http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,991,769
Page Views16,299,959
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

8 ปัจจัยหลัก การปลูกป่า(ไม้สัก)เป็นอาชีพของประชาชนล้มเหลว

8 ปัจจัยหลัก การปลูกป่า(ไม้สัก)เป็นอาชีพของประชาชนล้มเหลว

8 ปัจจัยหลัก การปลูกป่า(ไม้สัก)เป็นอาชีพของประชาชนล้มเหลว

โดย ธงชัย เปาอินทร์

                พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7  ไม้สักและไม้ยางทั่วไปในราชอาณาจักรไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. กรมป่าไม้ใช้กฎหมายนี้บังคับใช้ เป็นการประกาศว่า ไม่ว่าไม้สักและไม้ยางจะไปขึ้นอยู่ในที่ดินกรรมสิทธิ์ใดๆของประชาชนคนใด ไม้สักและไม้ยางนั้นๆเป็นไม้หวงห้ามประเภทก. นั่นคือเป็นต้นไม้ของรัฐบาล

                หากจะตัดไปใช้ประโยชน์ใดๆก็ต้องไปขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องเสียค่าภาคหลวง(ภาษี) ให้กับรัฐบาลทั้งสิ้น 


                ต่อมา กรมป่าไม้ตราพระราชบัญญัติสวนป่าพ.ศ.2535  อนุญาตให้เกษตรกรปลูกป่าเป็นสวนป่าของใครของมัน โดยให้ปลูกป่าไม้หวงห้ามซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก ยาง ประดู่ ฯลฯ ได้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายที่ดิน และสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือตามกฎหมายว่าด้วยการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ 


                ปลายปี กรมป่าไม้เปิดประชุมทางวิชาการป่าไม้ที่จังหวัดเชียงราย เป็นวาระสำคัญ

                ปีพ.ศ. 2536 เกิดกระแสการปลูกป่าเป็นอาชีพไปทั่วแผ่นดิน มีการพิมพ์หนังสือการปลูกป่าไม้สักออกขายกันมากมายหลายคน เกิดการเพาะกล้าไม้สักพร้อมปลูกออกจำหน่าย ความมุ่งหมายสำคัญของประชาชนคนอยากปลูกป่านั้นอยากปลูกป่าไม้สักเป็นทรัพย์สินบนที่ดินของตนเอง ด้วยคุณสมบัติดีเยี่ยมของไม้สักและด้วยมูลค่าราคาที่แพงชวนให้เกิดความอยาก

                 กรมป่าไม้ อุบัติโครงการส่งเสริมตั้งแต่ปีพ.ศ. 2537-2541 รวม 5 ปี เริ่มต้นที่ปีพ.ศ.2537 จำนวน 1 ล้านไร่ ไร่ละ 3,000 บาท แบ่งจ่ายเป็นการปลูกและการบำรุง ระยะเวลา 5 ปี  รวมปีละ 3,000 ล้านบาท   โดยผ่านงบประมาณให้กรมป่าไม้จัดสรร โดยส่วนปลูกป่าภาคเอกชน สำนักส่งเสริมการปลูกป่า และกระจายเงินงบประมาณลงไปยังป่าไม้จังหวัด-ป่าไม้อำเภอ ทั่วประเทศ  

                 ความคาดหวังของกรมป่าไม้คือได้ป่าไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่มีเกษตรกรหรือประชาชนเป็นเจ้าของ 5 ล้านไร่บนที่ดินกรรมสิทธิ์ของใครของมัน เปลี่ยนบริบทต้นไม้เศรษฐกิจของรัฐให้เป็นของประชาชน  ประชาชนคนปลูกป่าจะเป็นคนปลูกเอง บำรุงสวนป่าเอง ตัดขายเอง หรือตั้งโรงงานแปรรูปไม้เพื่อจำหน่ายได้เอง  ประชาชนมีทรัพย์สินพอกพูนถาวรจากป่าไม้ที่คนเองสร้างขึ้นมากับมือ 


                  ผลได้ที่กรมป่าไม้วาดหวังคือ ประชาชนจะมีไม้เศรษฐกิจไว้ใช้สอยแทนต้นไม้เศรษฐกิจจากป่าธรรมชาติ  และสิ่งแวดล้อมที่ดีอันเกิดจากการมีต้นไม้เพิ่มขึ้น  โอย ช่างสวยหรู

                  ก็แล้วปัจจัยใดหรือที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในการผลัดเปลี่ยนบริบทของการปลูกป่า(ไม้สัก)เป็นอาชีพของประชาชน จึงขอจำแนกเพื่อให้จดจำกันไว้เป็นบทเรียน ดังนี้ครับ


  1. พระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ.2484 มาตรา 7 ได้จับไม้สักและไม้ยางไปล่ามโซ่ตรวนตามกฎหมายดังกล่าว นั่นคือไม้สักและไม้ยางไม่ว่าจะขึ้นอยู่ ณ ที่ใดเป็นไม้หวงห้ามทั้งสิ้น จะปลูกจะตัดต้องขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่อุปสรรคเดิม
  2. พระราชบัญญัติ สวนป่า พ.ศ.2535 ได้อนุญาตให้ปลูกป่าไม้สักได้ แต่ก็ได้วางกับดักเกษตรกรปลูกป่าไว้แทบทุกขั้นตอน  ปลูกแล้วจะต้องไปขึ้นทะเบียนสวนป่า ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ว่างไปตรวจสวนป่าก็ขึ้นทะเบียนไม่ได้สักที ถ้าจะตัดสางขยายระยะหรือจะตัดขายก็ต้องไปขอให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจรับรองก่อนตัด แม้อนุญาตให้มีดวงตราประทับไม้ได้แต่ก็ต้องไปขออนุญาตมีดวงตรา ขั้นตอนเพียบ ความประสงค์ดีแต่มีเงื่อนไข
  3. พื้นฐานความรู้เรื่องการปลูกป่าไม้สัก  เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ทุกระดับ มีพื้นฐานความรู้เรื่องการปลูกการบำรุงต้นไม้สักไม่เท่าเทียมกัน  เมื่อรู้ไม่จริงก็ให้ความรู้ผิดๆถูกๆ เกษตรกรผู้ปลูกป่าก็เช่นกันได้รับความรู้ไม่ทั่วถึงและไม่ถูกต้อง ช่างเคว้งขว้างเสียจริงๆ 
  4. ที่ดินที่ปลูกไม้สักของเกษตรกร  เหมาะสมที่จะปลูกป่าไม้สักเพียงใด  ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องหรือไม่  เช่นไปปลูกไม้สักบนที่ดินที่เคยเป็นป่าเต็งรัง ต้นสักก็ไม่เติบโตดังหวัง  หรือได้รับคำแนะนำให้ปลูกป่าไม้สักบนนาข้าว เมื่อน้ำท่วมแค่ 3 ชั่วโมง ก็ตายเพราะไม้สักชอบดินระบายน้ำดี เป็นต้น
  5.  จิตวิญญาณของนักส่งเสริมการปลูกป่าไม้  กรมป่าไม้เพิ่งเคยมีโครงการส่งเสริมเช่นนี้ จึงไม่เคยเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ป่าไม้ให้เป็นนักส่งเสริมการป่าไม้ เคยแต่ใช้อำนาจหน้าที่ จึงไร้ทักษะ และส่วนใหญ่อิงผลประโยชน์แอบแฝง
  6. การทุจริต  เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เสพย์ติดการทุจริตคิดมิชอบกับเงินงบประมาณการส่งเสริมการปลูกป่า  จนถูกออกราชการ กินยาตาย  ติดคุก ฯลฯ
  7. รัฐบาลไม่เข้าใจบริบทของ ต้นไม้สักและต้นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจอื่นๆ ว่าแท้ที่จริงมันคือพืชเกษตรชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับต้นยูคาลิปตัส มะม่วง มะขาม ต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะเก็บเกี่ยวได้
  8. รัฐบาลผิดพลาดอย่างมหันต์ที่ให้กรมป่าไม้กำเงินงบประมาณแผ่นดิน ไปส่งเสริมโดยตรง  แทนที่จะให้เกษตรกรไปกู้เงินดอกเบี้ยต่ำระยะยาวจากธนาคารสินเชื่อเพื่อการเกษตรเหมือนอาชีพการเกษตรอื่นๆ 

เพียง 8 ปัจจัยก็เกินพอ คงไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดมากนัก เพียง 8 ปัจจัยที่อยากให้รัฐบาลได้เข้าใจถึง บริบทไม้สักในป่าธรรมชาติ และบทบาทไม้สักนอกป่าธรรมชาติ ที่ต้องยอมรับว่า ต้นไม้สักคือพืชเกษตรชนิดหนึ่ง ดังเช่นที่ต่างประเทศทั่วโลกเข้าใจ และเมื่อให้เกษตรกรปลูกเป็นป่าไม้เศรษฐกิจ จึงเป็นอาชีพถาวรที่สืบทอดกันอย่างยาวนาน 

                        ประเทศไทยโชคดีที่มีไม้สักดีที่สุด สวยที่สุดในโลก ขึ้นได้อย่างกว้างขวาง ถ้าปลูกป่าไม้สักเป็นอาชีพได้ จะทำเงินให้กับเกษตรกรและประเทศมากมายมหาศาล

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view