http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,960,630
Page Views16,266,966
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ศาลพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร

ศาลพระเจ้าตากสินมหาราช  ที่วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร

ศาลพระเจ้าตากสินมหาราช

ที่วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร

โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

ศาลพระเจ้าตากสินมหาราช

วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2558

         วันรำลึกถึงพระเจ้าตากสินมหาราช ผมได้รับโทรศัพท์ให้ไปรอขึ้นรถร่วมกันสามพี่น้องวัยชราที่หน้าบิ๊กซี สี่แยกวงศ์สว่าง แล้วก็มุ่งหน้าไปยังกองทัพเรือ ได้เข้าไปไหว้ศาลพระเจ้ากรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 


ที่ประทับและท้องพระโรง

           ได้เข้าไปชมห้องบรรทมและท้องพระโรงหลังเดิมของพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเป็นเพียงอาคารทรงไทยสองหลังประกบกัน เรียบง่าย ไม่ได้ประดับประดาหรูหราแต่อย่างใด คงสมกับยุคสมัยที่เพิ่งจะครองราชย์บ้านเมืองพ้นความระส่ำระสาย


           แล้วก็ได้ไปดูนิทรรศการต่างๆในตึกจีนคู่ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นที่ประทับของเจ้าฟ้าหลายพระองค์ เช่นกรมหมื่นอิสรสุนทร  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ฯลฯ ถัดจากนั้นก็เดินแบบย่องๆไปที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไปกราบบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช จุดนี้มองเห็นเรือทัวร์ของนักท่องเที่ยวที่เวียนมาให้ชมและเห็นป้อมวิไชยประสิทธิ์ด้วย  

    

ศาลพระเจ้าตากสินมหาราชที่วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร

          สามเฒ่าพี่น้องตระกูลเปาเดินทางกันต่อไปยังวัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่  จอดรถแล้วก็เดินไปยังวิหารขวางที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ  ศิลปะสมัยสุโขทัย  มีป้ายสื่อความหมายบอกกเล่าเรื่องราวของพระพุทธรูปทองคำ ความว่า


          เมื่อปีพ.ศ.2499 พระสุขุมธรรมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร ได้พบว่ามีพระพุทธรูปปูนปั้นองค์หนึ่งดูเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ มีรอยแตกร้าวจนเห็นเนื้อทองสุกใส จึงได้กะเทาะออกแล้วพบว่าแท้ที่จริงเป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยสุโขทัย เนื้อผสมนวโลหะปางมารวิชัยปางขัดสมาธิราบสูง 183 ซม.หน้าตักกว้าง 160 ซม. มีอักษรโบราณจารึกไว้ที่ฐานพระพุทธรูปทองคำองค์ดังกล่าวด้วย


           อาจารย์ ฉ่ำ ทองคำวรรณ อาจารย์ด้านอ่านอักษรโบราณและศิลาจารึกของกรมศิลปากร ได้อ่านความว่า พระพุทธรูปทองคำองค์นี้สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.1963 ปีเถาะ เดือน . ขึ้น 1 ค่ำ สร้างโดยสมเด็จท้าวพระยาศรียศราช สร้างถวายเป็นพุทธบูชาพระศาสนา


           เมื่อเดินขึ้นไปบนวิหารขวาง จึงได้พบพระพุทธรูปทองคำเนื้อนวโลหะงดงามเปล่งปลั่งประดิษฐานเรียงด้วยพุทธรูปอีกหลายองค์ สามเฒ่าก้มลงกราบด้วยความเคารพเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา นั่งมองพระพักรที่สดใสดุจทองทา อิ่มเอิบในดวงฤทัยเหี่ยวๆแล้วก็กราบลา


พระพุทธรูปทองคำ

            วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวง นิกายเถรวาท เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันชื่อ พระราชโมลี(มีชัย วีรปัญโญ ปธ.9) ภายในอุโบสถมีพระประธานชื่อ พระแสน (เชียงแตง) เดิมเป็นวัดราษฏร์ชื่อวัดเจ้าขรัวหง สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี นิกายธรรมยุต มีพื้นที่วัด 46-1-23 ไร่ ติดฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและฝั่งคลองบางหลวง


            พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ นวโลหะเรียกกันว่า “หลวงพ่อแสน” เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบปรางมารวิชัย เป็นพระเก่าแก่ประจำวัดหงส์รัตนาราม มีหน้าตักกว้าง ๒๕ นิ้วครึ่ง  แปลกมาตรงที่เบื้องพระศอตอนบนจนถึงพระเศียรและพระพักตร์สีทองเป็นนวโลหะสัมฤทธิ์แก่ เบื้องพระศอตอนล่างลงมาจนถึงพระองค์ และฐานรองสีทองสัมฤทธิ์เนื้ออ่อนกว่า


             ตอนพระเศียรและพระพักตร์ เนื้อทองจีวรเป็นอีกสีหนึ่งเข้มกว่าเนื้อทองส่วนพระองค์ แต่ไม่เข้มกว่าตอนพระพักตร์และพระเศียร ส่วนผ้าทาบสังฆาฏิก็เป็นเนื้อทองอีกชนิดหนึ่ง แตกต่างจากจีวรและสีพระองค์ พระพักตร์และพระเศียร แต่เป็นสังฆาฏิชนิดยาวทาบลงมาถึงพระนาภีแบบลังกาวงศ์ 


            พระเกตุมาลาหรือพระรัศมีเป็นเปลวยาวขึ้นแบบลังกาวงศ์ รอบฝังแก้วผลึก ๑๕ เม็ดนิ้วพระหัตถ์ไม่เสมอกันแบบพระเชียงแสน และสุโขทัยยุคแรก พระเศียรโตเขื่องกว่าส่วนพระองค์จนสังเกตเห็นชัด พระเนตรฝังแก้วผลึกในส่วนสีขาวและฝั่งนิลในส่วนสีดำ  ฐานรองเป็นแบบบัวคว่ำบัวหงาย


            ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถเบื้องหน้าพระองค์พระประธานออกมา จัดเป็นพระพุทธรูปสำคัญและงามเป็นพิเศษแตกต่างจากบรรดาพระพุทธรูปอื่น ๆ มีลักษณะเป็นชนิดหนึ่งหาเหมือนพระพุทธรูปในที่อื่นไม่เป็นพระเก่าโบราณ  ในพระอุโบสถจึงเห็นพระพุทธรูป 2 องค์ประดิษฐานลดหลั่นกันลงมาดังในภาพ


            ครั้นพระเจ้าตากสินมหาราชตั้งกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรขึ้นเป็นราชธานี โปรดให้ปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในปีพ.ศ.2314 เรียกชื่อวัดใหม่ว่าวัดหงส์อาวาสวรวิหาร รัชกาลที่ 1.ทรงเรียกว่าวัดหงส์อาวาศวรวิหาร รัชกาลที่ 3.เรียกว่าวัดหงสาราม จนถึงรัชกาลที่6. เรียกว่าวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหารตราบเท่าทุกวันนี้


            ความสำคัญของวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหารนั้นมากมีดังนี้คือ พระยาธรรมปรีชา (แก้ว) พระอาลักษณ์ของพระเจ้าตากสินมหาราชเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจึงบวช จนได้รับโปรดเกล้าให้เป็นพระราชาคณะองค์แรก ต่อมาพระสังฆราช(ชื่น) อดีตเจ้าอาวาสวัดเมืองแกลง ที่พระองค์เคยพึ่งพาสมัยกรีฑาทัพไปยังเมืองระยอง ได้รับนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสวัดหงส์ จนได้เป็นถึงสมเด็จพระสังฆราชองค์ต่อมา


          ล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่ 2 พระพุทธเลิศล้านภาลัยทรงโปรดเกล้าตั้ง พระเทพโมลี(ด่อน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์ต่อมา วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร จึงเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง 3 พระองค์ดังกล่าว

            เจ้าพระยานมราช (ปั้น สุขุม) เคยบวชเรียนจนได้เป็นเปรียญธรรม 3 ประโยค ที่วัดหงส์ ต่อมาได้เป็นพระอาจารย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นถึงผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แทนพระองค์   องค์สุดท้าย พระธรรมไตรโลก วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร ได้ร่วมแปลพระคัมภีร์มงคลประทีปกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  ถือว่าวัดหงส์มีความสำคัญต่อแผ่นดิน


 ชาติกาลพระเจ้าตากสินมหาราช

         วันนี้ 28 ธันวาคม 2558 เป็นวันสำคัญที่วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร ได้ทำพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อรำลึกถึงพระคุณของพระองค์ที่ทรงกอบกู้แผ่นดินคืนจากพม่า อริราชศัตรูได้ ณ ศาลพระเจ้าตากสินมหาราช ริมคลองบางหลวง ประกอบพิธีทางพราห์มและพระพุทธศาสนาคู่กันอย่างโบราณราชพิธี เซ่นสรวงดวงวิญญาณด้วยเครื่องบูชาครบถ้วน


         จัดหอนิทรรศการเล่าขานถึงพระราชประวัติโดยย่อของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแก่ปวงชนที่ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชม ได้รู้เรื่องราวและความเป็นมาที่เกี่ยวเนื่องถึงวัดหงส์ฯ ได้รู้ถึงพระคุณของพระองค์ทั้งทางโลกและทางธรรม ตลอดจนเรื่องราวที่ไม่เคยได้รู้มาก่อนหน้านี้มากมาย ได้เห็นประชาชนคนศรัทธามากราบไหว แจกอาหารหวานคาวแก่ผู้เยี่ยมชม   เช่น ร้านขายหนังสือกฎหมายในเนติบัณฑิยสภา  

 

          ตกกลางคืนมีมหรสพสมโภชยิ่งใหญ่ ด้วยการจ้างโขนจากกรมศิลปากรมาแสดง จัดตั้งเวทีกลางแจ้งริมฝั่งคลองบางหลวงอลังการ ได้อ่านหนังสือเอกสารสำคัญที่ท่านพระครูปลัดสุชาติ ฐานจาโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร ได้เขียนและพิมพ์แจกจ่ายให้ความรู้แก่ประชาชนคนทั่วไป  ที่ไม่เคยรู้จะได้รู้ "มหาราชกู้แผ่นดิน" 


           หลังปกหนังสือมีคำกล่าวสำคัญของพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช

           “คนที่ไม่รักษาศีล ไม่ควรมีชีวิตอยู่ และยิ่งไม่ควรปกครองราชอาณาจักร”


ศาลพระเจ้าตากสินมหาราชเหนือรอยเลือดพระศพ

            พระองค์เป็นพุทธมามะกะองค์สำคัญ ยึดมั่นในศีลธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสมพุทธเจ้าเคร่งครัด ถือศีล นั่งวิปัสสนากรรมฐานสม่ำเสมอ ทรงปฏิสังขรณ์วัดวามอารามในเขตกรุงธนบุรีให้รุ่งเรื่องเสมอกัน ตลอดรัชกาลของพระองค์ถึง 14 ปี พระคุณของพระองค์จึงควรที่คนไทยทั้งชาติควรเทิดทูนดุจบุพการีผู้มีคุณ


           สรุปชาติกาลจากแผ่นป้ายนิทรรศการดังนี้คือ 

            พ.ศ.2277 สิน บุตรชาวจีนไหฮองนางนกเอี้ยง ถือกำเนิด ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์   ศิษย์เก่าพระมหาทองดี แห่งวัดโกษาวาสน์  พ.ศ.2290 ตัดเปีย พ.ศ.2292 เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก รับราชการอยู่เวรนายศักดิ์ ในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์   ปีพ.ศ.2298 อุปสมบทอายุ 21 ปี พ.ศ.2301 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ โปรดเกล้าให้เป็นผู้กำกับการกรมมหาดไทยและกรมวังศาลหลวง  พ.ศ.2302 พระเจ้าเอกทัศน์โปรดเกล้าให้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากและเลื่อนเป็นเจ้าเมืองตาก อายุ 25 ปี พ.ศ.2304 เป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร 


           พ.ศ.2309 พระเจ้าอยู่หัวเอกทัศน์ ทรงโปรดให้เข้าไปพระนครหลวง กรุงศรีศรีอยุธยาปกป้องพระนครจากพม่า  ด้วยวิสัยทัศน์กว้างไกลจึงตัดสินใจนำทหาร 500 นายตีแหกค่ายพม่าไปยังเมืองปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ระยองและจันทบุรี


           ครั้นวันที่  7  เมษายน พ.ศ.2310 (อังคารขึ้น 3 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน) กรุงศรีอยุธยาแตก เสียกรุงครั้งที่ 2  พระยาวชิรปราการจึงรวบรวมกำลังคนแล้วหวลกลับมาตีทัพพม่าแตกพ่ายยึดได้ที่กรุงธนบุรีในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2310(ศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน)   พระยาตากสิน กอบกู้แผ่นดินคืนสำเร็จภายในเวลาเพียง 7 เดือน  วันนี้ จึงมีประเทศไทย


           วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2311  พระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ตั้งกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรเป็นราชธานี ขณะพระชนมายุ 34 พรรษา ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระศรีสรรเพชร” 

           พ.ศ.2325  ถูกกล่าวหาว่าสติฟั้นเฟือน ถูกทุบด้วยท่อนจันท์ ที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ (วิชเยนทร์) สวรรคตขณะพระชนมายุเพียง 48 พรรษา สิ้นสุดราชธานีกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร


           พระศพถูกนำมาไว้วัดหงส์ พระโลหิตตกใสพื้นดินเปียกชุ่มด้วยพระโลหิต ชาวบ้านจึงนำดินนั้นมาปั้นเป็นรูปเหมือนแล้วสร้างศาลเพียงตาขึ้น ณ จุดนั้น เมื่อกาลเวลาผ่านพ้นไปศาลเพียงตาเก่าพุพังประชาชนคนกรุงธนบุรีจึงได้ร่วมกันสร้างขึ้นใหม่ดังในภาพ ณ จุดเดิม  ก่อนจะนำพระศพเคลื่อนย้ายไปฌาปนกิจและบรรจุอัฐิไว้ที่วัดอินทราราม ฝั่งธนบุรี


พิธีบวงสรวงสระน้ำศักดิ์สิทธิพระเจ้าตากสินมหาราชที่วัดหงส์

          คนแก่สามพี่น้องนั้งคุยกับพระปลัดสุชาติแล้วก็ชาวบ้านใกล้วัดจนตะวันรอนๆ  ท้องเริ่มหิวโหย จึงตัดสินใจออกจากวัดกลับพานพบพิธีบวงสรวงสระน้ำศักดิ์สิทธิ์พระเจ้าตากสินมหาราช จึงเดินเข้าไปกราบไหว้สักการะหมายเอาสิริมงคลใส่กระหม่อม เกิดศรัทธาจึงนั่งลงแล้วร่วมพิธีสวดพระอภิธรรมจนจบ


          อันสระนำศักดิ์สิทธิ์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งนี้ พระองค์ได้นิมนต์หลวงพ่อวัดประดู่ทรงธรรมมาทำพิธี และเป็นขวัญกำลังใจก่อนออกรบทุกครั้ง    

          

สระน้ำศักดิ์สืิทธิ์พระเจ้าตาก


          คนแก่สามคนทนหิวไม่ไหวแล้ว ขับรถออกจากวัดหงส์แล้วไปนั่งรอกินสุกี้ในห้างบิ๊กซี จนอิ่มหนำสำราญก็หมายมุ่งจะกลับวัด แต่กาลเวลายามค่ำคืนนั้นช่างสับสนวุ่นวายนัก จราจรติดขัดจนในที่สุดก็ขับรถหลงทางหาทางกลับวัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหารไม่ได้  อดได้ชมโขนสดที่เพียรจะรอดูตั้งแต่ก่อนเที่ยง คนแก่แม้บุญเยอะก็หาทางกลับวัดหาได้ไม่

          ฝากไว้ก่อน โขนสดกรมศิลปากร  


Tags : ดอกไม้เทศและดอกไม้ไทยต้น 64

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view