http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม14,009,459
Page Views16,318,616
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

กระทรวง

กระทรวง

 

กระทรวง "ทำลาย" ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ 

โดย ธงชัย เปาอินทร์  

 

                ทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทย เป็นทรัพยากรธรรมชาติหนึ่งเดียวที่ถูกทำลายไปแล้ว ไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาให้เหมือนเดิมได้อีกต่อไป แม้วันเวลาจะผ่านไปนับร้อยๆปีก็ตาม

             เมื่อมีการผ่ากรมป่าไม้แล้วผนวกรวมกับสำนักงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อให้เกิด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นกระทรวงที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

            แต่วันนี้ มีข้อเท็จจริงหลายประการที่ส่อให้เห็นเค้าลางแล้วว่า กระทรวงใหม่กระทรวงนี้ เป็นกระทรวงที่ทำลายทรัพยากรป่าไม้ของชาติอย่างย่อยยับ มันเป็นเช่นไรหรือ?  ถึงได้กล้าบ้าบิ่นวิพากษ์ได้เช่นนั้น 

 

 สถิติทรัพยากรป่าไม้ของชาติจากอดีตถึงปัจจุบัน

         พ.ศ.2504 มีพื้นที่ป่าไม้ 53.3% ของประเทศ น้ำไหลหลั่งไปทั้งแผ่นดิน ลมฟ้าอากาศเย็นสบายในเดือนที่ควรเย็น ร้อนในเดือนที่ควรร้อนและฝนตกต้องตามฤดูกาลที่ถูกต้อง การทำมาหากินของเกษตรกรมั่นคงและไม่หลงฤดู การทำมาหากินของชาวบ้านร้านตลาดอุดมสมบูรณ์ วัฒนธรรมประเพณีตามฤดูกาลเพียบพร้อม หน้าน้ำลอยกระทงในคืนเดือนเพ็ญได้ เล่นเพลงเรือ แข่งเรือยาวสารพัดที่เกิดขึ้น เป็นความสุขที่ผ่านเลยไปอย่างไม่อาจหวนคืน

                พ.ศ.2518  นายกรัฐมนตรีชื่อ คึม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีนโยบายให้ใครก็ตามที่บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ห้ามเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับและปล่อยให้ทำกินต่อไป ปีนั้นการทำลายป่างอกงาม และเพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็ว ป่าไม้เหลือเพียง 43.2% และต่อจากนั้น มติ ค.ร.ม.ที่ตราออกมาเหล่านี้ไม่มีการยกเลิก ผลคือจับกุมด้วยความยากลำบาก พอถึงปีพ.ศ.2531 ป่าไม้เหลือเพียง 28% รวมเวลาที่ผ่านมา 14 ปี ป่าหมดไป 15.2 % นี่คือนโยบายของรัฐบาลช่วงหนึ่ง

                พ.ศ.2532  เกิดน้ำท่วมที่กระทูน จังหวัดนครศรีธรรมราช  รมว.สนั่น ขจรประสาท ประกาศปิดป่าสัมปทานทำไม้ทั่วประเทศตามกระแสอนุรักษ์เฟื่องฟู มีการตั้งหน่วยป้องกันรักษาป่าทั่วประเทศ 290 หน่วย(อาจผิดพลาด) แต่ทุกวันนี้ หน่วยป้องกันเหล่านั้นไร้ค่าอย่างสิ้นเชิง ร้าง รก และสูญเสียเงินงบประมาณไปอย่างจังเบอร์ พื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่ 27.92%(แต่สถิติสอพลอ 28%) พอปีพ.ศ.2533 ป่าไม้เหลืออยู่ 27.3% ทรัพยากรป่าไม้หมดไปปีละ 2,147,089 ไร่

                พ.ศ.2542  พื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่ 25.1 % แสดงว่านโยบายการปิดป่าสัมปทานมีทั้งผิดและถูก นโยบายอาจจะถูกแต่การปฏิบัติของกรมป่าไม้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงหรือเปล่า ช่วงนี้ฤดูกาลผิดเพี้ยนแล้ว น้ำไม่หลากมาจากเหนือถึงหลากมาก็ไหลเลยไปลงทะเลหมด ไม่มีน้ำปริ่มคลองให้เล่นเพลงเรือ ไม่มีเรือแข่ง ได้แต่แข่งกระทะลอยน้ำกับห่วงยางล่องตามคลองที่เหลือน้ำอยู่น้อยนิด  ไม่มีสายบัวให้ถอนมาต้มกับปลาทูจากนาข้าวอีกแล้ว วัฒนธรรมประเพณีเปลี่ยนไปและขาดหาย เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน

                พ.ศ.2543  เหมือนเกิดอภินิหารบันดาลให้ ยุคอธิบดีกรมป่าไม้ชื่อ ปลอดประสพ สุรัสวดี รายงานว่าสถิติป่าไม้กลายเป็นป่าไม้เพิ่มขึ้นเป็น 33.2% เพิ่มขึ้น 8.1%  แต่ไม่น่าเชื่อถือเลย เพราะว่า   ได้เรียนถามผอ.ธงชัย จารุพพัฒน์ ผอ.วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม กรมป่าไม้ขณะนั้น ผอ.ธงชัยเล่าให้ฟังว่า การวัดพื้นที่ป่าไม้ใช้อัตราส่วนแผนที่ 1:250,000 ซึ่งสถิติพื้นที่ป่าไม้ก็จะไล่เรียงลงมาดังที่ปรากฎ แต่ยุคนี้สั่งการให้ใช้มาตราส่วนแผนที่คนละขนาด พื้นที่ก็เลยเพี้ยนไปจากความเป็นจริง 

ผ่าโครงสร้างกรมป่าไม้ ต่างคนต่างทำ

   
       ในปีพ.ศ. 2536  กรมป่าไม้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารไปในรูปแบบสายวิชาการ(Function) มีการแตกลูกเป็นสำนักระดับ 9 รวม 5 สำนักคือ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  (ส่วนอุทยานแห่งชาติ ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ส่วนจัดการต้นน้ำ)  สำนักป้องกันและปราบปรามป่าไม้และไฟป่า(ส่วนป้องกันรักษาป่าที่ 1-4,ส่วนป้องกันไฟป่า)  สำนักวิชาการป่าไม้(ส่วนวนวัฒนวิทยา,ส่วนพฤกษศาสตร์,ส่วนวิจัยผลิตผลป่าไม้)  
       สำนักสารนิเทศ (ส่วนประชาสัมพันธุ์,ส่วนผลิตสื่อ,ส่วนศูนย์ข้อมูล)   สำนักส่งเสริมการปลูกป่า(ส่วนเพาะชำกล้าไม้,ส่วนปลูกป่าภาคเอกชน,ส่วนปลูกป่าภาครัฐ,ส่วนป่าชุมชน,ส่วนจัดการป่าสงวนแห่งชาติ)  นอกจากนี้ก็มีกองคลัง,สำนักงานเลขานุการ,สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ 1-21 เขต(ป่าไม้เขตเดิม)

ดูๆเหมือนว่าจะดี แต่เชื่อหรือไม่ นี่คือการแยกกันทำงานบนพื้นที่ป่าไม้ที่เหลืออยู่ 25.1% แยกกันแปลงงบประมาณแผ่นดินแบบของใครของมัน  ต่างคนต่างทำงานในกรอบของตนเองกันไปอย่างสนุกสนาน เหตุผลคือ งานอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ที่เป็นหลักสำคัญ    เช่นกองอุทยานแห่งชาติ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งต้องป้องกันรักษาพื้นที่ทรัพยากรป่าไม้ที่เหลืออยู่ไว้ให้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในสำนักไป
       ทั้งหมดทั้งมวล งานบนพื้นที่อนุรักษ์ที่เหลืออยู่ต้องมีเอกภาพการบริหารงานกลับแตกกระจายอย่างไร้ทิศทาง ส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าอนุรักษ์ไม่ในส่วนอุทยานแห่งชาติก็ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า แต่กลับบริหารจัดการไปโดยลำพัง  แท้ที่จริง งานอนุรักษ์ต้นน้ำก็คือกิจกรรมหนึ่งของการฟื้นฟูทรัพยากรในผืนป่าอนุรักษ์นั่นเอง

โดยเฉพาะสำนักป้องกันและปราบปรามป่าไม้และไฟป่า แยกออกไปจากส่วนเหล่านั้นอย่างเอกเทศ ทั้งที่ เมื่อเกิดไฟไหม้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเช่นที่เขาใหญ่ แต่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กลับสั่งการไม่ได้ เพราะว่าต่างสังกัดจะดับเองก็ไม่มีงบป้องกันไฟป่า หรืออย่างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวร เกิดไฟป่าก็ไม่มีหน่วยดับไฟป่าเข้าไปปฏิบัติการแต่อย่างใด นี่คือการจัดแบ่งโครงสร้างตามสายวิชาการ ซึ่งไม่ใช่การบริหารงานแบบบูรณาการ และOne stop service
           จากเอกสารการบริหารจัดการ ขาดพลังในการบริหารงาน ขาดเป้าหมายในการดำเนินการ แต่โครงสร้างนี้มีเงินใช้ได้ตำแหน่งใหญ่ขึ้นกันทั่วหน้า ทรัพยากรป่าไม้จะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน  Area approach จึงบอดสนิท  ความล้มเหลวการบริหารจัดการเช่นนี้ ก.พ.-สำนักงบประมาณ น่าจะต้องประเมินผลงานว่ามุ่งสู่เป้าหมายหรือไม่ อย่าสักแต่ว่า ให้แบ่ง ให้งบ มันทำลายทรัพยากรป่าไม้ของชาติครับ


ยกสถานะเป็นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บ้า!   
       
            อาศัยว่ามีความสนิทสนมกับเลขาธิการ ก.พ.ในขณะนั้น จึงเสนอให้ผ่าและผสมพันธุ์ใหม่อย่างที่ใจปรารถนา กลายเป็นกระทรวงใหม่ดังกล่าว

 

            ประกอบด้วย กรมป่าไม้(กองการอนุญาตไม้และของป่า, สำนักส่งเสริมการปลูกป่า  สำนักป่าชุมชน ฯ ) กรมอุทยานแห่งชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช 3 กลุ่ม 2 กอง 12 สำนัก และ 16 สำนักเขตเดิม) สำนักสำคัญๆคือ สำนักอุทยานแห่งชาติ  สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า,สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ,สำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า ฯ)  กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสำนักงานปลัดกระทรวง (ซึ่งดูแล ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด จำนวน 75  จังหวัด)

                ความเห็นแย้งคือ  กรมป่าไม้ควรต้องไปสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะว่าเป็นกรมที่ปลูกป่า สร้างป่าอันเป็นกระบวนการผลิตไม้เดิม เคยมีงบประมาณปลูกป่าเศรษฐกิจ  แต่วันนี้แม้ไม่มีงบปลูกป่าเศรษฐกิจโดยตรง แต่ก็เป็นกรมที่ส่งเสริมให้เอกชนปลูกป่าเพื่อให้เกิดการผลิตวัตถุดิบเรื่องไม้โดยประชาชน กรมป่าไม้ต้องเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ ให้ความรู้ที่ผ่านการศึกษาวิจัยแล้ว  ต้องแก้ไขกฎหมายระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องให้เกิดความคล่องตัวปลอดการทุจริตและกลั่นแกล้งโยกโย้จากเจ้าหน้าที่ป่าไม้
              นอกจากนั้น ยังผิดพลาดอย่างมหันต์ที่ไปดึงเอา องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นเพื่อการผลิตไม้ไว้ใช้สอยในประเทศและจำหน่าย หาเงินเลี้ยงองค์กรและเข้ารัฐ  มันคือองค์กรที่ต้องอยู่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ผลิตไม้

              ที่ตลกมากคือ วันนี้ ออป.ต้องเปลี่ยนชื่อจาก ส่วนจัดการทำไม้.......เป็นส่วนอนุรักษ์และส่งเสริมการป่าไม้.........อยากจะวิจารณ์คนทำว่า บ้า ไร้เหตุผล ขาดสติสัมปชัญยะ บ้องตื้น ส่วนคนปฏิบัติก็  ใบ้  ไร้สมอง  ต้องสนตะพาย ไปเลย ไม่รู้จักชี้แจงแสดงเหตุและผลใดๆ

             ทรัพยากรป่าไม้ของประเทศได้ถูกโครงสร้างผิดๆ ที่ตั้งขึ้นใหม่ทำลายลงอย่างย่อยยับ           

กระทรวง "ทำลาย" ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ อย่างไร          
     
            ในกรอบของการทำลายล้างทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ที่จะเขียนต่อไปนี้อาจมีคนเห็นด้วยส่วนหนึ่ง และอาจมีคนไม่เห็นด้วยอีกส่วนหนึ่ง

  1. พื้นที่ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ

สถิติพื้นที่ป่าไม้ปีพ.ศ.2542 เหลืออยู่ 25.1% สับสนไม่รู้ว่าพื้นที่ที่เหลืออยู่นี้อยู่ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือว่าอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือป่าไม้ตามมติ ครม.พื้นที่ป่าที่ประกาศเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทุกประเภทนั้นมีพื้นที่ป่าไม้ที่เหลืออยู่จริงๆเท่าไรอยู่ตรงส่วนไหน และมีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าหรือมีการบุกรุกทำไร่เลื่อนลอยทับซ้อนกับพื้นที่ปลูกป่าต้นน้ำแค่ไหน หรือยึดถือครอบครอง หรือมีแต่โขดหินผาและพื้นที่เสื่อมโทรมที่ไม่มีศักยภาพความเป็นป่าเหลืออยู่
             มีชุมชนอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ป่าดังกล่าวกี่ชุมชน กี่ครอบครัว กี่คนและมีประชาชนที่อาศัยอยู่นอกเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์แต่เข้าไปทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างถาวรเช่นสวนมะนาวในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานหรือในมรดกโลกอย่างทุ่งใหญ่นเรศวร ห้วยขาแข้งเขาใหญ่ (ทับลาน ปางสีดาตาพระยา) Database ที่แท้จริงยังไม่มีเลย
              2.โครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อตั้งกระทรวงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  พื้นที่ป่าไม้ผืนเดียว25.1% นี้ มีหน่วยราชการที่เข้าไปเกี่ยวข้องดังนี้คือ
                  2.1ภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรฯเป็นผู้บริหารพื้นที่โดย         สำนักปลัดกระทรวงบริหารกลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด(ทสจ.ระดับ8-9)แต่ในการบริหารราชการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัดสังกัดกระทรวงมหาดไทยมีข้าราชการไม่กี่คน ลูกจ้างประจำ และพนักงานราชการ
                  2.2   กรมอุทยานแห่งชาติตั้งสำนักอนุรักษ์ที่ 1-16 ระดับ 9ไปบริหารพื้นที่ป่าอนุรักษ์ผ่าน ส่วนอุทยานแห่งชาติ  ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า  ส่วนจัดการไฟป่า ส่วนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ   ส่วนจัดการต้นน้ำ  ส่วนปราบปรามและป้องกันรักษาป่า   อันเป็นงานทับซ้อนและไร้ประสิทธิภาพ

      2.3   กรมป่าไม้ตั้งสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1-13 ทำหน้าที่เกี่ยวกับการอนุญาต ตีตราไม้ป้องกันและปราบปราม ในพื้นที่ที่อยู่นอกเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เออแล้วมันแยกกันอยู่ตรงไหน  ขนาดแนวเขตก็ยังไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นเขตอุทยานหรือเขตป่านอกอุทยาน เจ้าหน้าที่ป่าไม้เองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำแล้วชาวบ้านจะรู้ได้อย่างไรกัน

       2.4  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบริหารพื้นที่ป่าชายเลนและทรัพยากรทาง พื้นที่เพียง 25.1%(2542)มีหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องถึง 4 หน่วย ไม่บ้าก็ต้องเมา  นักวิชาการป่าไม้  เจ้าพนักงานป่าไม้ สลายไปหลายแห่งต่างคนต่างทำต่างคนต่างบริหารงบประมาณและผลประโยชน์ของตนเองกันไป แบ่งเค๊กไง
                  3.ระบบบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ของชาติด้วยโครงสร้างของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต้องมีหน้าที่เพียงให้นโยบายที่จะบริหารทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแค่นั้นเช่น นโยบายการรักษาสิ่งแวดล้อมจังหวัดใครจังหวัดมัน จังหวัดไหนเป็นคนสร้างมลภาวะจังหวัดนั้นต้องกำจัดมลภาวะในจังหวัดนั้นๆ
                  เช่นคนกรุงเทพสร้างขยะกรุงเทพต้องสร้างโรงกำจัดขยะเอง ภายในเขตตนเองแต่ทุกวันนี้คนกรุงเทพสร้างขยะแต่ประมูลให้เอาขยะไปทิ้งจังหวัดอื่นๆ ส่วนจังหวัดอื่นๆก็ยอมไม่รู้จะเอาอะไรไปต่อสู้ ปกป้องสิ่งแวดล้อมของตนเอง หรือกรณีทรัพยากรป่าไม้ออกนโยบายที่ชัดเจนว่าเดิมจังหวัดไหนหรือเขตไหนหรืออุทยานไหนมีข้อมูลพื้นฐานพื้นที่ป่าไม้อยู่เท่าไรในแต่ละปีเพิ่มหรือลดลงไปเท่าไร ใครบ้างต้องรับผิดชอบตรวจสอบประเมินผลด้วยระบบวิชาการป่าไม้และภาพถ่ายดาวเทียม แต่ก็ไม่เคยมีเลย
                 ปลัดกระทรวงตามกรอบต้องเป็นผู้ที่แปลงนโยบายของรัฐมนตรีว่าการลงไปเป็นแผนปฏิบัติการเพื่อมอบให้กรมต่างๆนำไปปฏิบัติการต่อไปตรวจสอบประเมินผลและสรุปเสนอรัฐมนตรีว่าการ  อธิบดีกรมต่างๆ กรอบหน้าที่คือผู้จัดการโครงการตามที่มีการแปลงนโยบายของปลัดกระทรวงไปสู่แผนการปฏิบัติคือคนที่ต้องป้องกันรักษาป่าไม้และสิ่งแวดล้อมโดยมีลูกไล่คือ สำนักต่างๆสรุปประเมินผลงานเสนอเบื้องบนตามลำดับชั้น
                  สรุปว่าการจัดการบริหารทรัพยากรป่าไม้ของชาติขาดเอกภาพแน่นอนทำกันไปวันๆแบบไม่มีนโยบายและแผนการปฏิบัติ ไม่มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่แม่นตรง และสามารถบริหารจัดการได้ไม่ได้รับการยอมรับของข้าราชการภายใต้สังกัดไม่เคยมีการประเมินผลงานจนประชาชนทั่วไปยอมรับว่า วันนี้กระทรวงทรัพยากรฯได้ปกป้องป่าไม้ของชาติไว้ได้อย่างไร เท่าไร พึงพอใจหรือไม่ ฯลฯ
                 4. ระบบการจัดการเรื่อง "คน" ลงทำงานเปิดฉากก็ต้องพูดเลยว่า ที่นี่ กระทรวงนี้ มีระบบไม่โปร่งใส ไร้คุณธรรมมุ่งเน้นที่ระบบอุปถัมป์ค้ำจุน  การจัดการเรื่องคนทำงานประเมินจากสิ่งที่ส่งมาด้วยไม่ได้คำนึงถึงผลของงานหรือความดีความชอบ  แม้กระทั่งพื้นฐานการศึกษาและประวัติการทำงาน
                  ตำรวจ อัยการคณะกรรมการครูตุลาการ มหาดไทยฯลฯ ล้วนแต่มี คณะกรรมการ กตร., อก.,กค.,กมท.เพื่อความโปร่งใส และยุติธรรมในการพิจารณาเลื่อนและแต่งตั้งโดยมีสัดส่วนกรรมการที่เลือกตั้งมาจากมวลสมาชิกของแต่ละกระทรวงนั้นๆที่ยังเป็นข้าราชการอยู่แต่มีชื่อเสียงและที่เกษียนแล้วแต่ได้รับความนิยมจากสมาชิกส่วนที่ปรึกษาอาจจะแต่งตั้งได้จากที่เห็นว่ามีความซื่อสัตย์ ยุติธรรมมีคณะกรรมการตั้งแต่ระดับกรมถึงกระทรวงเลย แต่ที่นี่ไม่มี
                   ผลกระทบที่เกิดขึ้นวันนี้ นักวิชาการป่าไม้ จบปริญญาตรี-โท-เอกจากคณะวนศาสตร์-ต่างประเทศตกเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของอดีตลูกน้องที่จบมาจากโรงเรียนป่าไม้แพร่ระดับประกาศนียบัตร (ชั้นจัตวา/ซี 2เดิม)แทบ 100 % (แต่ก็มีผู้ที่จบมาจากโรงเรียนป่าไม้แพร่จำนวนไม่น้อยที่จบมาแล้วสามารถพัฒนาการศึกษาและการทำงาน(ไม่ใช่ทำเงิน) จนสามารถเทียบเคียงได้ระดับปริญญาเอกเป็นกลุ่มมีฝีมือดี เชื่อถือได้ด้วยความสนิทใจ)
                5.ระบบนอกตำรา,นอกกฎหมายและนอกระเบียบปฏิบัติราชการขึ้นหัวอย่างนี้ต้องพูดความจริงว่า มันเป็นระบบแบ่งปันกันแบบวัดครึ่งกรรมการครึ่ง โดยเฉพาะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ฝายแม้ว)และเฉลิมพระเกียรติต่างๆ ซึ่งสำนักงบประมาณต้องให้มาเต็มพิกัดก็ยิ่งน่าเสียดายแทน  หรือในสำนักต่างๆ ล้วนแต่ผูกพันกับเงินงบประมาณแผ่นดินทั้งสิ้น

วันนี้ป่าไม้ไม่มีบริษัททำไม้ให้เป็นแหล่งทำเงินแล้ว เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทุกคนหันหลังกลับมา360องศา วิ่งเข้าหาแหล่งที่มีงบประมาณมากๆ  ส่วนคำว่านอกตำรา มันคือระบบผูกแพ ระบบลูกโซ่ คล้ายกับแชร์แม่ชะม้อยแต่เป็นโยงใยที่เดินด้วยการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาเพื่อให้เปิดกว้างตามผู้ที่อยากได้ตำแหน่งเสนอและผู้มีอำนาจต้องการ "ความคล่องตัว" "ความเหมาะสม" แล้วสนองให้  “เสี่ยก็สั่งลุย”  เติ้งเสี่ยวผิงกล่าวว่า "ไม่ว่าแมวสีไหนขอให้จับหนูได้ก็พอ"  แต่สำหรับผู้มีอำนาจเดี๋ยวนี้เขากล่าวกันว่า "ไม่ว่าเงินจะได้มาอย่างไรก็ใช้ซื้อตำแหน่งได้เหมือนกัน"
                  6. ขวัญและกำลังใจ ทุกวันนี้ในกรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งส่งเสียงพร่ำบ่นกันระงมไปทั่วท้องนาว่า(ป่าหมดแล้ว) "ไม่มีใครอยากทำงานแล้ว อยู่เฉยๆ ดีกว่า ทำงานไปก็ไม่ได้รับการพิจารณาจากผลของงานเพราะว่ามันไม่เคยมีระบบการพิจารณา สู้พวกที่ทำแต่เงินไม่ได้”

     บางคนเป็นชั้นจัตวา(2) ลูกพี่เป็นชั้นโท(5-6) อีกไม่กี่ปีต่อมาลูกพี่ตกเป็นลูกน้องไปเสียฉิบระบบมาตรฐานการพิจารณาการเลื่อนระดับมันแปรปรวนเสื่อมทรามจนกระทั่งตกขอบ 

     “เอาโจรไปเฝ้าป่า ป่าจะเหลือหรือ”

                                            ------------------------

ปล. ต้นไม้ตัดมาใช้ (แปรรูป) แล้ว สามารถปลูกขึ้นมาใช้ใหม่ได้  แต่ทรัพยากรป่าไม้ถูกทำลายแล้วสร้างขึ้นมาใหม่ไม่ได้

 

 

 

 

Tags: กรุความคิด , กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ความคิดเห็น

  1. 1

    ทุกคนเขียนได้ แต่จะให้เก่งอย่างกับเอื้อยนางคงยาก แม้แต่ผมเองก็เขียนได้แค่การเล่าเรื่อง
    มันเป็นบันทึกประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง การเขียนทุกอย่างจึงมีประโยชน์ 
    ขอให้เขียนแล้วเก็บไว้อ่านด้วยตนเองสัก 6-7 เดือน แล้วก็ปรับแต่งใหม่ได้
    ไม่เชื่ออ่านเสือกลิ่นสาบดู นั่นแหละ บันทึกเหตการณ์ละ

    ผมเองนานจะเปิดมาอ่านเม้นท์ แล้วก็ไม่มีเวลาจะคุย m&m แต่ถ้ามีกลุ่มชุมนุมกันสัก 5-10 คนแล้วคุยกันละก้อ ก็อยากไปคุยด้วยเหมือนกันครับ

  2. 2
    คนหนึ่ง 04/03/2011 16:26
    สวัสดีทุกๆท่าน
    ห่างหายไปนานมาก เพราะไม่อยากเปิดอ่านหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ด้วยเห็นว่าไม่มีประโยชน์ เพราะไม่มีเพื่อนที่จะคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเป็นคนทำงานในองค์กรนี้ ที่ต้องเจอะเจอกับอะไรมากมาย อย่างที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็น จะมี ในแวดวงการทำงานอย่างพวกเราๆ ที่มีหน้าที่ในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ทรัยพยากรป่าไม้ จนเคยมีความคิดอยากเรียนประสบการณ์การเป็นข้าราชการกรมป่า(ไม้)ม้(วย)แต่ไม่มีพรสวรรค์ในการเขียน
  3. 3
    chat chatmongmuk@hotmail.com 07/08/2010 18:52

    สวัสดีครับเจ้านาย เจ้านายเป็นคนเก่งถึงอย่างไรก็ต้องเป็นคนเก่ง ในสายตาของพวกลูกศิษย์ลูกหาอยู่ดีนั่นแหละครับเจ้านาย

  4. 4
    chat chatmongmuk@hotmail.com 07/08/2010 18:51

    สวัสดีครับเจ้านาย เจ้านายเป็นคนเก่งถึงอย่างไรก็ต้องเป็นคนเก่ง ในสายตาของพวกลูกศิษย์ลูกหาอยู่ดีนั่นแหละครับเจ้านาย

  5. 5
    chat chatmongmuk@hotmail.com 07/08/2010 18:50

    สวัสดีครับเจ้านาย เจ้านายเป็นคนเก่งถึงอย่างไรก็ต้องเป็นคนเก่ง ในสายตาของพวกลูกศิษย์ลูกหาอยู่ดีนั่นแหละครับเจ้านาย

  6. 6
    chat chatmongmuk@hotmail.com 07/08/2010 18:44
    สวัสดีครับเจ้านาย เจ้านายเป็นคนเก่งถึงอย่างไรก็ยังเก่งอยู่ดีนั่นแหหละครับ
  7. 7
    เฒ่า ชะแร 03/06/2010 15:18

    อาจผิดและอาจถูก
    อาจฟื้นฟูได้แต่คงไม่มีทางเหมือนธรรมชาติสร้าง
    แต่ถ้าต้นไม้ตัดมาใช้แล้วปลูกขึ้นมาใช้ใหม่ได้

  8. 8
    โอลด์แมน 03/06/2010 15:15

    บ้านหลังนี้โย้เย้ ประตูหน้าต่างก็ปิดได้บ้างไม่ได้บ้าง ขัดข้องไปหมด จะเดินจะนั่งจะนอนก็คงกังวล มันจะล้มไหม เดินเอียงหรือเปล่า นั่นแหละโครงสร้างกระทรวงที่ปกป้องผืนป่า

    Renewable  resources  น่าจะหมายถึงต้นไม้ตัดแล้วก็ปลูกขึ้นมาใหม่ได้ หรือปล่อยให้ขึ้นได้เองตามธรรมชาติ  แล้วก็ตัดมาใช้ใหม่ได้อีก หมุนเวียนเป็นวัฏจักร


    แต่ในความหมาย ทรัพยากรธรรมชาติ หรือป่าไม้ น่าจะฟื้นคืนกลับได้ด้วยการปลูกได้ยากนัก ทำอย่างไรก็คงจะมีความหลากหลายทางธรรมชาติไม่เหมือนธรรมชาติสร้าง  อาจจะได้แต่คงใช้เวลานานกว่า หรือเปล่า 

    อาจจะผิดและอาจจะถูก แต่ธรรมชาติที่แท้จริงย่อมสร้างตัวมานับร้อยๆหรือพันๆปี  

  9. 9
    แครอล 31/05/2010 18:35

    ขอขอบคุณสำหรับข้อมูลมากๆค่ะ ^^

  10. 10

    Renewable resources  ทรัพยากรที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ น่าจะหมายถึง ต้นไม้ที่ตดลงไปใช้แล้ว ปลูกขึ้นมาใหม่ได้อีก  
     
    ส่วนคำว่า ทรัพยากรป่าไม้ หมายถึงความหลากหลายในธรรมชาติที่มีอยู่ทั้งพันธุ์พืชและสัตว์ป่า

    ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึงความหลากหลายในธรรมชาติที่มีอยู่ทั้งพันธุ์พืชและสัตว์ป่า แต่รวมตลอดถึง ดินแร่หินจุลินทรี ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ น้ำ น้ำตก ฯลฯ

    ทั้งสองทรัพยากรนี้ เมื่อถูกทำลายไปแล้วแม้นฟื้นฟูกลับมาได้ ก็ไม่มีทางที่จะเหมือนเดิมได้เว้นแต่ปล่อยให้เวลาผ่านไปนับร้อยๆปี

 1  2  3 [Next]

 

 

 

Tags : กรุความคิด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view