชาวบ้านแต่อย่างใด ชาวบ้านเป็นพยานได้



             
9. อากู๋ประสานงานกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดตาก นายวิริยะ ช่วยบำรุง ๆ ส่งเรื่องไปกรมป่าไม้  อากู๋ ติดตามเรื่องที่ส่งไปกรมป่าไม้ ขอคำปรึกษา นายสมชัย เพียรสถาพร เป็นอธิบดี  เมื่ออากู๋เล่าเรื่องให้ฟังนายสมชัยรับปากดำเนินการให้โดยจะให้ชาวสวนสักอำเภอพบพระ จังหวัดตากกลุ่มดังกล่าว 844 ราย 5800 ไร่  สามารถตัดไม้ออกขายได้ ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484  ที่ ทส 1602.2/21811 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2551 สั่งการให้จังหวัดตากดำเนินการ ลงนามโดยนายวิชาญ ทวิชัย รองอธิบดีกรมป่าไม้ลงนาม ใช้เวลากว่า 5 เดือน ชาวบ้านดีใจได้ปลื้ม ดีใจจริงๆ

10. ขั้นตอนการขออนุญาตตัดต้นสักตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ตามระเบียบมีขั้นตอน

            10.1  เจ้าของสวนสักยื่นคำขอที่จังหวัดตาก(ทรัพยากร)

            10.2  จังหวัดสั่งให้เจ้าหน้าที่จากทรัพยากร 1 คนร่วมกับสำนักพัฒนาป่าไม้ที่ 4 จังหวัดตาก 2 คน ไปร่วมกันสำรวจ ตีตราต.และตราตัด พร้อมทำบัญชีขออนุญาตส่งกลับจังหวัด มีค่าใช้จ่ายและใช้เวลา กว่า 2 เดือน

            10.3  จังหวัดส่งบัญชีเหล่านั้นไปกรมป่าไม้ กรมป่าไม้พิจารณาอนุญาต ช่วงนี้ใช้เวลานานเพียงใดไม่ทราบได้  อนุญาตแล้วส่งกลับให้จังหวัดตาก ๆ จึงจะแจ้งให้เจ้าของสวนสัก ตัดได้  ขั้นตอนนี้ใช้เวลานานแค่ไหนยังไม่รู้

            10.4  เจ้าของสวนสักดำเนินการตัด ทอน ทำบัญชีไม้ท่อน พร้อมเสร็จ ใชเวลาและมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น  เมื่อจังหวัดสั่งเจ้าหน้าที่สองหน่วยงานดังกล่าวเข้ามาตีตราชักลากไม้ (ทั้งๆที่ตัดแล้วก็ล้มอยู่ตรงนั้น ไม่ได้ลากไปไหนเลย) และตีตราคำนวนค่าภาคหลวง(ภาษี) และค่าบำรุงป่าตามระเบียบ ใช้เวลานานแค่ไหน มีค่าใช้จ่ายเท่าไร ชาวบ้านยังไม่รู้

            10.5  เจ้าหน้าที่ทำบัญชีและรับชำระค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่า จากเจ้าของสวนสัก

            10.6  ถ้าจะขนย้ายไม้สักไปที่ไหนเพื่อขายหรือขายแล้วต้องมีใบเบิกทางของทางราชการกำกับไม้ไปแสดงระหว่างทาง โดยจังหวัดต้องสั่งเจ้าหน้าที่จากสองหน่วยงานเข้าไปร่วมกันดำเนินการอีก ต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น

11.  ปัญหาใหญ่มากที่เกิดขึ้น  ต้นสักของชาวบ้านที่อำเภอพบพระเหล่านี้ มีขนาดความโตวัดรอบ 30-100 ซม. (เส้นผ่าศูนย์กลาง 3-8 นิ้ว) คละกัน ต้องวิ่งหาคนซื้อ อากู๋พยายามพามาหลายราย แต่ก็ไม่มีคนซื้อ เชิญชวนเพื่อนสื่อมวลชน (มติชน) ไปช่วยเขียนรายงานเพื่อให้เกิดความสนใจ อาจมีคนเข้ามาช่วยซื้อสักคน แต่ก็ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และอากู๋ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าเป็นใคร ชื่อเรียงเสียงไรก็ถูกเปิดโปงความจริงใน นสพ.ฉบับดังกล่าว 

จนถึงรายเจ้าของโรงเลื่อยที่จังหวัดอยุธยา  ว่ากันว่า เป็นเสี่ยพันล้าน มีที่นากว่า 500 ไร่ อากู๋พาขึ้นไปดู 2 ครั้ง ครั้งสุดท้ายไปต่อรองราคาไม้จนพอใจทั้งสองฝ่าย ขนาดต้นสักวัดรอบ 30-39 ซม.ขายต้นละ 150 บาท ขนาด 40-50ขึ้นไปจนกว่า 100 ซม.ราคาต้นละ 200-300 บาท

ชาวบ้านปลูกต้นสักกว่า 15 ปี เสียค่าโง่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่มาส่งเสริม ครั้งหนึ่งแล้ว เสียค่าโง่คนมาอาสาวิ่งเต้นอีกหลายหนหลายคน เป็นครั้งที่สอง  ครั้งนี้จึงยอมทุกอย่างเพื่อให้ขายได้เงินสักก้อนมาใช้หนี้ ก็ยังดีกว่าโค่นทิ้งเพื่อเอาที่ดินมาทำไร่ ทำกินกันไปตามประสาคนยากจนทั่วไป  

ครั้งนี้ เสี่ยพันล้านนัดหมายว่า ก่อนวันที่ 7มีนาคม 2552 จะขึ้นมาวางเงิน ชาวบ้านไชโยโห่หิ้วกันไปทั้งบาง 15 รายแรกได้ขายเสียที มูลค่าไม้สักทั้งหมดที่เสี่ยต้องจ่ายประมาณ 4 ล้านกว่าบาท 17,000 ต้น   ชาวบ้านดีใจทั่วกัน ต่างก็ไปนัดเจ้าหนี้เงินนอกระบบดอกร้อยละ 3 บาทบ้าง 10 บาทบ้าง  20 บาทบ้าง  จะเคลียร์

แต่แล้วก็ขอเลื่อนนัดเป็นก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2552  ผ่านวันที่ 15 ไปแล้ว อากู๋ตอบชาวบ้านไม่ได้ว่า ทำไมเสี่ยพันล้านที่คุยนักคุยหนาว่าใจดีและมีเงินนับพันล้าน จึงไม่ซื้อ ความโศกสลดเกิดขึ้นทั่วตัวตน หน้าหมอง จิตใจห่อเหี่ยว อากู๋เองนอนไม่หลับหลายคืน เครียด เหมือนถูกตบหน้า

12.  ข้อเสนอของอากู๋ วันนี้   อยากให้นิมนต์พระ 4 องค์ ทำพิธีสวดพระอภิธรรมและฌาปนกิจสวนป่าไม้สัก  ชาวบ้านแต่งดำไว้ทุกข์ เชิญสื่อมวลชนท้องถิ่นทุกรายการร่วมงาน   มีเอกสารแจกเรื่องราวย่อๆ ถามหาความเป็นธรรมในสังคม

13.  ประเด็นเดือดและเร่งร้อน 

13.1 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่เอาเงินโครงการส่งเสริมการปลูกป่าไร่ละ 3000 บาท แบ่งจ่าย 5 ปี จ่ายผิดระเบียบทางราชการหรือไม่ ในเมื่อที่ดินเช่าตามมาตรา 16 แจกไม่ได้แต่ก็แจก งานนี้มีอายุความ 20 ปี วันนี้ผ่านไปแล้ว 15 ปี เร็วๆหน่อย

13.2 เจ้าหน้าที่ สตง.ประจำกรมป่าไม้ช่วงนั้น หรือสตง.ประจำจังหวัดตาก ทำอะไรอยู่ ปล่อยให้เกิดความเสียหายต่อรัฐเป็นเงินเท่าไร  ใครจะต้องรับผิดชอบ  ควรแจ้ง สตง.สำนักงานใหญ่หรือไม่

13.3 ความเดือดร้อนของประชาชนครั้งนี้ มิใช่เกิดแค่ว่าขายต้นสักไม่ได้ แต่เขาเหล่านั้นสูญเสียผลประโยชน์จากรายได้ที่ควรได้รับจากการปลูกพืชไร่กว่า 15 ปี เป็นมูลค่าเท่าไร  ขณะนี้ บางรายตัดต้นสักทิ้งบ้าง เอามาใช้ในบ้านบ้าง เพื่อใช้ที่ดินปลูกพืชไร่อายุสั้น ทำกินไปพลางๆ แก้ไขความโง่ที่หลงเชื่อส่วนราชการเช่นกรมป่าไม้

13.4  อันเนื่องมาจาก ต้นสักและต้นยาง ถูกโซ่ตรวนจองจำไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2507 ทำให้ใครก็ตามที่ปลูกไม้สักและไม้ยาง ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ จึงจะตัดออกใช้หรือขายได้  เข้าทางกับดักทุกประการตาม พ.ร.บ.สวนป่า 2535 เรื่องนี้เดือดร้อนกันทั่วไป มีพยานอีกมากมายหลายแห่งที่ต้องตกเป็นเหยื่อ

13.5  พ.ร.บ.สวนป่าปีพ.ศ.2535  ได้กำหนดขั้นตอนเป็นกับดักไว้หลายขั้นตอน ทำให้ผู้ปลูกป่าไม้สักและยางต้องยุ่งยาก แม้กระทั่งการตั้งโรงงานประดิษฐ์กรรมไม้ที่ปลูกจากสวนป่าเช่นนี้ก็ยังไปบังคับให้ปฏิบัติตามระเบียบกรมป่าไม้ ซึ่งเกิดช่องว่างและโอกาสในการทุจริตตามขั้นตอนการอนุมัติและอนุญาตเสมอ วงจรอุบาทในกรมป่าไม้มีมานานกว่า 110 ปีแล้วมิใช่หรือ ?

13.6  คิดใหม่ทำใหม่เสียทีเถอะ เพื่อให้ประชาชนได้สิทธิในการทำกินอย่างปลอดโปร่ง และร่วมคืนป่าสู่แผ่นดิน ได้อย่างมากมาย  ใครๆก็อยากปลูกป่าไม้สักเป็นของตนเอง นอกจากนั้นยังได้ สิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์  นกจะมีที่หลบร้อนและมีหนอนให้จิกกิน  ต้นไม้จะช่วยแปลง คาบอนไดซ์อ็อกไซด์เป็นเนื้อไม้ได้อย่างมหาศาล ช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกต่างหาก แต่ถ้ายังไม่ยอมปลดโซ่ตรวนให้กับไม้หวงห้ามเช่นไม้สักและไม้ยางแล้ว จะถือว่าเป็นกรรมของแผ่นดิน และผลประโยชน์ โดยรวมของคนทั้งชาติ หรือไม่?

 


วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11298 มติชนรายวัน


ชาวบ้านสะอื้น-หนี้ท่วม หลงเชื่อรัฐ "ปลูกสัก" หวังรวย


คอลัมน์ ทางเลือกทางรอด

โดย ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง



ความจริงได้ยินพรรคพวกเพื่อนฝูงที่ลงทุนปลูกสักนับร้อยไร่แล้วขายไม่ได้มานานนับปีแล้ว แต่นั่นไม่เท่าไหร่ เพราะเขายังมีธุรกิจตัวอื่นอีก ทว่าชาวบ้านในเขต อ.พบพระ จ.ตาก เดือดร้อนกันหนักหนาสาหัส ลงแรงปลูกสักกว่าสิบปีแล้วหวังว่าวันหนึ่งจะรวยตามที่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้สมัยนั้นโฆษณาชวนเชื่อไว้ แต่เฝ้ารอแล้วรอเล่านอกจากจะตัดไม่ได้แล้ว ที่ดินทำกินที่ได้คนละ 20 ไร่ เมื่อปลูกสักก็ปลูกพืชอื่นไม่ได้ ตอนนี้ตั้งหน้าตั้งตารออยู่ว่าเมื่อไหร่ราชการจะอนุญาตให้ตัดไม้ได้เสียที และจะมีโรงเลื่อยหรือนายทุนที่ไหนมารับซื้อสักจำนวน 5 พันกว่าไร่ใน 16 หมู่บ้านชายแดนติดพม่า ถ้าฝันเป็นจริงตัดไม้สักขายได้ พวกเขาจะได้ลืมตาอ้าปาก นำเงินไปใช้หนี้ใช้สินเสียที

คุณชลอ เอี่ยมสะอาด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.ลมไผ่พนา อ.พบพระ จ.ตาก เล่าว่า ปี 2537-2538 ทางทหารกับป่าไม้มาส่งเสริมให้ปลูกสัก บอกว่า 10 ปีตัดได้จะมีรายได้เพิ่ม แต่ 10 ปี ก็ยังไม่สามารถตัดได้ ตอนแรกแจ้งว่าไม่มีเอกสารสิทธิที่ทำกิน พอปลายปี 2551 มีเจ้าหน้าที่ช่วยผลักดันให้ทางป่าไม้อนุญาตแต่ก็ยังไม่มีคนซื้อ โดยให้เหตุผลว่ามีปัญหาเรื่องพื้นที่

ชาวบ้านอีกคนที่เดือดร้อนร่วมให้ข้อมูลด้วยคือ "ป้าสนม วงศ์กระโซ่" อายุ 51 ปี ปลูกเมื่อปี 2538 จำนวน 15 ไร่ ประมาณกว่า 2,000 ต้น ที่ปลูกเพราะเจ้าหน้าที่บอกว่าปลูกแล้วจะรวย

"คนเราอยากรวยกันทุกคน เราตาสีตาสาก็ไม่รู้เรื่องอะไร เขาบอกว่าถ้าสักโตเท่าขวดน้ำปลาจะประมูลได้ จำนำจำนองได้ พอสักโตเท่าขวดน้ำปลา ปัญหาก็เกิดขึ้นอีก เขาบอกว่าต้องโตมากกว่านี้ พอสักโตใหญ่กว่าขวดน้ำปลาเขาก็บอกว่าขายไม่ได้แล้ว คุณมีเอกสารอะไรไปเผาไฟทิ้งเลย พวกเราก็น้อยใจว่าให้ปลูกแล้วทำไมไม่ดำเนินเรื่องให้" ป้าสนมเล่าด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ดวงตาเศร้า


(บน) ครอบครัวทหารผ่านศึกที่ได้รับความเดือดร้อน (ล่าง) เส้นทางระหว่างไปหมู่บ้านรวมไทยพัฒนา



ความทุกข์ของป้าสนมยังไม่หมดแค่นั้น เพราะเจ้าหน้าที่รัฐยังขู่ด้วยว่า ถ้าตัดโดยไม่ได้รับอนุญาตต้องนอนคุกแน่ ชาวบ้านเลยไม่กล้าตัดขาย ได้แต่นำมาซ่อมแซมบ้านเท่านั้น ขณะที่หนี้ ธ.ก.ส.พอกพูนเรื่อยๆ เริ่มต้นกู้แค่ 5 หมื่น ตอนนี้เงินต้นผสมดอกเป็นแสนแล้ว

"ทีแรกป้าคิดจะผูกคอตาย กินยาตาย นึกได้ว่าคนที่หนักกว่าเราก็คงมี เราน่าจะมีโอกาสสักวันหนึ่ง จึงรอจนถึงบัดนี้ อยากให้กรมป่าไม้ทำแบบง่ายๆ ให้ตัดได้ ขายได้ มีพ่อค้าเข้ามาซื้อ จะได้ที่ทำกินคืนมา"

ใช่แต่คนไทยเท่านั้น ม้งที่อยู่ในพื้นที่นี้ก็มีโชคชะตาเดียวกัน "พิษณุ อย่างกุลยาชัย" ผู้ใหญ่บ้าน เก้ารวมไทย หมู่ที่ 5 ต.รวมไทยพัฒนา เล่าว่า มีลูกบ้าน 4 ราย ที่ปลูกสัก แต่ตัดขายไม่ได้เลย จึงอยากให้ทางป่าไม้อนุญาตให้ลูกบ้านตัดขายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ไพโรจน์ "ลูกบ้านม้งของเขาคนหนึ่งโอดครวญว่า ตอนเข้ามาอยู่ใหม่ๆ มีโครงการหลวงมาบอกว่าปลูกสักแล้วจะได้ดี เลยปลูก 15 ไร่ รวม 17 ปี ตอนแรกอุ่นใจแต่ตอนนี้หมดหวังแล้ว เพราะขายไม่ได้ จึงตัดมาใช้ในบ้าน

ชาวบ้านเดือดร้อนกันหนักขนาดนี้ไม่รู้ว่าพ่อเมืองตากและหน่วยงานทั้งหลายที่เข้าไปส่งเสริมให้ปลูกจะช่วยให้พวกเขาพ้นทุกข์ได้หรือไม่

 

ผมเข้าไปช่วยชาวบ้านเพื่อให้เขาตัดสักขายได้ เพราะพวกเขาลำบากมาก แต่ละคนเป็นหนี้ธ.ก.ส.หลักแสนๆ บางคนไปกู้หนี้นอกระบบจนถูกยึดที่ทำกินไปแล้ว ตอนนี้ผมดำเนินการติดต่อกรมอุทยานฯอยู่ ซึ่งใช้เวลามากเพราะมีหลายขั้นตอนที่ยุ่งยาก ชาวบ้านทั่วไปเขาไม่รู้เรื่องและไม่มีเวลา ที่ผ่านมา มีคนไปหลอกชาวบ้านว่าจะช่วยโดยเรียกเก็บเงิน สุดท้ายก็ยังตัดไม้ไม่ได้

 

ธงชัย เปาอินทร์ - สนม วงศ์กระโซ่



ปัญหาของการปลูกไม้สักอยู่ที่ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2503 บัญญัติให้ "ไม้สักและไม้ยาง ไม่ว่าขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักรเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก " นี่คือ โซ่ตรวนที่จองจำไม้สักและไม้ยางมาอย่างยาวนาน สรุปคือใครปลูกก็ตกเป็นไม้ของหลวงทั้งสิ้น จะตัดใช้หรือล้มทิ้งต้องขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ป่าไม้ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484

ต่อมาเมื่อกรมป่าไม้ตรา พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 ออกสู่สาธารณะชน เพื่อให้เอกชนหรือประชาชนปลูกป่าไม้สักและยาง หรือไม้หวงห้ามอื่นๆ ได้ในที่ดินตามมาตรา 4 (ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ โฉนด น.ส.3, น.ส. 3 ก. ส.ป.ก.4-01 เช่าป่าสงวนแห่งชาติตามมาตรา 16 ทวิ และ มาตรา 20 และอื่นๆ) แต่ปรากฏว่ากรณีของชาวบ้านที่พบพระ ไม่เข้าหลักเกณฑ์นี้ เนื่องจากโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง (พพพ.) และพื้นที่ จคพ. อ.พบพระ จ.ตาก เป็นโครงการของกองทัพภาคที่ 3 ที่ส่งทหารผ่านศึกจากทุกสารทิศเข้าไปอยู่ตามแนวชายแดน ร่วมกับชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง กองทัพภาคที่ 3 จึงขอเช่าที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ตามมาตรา 16 (เพื่อการเกษตรกรรม) แล้วตั้งหมู่บ้านตามแนวชายแดน 18 หมู่บ้านๆ ละ 100-200 ครอบครัว เรียกว่า หมู่บ้านรวมไทยพัฒนาหมู่ที่ 1-18 ไม่ได้เช่าตามมาตรา 16 ทวิ และ 20 ที่จะขึ้นทะเบียนสวนป่าได้

สาเหตุที่ชาวบ้านแห่ปลูกสักกันมากเพราะเมื่อ พ.ศ.2536 ส่วนปลูกป่าภาคเอกชน กรมป่าไม้ เสนอโครงการปลูกป่าไม้สักทั่วประเทศ มีงบประมาณให้ผู้ปลูกป่าไร่ละ 3,000 บาท ปีถัดมาสำนักงานป่าไม้ตากได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกป่าสักทั่วทั้งจังหวัด ด้วยประโยคที่ให้ความหวังว่า "ปลูกป่าไม้สักของใครของมัน ต้นแค่ขวดน้ำปลาก็เริ่มตัดได้แล้ว รวยๆๆ บางครอบครัวใจใหญ่ปลูกเต็มพื้นที่ 15 ไร่ บางครอบครัว 5-10 ไร่ รวมแล้ว 18 หมู่บ้าน มีผู้ปลูกอยู่ 844 ราย รวมเนื้อที่ 5,800 ไร่ แต่พอสักโตได้ที่ก็ไม่สามารถขายได้สักที เพราะถ้าจะทำตามขั้นตอนต้องใช้เวลานานและเสียค่าใช้จ่ายเยอะ ในขณะที่ชาวบ้านไม่มีเงิน เวลาล่วงเลยมา 10 กว่าปีแล้ว ที่ดินนั้นก็ไม่สามารถทำอะไรได้ หัวหน้าครอบครัวหลายคนต้องเข้า กทม.มาหางานทำ

ทางออกของเรื่องนี้คือ ทำอย่างไรให้ระเบียบการทำไม้ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ สะดวกรวดเร็วขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาได้มากขึ้น จูงใจให้พ่อค้าไม้อยากเข้ามาซื้อ ส่วนมาตรการระยะยาว ต้องปลดโซ่ตรวนไม้สัก จากมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 แก้ไขเพิ่มเติม 2503 พร้อมกับยกเลิก พ.ร.บ.สวนป่า 2535 เปิดกว้างให้ไม้สักและไม้ยาง ปลูกบนที่ดินของใคร ที่ไหน ใครปลูกก็เป็นของคนนั้น จะตัด เลื่อย ทอน ผ่า แปรรูป ทำสิ่งประดิษฐ์ จำหน่ายจ่ายแจก ฯลฯ รับประกันได้เลยว่าไม้สักจะผุดขึ้นทั่วแผ่นดิน ไม่ต้องเสียเงินส่งเสริมให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน ไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่กรมใดๆเข้ามาเกี่ยวข้อง"



 

Tags : ททท.ภูมิภาค ภาคตะวันออก

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view