http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,991,561
Page Views16,299,731
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

รักอ่านสู่บ้านเกิด ที่ผับแล้งอุบลราชธานี โดยยายนาง เรื่อง-ภาพ

รักอ่านสู่บ้านเกิด  ที่ผับแล้งอุบลราชธานี  โดยยายนาง เรื่อง-ภาพ

 

รักอ่านสู่บ้านเกิด

ที่ผับแล้งอุบลราชธานี

                                                   “ยายนาง”

             จากการที่เด็กสาวคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้จัดการร้านอาหารในทัสมาเนีย ออสเตรเลีย  ได้กลับมาบ้าน  และมีโอกาสตามแม่ไปไหว้ธาตุของตากับยายที่บ้านเก่าที่แม่เคยเติบโตมา  และตาของเธอก็เป็นอดีตครูใหญ่ของที่นี่ด้วย(คุณตารำลึก  พรหมทา) 

            “แม่ทำไมเราไม่ทำบุญให้ห้องสมุดของโรงเรียนบ้าง”

            “หนูมิ้ม”  คือเด็กสาวคนนั้นปรารภเมื่อได้เห็นสภาพของห้องสมุดโรงเรียนที่แม่และพี่น้องเคยร่ำเรียนมาแต่เล็กแต่น้อยจนเติบใหญ่ได้เป็นครูบาอาจารย์

                               

                               

                                           วรัญญา ศรีพรหมทัต(มิ้ม)กับน้องชาย       

            “นั่นซีนะ”  ยายน้อยแม่ของมิ้มพยักหน้าหงึกหงักและเลยโทรมาปรึกษายายนาง  โครงการรักอ่านสู่บ้านเกิด ก็จึงเกิดขึ้นในกลุ่มเรา ยายนาง  ยายน้อย  ตาอาจลูกทั้ง๓ของตารำลึก และขยายแนวคิดสู่ลูกหลานเพื่อนพ้องญาติมิตร  เลยได้ทั้งหนังสือ  ชั้นวางหนังสือ  และทุนการศึกษา  พร้อมทำบุญเลี้ยงพระเพลมาจำนวนหนึ่ง  เดินทางสู่บ้านเกิด  คือบ้านผับแล้งแห่งนี้ ในช่วงวันหยุดเทศกาลเข้าพรรษา ๒๕๕๓ กัน

                                                           

                           

           บ้านผับแล้ง  อ.สำโรง  จ.อุบลราชธานี    เป็นหมู่บ้านใหญ่ตั้งอยู่บนเนินดินที่เคยมีป่าไม้และสายน้ำอ้อมล้อมไว้  ในฤดูน้ำหลากสภาพของหมู่บ้านจะกลายเป็นเกาะสีเขียวครึ้ม  ท่ามกลางสายน้ำขาวกระจ่างพร่างตาพราวเลยทีเดียว

                                              

                       

                                                        บ่อกบของหนู

            เราเดินทางไปตามเส้นทางสายกัณทรลักษณ์- อุบล  ถึงบ้านแคนเลี้ยวซ้าย  เข้าสู่ตัวอำเภอสำโรง  เลี้ยวซ้ายไปอีกทีสู่บ้านหนองสองห้อง  ตามเส้นทางสายสำโรง-เดชอุดม  ผ่านทุ่งนาเขียวขจีสู่บริเวณที่เป็นดงป่าช้าเข้าสู่หมู่บ้านผับแล้ง

                     

                                            ชาวคณะลูกหลานคุณตารำลึก พรหมทา

            ยายนาง  ยายน้อย  ตาอาจ สามพี่น้องเป็นเลือดเนื้อเชื้อไข  และเติบใหญ่ในหมู่บ้านแห่งนี้  แทบทุกซอกทุกมุมเราเคยซอกซอนเล่นซ่อนหาและป่ายปีนเก็บผักเก็บหญ้าประสาลูกชาวบ้านมาแล้ว ยายนางถึงขนาดนำเรื่องราวประสบการณ์วัยเยาว์ไปเรียงร้อยเป็นหนังสือ  ชื่อ  “เมื่อยายอายุเท่าหนู”  จนได้รับรางวัลวรรณกรรมเยาวชน “แว่นแก้ว” ประจำปีพ.ศ.2551 มาแล้ว    กลับมาทีไรก็นึกถึงแต่เรื่องทำบุญที่วัด  มาคราวนี้จึงออกจะแปลกไปเพราะจุดมุ่งหมายอยู่ที่โรงเรียน

                                    

                                               รูปอดีตครูใหญ่ รำลึก พรหมทา

            สมัยเมื่อพ่อเป็นครูใหญ่  และสามพี่น้องเป็นนักเรียนนั้นอาศัยศาลาวัดเรียน  แต่โรงเรียนแห่งใหม่นี้พ่อเป็นผู้บุกเบิกขอย้ายออกมาตั้งบริเวณที่เป็นป่าช้าเดิม  ตรงที่ถนนสายใหม่ตัดผ่านพอดี   ดงป่าช้าที่ถนนดำตัดผ่านทางเข้าหมู่บ้านนี้เคยเป็นดงหนาป่าใหญ่  เป็นแดนลึกลับ   เป็นที่อยู่ของคนตายไม่มีใครอยากเฉียดกลายไปใกล้  หรือแม้แต่ไปเดินผ่าน   ด้วยเกรงกลัว  และเกรงใจ  ทั้งสัตว์ร้าย งูเงี้ยวเขี้ยวขอ  และเหล่าอมนุษย์ในตำนานเล่าขาน   ปรากฏว่าตอนนี้มีเหลือป่าอยู่หย่อมเดียว  เห็นแล้วใจหาย

                     

                                            ศาลาการเปรียญที่เคยเป็นโรงเรียนเก่า

            แต่ก็นั่นคือความเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะไม่มีใครหยุดโลกได้หรอก

            ที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือหน้าตา  ผู้คน  น้ำใจ  รอยยิ้ม  หลายคนเข้ามาทักว่า

            “จำเฮาได้เบาะ”

            “จำข้อยได้เบาะ”

            แล ๆ ดูแล้วได้แต่ตอบว่า     จำได้อยู่หรอกจ้า  จำได้แต่หน้า  ชื่อนั้นฉันขอโทษ...ชื่อหยังเกาะ...(ฮา)

                     

                                                         จำข่อยได้เบาะ

            แต่ที่จำได้ไม่ลืม คือ ผอ.ปรีชา  สิงห์คง  และ อ.สุทัศน์  ทองไศล  เพราะผู้หนึ่งนั้นเป็นเสี่ยวกับตาอาจเรียนหนังสือมาด้วยกัน  ผู้หนึ่งนั้นเป็นรุ่นน้องลูกบ้านเดียวกัน  พบกันแล้วก็ดีใจ

            ทั้งดีใจที่ได้พบ  และดีใจได้ทำสิ่งดี ๆ ร่วมกัน  อ.สุทัศน์นั้นเป็นผู้ประสานงานจัดการให้ทั้งฝ่ายบ้าน ฝ่ายวัดตลอดงาน

                     

                                                  ใบหน้าที่ไม่เปลี่ยนแปลง

            “เด็ก ๆ สมัยนี้นั้นมีสิ่งอื่น ๆ มากมายชักดึงเขาไปออกนอกลู่นอกทาง  หากเราทำให้เขาหันมารักอ่านรักเขียน  ดึงเขามาสู่หนังสือได้บ้างนับเป็นการช่วยชาติช่วยสังคมได้ทางหนึ่ง”

 

                    

                                                 ใบหน้าที่ไม่เปลี่ยนแปลง

            นั่นคือปณิธานที่เราจะสานร่วมกันต่อไป และในวันนี้นอกจากมอบหนังสือ  ชั้นวางหนังสือให้ห้องสมุดแล้ว  ในฐานยายนาง  ยายน้อย  ตาอาจเคยเป็นครูอยู่กับเด็กรู้ใจเด็กมาก่อน  จึงได้หอบอุปกรณ์และของเล่นมาแจกอีกมากมาย  แต่ไม่ได้แจกเปล่า ๆ ต้องเว้าต้องตอบปัญหา  ต้องแสดงออกกันนิดหน่อย  พอเป็นที่ยั่วยุให้กำลังใจ  บรรยากาศจึงออกจะครื้นเครง   และกันเองจนเป็นปลื้มทั้งผู้ให้และผู้รับ

                    

                                        อ.สุทัศน์ ทองไศล  รับมอบหนังสือบางส่วน

            ต้องขอขอบคุณเพื่อนสนิท มิตรสหายทั้งที่ไปร่วมด้วยช่วยกัน  และได้แบ่งปันฝากทุนการศึกษา  ฝากหนังสือไปด้วย  เช่น  คุณพี่สุภา   สิริสิงห(โบตั๋น) เจ้าของผู้จัดการบริษัท สำนักพิมพ์สุวีริยาสาส์น จำกัด(ชมรมเด็ก) ผู้ผลิตหนังสือคุณภาพเพื่อเด็ก  ได้มอบหนังสือหลายกล่อง  และลดราคาเป็นพิเศษช่วยทำบุญ   และ เว็บไซต์คุณภาพเพื่อสังคมwww.Thongthailand.com  โดยคุณธงชัย   เปาอินทร์  ที่ช่วยสนับสนุนทุนการศึกษา  และเพื่อนพ้องน้องพี่อีกหลายคนที่เอ่ยนามไม่หมดทั้งในไทยและในออสเตรเลีย

                    

                                                   ตอบปัญหานี้มีรางวัล

           ณ ที่แห่งนี้  เคยมีประวัติศาสตร์จารึกไว้

          บ้านผับแล้ง เมื่อก่อน ชื่อ  บ้านผับคำดินดำน้ำชุ่ม  เป็นหมู่บ้านเก่าแก่สืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมมาแสนนาน  จนดูผิดแผกแปลกต่างจากหมู่บ้านอื่นในละแวกใกล้เคียง  แต่จะตั้งมานานแค่ไหนไม่สามารถบอกได้  ร่องรอยที่เป็นวัตถุโบราณบอกว่าครั้งก่อนหมู่บ้านนี้เป็นเขตแดนในปกครองของจำปาศักดิ์ก็คือการขุดพบพระว่านที่บรรจุในหม้อดินเผาฝังไว้สี่มุมของวัด (พระว่านจำปาศักดิ์)  นอกนั้นที่ทุ่งนาหนองผักแว่นยังมีผู้ขุดพบพระพุทธรูปสำริดมากมายบรรจุในไหแบบเขมร(นำมาไว้ในสิมหลังเก่า ปรากฏว่าถูกขโมยไปหมด)

     คุณทวดขอตอบอยากได้รางวัลไปให้หลาน                    รอรับรางวัลจากนักเขียน

            ร่องรอยวัฒนธรรมเดิมอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ที่ใต้ต้นโพใหญ่เก่าแก่หลังวัดเคยเป็นทีฝังกระดูกคนตาย  เป็นการทำศพครั้งที่สอง  คือเมื่อเผาศพที่ป่าช้าแล้วจะมีพิธีเก็บกระดูกมาฝังไว้ในวัด  แล้วปักหลักเขไว้เป็นสัญลักษณ์   ณ ใต้ต้นโพใหญ่ต้นนี้จึงเต็มไปด้วยหลักเข(บางทีออกเสียงเป็นหลักเสซึ่งมีผู้เข้าใจผิดนำไปโยงกับเสมา) พร้อมด้วยเครื่องบูชาดอกไม้ ธูปเทียน  และเครื่องใช้ของคนตายจำพวกถ้วยโถโอชามแตก ๆ หลักเขบางหลักตกแต่งสวยงามตาน่ากลัว(สมัยผู้เขียนเป็นเด็กกลัวมากไม่กล้าย่างกรายไปใกล้ต้นโพนี้เลย)

                     

                                                        ผู้ได้รับทุนทั้งหมด

            ขยับเข้ามาใกล้อีกหน่อย มาดูร่องรอยที่มีบันทึกในประวัติศาสตร์อีสาน   ในช่วงปีพ.ศ.๒๔๔๔  (ตรงกับรัชกาลที่ ๕) กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์มาดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ณ อุบลราชธานี  มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงการปกครองหลายอย่างทำให้มีผู้ไม่พอใจและปลุกระดมส้องสุมกำลังกระจายอยู่ทั่วอีสานและสองฝั่งโขง  จนต้องปราบปรามเป็นการใหญ่  แกนนำสำคัญคนหนึ่งถูกจับได้ที่บ้านผับแล้งแห่งนี้ 

                     

                                                          ผอ.กล่าวประทับใจ

              มีหลักฐานคือเครื่องมือทรมานนักโทษทิ้งไว้ใต้ต้นโพ(ต้นเดิม)มานาน  เครื่องมือนี้เป็นท่อนไม้ เจาะรูสำหรับสอดขานักโทษ และตอกสลักตรึงไว้กันหนี  เรียก “กับตีน”   ผู้เขียนเคยนำเรื่องราวไปเผยแพร่แล้ว  เพราะสืบไปสืบมาแกนนำคนดังกล่าว(องค์ซอง  หรืออ้ายอะซอง)เป็นญาติสายตรงของบรรพบุรุษข้างฝ่ายแม่และยายตัวเอง(ยายบุญจันทร์ ใจภักดี)

                    

                                           หนังสือที่ได้รับบริจาคมากมายล้วนน่าอ่าน

            ค่ะที่นำมาเล่าเพียงจะบอกถึงความสำคัญ  ความเป็นมาในอดีตของหมู่บ้านให้รู้กันลืมเท่านั้นแหละ  เพราะวันนี้มาเห็นร่องรอยแล้วระลึกถึง    ความจริงยังมีเรื่องราวน่าสนใจให้ติดตามกันเยอะ  ที่เขียนไว้ในหนังสือ  “เมื่อยายอายุเท่าหนู” นั้นไม่ถึงเศษเสี้ยวของเรื่องจริงที่มีหรอกนะ  ตอนนี้พิมพ์ครั้งที่ ๔ แล้ว มีจำหน่ายที่นานมีบุ๊ค  ใครอยากอ่านสั่งผ่านยายนางก็ได้  รับรองอ่านแล้วได้ทั้งรอยยิ้มและน้ำตา

                    

                                               ใต้ศาลามี บั้งไฟเก็บไว้

           เพราะเรื่อง  “เมื่อยายอายุเท่าหนู”  เป็นเรื่องในบ้านผับแล้งนี้เอง เกิดจากความรัก ความอบอุ่นแห่งวัฒนธรรมหมู่บ้าน  เป็นความประทับใจในวัยเด็ก  เป็นความทรงจำไม่รู้ลืมก็เลยอยากให้เด็ก ๆ หันมามองดูถิ่นที่อยู่ของตนเองด้วยความรักบ้างจะได้ไม่น้อยอกน้อยใจจนทิ้งถิ่นไปดิ้นรนที่อื่น  คิดและเชื่อตามคนอื่นว่าอีสานแล้ง ๆ จนฝังหัวซึ่งยายนาง  ยายน้อย  ตาอาจไปพบมาทั้งเมืองนอกเมืองนากลับเห็นว่าอีสานอุดมสมบูรณ์  น่าอยู่ ผู้คนน่ารักที่สุดละ                      

              อีกอย่างจุดประสงค์ก็อยากให้รักอ่าน รักเขียน ก็เลยฝากเด็ก ๆ และคุณครูไว้ว่าใครอยากเขียน  อยากบอกอะไรส่งไปให้ยายนาง  ยายน้อยได้ จะให้รางวัล “เป็นสัญญานะ”

                    

                                                         สิม(โบสถ์)เก่า

          เราบอกก่อนลากลับ  รับของฝาก มีทั้งข้าวสาร และปลาร้านำไปขึ้นรถ  เตรียมตัวเดินทางขึ้นอีสานเหนือ  เด็ก ๆ อยากไปดูไดโนเสาร์ที่ภูกุ้มข้าว กาฬสินธุ์  รวมกลุ่มวันหยุดกันทั้งทีต้องตะรอนกันไปทัศนศึกษาแบบครอบครัวพ่อใหญ่เลาะให้คุ้ม

                         

          แต่แหม...  งานต้นเทียนพรรษาอันยิ่งใหญ่ในใจเราก็ยังดึงดูดอยู่  มาทั้งทีไม่ได้ดูก็ให้เสียดายนัก  แต่จะคอยให้ถึงวันแห่ก็เสียเวลา   ก็เลยเที่ยวดูตามวัด  ตามวาเห็นเพียงเทียนที่กำลังขึ้นรูปขึ้นร่าง  เห็นช่างกำลังขะมักเขม้นสร้างปราสาทเทียนและผึ้งก็เอาละ  เลยแถมภาพประติมากรรมต้นเทียนงาม ๆ แปลก ๆ จากการจัดแสดงต้นเทียนนานาชาติ ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ  อุบลราชธานีมาให้ชมด้วยนะคะ

๐๐๐๐๐

Tags : ยายนาง เอื้อยนาง รร.บ้านผับแล้ง อ.สำโรง อุบลราชธานี

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view