http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,960,910
Page Views16,267,260
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

หม่อน ไหม เส้นสาย ลายแพร(๒) “เอื้อยนาง”

หม่อน ไหม เส้นสาย ลายแพร(๒)  “เอื้อยนาง”

หม่อน ไหม เส้นสาย ลายแพร(๒)

เอื้อยนาง

 

          เมื่อมนุษย์ถ้ำเริ่มเจอปัญหา ไม่ว่าจะมาจากอาหารขาดแคลน โรคภัยเบียดเบียน หรือถูกศัตรูรุกราน  พวกเขาเริ่มหาที่อยู่ใหม่ การก่อสร้างที่อยู่อาศัยเริ่มก่อตัว  กิ่งไม้ ใบหญ้า เครือเถาจึงถูกนำมามัด ขัด สาน ถัก ทอ เป็นเพิงพักหลบแดดฝน

          

          เถาวัลย์เป็นเส้นสายแรกที่รู้จักนำมาผูกต่อ ถักทอเป็นผืนใช้ประโยชน์หลากหลาย เปลือกที่เป็นแผ่น เป็นเส้นสาย และใยไม้ถูกพัฒนามาใช้หลากหลาย  ผ่านยุคสมัยผ่านกาลเวลา มีการริเริ่ม คิดค้น นำเปลือกไม้ ใยไม้บางชนิดมาทุบ ฟอก นำมาถักทอห่อหุ้มร่างกายกันความหนาวเย็น  กันผิวหนังจากการถูกขูดเจาะทิ่มแทงจากแมลงสัตว์หรือ กิ่งไม้ หนามไหน่อันแหลมคม

          ผ่านยุคสู่ยุค สืบเนื่อง และปรับปรุงพัฒนา เส้นสายใช่เพียงนำมาจากใยไม้ ยังมาจากขนสัตว์  ปุยฝ้าย และฝักไหมที่ให้เส้นสายสวยงาม คงทนมากขึ้น

          

           การผลิตเส้นไหมจากฝักไหม เพื่อถักทอเป็นผ้าผืนงามเนื้อบางเบา เป็นมันระยับ เสริมส่งผู้สวมใส่ ห่มคลุมนั้นเป็นขบวนการซับซ้อน  ก่อให้เกิดวัฒนธรรมในวิถีชีวิตครอบครัว ตลอดชุมชน

          เริ่มตั้งแต่การปลูกต้นมอน(หม่อน)เพื่อให้มีใบมอนเพียงพอสำหรับตัวม้อนที่หิวโหย   ครอบครัวผู้ผลิตไหมจึงต้องมีสวนมอนประจำครอบครัว  ซึ่งในครอบครัวชาวอีสานหน้าที่การเก็บใบมอนมาเลี้ยงม้อนนั้นมักเป็นของลูกสาว  กลายเป็นจุดนัดพบที่ผู้บ่าวไปเยี่ยม ๆ มอง ๆ ด้วย  จึงเกิดมีบทกลอนลำ กลอนผญาเกี้ยวสาวเนื้อหาเกี่ยวกับสวนมอนขึ้นมากมาย  เช่น

จดหมายรักสมัยก่อนมีระบุที่อยู่ผู้เขียนว่า  ที่หัวสวนมอนบ่อนอยู่เก่า อันมีความหมายถึงที่อยู่ผู้เขียนว่า อยู่ ณ มุมสวนหม่อนที่เคยอยู่แต่ใดมา

          หรือ  บทเพลงกล่อมเด็ก บทแม่หม้ายกล่อมลูก จะมีบทร้องกล่าวถึงนางแม่หม้ายกล่อมลูกให้นอนหลับไวๆ เพื่อแม่จะได้ไปเก็บใบหม่อน ที่สวนมอนซึ่งที่นั่นเธออาจพบผู้บ่าว และอาจได้พ่อเลี้ยงมาช่วยเลี้ยงเจ้าหนูให้เติบใหญ่ด้วย  ดังว่า

            นอนสาหล่า หลับตาแม่สิกล่อม

แม่สิไปเลี้ยงม้อน  เก็บ(ใบ)มอน เว้าผู้บ่าว

 ลางเถื่อ(อาจบางที)ได้พ่อน้ามาเลี้ยงให้ใหญ่สูง. 

 

            มีใบมอนแล้วก็ต้องมีตัวม้อน(ตัวไหม)  ฝักไหมที่สมบูรณ์ถูกคัดมาไว้ในตะกร้าหุ้มด้วยผ้าขาวเอาไว้    ปล่อยให้ตัวผีเสื้อโผล่ออกมา มันเป็นผีเสื้อกลางคืนตัวตุ่น ๆ มีขนนุ่มปกคลุมทั้งตัวและปีก  จิ้งจก นก หนูชอบมาก  ต้องปกป้องอย่างดี  โดยมากเขาจะใส่มันไว้ในตะกร้า  คลุมด้วยผ้าขาวปล่อยให้มันผสมพันธุ์กัน  และออกไข่ แล้วมันก็จะตายไปเองตามวัฏจักรวงเวียนชีวิตของมัน

            ไข่ของเจ้าผีเสื้อนี้แหละจะฟักออกมาเป็นหนอนหัวโตๆ อ่อนนิ่ม และบอบบาง ต้องประคับประคอง ปกป้องไว้เป็นอย่างดี  เพราะมันก็เป็นเมนูอาหารที่เหล่าจิ้งจก นก หนู มด แมลงจอมขโมยทั้งหลายชอบเช่นกับแม่ของมัน

            แต่ตัวมันนั้นพอลืมตาดูโลก และยกคอได้มันก็รู้จักแต่ว่า

            “หิว หิว หิว...”

            เจ้าของต้องกุลีกุจอเอาอกเอาใจ  โชคดีที่อาหารที่มันต้องการมีเพียงอย่างเดียว คือใบหม่อน หรือมอนเท่านั้น

            “เกือม้อน”

            คือคำที่ชาวอีสานใช้เรียกการให้อาหารตัวหม่อน เกือ หมายถึงการ feed เช่น เอารำไปให้หมูก็คือ “เกือหมู” 


            ในระยะแรก ๆ ตัวหม่อนจะเล็กมาก เดินไม่เป็น เพราะไม่มีขา ไม่มีปีก มันได้แต่ยกคอขึ้นส่ายหัวไปมา และคลานดุบดิบไม่รู้ทิศทางจึงมักเกี่ยวพันกับตัวอื่น ๆ เป็นก้อนเป็นกลุ่ม  ผู้เลี้ยงต้องใช้มือช้อนมันขึ้นทั้งกลุ่มนำไปวางเกลี่ย ๆ ในภาชนะที่มีอาหารของมันรองรับ ภาชนะใช้เป็นที่เลี้ยงดูอยู่อาศัยของมัน คือ กระด้ง ที่สานด้วยตอกไม้ไผ่เป็นกระด้งที่สานให้กลมและมีขอบสูงกว่ากระด้งใช้ฝัด หรือใช้ร่อนทั่วไป

            ใบหม่อนที่เก็บมาสด ๆ  ทำการล้าง เช็ดให้สะอาด ปูลงบนพื้นกระด้งจนเต็มพื้นที่แล้วตัวหม่อนจอมตะกละก็จะถูกช้อนมาวาง เกลี่ย ๆ ให้กระจายออกจากกลุ่ม  แล้วใช้ใบหม่อนวางทับอีกชั้น เพราะพวกเจ้าหนอนจะชอนไชกินได้ทั้งชั้นที่ปูและวางทับมันหมดได้ในเวลาไม่นานนัก   เสร็จแล้วใช้ผ้าขาวคลุมมิดชิดชนิดที่จิ้งจกมองแล้วน้ำตาตกเลยทีเดียว 

            ส่วนมดนั้นแม้จะเก่งในการเล็ดลอดตอดไต่ปานใดก็ต้องยอมแพ้แก่น้ำโดยธรรมชาติอยู่แล้ว  คนเลี้ยงหม่อนเขารู้ทันจึงยกกระด้งนี้ขึ้นไว้บนหิ้งที่มีน้ำหล่อขาตั้งไว้ชนิดมดเห็นแล้วน้ำตาตกเช่นกันแหละ


            ตัวหม่อนหนอนน้อยจอมตะกละเอาแต่ กิน ๆ ๆทั้งวันทั้งคืน กินแล้วถ่ายขี้ ออกมาเป็นก้อนกลม ๆ ดำๆ คล้ายเม็ดปุ๋ยชีวภาพในปัจจุบัน  ซึ่งก็ใช้เป็นปุ๋ยได้อย่างดีอยู่แล้ว นับว่ามันช่วยผลิตปุ๋ยให้เป็นการตอบแทน 

            พฤติกรรม การกิน ๆ ๆ แล้วขี้ ๆ ๆ ของเจ้า หนอนน้อยเหล่านี้ทำให้คนเลี้ยงต้องเป็นภาระเปลี่ยนอาหาร เปลี่ยนกระด้งวันละสองเวลาเช้าเย็น 

            การกิน ๆ ๆ อย่างนี้ทำให้เจ้าตัวหนอนโตขึ้นอย่างรวดเร็ว  จำนวนกระด้งจึงเพิ่มขึ้นทุกวัน  เพราะตัวมันโตจนแน่นกระด้งต้องแบ่งออกไปใส่ในกระด้งอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าทีเดียว


            ใครที่กลัวหนอนอย่าได้ไปแอบเปิดกระด้งนี้ดูเชียวนะ  เพราะหากมันกินหม่อนจนหมดแล้วมันก็ชูคอกันสลอนคอยใบหม่อนชุดต่อไปอย่างหิวโหยเชียว คิดดูเอาเถิดว่าเจ้าตัวหนอนตาโปน ๆ ที่ชูคอสลอนส่ายหัวไปมา และต่างจ้องสายตาเพ่งมาที่คุณ...

             แล้วมันรู้จักนอนพักผ่อนกันบ้างไหม?

             แน่นอน เจ้าหนอนหม่อนไหมก็มีช่วงพักไม่กินอาหารอยู่ประมาณสอง-สามครั้งในชีวิตของพวกมัน  เรียกว่า  ม้อนนอน”  และครั้งสุดท้ายเมื่อมันโตเต็มที่แล้ว ตัวจะอ้วนกลม  มีสีเหลือง  มันจะงดอาหารเริ่มจำศีล  เปลี่ยนร่างเป็นฝัก  เพื่อฟักตัวอยู่ภายใน เรียกว่า  ดักแด้


            ภาชนะ หรือที่อยู่ใหม่ของตัวหนอนหม่อนไหมในช่วงนี้เป็นกระด้งขนาดใหญ่ สานเป็นชั้น ๆ แบ่งเป็นช่อง ๆ หรือห้อง ๆ คล้ายคอนโดมิเนียม เรียกว่า  จ่อ ตัวหนอนถูกนำมาวางตามช่อง  มันจะเกาะแน่นแล้วเริ่มคายเส้นใยออกมาห่อหุ้มตัว กลายเป็นก้อนกลม ๆ รีๆ คล้ายไข่ไก่แต่มีขนาดเล็ก ขนาดเม็ดขนุน เรียก ฝักไหม

            เส้นใยจะมีสีเหลือง ครีม หรือขาวตามพันธุ์ไหม ฝักไหมก็จะมีสีดังกล่าวด้วย  ฝักไหมนี่แหละที่จะนำไปต้มเพื่อสาวเอาเส้นไหมนำไปทอเป็นผ้าเป็นผืนต่อไป  สาวเอาเส้นใยออกจนหมดแล้วเหลือตัวดักแด้ข้างในเป็นอาหารล้นคุณค่าอีกนะ  ส่วนที่จะนำไปทำพันธุ์นั้นจะถูกคัด ไม่ต้มแต่เก็บไปไว้ให้มันออกเป็นผีเสื้อครบวงจรชีวิตของมันพอดี

.....

 

 

 

 

 

 

 

 

 

            

Tags : หมอนไหม เส้นสาย ลายแพร(1)

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view