http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,956,746
Page Views16,263,045
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

เหรียญอีกด้าน...ความจริงของเขื่อนแม่วงก์

เหรียญอีกด้าน...ความจริงของเขื่อนแม่วงก์

เหรียญอีกด้าน...ความจริงของเขื่อนแม่วงก์

โดย เธียร ภัทรา เรื่อง-ภาพ

                  หากค้นหาคำว่า "โครงการเขื่อนแม่วงก์" ใน Google.co.th  ก็จะเห็นคำเหล่านี้ขึ้นมาทันที "คัดค้านเขื่อนแม่วงก์...,    หยุดเขื่อนแม่วงก์...   เขื่อนแม่วงก์ยังไม่ผ่านEHIA...  กลุ่มต้านเขื่อนแม่วงก์ เดินทางเข้ากรุงคัดค้าน EHIA....  สะเอียบแถลงการณ์หยุดเขื่อนแม่วงก์..... ฯลฯ" ข้อมูลที่เหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องลบทั้งสิ้น จนทำให้รู้สึกว่า ทุกคนคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์  ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลย !

                   หากเดินเข้าไปในพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์  ที่บ้านเขาสบกก  ตำบลแม่เลย์  อำเภอแม่วงก์  จังหวัดนครสวรรค์ หรือพื้นที่ใกล้เคียง  ถามชาวบ้านที่นั่น ถามผู้นำชุมชนที่นั่นแล้วจะรู้ว่า กว่า 95 % ต้องการให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ เพราะเขาเดือดร้อนจริงๆ ทั้งปัญหาน้ำท่วมหลายต่อหลายครั้งในฤดูฝน   และปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ซ้ำซาก  สร้างความเสียหายไม่มีที่สิ้นสุด

                    ขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านในพื้นที่อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯเพื่อยื่นหนังสือต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เร่งผลักดันโครงการ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมทุกปี ล่าสุดเม่ื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา น้ำก็ยังท่วม จนทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย อีกด้วย

                    โครงการเขื่อนแม่วงก์เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2528 หรือประมาณ 28 ปีที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่น โดย JICA ได้สนับสนุนให้ทำการสำรวจความเป็นไปได้ทางด้านวิศวกรรมและเศรษฐกิจในการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในปี 2526 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในเขตหลายอำเภอของจังหวัดนครสวรรค์  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์  ชาวบ้าน ข้าราชการ  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนในพื้นทีี่ได้เรียกร้องให้มีการสร้างเขื่อน ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525-2529) ที่ได้บรรจุโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสะแกกรังไว้ในแผนด้วย ต่อในปี 2532 คณะรัฐมนตรีให้อนุมัติในหลักการให้กรมชลประทานจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการเขื่อนแม่วงก์ เพิ่มเติมจากของ JICA

                    ปี 2533  กรมชลประทานได้ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม  และในปี 2536 คณะสำรวจได้ทำการสำรวจสัตว์ป่าหายากในบริเวณที่จะก่อสร้างโครงการ ตามที่กลุ่มอนุรักษ์ร้อนเรียนแต่ไม่พบ  ต่อมาในปี 2537  การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมพร้อมแผนแก้ไขแล้วเสร็จ   และในปีเดียวกันประชาชนชาวนครสวรค์ได้แสดงประชามติเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์    แต่ก็ไม่สามารถก่อสร้างได้....

                     ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2537 – 2554  สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้มีการพิจารณารายงานการผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)  แล้วถึง 10 ครั้ง  และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาไปแล้ว 4 ครั้ง  แต่โครงการเขื่อนแม่วงก์ก็ยังไม่ก้าวหน้า

                    ต่อมาหลังจากเกิดมหาอุทกภัยในปี 2554 คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(กบอช.) ได้นำโครงการเขื่อนแม่วงก์ บรรจุไว้ในแผนก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ปัญหา

อุทกภัยของประเทศไทย หรือที่เรียกกันว่า โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 3.5 แสนล้านบาท  

                   ในปี 2555 คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ คชก. ให้กรมชลประทานไปทำการศึกษา การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA)  เพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรค 2 

EHIA แตกต่างจาก EIA อย่างไร?

                    EIA (Environmental Impact Assessment ) หมายถึง การใช้หลักวิชาการในการทำนาย หรือคาดการณ์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการใน 4 ด้าน อันได้แก่ 1.ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น อากาศ น้ำ ดิน 2. ทรัพยากรทางชีวภาพ เช่น สัตว์ พืช หรือ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ 3.คุณค่าการใช้ประโยชฯของมนุษย์ เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำดื่ม/น้ำใช้ และ 4. คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ในประเด็นเศรษฐกิจ สังคม หรือสาธารณสุข เป็นต้น เพื่อจะได้หาทางป้องกันผลกระทบในทางลบที่อาจเกิดขึ้นให้เกิดน้อยที่สุด ในขณะเดียวกัน ก็มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประโยชน์ มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุด พร้อมทั้งจัดทำมาตรการและแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันแก้ไขผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ตลอดจนจะต้องมีงบประมาณรองรับแผนเพื่อให้สารถดำเนินกิจกรรมตามแผนป้องกันแก้ไขผลกระทบได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ 

                     ส่วนEHIA (Environment and Health Impact Assessment) หมายถึง กระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ ทั้งนี้ได้ขยายมิติทางสุขภาพออกไปให้กว้างขึ้นจากที่มีอยู่เดิมใน EIA และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยกำหนดสุขภาพกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม ระบบบบริการสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพ นับเป็นกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ครบทุกมิติ รวมทั้ง EHIA ยังเป็นกระบวนการที่ดีที่ได้กำหนดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังข้อห่วงกังวลต่างๆ จากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียไว้อย่างชัดเจน

                     คชก. ได้ประชุมพิจารณารายงาน EHIA ครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2555 และครั้งต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 โดยให้กรมชลประทานต้องปรับปรุงแก้ไขและเสนอข้อมูลเพิ่มเติมนั้นจำนวนทั้งสิ้น 11 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย ข้อมูลพื้นฐานในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การเลือกพื้นที่หัวงาน อุทกธรณีวิทยาและน้ำใต้ดิน ทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรสัตว์ป่า นิเวศวิทยาทางน้ำและการประมง การบริหารจัดการอุทยาน การท่องเที่ยวและการพักผ่อนหย่อนใจ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สภาพเศรษฐกิจสังคมและการมีส่วนร่วมประชาชน และประเด็นรายละเอียดของดินและน้ำ

                     เมื่่อกรมชลประทานเสนอคำชี้แจงกลับมา ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 คชก. เห็นว่า มี 7 ประเด็นที่ต้องเพิ่มเติมรายละเอียดในคำชี้แจง คือ  เศรษฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ข้อมูลแผนที่ ทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรสัตว์ป่า การบริหารจัดการอุทยานและการท่องเที่ยว สภาพเศรษฐกิจสังคม และประเด็นรายละเอียดของดินและน้ำ

                     ดร.สมเกียรติ  ประจำวงษ์  ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า  ขณะนี้กรมชลประทานได้เสนอ รายงานชี้แจงเพิ่มเติมใน 7 ประเด็นดังกล่าว ให้คชก. พิจารณาแล้ว หาก คชก.เห็นชอบ ก็จะนำ

                     รายงาน EHIA ที่ได้ปรับปรุงตามข้อคิดเห็นแล้วส่งให้องค์กรอิสระพิจารณาให้ความเห็น พร้อมทั้งจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบและประชาชนทั่วไป  ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  เพื่อพิจารณาว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป 

                    นอกจากนี้รายงานดังกล่าว  ยังได้เสนอแผนเพื่อแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดจากโครงการด้วย ยกตัวอย่างเช่น ด้านทรัพยากรป่าไม้ ที่ได้ประสานกับผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่เพื่อจะปลูกป่าทดแทน 30,000 ไร่จากการสูญเสียพื้นที่ป่า 14,952 ไร่ ซึ่งได้รับการตอบรับที่จะร่วมมือปลูกป่าเป็นลายลักษณ์อักษรจากองค์การบริหารส่วนตำบลปางมะค่า จังหวัดกำแพงเพชร และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เล่ย์ จังหวัดนครสวรรค์  หรือการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ และท่องเที่ยว  

                   ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในทางสุขภาพของประชาชนทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพ เคมี หรือสุขภาพจิตหากมีการก่อสร้างโครงการ ฯ ก็จะได้ประสานกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมโรคจัดทำมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบทั้งหมดพร้อมกันกับมาตรการติดตามตรวจสอบการทำงานด้วย  เป็นต้น

                   กรณีที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์ เป็นพื้นที่ที่เหมะสมที่สุดในการขยายพันธุ์เสือโคร่งของผืนป่าฝั่งตะวันตกนั้น   ได้มีการสำรวจแล้วโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชพบว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อน รวมทั้งบริเวณที่อยู่ใกล้เคียงกันในรัศมีประมาณ 2 กิโลเมตรนั้นไม่มีและไม่พบเสือ

                   เขื่อนแม่วงก์  แม้จะเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ แต่เมื่อเทียบกับเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งแล้ว เขื่อนแม่วงก์ถือว่า เป็นเขื่อนที่ไม่ใหญ่นัก เขื่อนภูมิพลกักเก็บน้ำได้ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์กักเก็บน้ำได้ 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร   เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน กักเก็บน้ำได้ 939 ล้านลูกบาศก์เมตร   เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ กักเก็บน้ำได้  785  ล้านลูกบาศก์เมตร  ในขณะที่เขื่อนแม่วงก์ หากสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีความจุในระดับกักเก็บอยู่ที่  258 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น  กระทบต่อพื้นที่ป่าไม่มาก และยังอยู่บริเวณชายขอบอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่เคยเป็นป่าเสื่อมโทรมมาแล้วอีกด้วย 

                   ผืนป่าตะวันตก มีพื้นที่รวม 11,706,586 ไร่  ในขณะที่เขื่อนแม่วงก์จะใช้พื้นที่เพียง 12,375 ไร่ หรือ ประมาณ 0.1 % เท่านั้นซึ่งถือว่าน้อยมากๆ

                   หากพื้นที่สร้างเขื่อนมีเสือโคร่งจริงๆ (แต่การจากสำรวจแล้วไม่พบ) เสือจะปล่อยให้ตัวเองจมน้ำตายหรือครับ  ทั้งๆที่ยังมีพื้นที่ป่าเหลืออีก 99.9 %

                   โครงการเขื่อนแม่วงก์ มีการศึกษามากกว่าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกๆโครงการ ยาวนานมาเกือบจะครบ 30 ปีแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ก็เรียกร้อง รอคอย  น่าจะหันมามองประโยชน์ที่จะได้รับจากเขื่อนแห่งนี้บ้างนะครับ

                   เมื่อเขื่อนแม่วงก์ก่อสร้างเสร็จจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่  และช่วยตัดยอดน้ำจากลุ่มน้ำสะแกกรังที่จะไหลลงสู่ลุ่มเจ้าพระยา  รวมทั้งยังจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง โดยจะสามารถขยายพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนได้ 291,900 ไร่ และพื้นที่ในฤดูแล้ง 116,545 ไร่  นอกจากนี้ยังจะสร้างประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยว การประมง   ซึ่งจะทำให้สภาพทางเศรษฐกิจ ยกระดับรายได้ของชาวบ้านให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น   รวมทั้งยังมีประโยชน์ด้านการป้องกันไฟป่า   การบุกรุกป่า  อีกด้วย

                  เหรียญยังมี 2 ด้าน ลองกลับเหรียญอีกด้าน ขึ้นมาพิจารณาบ้างว่าเป็นอย่างไร?

                  .....ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องตัดสินใจว่า จะสร้างเขื่อนแม่วงก์หรือไม่ ?

 

 

Tags : อุทยานแห่งชาติแม่วงศ์ นกยูงที่แม่เรวา

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view