http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม14,005,697
Page Views16,314,660
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

สัมปทานอุทยานแห่งชาติจำเป็นหรือไม่

สัมปทานอุทยานแห่งชาติจำเป็นหรือไม่

สัมปทานอุทยานแห่งชาติ จำเป็นหรือไม่

 

            หากนับเนื่องจากหลักการจัดการอุทยานแห่งชาติสากล การให้สัมปทาน(หรือการร่วมลงทุน)พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่เอกชนเพื่อให้ดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยวครบวงจร ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่แปลกประหลาดก็คือ ในกระบวนการจัดการอุทยานแห่งชาติทุกวันนี้ ตีกรอบนิยามของคำว่าการท่องเที่ยวเป็นเพียงแค่การนันทนาการกลางแจ้ง หรือยึดโยงแนวคิดการอนุรักษ์จ๋าเกินไปหรือไม่ ที่เหลือรับประทาน ในทุกอุทยานแห่งชาติมีปัญหาเรื่องการบุรุกพื้นที่ของเอกชนทั่วไป เอกภาพการบริหารก็ล่อแหลมเกินไปแล้วหรือไม่ หรือนี่คือทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกเช่นเกาะเสม็ด ?



           



สภาพปัญหาที่เรียกว่าปัดฝุ่นเข้าใต้พรม


           
เมื่อตราพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ตั้งอุทยานแห่งชาติโดยเริ่มต้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ผู้รับผิดชอบงานอุทยานแห่งชาติช่วงแรกๆ คืออดีตอธิบดีกรมป่าไม้ นายไพโรจน์ สุวรรณกร  ผู้ได้รับการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการจัดการต้นน้ำจากประเทศสหรัฐอเมริกา  ซึ่งยึดมั่นในหลักวิชาการเสมอมา

พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จึงปลอดมนุษย์ ที่ใดที่เคยถูกบุกรุกทำไร่เลื่อนลอยก็อพยพผู้บุกรุกออกจนหมด เช่นหนองผักชี หรือมอสิงโต เคยเป็นไร่ข้าวโพด เหตุผลคือมนุษย์มีสมองโต ฉลาดแกมโกงและมีอารมณ์ ความรู้สึก อยากได้จนถึงมีความโลภโมโทสัน มนุษย์จึงไม่น่าไว้วางใจนัก ดังนั้น เมื่ออพยพคนออกจากพื้นที่ถูกบุกรุก จึงกลายเป็นทุ่งหญ้าที่ใช้ดูสัตว์ป่าได้อย่างดี มีโอกาสเห็นสัตว์ป่าได้ง่ายขึ้น มีหอดูสัตว์ป่าอย่างปลอดภัย เสียอย่างเดียวไม่มีกล้องส่องทางไกลแบบหยอดเหรียญเหมือนในต่างประเทศให้นักท่องเที่ยวได้เห็นสัตว์ป่าอย่างใกล้ชิดกว่าดูด้วยตาเปล่าๆ

พื้นที่ป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จึงอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าดงดิบเป็นส่วนใหญ่ มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งด้านพืชและสัตว์ป่า มีทรัพยากรท่องเที่ยวมากมายหลายประเภท วิวทิวทัศน์ น้ำตก กล้วยไม้ป่า สัตว์ป่าบนดิน นกบนต้นไม้ เป็นแหล่งอาศัยและแหล่งหากิน เป็นบ้านที่อบอุ่นปลอดภัยของสรรพชีวิต และยังเอื้อประโยชน์ในสถานะภาพป่าต้นน้ำชั้นหนึ่งของลุ่มน้ำหลายสาขาเช่น ต้นน้ำมูล ต้นน้ำปราจีนบุรี ต้นน้ำลำตะคอง ฯลฯ  

แต่น่าเสียดายที่หลังจากพ้นยุคสมัยหลักการจัดการอุทยานเข้มข้น การกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติทุกแห่งได้กำหนดเขตอย่างหลวมๆ ขาดดุลยพินิจในการคัดเลือกพื้นที่ สักแต่ว่ารวบรวมพื้นที่ให้ได้มากๆ หลายสิบอุทยานแห่งชาติในปัจจุบันนี้จึงเป็นผืนป่าที่กระโดดไปกระโดดมา ไม่เป็นป่าผืนเดียวกัน บางแห่งไม่มีทรัพยากรท่องเที่ยวเลย บางแห่งมีเพียงอย่างเดียว พื้นที่ที่มีอยู่เป็นภูเขาหิน  ป่าเต็งรังที่ดินเลว   ศักยภาพความเป็นป่าต้นน้ำต่ำสุดๆ

ประการสำคัญ พื้นที่อุทยานแห่งชาติถูกขีดครอบหมู่บ้านดั้งเดิม หรือพื้นที่ที่เป็นแหล่งทำกินเก่าแก่ของชุมชน โดยมิได้กำหนดให้อพยพออกหรือกันออก แต่อย่างใด  พอมีการประกาศทับเป็นอุทยานแห่งชาติจึงเต็มไปด้วยปัญหาไม่หยุดหย่อน หรือบางแห่งก็ล่อแหลมต่อการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เนื่องจากความไม่เอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่ ก็มีไม่น้อย

                   


เมื่อยุคการท่องเที่ยวเฟื่องฟู  

           
             พื้นที่อุทยานแห่งชาติหลายสิบแห่งจัดการบริหารตามรูปแบบราชการ มีการแบ่งพื้นที่ป่าอนุรักษ์ออกเป็นเขตป่าอนุรักษ์ที่ใช้ท่องเที่ยวได้เช่น น้ำตก ลำห้วย ลานดอกไม้ป่าแสนสวย จุดชมวิวทิวทัศน์ เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ เป็นต้น  เขตป่าประเภทป่าอนุรักษ์ที่หวงห้ามสุดๆ ไม่ให้เข้าไปสัมผัสเพราะว่าเปราะบางต่อการเสื่อมเสียถือว่าเป็นป่าปิด อีกส่วนหนึ่งเป็นเขตบริการที่กำหนดให้เป็น ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ บ้านพักพนักงานเจ้าหน้าที่  บ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร  ร้านขายของที่ระลึก ลานกางเต็นท์ สามส่วนดังกล่าวจึงเป็นเขตที่แบ่งตามหลักวิชาการ

แต่ก็อย่างว่า เมื่อพื้นที่อุทยานแห่งชาติไม่บริสุทธิ์ เคยมีชุมชนอาศัยอยู่ดั้งเดิม เป็นที่ดินทำกินหรือสวนยางพารา หรือผลไม้ หรือตั้งบ้านเรือนอยู่  ฯลฯ เมื่อไปประกาศทับจึงกลายเป็นลักษณะอุทยานแห่งชาติแบบไทยๆ ไม่เหมือนหลักการคัดเลือกพื้นที่ตามหลักการที่ถูกต้อง  ครั้นการท่องเที่ยวเฟื่องฟูขึ้นมา ชุมชนดั้งเดิมเหล่านั้นขายที่ดินให้กับกลุ่มธุรกิจ หรือทำเอง จนกลายเป็นรีสอร์ตไปทุกหย่อมหญ้า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติจึงเละตุ้มเป๊ะ เช่นกรณี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเสม็ด-เขาแหลมหญ้า อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา(เกาะหลีเป๊ะ-อาดัง) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ฯลฯ   

บนเกาะเสม็ด ชุมชนดั้งเดิมกว่า 30 รายปลูกกระต๊อบ เพิงพัก หาดใครหาดมัน มีทั้งผู้อยู่เดิมและมาซื้อในภายหลัง ยิ่งปัจจุบันนี้เปลี่ยนมือไปไกลลิบ และเมื่อมีการจับกุมดำเนินคดีบุกรุกอุทยานแห่งชาติ จึงเกิดความเคลื่อนไหว ต่อต้าน ตั้งท่า อารยะขัดขืน การดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวยังดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ถ้าอุทยานแห่งชาติแก้ไขปัญหาโดยใช้รูปแบบการกำหนดเขตบริการ แล้วให้ผู้บุกรุกเช่าตามระเบียบของอุทยานแห่งชาติ ก็กลายเป็นว่า หัวหน้าอุทยานแห่งชาติใช้ตำแหน่งหน้าที่หาผลประโยชน์  จึงไม่มีใครกล้าทำ และล้มเลิกไป ปล่อยปัญหาคาอยู่ต่อไป


            


       อย่างไรก็ตาม เมื่ออธิบดีกรมป่าไม้นายปลอดประสบ สุรัสวดี เข้ามาแก้ไขปัญหา ได้ทำข้อตกลงกับจังหวัดระยอง เปิดเกมส์เป็นการอ้างว่าพื้นที่ที่เอกชนบุกรุกนั้นเป็นที่ราชพัสดุ ให้ไปทำเรื่องเช่าจากจังหวัดระยอง เวรกรรมของหลักการจัดการอุทยานแห่งชาติแท้ๆ ทุกวันนี้ เกาะเสม็ดมีสภาพเป็นเมืองรีสอร์ตมากกว่าอุทยานแห่งชาติ มีบาร์เบียร์เปิดเพลงฟังประกอบแสงสี มีกระทั่งเธคในบางคืน กัญชายาบ้าไม่ต้องพูดถึง เพียบ
! เคยมีฝรั่งถามด้วยความสงสัยว่า เสม็ดเป็นอุทยานแห่งชาติตรงไหน? ซึ่งตอบยากจริงๆ

 

การบังคับใช้กฎหมายทับซ้อนกันหรือไม่


             คำนิยามของ อุทยานแห่งชาติ หมายถึง ที่ดินซึ่งรวมความทั้งที่ดินทั่วไป ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะและชายทะเล ซึ่งได้รับการกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ลักษณะที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่มีสภาพธรรมชาติที่น่าสนใจ และมิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใด ซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง  มีนัยยะสำคัญประการหนึ่ง นั่นคือถ้าการประกาศทับพื้นที่ทำกินหรืออยู่อาศัยของบุคคล เขามีเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมายที่ดินเช่น น.ส.3, โฉนด ,ส.ป.ก. 4-01, น.ค. 1-3 ฯลฯ ถูกยกเว้นไม่เป็นอุทยานแห่งชาติหรือไม่
?

ส่วนกรณี ที่ดินทำกินของประชาชนที่ถูกขีดคร่อมให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เช่นเป็นหมู่บ้านในป่าสงวนแห่งชาติเดิม เป็นที่ดินสวนผลไม้ ยางพารา หรือพืชไร่ เช่นไร่หมุนเวียนของกะเหรี่ยง ม้ง เย้า หรือชาวไทยทั่วไป จะถือว่าได้มาหรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลหรือไม่? ในต่างประเทศถ้าพื้นที่ตรงจุดที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ หากเกิดกรณีเช่นที่ว่านี้ เขาใช้การเวนคืน หรือซื้อคืนเพื่อให้เป็นอุทยานแห่งชาติที่สมบูรณ์ เรื่องฝุ่นใต้พรมก็ไม่เกิด

อย่างไรก็ตาม ในกรณีการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติของไทย ประกาศทับดื้อๆ ต่อมาในรัฐบาลหนึ่งมีการประกาศมติ ครม.  30 มิถุนายน 2541 ให้สำรวจการถือครองพื้นที่ในป่าอนุรักษ์ งดการจับกุม ให้ทำกินไปเรื่อยๆ ตราบจนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีข้อยุติที่ชัดเจนว่า จะกันออก หรือจะอพยพชุมชนออก หรือออกเอกสารสิทธิ์ให้ เป็นฝีที่กลัดหนองอยู่อย่างนั้น


                   

        แต่เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 คือ มาตรา 3. บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วใน พระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
 ดังนั้น กรณีเกาะเสม็ด หรือตะรุเตา(เกาะอาดัง-หลีเป๊ะ) หรือพีพี หรือสิมิลัน หรือ ฯลฯ เมื่อประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติทับลงไปแล้ว ย่อมต้องใช้กฎหมายฉบับนี้มิใช่หรือ? เหตุใดจึงมีการหยิบยก พระราชบัญญัติที่ดินราชพัสดุขึ้นมาอ้างใช้

คำถามที่ต้องการคำตอบ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการบังคับใช้กฎหมายทับซ้อนและผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายอุทยานหรือไม่   ?


สิ่งที่ต้องทำก่อนการให้สัมปทานอุทยานแห่งช่าติ


           
ในเมื่อทุกวันนี้อุทยานแห่งชาติเกือบทุกแห่งทั้งที่ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแล้ว และเตรียมการประกาศ ล้วนแต่หมักหมมฝุ่นไว้ใต้พรมมากมายหลายกอง สมควรหรือไม่ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะได้สืบหาข้อมูลพื้นฐาน(
Data base) ของแต่ละอุทยานอย่างละเอียด มีแบบแผน โดยกำหนดเวลาปฏิบัติการให้แล้วเสร็จ เพื่อจะได้เป็นข้อมูลในการพิจารณาดำเนินการอย่างแม่นตรง รวดเร็ว และมีความเป็นไปได้จริงๆ

            อย่างไรก็ตาม สมควรแบ่งระดับชั้นหรือประเภทของอุทยานแห่งชาติด้วยหรือไม่ด้วยตัววัดที่เป็นมาตรฐาน เช่น

เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีทรัพยากรท่องเที่ยวระดับโลก ระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น หลายๆสิบอุทยานแห่งชาติมีทรัพยากรท่องเที่ยวเพียงเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับภูธรหรือชาวบ้านๆ หรือแค่ในท้องถิ่น แต่อีกหลายสิบอุทยานแห่งชาติมีทรัพยากรท่องเที่ยวหลากหลายมิติ มีมากขนาดเทียบเคียงระดับนานาชาติ เป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวระดับประเทศและต่างประเทศ

            เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการเป็นป่าอนุรักษ์ เป็นเพียงปอดของท้องถิ่น เป็นแหล่งวิชาการสืบค้นหาความรู้ในทางวิชาการเช่นพฤกษ์ศาสตร์ สมุนไพร หรือที่อยู่อาศัยและหากินของสัตว์ป่า ไม่เหมาะที่จะเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวสากล ก็พัฒนาเพื่อการเรียนรู้ เป็นแหล่งวิชาการ เป็นสถานที่ระดับนันทนาการท้องถิ่น เป็นเหมือนห้องสมุดธรรมชาติ การศึกษาวิจัยแล้วนำมาเขียนเป็นตำรา


                

       
เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีเขาหิน ถ้ำ พันธุ์พืช สัตว์ป่าแปลก หรือแตกต่างจากแหล่งอื่นๆ หรือหายาก ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างในระดับที่เด่นชัด จำเป็นต้องสงวนรักษาไว้ไม่ให้ถูกรบกวนจากนักท่องเที่ยวเช่นเกาะรังนกนางแอ่น เกาะเต่าทะเล เขาที่มีพันธุ์พืชหายากและเปราะบางต่อการถูกทำลายหรือลักลอบ  หรือผีเสื้อหายากใกล้สูญพันธุ์เช่นที่ดอยเชียงดาว  ผ้าห่มปก  หรือ แหล่งเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติของกวางผาหรือเลียงผาหรือ ฯลฯ  ต้องถือเป็น อุทยานแห่งชาติปิด (
Restrict National Park)

            เมื่อจัดระเบียบอุทยานแห่งชาติอย่างมีระบบแล้ว การจัดการก็จะมีรูปแบบเฉพาะเหมาะสมกับอุทยานแห่งชาตินั้นๆ อย่างมีความหมาย เช่น ถ้าเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล มีชายหาดสวย ปะการังเยอะ ก็จัดการไปอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีน้ำตกสวยงามยิ่งใหญ่ มีป่าที่หลากหลายให้ความสวยงาม ก็จัดการไปอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นอุทยานแห่งชาติปิดก็ควรต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น การจัดการก็ต้องอีกรูปแบบหนึ่ง


สัมปทานทำไม้ระยะยาวในอดีต และสัมปทานอุทยานแห่งชาติ จะแตกต่างในความเหมือนหรือไม่


           
ในอดีต แนวคิดการให้สัมปทานทำไม้ระยะยาวให้กันเป็นจังหวัดๆ เรียกว่าบริษัททำไม้จังหวัด........ระยะเวลาให้สัมปทาน 30  ปี แทนการอนุญาตระยะสั้นๆ เป็นรายๆไป ทุกๆปีหรือ 5 ปี โดยมีเงื่อนไขสัมปทานมากมายหลายข้อ ล้วนแต่อ่านดูแล้วต้องยอมรับว่า ถ้าทำได้ตามกติกาป่าจะถูกจัดการอย่างยั่งยืนแน่นอน ซึ้งใจในรูปแบบในจินตนาการ หลงเลย  แต่เมื่อได้ไปสัมผัสจริงจากการปฏิบัติการของบริษัททำไม้จำกัดและข้าราชการที่มีหน้าที่ในการควบคุม การจัดการ สรุปคำตอบสั้นๆ ได้เพียง หลักการดีแต่เลวที่คน สมผลประโยชน์ก็เออออห่อหมกกันสิ้น

            ในการให้สัมปทานทำไม้ระยะยาวดังกล่าวรวมถึงการให้สัมปทานแก่องค์การทหารผ่านศึก องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.)  บริษัทไม้อัดไทย  การรถไฟแห่งประเทศไทย นิคมสร้างตนเอง (อาจมีข้อยกเว้นเพราะว่าต้องตัดไม้ออกเพื่อเปิดพื้นที่ทำกินให้กับราษฎรยากจนในนิคม) พื้นที่ที่ทหารหาญขอใช้เพื่อการซ้อมรบ สรุปคำตอบสั้นๆ เช่นกันว่า หลักการดี แต่เลวที่คนอีกเช่นกัน  ป่าหมดเกลี้ยงอย่างไม่อยากจะเชื่อเลย แม่ง

            ในที่สุดป่าสัมปทานทำไม้ระยะยาวก็ล่มสลายลงไปกับหลักการ บริษัททำไม้จังหวัดจำกัด ทำไม้ออกตามที่ป่าไม้กำหนด แต่ป่าไม้กำหนดตามที่บริษัทต้องการ โดยสมผลประโยชน์โภคผลก็ว่ากันไป แถมด้วยบริษัทกำหนดเงื่อนไขพิเศษเพิ่มให้อย่างยากจะปฏิเสธ เป็นอันว่าการให้สัมปทานทำไม้ระยะยาวด้วยเจตนารมณ์ที่จะให้เป็นอาชีพถาวรของบรรดาผู้รับสัมปทาน ไม่เป็นจริง ความจริงคือ ทำวันนี้ให้ได้ประโยชน์มากที่สุดเพื่อบริษัท ไม่ได้รักษาป่าไม้ไว้ให้ลูกหลานสืบไปอย่างเจตนารมณ์เลย เอาวันนี้ให้มากที่สุด

            บทเรียนราคาแพงจากการให้สัมปทานทำไม้ระยะยาวมิใช่เพียงบริษัททำไม้จังหวัด หากแต่องค์การรัฐวิสาหกิจต่างๆ ก็ล้วนแต่ป่าหมด ไม่เชื่อก็ไปถามองค์การต่างๆดู หรือการรถไฟ หรือ แม้แต่ที่ดินของทหารขอใช้ก็ตาม ดังนั้น การให้สัมปทานทำอุทยานแห่งชาติให้เป็นธุรกิจท่องเที่ยวครบวงจร แม้อาจจะไม่ได้บุกรุกพื้นที่เพิ่มขึ้น แต่ก็อาจจะเละตุ้มเป๊ะเหมือนบังกะโลหาดบางแสนของ ททท. ผู้มีอิทธิพลครอบครองเบ็ดเสร็จ เข้าแล้วไม่ออก ไม่ว่าจะเงื่อนไขใดๆ


                    

ความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมายอ่อนด้อย


           
ในอุทยานแห่งชาติทุกแห่ง ทุกวันนี้ พื้นที่ที่กันเป็นเขตบริการให้พ่อค้าแม่ค้าเข้าไปขายใช้ประโยชน์ก็ควบคุมไม่ได้ ได้ก็ไม่พัฒนา จะให้ออกก็ใช้การร้องเรียนๆ ก็ได้ผลที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาตินั้นๆ มักถูกย้าย หรือแอบแฝงผลประโยชน์นานาที่แทรกแซงได้เข้าไปสวมรอย บ้างก็เอาญาติมาแทรก บ้างก็เอาครอบครัวมาแทรก บ้างก็เอาเมียน้อยมาแทรก ดูมันทำ
?

            กฎกติกาที่แม้จะเป็นอุทยานแห่งชาติที่จัดการโดยข้าราชการก็มิใช่ว่าจะไร้ปัญหา หากแต่หมักหมมและหมกฝุ่นเข้าใต้พรมเกือบทุกแห่ง ที่เขาใหญ่พนักงานเจ้าหน้าที่แอบแฝงผลประโยชน์เรื่องร้านอาหาร ร้านสวัสดิการ รถเร่ส่องสัตว์ในยามค่ำคืน การเช่าที่กางเต็นท์และบ้านพักในบางกรณี บางที ไม่รู้จักใครเลย บ้านไม่ว่างสักครั้ง ผมเองยังโดนเช่าบ้านพักที่ลูกจ้างพนักงานบอกว่า มีว่างแต่ไม่มีใบเสร็จให้ เอาไหม?(อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ช่วงนายนพดล พฤกษะวัน เป็นหัวหน้า คืนนั้นผมนอนบ้านตรงข้ามกับหัวหน้าอุทยานพอดี )

เหตุผล ผมไม่เคยแสดงตนว่าเป็นใคร  แต่ยินดีจ่ายตามเงื่อนไขของทุกอุทยานแห่งชาติ แม้กระทั่งบัตรผ่านเข้าออกด่านก็จ่ายทุกครั้ง เว้นแต่เมื่อไปราชการพื้นที่นั้นๆ ตามหน้าที่ อีกหลายครั้งหลายอุทยานพบพฤติกรรมเช่นที่กล่าว แต่ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่หนักกว่า ช่วงดร.ชุมพล สุขเกษม เป็นหัวหน้า ผมจองและจ่ายเช่าบ้านพัก มีใบเสร็จจากกรมป่าไม้ในยุคนั้นถือไปแสดง แต่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ได้เอาบ้านหลังดังกล่าวไปให้พรรคพวกที่เป็นทหารเข้าพัก เวรแท้ๆ ไหม ?

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีผู้บังคับบัญชาระดับกลางจนถึงระดับสูงของกรมมักจะใช้ใบสั่งสั้นๆ ที่พักพร้อมอาหาร จำนวน 40 คนบ้าง 80 คนบ้าง คำถาม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอาบ้านพักให้พักฟรีสนองตัณหาเจ้านาย ผิดไหม? เรื่องที่พักยังพอทำเนาเพราะว่ามีบ้านหลวงอยู่แล้ว(สตง.ดูหน่อย) แต่ค่าอาหารนี่ซิ ถ้าเป็นอุทยานแห่งชาติทางบกอย่างดีก็อาหาร 5-6 อย่างบวกสุรา แต่ถ้าเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล ค่าอาหารทะเล เท่าไร ? หัวหน้าเอาเงินมาจากไหน ? อย่างซี่มันต้องโกง อย่างซี่มันถึงต้องโกง

ข้อนี้อาจจะตอบว่า ส่วนใหญ่เปิดเป็นร้านสวัสดิการเลยมีกำไรมารับรองได้ฟรีๆ แต่การเปิดร้านสวัสดิการนั้นทำถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ ถ้าทำถูก หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ข้าราชการในนั้น ลูกจ้างพนักงาน สมควรทำหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ มีอิทธิพลแอบแฝงหรือไม่ อุทยานแห่งชาติทุกแห่งมีพฤติกรรมเช่นนี้หรือไม่ ยุติธรรมสำหรับพ่อค้าแม่ค้าทั่วไปหรือไม่ หรือบางแห่งยึดถือแทบจะเป็นสมบัติส่วนตนหรือไม่ เช่นร้านรังทองที่ภูหินร่องกล้า หรือ สามร้อยยอด หรือแก่งกระจาน หรือหมู่เกาะสุรินทร์ หรือ โอ๊ย !! เขียนไม่ไหว

กฎหมายไม่ผิด หลักการผิดหรือไม่ ความควรไม่ควรอยู่ตรงไหน กรณีใบสั่งจะเลิกหรือจะล้มหรือจะเปลี่ยนทัศนคติเลวทรามของผู้ชอบใช้อิทธิพลว่าเป็นเรื่องโก้เก๋หรือไม่ หรือเป็นสันดาน

                       


สัมปทานอุทยานแห่งชาติจำเป็นหรือไม่


           
ในต่างประเทศที่เป็นต้นแบบการจัดการอุทยานแห่งชาติ ใช้การให้เอกชนมีส่วนร่วมในกรณีที่จำเป็นต้องมีร้านอาหาร บ้านพักนักท่องเที่ยว ร้านขายของที่ระลึก การนำเที่ยว แม้แต่เรื่องขยะ โดยงบประมาณของเอกชนร่วมลงทุนแต่กรณีขยะเอกชนผู้ประกอบการต้องจ่าย มีเงื่อนไขการร่วมลงทุนชัดเจน การบังคับใช้เป็นมาตรฐาน ผลการร่วมลงทุนจึงไม่เสียหาย ซึ่งอาจจะเพราะว่า ประชาชนของเขามีความพร้อมด้วยจิตสำนึกที่ดีแล้วหรือไม่

แต่ด้านวิชาการจัดการอุทยานแห่งชาติต่างๆ นานา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดำเนินการทุกอย่าง เช่นการกำหนดเส้นทางท่องเที่ยว การสร้างเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ป้ายเพื่อสื่อความหมาย  การป้องกันไฟป่า  การปราบปราม  การควบคุมปริมาณสัตว์ป่า การแก้ปัญหาเรื่องหิมะถล่มเส้นทาง  การศึกษาทางวิชาการพันธุ์พืชและสัตว์ป่า ฯลฯ เรื่องอย่างนี้เขาแยกแยะกันทำชัดเจน ต่างคนต่างมีอำนาจบริหารอย่างสมบูรณ์ แต่เป้าหมายตรงกัน ป่าต้องอยู่รอด วัตถุประสงค์การท่องเที่ยวต้องปลอดภัย ได้ได้ใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด

            ในบ้านเรา  การจัดการอุทยานแห่งชาติข้าราชการทำทุกอย่างอย่างไม่แยกแยะ ขยะก็เก็บ อาหารก็ขาย บ้านพักก็ดูแล งบประมาณสิ่งก่อสร้างทุกชิ้นสร้างด้วยเงินแผ่นดิน แต่การบริหารจัดการเก็บหาผลประโยชน์มีระเบียบปฏิบัติ พ.ศ. 2536 แก้ไข 2542 แก้ไข 2549 มีอีกหรือไม่ ไม่แน่ใจนัก แต่อย่างไรก็ตาม ได้เกิดความพอดีจนลงตัวหรือไม่? หรือว่าทำให้รัฐสูญเสียผลประโยชน์หรือไม่ ?

            รูปแบบในต่างประเทศ บางอุทยานแห่งชาติจัดการตามรูปแบบเดิมคือ มีเขตป่าปิด เขตบริการเพื่อการพักค้างอ้างแรม  อาหาร  ท่องเที่ยว  บ้านพักเจ้าหน้าที่  เช่นโยซิมิติ  เยลโลว์สโตนส์  แต่บางอุทยานแห่งชาติวันนี้ให้เอกชนสร้างที่พักค้างอ้างแรมนอกเขตอุทยานแห่งชาติ เช่นที่ร็อคกี้เมาท์เท่น โอลิมปิค แต่การกางเต็นท์มีพื้นที่กันให้ใช้ประโยชน์ได้  หรือบ้านพักที่เป็นกระท่อมเล็กๆ(Hut) อยู่ห่างไกลในเส้นทางเดินท่องเที่ยวในธรรมชาติ

            ที่เขาใหญ่ และอีกหลายๆ แห่งเริ่มมีเอกชนเข้าไปทำธุรกิจท่องเที่ยวนอกเขตมากมาย และพักค้างนอกพื้นที่อุทยาน แต่เข้าไปท่องเที่ยวในเขตได้ตามเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ตาม กรณีภูกระดึง ขึ้นไปด้วยการเดินแล้วจะให้ลงมาพักข้างล่างคงเป็นไปไม่ได้ หมดแรงเดินลง เว้นแต่มีการสร้างกระเช้าขึ้นลงได้ ให้เวลาพักเที่ยวแล้วลงมาพักตีนดอย ถ้าทำได้ก็ไม่เกิดขยะบนดอย ไม่แออัดยัดทะนานอย่างทุกวันนี้ ใช้เวลาบนผืนป่าอนุรักษ์ที่ล่อแหลมสั้นๆ แนวคิดเรื่องการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติยังคิดกันคนละแนว  พูดกันคนละภาษา องค์กรภาคเอกชนยังยึดติดหรือไม่ ประชาชนเข้าใจการจัดการแต่ละพื้นที่ที่สมควรเพียงใด ปรับแนวคิด ทัศนคติ ความรู้ ความเข้าใจเข้าหากันจนติดเมื่อไร ทุกอย่างก็คุยกันได้

            และนั่นคือคำตอบว่า การให้สัมปทานอุทยานแห่งชาติจำเป็นหรือไม่

 

Tags : National parks

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view