http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม14,019,439
Page Views16,328,927
« May 2024»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

มองไซแง : ประวัติศาสตร์เมืองอุบลราชธานี โดยเอื้อยนาง ภาพ/ธงชัย เปาอินทร์

มองไซแง : ประวัติศาสตร์เมืองอุบลราชธานี    โดยเอื้อยนาง  ภาพ/ธงชัย เปาอินทร์

มองไซแง:ประวัติศาสตร์เมืองอุบลราชธานี

                                                                                                                       "เอื้อยนาง"

      1.
มองไซแง  มอไซแง หรือมองซิเออร์ไซแงที่ปรากฎในหนังสือประวัติศาสตร์อุบลราชธานี ฉบับใบลานที่จานด้วยอักษรไทน้อย(ลาว)สำนวนอีสาน  คัดลอกโดย ดร.ปรีชา  พิณทอง นั้น  กล่าวถึงชาวตะวันตกคนหนึ่ง ซึ่งเข้ามาในอุบลราชธานีสมัยเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์เป็นเจ้าเมืองคนที่ 4 เพิ่งได้รับแต่งตั้งมาจากกรุงเทพฯมาปกครองเมืองอุบลในท่ามกลางความไม่พอใจของลูกหลานว่านเครือของเจ้าเมืองเดิมซึ่งเป็นเชื้อสายของเจ้าพระวอ เจ้าพระตา ดังความว่า

     "ยังมีไทต่างด้าว  เดินเทศมาเถิง  มองไซแง  พ่อค้างัวหาซื้อ  เขานั้นเป็นชาติก้ำ  ฝรั่งเศสตาขาว  มาแดนไทเผื่อหาสินค้า      ฝั่งโขงข้วม  คาเมเทียวฮอด  บ้านใหญ่น้อย  เถิงพี้ฝ่ายอุบล  หญิงชายเซื้อ  บ่เคยเห็นคนฝรั่ง  ตุ่งหย่ามเสื้อ เด็กน้อยแห่นำ  ยาบยาบข้างแหนแห่มันไป  ตาเหลียวแนมแล่นนำเทิงฟ้าว...."


                                    
                                                                         หอไตรกลางน้ำโบราณ

  2.
ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ของหม่อมปฐมวงษ์วิจิตร กล่าวถึงมองไซแง  หรือ มองซิเออร์ไซแงว่า ได้เข้ามาในเขตอุบลราชธานีในปีมะเส็ง จุลศักราช 1231 (พ.ศ.2412) ต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า

        "มีชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่ง ชื่อ  มองซิเออร์ไซแง  มาแต่ไซ่ง่อน  นครจำปาศักดิ์ ถึงเมืองอุบลเมื่อวันจันทร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ปีนี้  ม.ไซแงได้เข้ามาหาเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ แจ้งว่าจะมาทำแผนที่ตามลำน้ำมูล และขนเอาสิ่งของต่างๆ  มาจำหน่ายด้วย  เจ้าพรหมฯจึงจัดที่ให้พักตามสมควร..."

       เหตุความต่อไป(จาก 1 และ 2)  ต่างกันเล็กน้อย  แต่ที่ตรงกันคือ  นายมองไซแงคนนี้ทำให้เกิดคดีความยืดเยื้อของเจ้านายเก่าและใหม่ในอุบลราชธานียุคนั้น  ต้องไปต่อสู้คดีกัน ณ กรุงเทพฯ นานเป็นเวลา 9 ปี  เสียเงินเสียทอง  เสียชีวิตและทรัพย์สิน  พ่อตายแล้วให้ลูกไปสู้ต่อ  จนล้มตายทั้งสองจึงเลิกแล้วไป  เป็นคดีประวัติศาสตร์เลยทีเดียว  คิดแค่การเดินทางจากอุบล-กรุงเทพฯในสมัยนั้นก็เหนื่อยแทนแล้ว  ต้องขนเครื่องกิน  เครื่องนอน รอนแรมข้ามทุ่งกว้าง แลป่าหนา ข้ามทุ่งกุลาแลดงพยาไฟไปกัน


                                          
                                                            ศิลปะการสลักเสลาเทียนพรรษา

       
ในที่นี้ขอเล่าความจากหนังสือประวัติศาสตร์ฉบับใบลานดังกล่าวนะคะ

       ช่วงนั้นอุบลราชธานีเป็นหัวเมืองประเทศราชสำคัญฝ่ายลาวกาว  เป็นศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา ศาสนา ศิลปะไทกรุงเทพฯผสมลาวล้านช้างกลายเป็นสกุลช่างอุบลราชธานีที่งดงามล้ำค่า  เป็นมรดกสืบทอดมาจนปัจจุบันเห็นได้ในวัดวาอารามที่สร้างร่วมสมัยมากมาย  หัวเมืองต่าง ๆ ยังถูกทางกรุงเทพฯควบคุมอยู่หลวมๆ  ทุกหัวเมืองยังคงมีการจัดการปกครองตนตามจารีตแบบลาวเดิม คือ แบบอาชญาสี่ (อาญาสี่)  มีตำแหน่งสำคัญ 4 ตำแหน่งคือ เจ้าเมือง  อุปฮาด  ราชบุตร  ราชวงศ์

                      
                                                                    อุบลงามงดแง้มเสกสวรรค์
                                            
      
ตั้งแต่ตั้งเมืองอุบลมา และขอเข้าอยู่ใต้ร่มโพธิสมภารของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  ฝ่ายปกครองของเมืองอุบลล้วนแต่เป็นลูกหลานเชื้อสายของพระวอ พระตา   ทั้งสิ้น  เจ้าคำผง บุตรพระวอเป็นเจ้าเมืองคนแรก  และต่อมาอีกสองคน ตลอดถึงอาชญา เสนา อามาตย์  ฝ่ายปกครองรองๆกันลงมาล้วนลูกหลานว่านเครือเดียวกัน  อุบลราชธานีจึงเป็นปึกแผ่นแน่นหนา หาน้ำผึ้ง หมากแหน่ง ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ส่งส่วยเต็มเม็ดเต็มหน่วยตลอดมา                              

        ครั้นพระประทุมราชวงษา(กุทอง)เจ้าเมืองคนที่สามถึงแก่กรรม ปีกุลจุลศักราช 1228 (พ.ศ.2409) ตำแหน่งเจ้าเมืองต่อไปก็ควรจะเป็นของอุปฮาดโทผู้บุตร  แต่ทางกรุงเทพฯกลับแต่งตั้งเจ้าหน่อคำ ไปเป็นเจ้าเมืองอุบล(เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์)  หลังจากปล่อยให้ว่างเว้นอยู่ถึง 3 ปี ดังความว่า

       "ล้ำล่วงเข้า ขานจุลศักราช พันสองฮ้อย ซาวแปดมีมา  ราชาเจ้ากษัตราภูวนาถ  มอบอาชญ์ให้ ทรงตั้งเจ้าหน่อคำ  เป็นเจ้าเมืองอุบล  ฝ่ายลาวกาวนอก  ประทานตราตั้งเครื่องยศบริวาร  แถมสมภาร ตื่มพรให้  เพิ่นนี้แนวนามเชื้อ  เวียงจันทน์ของเก่า  หลานแจ่มเจ้าอนุวงศ์เบื้องฝ่าย  สัณฐานท้าว  สมทรงผิวผ่อง..."

                            

      
ถือได้ว่าคนเชื้อสายอื่นมานั่งปองเป็นเจ้า  เพราะเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์(หน่อคำ)นั้นเป็นเชื้อสายเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ (เป็นที่รู้กันมาแต่เดิมว่าพระวอพระตานั้นอพยพไพร่พลหนีราชภัยเวียงจันทน์สู่หนองบัวลุ่มพู จนถึงจำปาศักดิ์ ก่อนมาตั้งอุบลราชธานี)  ไทอุบลทั้งหลายจึงรู้สึกแปลกแยก ไม่แฮปปี้กับการรับราชการกับเจ้าเมืองใหม่ ฝ่ายเจ้าพรหมผู้มาใหม่ก็ถือดีว่าตนมาจากเมืองหลวง  ย่อมมีความรู้ ความสามารถมากกว่า   ข้าราชการน้อยใหญ่เลยกลายเป็นสองฝักสองฝ่าย  ฝ่ายเก่าก็ถือว่าตนเป็นคนเก่าคนแก่ รู้ดีในจารีตฮีตบ้านคองเมือง  เป็นที่รัก เคารพของลูกบ้านหลานเหลนตลอดมา


     
คนที่เจ็บแค้นแน่นอกที่สุด  ในการมาถึงของเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ก็ถือ  ราชบุตร(สุ้ย) ดังความว่า

       "แต่นั้นราชบุตรสุ้ยเจ้า  เนานอนอิดอ่อน  สามขวบเข้ามาแท้เที่ยงจริง พระก็คึดคั่งแค้น  ทนโศกมึนนาน  บ่แม่นแนวนามเดียว มานั่งเมืองปองตุ้ม  อุกขลุกไหม้     นหวยฮ้อนเฮ่ง  คึดคั่งแหน่นนอนแค้นบ่เซา ... เฮานี้เป็นเครื่องเค้า  วงศ์วานเจ้าเมืองเก่า  หมายจักได้ห่อหุ้ม  เมืองบ้านสืบสกุล  เที่อนี้มีไทอื่นพุ้น มานั่งแทนเมือง เฮาครองทุกข์ บ่มใจบ่หายฮ้อน..."

    ฝ่ายกรมการเมืองทั้งหลายก็เลยพลอยแตกแยกเป็นสองฝ่าย

                        


       "
กรมการผู้  เก่าใหม่บ่ลงฮอย  ถือว่าตนดีเหลือ  ยกยอคูณค้ำ  ใผผู้ดีดอมก้ำอาชญาเก่าเป็นสุข  นิยมนับถือ  อยู่เกษมสุขสร้าง  ใผผู้ได้ยกย่อง  อาชญาใหม่ก็เป็นดี  มีความสุขได้เพิ่งพายามไฮ้  ถือว่าดีลื่นล้น  ของเก่าทางหลัง ทังมวลมี มากมูลเต็มบ้าน ฝูงไพร่น้อย  ชาวนิคมมวลหมู่  บ่ถึกต้องความเว้าบ่คล่องกัน..."

         สมัยนั้นเคหาสถานของอาชญาทั้งสี่ เรียกว่าโฮง  มีโฮงหลวง  โฮงกลาง  โฮงเหนือ  โฮงใต้  โฮงแพ เป็นต้น  ชุมชนรายล้อมก็คือไพร่พลพรรคพวกของแต่ละโฮงเรียกกันว่า "จุ้ม"  หรือ  "คุ้ม"   เช่น คุ้มเหนือ  คุ้มใต้  เมื่อเจ้าโฮงไม่ปรองดอง  ไพร่บ้านพลเมืองก็แตกแยกด้วย เดินผ่านคุ้มบ้านกันก็มีเรื่อง

        "กลมเกลียวเข้า  ในพวกใผมัน  ถือแนวนาม คุ้มเหนือ  กลางใต้  ไทอื่นพุ้น  จุ้มอื่นกลายมา  ในแดนตน  จอบตีผกลี้  ใผบ่มีคงแคล้ว  คาถาหุ้มห่อ  หัวปิ่นเป้  คืนบ้านเลือดไหล..."

                                   


       
หนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ จนแทบกลายเป็นจราจล  ผู้คนที่รักสงบ หรือไม่มีเจ้าคุ้มหัวถึงขนาดต้องอพยพหลบหนีไปอยู่บ้านใหม่ เมืองใหม่

        แล้ว ม.ไซแง  ก็มาได้จังหวะพอดี

      ด้วยธรรมเนียมเห็นกันปุ๊บก็จับไม้จับมือทักทายแบบฝรั่งตะวันตกที่เขาแสดงออก  ทำให้เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์นึกแผนออก  ที่จะแกล้งเล่นงานฝ่ายราชบุตรสุ้ย  จึงวางแผนให้ไพร่พลคนสนิทแห่งตนไปกระจายข่าวว่าจะมีฝรั่งต่างชาติเข้ามาจับเอาตัวราชบุตรไป ให้พาเตรียมการป้องกันตัวกันไว้ให้ดี

    
สายของเจ้าพรหมทำเป็นตื่นเต้นสั่นสายไปรายงานคนของเจ้าราชบุตรตามแผน  ฝ่ายราชบุตรเหมือนมีชะนักติดหลังอยู่แล้ว  ด้วยเคยคัดง้างกับเจ้าเมืองอยู่เนือง ๆ จึงรู้สึกใจไม่ดี  แต่ยังแข็งใจเตรียมตัวไว้  เป็นไงเป็นกันซีน่า...

       "แต่นั้นราชบุตรเจ้าใจบ่ดี ย่านสั่น  ใจเหี่ยวแห้ง  อยากลี้หลีกหนี  แต่หั่งแข็งใจสู้  เป็นหยังตามซ่าง  ก็บ่ผิดห่วมข้อ ใดนั่นส่วนสิเป็นเดนอ..."      

        ฝ่ายเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ก็ออกอุบายทำเป็นแนะนำม.ไซแงว่า  การทั้งปวงในเมืองอุบลฯนี้หากได้ไปติดต่อพูดจากับเจ้าราชบุตรแล้วก็จะไม่มีปัญหา  ทุกอย่างจะลุล่วงได้โดยง่าย  ด้วยอำนาจทั้งปวงนั้นตกอยู่ที่ท่านนั้นแล

       
ม.ไซแงพร้อมด้วยคนใช้ชาวเขมรได้ฟัง   ก็กระวีกระวาดไปยังโฮงท่านราชรบุตร  ขอพบทันที  ซึ่งฝ่ายนั้นตั้งท่าไว้คอยอยู่แล้ว  เห็นฝรั่งมาจริงๆก็ยิ่งเพิ่มดีกรีให้คำพูดของฝ่ายยุแหย่เป็นเท่าทวีคูณ  

         เจ้าราชบุตรที่ไม่เคยรู้ธรรมเนียมของฝรั่ง  วางท่าขึงขังระวังตัวอยู่

      "ราชบุตรท้าว  เนาในเหนืออาสน์  นั่งตั่งอี้สีหน้าไข่ตึง  บ่ถามเว้าคำใดฮับฮ่อ  เครียดเคร่งหน้า สองคิ้วไต่ตอม  ซอมเลศเลี้ยว สองเขือตั้งท่า   กำก่ำปั้น คอยท่าแต่สิเอา  มองไซแงใกล้  ซวงมือมาก่อน  คึดเผื่อจับมือกัน  คำนับ เซิงจาเว้า..."

      
เท่านั้นแหละ ราชบุตรก็เห็นจริงว่าฝรั่งจะมาจับตนแท้ๆ  เพราะมันยื่นมือมาก่อนจริงๆ  ก็เลยกำหมัดฟาดใส่กกหูฝรั่ง เปรี้ยง...

      "หมัดแก่งก้น ทวยซ้ำส่งกะไต  ป่อนใส่กกหูย้อย เซซวนล้มท่าว  ฝูงไพร่น้อนทะยานเต้นผูกตี  สองเขือนั้น(ม.ไซแงกับลูกน้อง)  งึนงงตกกะมะ   จั้งบ่ได้  ก็อดแด็มให้ราชบุตร  คีงแดงเข้ม  เหื่อเห็งย้อยหยั่ง  ก็ดซ็องซ้ำ  โทษะฮ้ายสั่นสาย...ฝรั่งเว้าซัวเซียเสียงสนั่น  นันเนืองเถียง  ฟ่าวเพความเว้า  เอาหลังใส่หน้า  ภาษาสับไขว่  ฮู้แต่น้อย  ก็อดซ็องซ้ำด่านำ..."

       เหตุการณ์ก็เลยเกิดสับสนอลหม่าน  ทั้งภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่าง  ฝรั่งกระโดดเต้นผางๆ ไปแจ้งความกับเจ้าเมือง  เอาเรื่องถึงที่สุด  เจ้าเมืองก็สมปรารถนาพาฝรั่งลงไปแจ้งความยังกรุงเทพฯกล่าวโทษราชบุตรสุ้ย  กับราชวงศ์  ต้องถูกลงโทษปรับไหมเป็นเงินยี่สิบชั่งดังว่า

        "
พระจึงโองการให้  เสียสินไหมซาวชั่ง  ให้ฝรั่งต่างด้าว  เพียงด้ามผูกแขน  สองก็บ่ขัดข้อง  แถลงความต้านกล่าว  ถวายบาทเจ้า  ชุลีน้อมเลิกลา"

       แต่นั้นมาเหตุการณ์ในบ้านเมืองอุบลราชธานีก็ไม่สงบสุข  ฝ่ายราชบุตรได้ลงไปกรุงเทพฯฟ้องเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์  หาว่าปกครองบ้านเมืองแบบไม่สุจริต  เจ้าพรหมฯลงไปแก้คดี  แล้วก็หาข้อฟ้องเจ้าราชบุตร  จนต้องต่อสู้ยืดเยื้อ  ต่างฝ่ายต่างหาพยานหลักฐาน หาเรื่อง หาความต่อสู้กันยืดเยื้อ  ต้องเข้าหาผู้หลัก ผู้ใหญ่ ผู้รู้ความในกรุงเทพฯ  ขนเงิน ขนทอง ทรัพย์สินลงไปขายสู้คดีกัน

                                              


      "
ต่างก็สับสนแส้ว  หาขุนนางชั้นผู้ใหญ่  ในนอกพร้อม  เงินเบี้ยป่อนลง  พอให้ความโตแล้ว  ชนะคดีคืนคอบ  เหมิดหยังบ่ได้เว้า  เทเป้งซ่อยความ  เจ้าพรหมนั้น  การใดในนอก  เพิ่นหั่งได้แจบแจ้ง  กระบวนฮู้สู่เซิง  ภคินีน้องดวงคำน้องนาถ  ได้เป็นเมียฮ่วมข้าง  พระจอมเกล้ามิ่งเมือง  ท้าวฮั้งได้ฮ่มท้อง  อุทรแทบเทียมฮัก  มารดาเดียว  ฮ่อแพงพงษ์เซื้อ        บ่ห่อนเขินขาดห้อง  ทางจ่ายฟูมเฟือ  จุนเจือหา ซ่อยกันคดีแก้"

       สู้ความกันได้หกปี     ยังไม่จบสิ้น  จนราชบุตรสุ้ยกับราชวงศ์โหง่นคำ ถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯ  ท้าวไชยกุมารบุตรของราชวงศ์โหง่นคำ  กับท้าวคำหมั้นบุตรของราชบุตรสุ้ย ได้รับการแต่งตั้งแทน  และให้ลงไปแก้คดีแทนพ่อด้วย  เพราะห์ฝ่ายเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ยังไม่ยอมแพ้  เป็นความติดต่อกันถึง 9 ปี

      "หลายขวบเข้า  ปีเก้าฮ่วมมา  ความบ่เสี้ยง  คาคดีแก้กล่าว  ยังบ่ทันขาดข้อ  เสียซ้ำหน่วยคดี  เหตุว่าเงินในข้อง  ของแพงตั้งแต่ปู่  เหมิดไถ้เป้ง  ความเสี้ยงสิหย่ากัน"

                                   

      เงินก็หมดเจ้าตัวทั้งสองฝ่ายก็เจ็บป่วย  จะกลับบ้านก็อับอาย  เพราะยังไม่ชนะความ  หมดเงิน  หมดทอง  หมดมรดกตกทอดมาเยอะแยะ  แถมเกิดเจ็บป่วยด้วยโรคเมืองกรุงจนตาย

       "เมืองหลวงกว้าง  โสเพณีมีมาก  เกาะก่ายเกี้ยวเซิงซู้สวากเสน่ห์  สามเขือเฒ่าเนากรุงสนุกยิ่ง  .....   เฮอยู่เรื่อย  เอาสาวซ้อน  ซู่ยาม.....  รินเริงเรื่อย  หลงฮูปนางกรุง....เป็นเหตุให้สองเขือเกิดพยาธิ์  บุรุษราเยี้ยม  หนองในพร้อมจ่องนำ..."

       ก็เลยตายที่กรุงเทพฯนั้นแล  คดีความจึงยกเลิกไป

     เหตุทั้งนี้เป็นเพราะเจ้ามองไซแงนั่นเทียว

 

Tags : History

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view