Full Version ตามรอย ปั่นตามฝัน 3 เส้นทางมรดกโลก สุโขทัย - ศรีสัชนาลัย - กำแพงเพชร

เว็บไซต์ ทองไทยแลนด์ ดอทคอม > Article

ตามรอย ปั่นตามฝัน 3 เส้นทางมรดกโลก สุโขทัย - ศรีสัชนาลัย - กำแพงเพชร Date : 2013-07-28 22:20:19

ตามรอย ปั่นตามฝัน 3 เส้นทางมรดกโลก สุโขทัย - ศรีสัชนาลัย - กำแพงเพชร

เรื่อง/ภาพ สุเทพ ช่วยปัญญา

             นั่งอ่านหนังสือปั่นตามฝัน 3 เส้นทางมรดกโลก สุโขทัย - ศรีสัชนาลัย – กำแพงเพชร  ของหมูกับวรรณนักปั่นตามฝันเที่ยวรอบโลก จนดังไปทั่วโลกมาแล้วครั้งหนึ่ง คราวนี้มาปั่นตาม 3 เส้นทางมรดกโลก แล้วเขียนหนังสือให้กับน้องเย็นตาลูกสาววัยเกือบสองขวบได้อ่านในอนาคต แล้วรู้สึกอยากให้รถตู้ที่พาคณะเรามาถึงไวๆจัง จะได้ตามรอยปั่นตามฝันแบบหมูกับวรรณบาง ถึงแม้จะตามรอยปั่นรอบโลกไม่ได้ ขอแค่ปั่นตามรอยปั่นตามฝัน 3 เส้นทางมรดกโลก สุโขทัย - ศรีสัชนาลัย – กำแพงเพชร ก็พอครับ

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรต้นกำเนิดพระซุ้มกอหนึ่งในเบญจภาคีสุดยอดพระเครื่อง

             คณะของเราออกเดินทางจากหน้าสำนักงานองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (อพท,) ที่สนับสนุนการเดินทางในครั้งนี้กันตั้งแต่เช้า มาถึงกำแพงเพชร แวะทานอาหารกลางวันเรียบร้อยเตรียมตัว – กาย – ใจ มาพร้อมลุยตามรอยปั่นตามฝันกันเต็มที่

              เริ่มต้นกันที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรต้นกำเนิดพระซุ้มกอหนึ่งในเบญจภาคีสุดยอดพระเครื่อง ก่อนเป็นที่แรก คณะผู้บริหารอพท.และคุณหมูกับคุณวรรณก็มาให้การต้อนรับคณะของเราด้วยที่หน้าสำนักงานของหลังจากฟังบรรยายสรุปแล้วก็เริ่มกันเลยครับ

วัดช้างหรือวัดนาควัชรโสภณศิลปะสมัยสุโขทัยตอนปลาย

               เดินผ่านหน้าสำนักงานของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรประมาณห้าร้อยเมตร ก็มาถึงวัดช้างหรือวัดนาควัชรโสภณศิลปะสมัยสุโขทัยตอนปลาย ตั้งอยู่ภายนอกอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ด้านหน้ามีคูน้ำล้อมรอบ หลังคูน้ำมีพระวิหารทรงจัตุรมุข ซึ่งหรือแต่เสาศิลาแลงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านอยู่ให้เห็นอย่างจัดเจน

               ภายในพระวิหารประดิษฐานประธานองค์สีขาวปางสมาธิศิลปสุโขทัย ด้านหลังพระประธานมีพระเจดีย์ทรงระฆัง ล้อมด้วยช้างครึ่งตัว  ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองกำแพงเพชร ด้านหลังสุดมีเจดีย์รายสามองค์ เป็นเจดีย์ที่สร้างเพิ่มเติมในสมัยอยุธยา ยังครับวัดแรกนี้อยู่ใกล้เลยยังไม่ได้ปั่นครับ

วัดพระนอนประดิษฐานพระนอนปางไสยาสน์

                ขึ้นรถเข้ามาภายบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร มาที่วัดพระนอนสร้างขึ้นราวยุคสุโขทัยตอนปลาย ประกอบด้วย พระเจดีย์ประธานทรงระฆังองค์ใหญ่ ฐานล่างสุดรูปสี่เหลี่ยมต่อด้วยฐานแปดเหลี่ยม ด้านบนเป็นองค์ระฆังส่วนยอดได้หักลงมาหมดแล้ว ตั้งอยู่ด้านหลัง พระอุโบสถและสิ่งก่อสร้างภายในวัดใช้ศิลาแลงเป็นหลัก

                แต่ผนังพระอุโบสถได้พังลงมาหมดแล้ว มีฐานและเสาศิลาแรงขนาดใหญ่ของพระอุโบสถตั้งอยู่เกือบครบต้น  พระวิหารผนังก่อด้วยศิลาแลงเว้นช่องลมเพื่อระบายอากาศ ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ ประดิษฐานพระนอนปางไสยาสน์อยู่ภายในพระวิหาร แต่ตอนนี้ไม่มีองค์พระแล้วเหลือแต่พระบาทสองข้างที่ตกอยู่ที่พื้นวิหาร ให้นักท่องเที่ยวได้มองย้อนกลับไปให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตอันรุ่งเรืองได้เป็นอย่างดี

วัดพระสี่อิริยาบถ หรือ วัดพระยืน

               ยังเดินอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ออกมาทางด้านหลังวัดพระนอน ก็มาถึงวัดพระสี่อิริยาบถหรือวัดพระยืน สร้างขึ้นราวตอนปลายสมัยสุโขทัย จากจารึกลานเงินที่ขุดพบในบริเวณมณฑป ได้บันทึกไว้ว่าพระมหามุนีรัตนโมลีเป็นผู้สร้างในรัชสมัยของ เสด็จพ่อพระยาสอยเจ้าเมืองกำแพงเพชรในยุคนั้น

                 วัดพระสี่อิริยาบถก็มีรูปแบบเหมือนวัดทั่วไปในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงแพชร คือมีวิหารขนาดใหญ่ตั้งอยู่ด้านหน้าสุดของวัด จะต่างกันที่วัดพระสี่อิริยาบถมีมณฑปแบบจัตุรมุขขนาดใหญ่ ก่อด้วยศิลาแลงและอิฐมอญขนาดใหญ่แบบโบราณ มณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นทั้งสี่ด้าน สี่อิริยาบถนอนหรือปางไสยาสน์, นั่งหรือปางมารวิชัย, ยืนหรือปางประทานอภัย, เดินหรือปางลีลา ผมเดินดูรอบทั้งสี่ด้านเห็นเพียงอิริยาบถยืนหรือปางประทานอภัย ที่มีสภาพเกือบสมบูรณ์กว่าอิริยาบถอื่นๆ ขาดเพียงพระหัตถ์ข้างซ้ายที่หักไป

                 จะใช้แทนเจดีย์ประธาน และตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหารเหมือนกัน ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของศิลปสมัยสุโขทัย

วัดสิงห์องค์พระเหลือแต่ศิลาแลง

               ข้ามไปอีกฝังถนนก็มาถึงวัดสิงห์ รูปแบบโดยทั่วไปก็เหมือนกับวัดในบริเวณนี้ คือมีพระอุโบสถอยู่ด้านหน้า มีเจดีย์ดีหรือมณฑปอยู่ด้านหลัง มีใบเสมาอยู่ระหว่างตัวอุโบสถกับกำแพงแก้ว สร้างจากศิลาแลงเป็นหลัก ที่วัดสิงห์นี้มีแนวกำแพงที่ทำจากแผ่นศิลาแลงปักเป็นแนวเขตพัทธสีมายังอยู่เกือบสมบรูณ์  ตัวพระอุโบสถนั้นพังลงมาหมดแล้ว คงเหลือแต่พระประธานประดิษฐ์สถานอยู่อย่างมั่นคง ถึงแม้ปูนที่ฉาบองค์พระอยู่จะหลุดออกหมด เหลือแต่ศิลาแลงก่อเป็นองค์พระพุทธรูปก็ตาม

วัดช้างรอบเอกลักษณ์ศิลปสุโขทัยที่กำแพงเพชร

             มาถึงวัดช้างรอบเป็นวัดที่ 4 แล้วสำหรับวันนี้ ยังไม่ได้ปั่นตามฝันเหมือนในหนังสือเลย ผมถามคุณหมู ได้ความว่าเป็นพรุ่งนี้ครับถึงจะได้ปั่น

              วัดช้างรอบเป็นวัดขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนเนินดินครับ มีสระน้ำที่เกิดจากการสลักเอาศิลาแลงขึ้นมาใช้เพื่อสร้างวิหารและเจดีย์อยู่ด้านหน้า องค์พระเจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่หลังพระวิหาร  องค์เจดีย์ล้อมด้วยช้างครึ่งตัวเห็นเพียงสองขาที่ลอยออกมาจากฐานเจดีย์ ตัวช้างที่ลอยออกมานั้นประดับลวดลายปูนปั้นอย่างวิจิตรงดงาม

 

               เหนือซุ้มประตูทั้งสี่ด้านก่ออิฐถือปูนเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของศิลปะสุโขทัย เหลือให้เห็นอยู่เพียงซุ้มประตูเดียว นอกนั้นหักพังลงมาหมดแล้ว

แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม

              ชมวัดชมวิหารกันมาหลายวัดแล้ว คราวนี้มาชมแหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุมกันบ้างครับ วัดซุ้มกอเป็นวัดที่มีชื่อเสียงทางด้านพระเครื่องของกำแพงเพชร ตั้งอยู่นอกอุทยานประวัติศาสตร์บริเวณทุ่งเศรษฐี   มีพระซุ้มกอหนึ่งในเบญจภาคีสุดยอดพระเครื่อง ที่นักสะสมพระเครื่องต้องการอยู่ในกรุวัดซุ้มมากในอดีต เมื่อต้องการมากก็จึงเป็นเหตุให้มีคนมาขุดรื้อค้นหาพระซุ้มกอในบริเวณวัดจนเหลือแต่ซากเจดีย์

               คุณลุงสมหมาย พยอม ชาวนครชุมที่สนใจและรักในศิลปะการทำพระเครื่องพิมพ์ต่างๆ กลัวว่าศิลปะการสร้างพระพิมพ์พระเครื่องจะสูญหายไปเหมือนพระซุ้มกอ คุณลุงจึงได้ศึกษาวิธีการทำพระเครื่องจากช่างรุ่นเก่า ลองผิดลองถูกมาก็มาก จนก่อตั้งแหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุมขึ้นมา เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาศึกษาเรียนรู้กระบวนการผลิต ตั้งแต่การทำพิมพ์ เตรียมดิน พิมพ์ เผา และเคลือบในขั้นตอนสุดท้าย ผู้ที่สนใจสามารถซื้อเป็นที่ระลึกกลับบ้านได้  

แวะชิมเมี่ยงโบราณของขบเคี้ยวอร่อยหวานมัน

             มาเที่ยวที่กำแพงเพชรแล้วไม่ได้แวะชิมเมียงโบราณ “ถือว่าผิด” เมี่ยงเป็นภูมิปัญญาชนิดหนึ่งของชาวเหนือ ทำจากใบชาหมักใช้เคี้ยวหรืออมให้ความสดชื่น แม่กรองทอง กุลบุตร แห่งบ้านนครชุม ทำเมียงโบราณเป็นอาหารว่างสำหรับขบเคี้ยวมานาน ได้ปรับปรุงสูตรส่วนผสมขึ้นมาใหม่จาก เกลือ น้ำตาล มะพร้าวคั่ว ถั่วคั่ว กระเทียม กวนในกระทะตั้งไฟร้อน เสร็จแล้วห่อในใบเมี่ยงหมักมีทั้งแบบเปรี้ยวและหวาน ใส่เข้าปากแล้วเคี้ยวได้ครบรสจริงๆ เปรี้ยวหวานมันเค็ม อร่อยครับบอกตรง

ขนมข้าวตอกบ้านนครชุม

              บ้านนครชุมนอกจากมีเมื่ยงให้ขบเคี้ยวแล้ว ที่บ้านคุณยายประภาศรี เอกปาน ยังมีการสาธิตการทำขนมข้าวตอกให้ชมเสร็จแล้วให้ทานกันด้วยครับ ขนมข้าวตอกมีส่วนผสม 3 อย่างข้าวเปลือกข้าวเหนียว น้ำตาลโตนด และน้ำกะทิ คั่วข้าวเปลือกข้าวเหนียวให้แตกเป็นข้าวตอกก่อน แล้วนำไปคลุกกับน้ำเชื่อมตาลโตนดและกะทิในกระมัง จากนั้นนำไปใส่พิมพ์ให้เป็นรูปต่างๆ เสร็จแล้วอบด้วยเทียนกำยานเป็นขั้นตอนสุดท้าย ชิมแล้วข้าวตอกนุ่มหวานน้อยมันนิดๆอร่อยดี หาซื้อเป็นของฝากได้ทั่วไปที่บ้านครชุม

วัดพระบรมธาตุนครชุมคู่เมืองนครชุม

               ปิดท้ายวันด้วยการมากราบขอพรพระบรมสารีริกธาตุ ที่วัดพระบรมธาตุนครชุมวัดคู่เมืองกำแพงเพชร เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับเมืองนครชุม เดิมเป็นเจดีย์สามองค์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือทรงดอกบัว สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเสื่อมโทรมลงมา บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกในปี พ.ศ.2414 เป็นทรงแบบเจดีย์ชเวดากองของพม่าโดยพ่อค้าไม้ชาวกะเหรียง ทำบุญบำรุงพุทธศาสนาได้โดยการห้อยธนบัตรใบละร้อยหรือยี่สิบ ไว้ที่เชือกที่ผูกลงมาจากยอดเจดีย์ ทำบุญเท่าไรก็ได้ตามกำลังศรัทธา

พระบรมธาตุนครชุม

วัดพระแก้วอดีตเคยประดิษฐ์พระแก้วมาก่อน

               นึกว่าจะเป็นที่สุดท้ายสำหรับวันนี้ครับ เพราะหลังที่ออกมาจากวัดวัดพระบรมธาตุนครชุม พอรถวิ่งมาถึงโค้งหนึ่งริมอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ฟ้าเริ่มมืดลงแสงไฟเล็กๆในกำแพงวัดระยิบระรานตาไปหมด เลยอดใจไม่ไหวต้องบอกให้รถจอดเพื่อลงไปถ่ายรูป โดยที่ไม่มีข้อมูลว่าเป็นวัดอะไรมาทราบภายหลังว่าเป็นวัดพระแก้ว ที่ซึ่งเคยประดิษฐานพระแก้วมรกตมาก่อน ก่อนที่จะไปประดิษฐ์อยู่ที่เชียงราย  และยังมีพระสามพี่น้องปรางค์มารวิชัยสององค์ ปรางค์ไสยาสน์หนึ่งองค์ พระพักตร์ของทั้งสามองค์เป็นรูปสี่เหลี่ยมศิลปะอยุธยาตอนต้น มากำแพงเพชรไม่ควรพลาดวัดพระแก้วโดยเด็ดขาด สวยงามจริงๆครับ คุ้มค่ากับคำตำหนิที่ปล่อยให้ผู้ร่วมทางทั้งรถ รออยู่ในรถเกือบครึ่งชั่วโมง

วัดพระแก้วมรกต

ปั่นชมวิวทุ่งนาชุมชนลิไท

            ตื้นแต่เช้าทานข้าวกันที่ตลาดแล้วนั่งรถประจำทาง ชาวบ้านแถวนั้นเขาเรียกว่ารถคอกหมู มาที่หมู่บ้านลิไทเพื่อเตรียมตามลอยปั่นตามฝันฯอย่างเต็มรูปแบบกันเสียที เมื่อวานไม่ได้ปั่นเลยนั่งรถตามรอยปั่นตามฝันฯแทนเพราะเวลาน้อย จักรยานเตรียมมาให้ครบ คนพร้อมตั้งแต่เมื่อวานแล้ว เริ่มตามลอยปั่นตามฝันฯกันเลยครับ นำขบวนโดยคุณหมูกับคุณวรรณเจ้าของปั่นตามฝันฯตัวจริงมานำทางเอง และน้องเย็นตาที่นั่งอยู่บนจักรยานของพ่อหมู่ก็มาด้วยครับ วันนี้อากาศยามเช้าเย็นสบายชดชื่น เหมาะสำหรับปั่นจักรยานชมทุ่งอย่างมากครับ จักรยานเรียงกันเป็นแถวเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ ผ่านทุ่งนามองเห็นฟางข้าวสีเหลืองที่ผ่านเก็บเกี่ยวไปแล้ว สลับกับวัดเก่าโบราณที่มีให้เห็นตลอดเส้นทางที่ผ่าน สวยสดชื่นเย็นใจจริงๆครับ

วัดช้างล้อมเอกลักษณ์ศิลปะสุโขทัย

               ปั่นผ่านทุ่งนาผ่านวัดเก่าที่ไม่มีชื่อมาได้สักพักใหญ่ๆ ก็มาแวะที่วัดช้างล้อมกันเป็นจุดแรก วัดช้างล้อมตั้งอยู่นอกอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยครับ แต่รูปแบบของวัดเป็นศิลปะสุโขทัยครับ มีคูน้ำล้อมรอบอยู่แถวนอกสุด ถัดเข้ามาเป็นกำแพงแก้ว ต่อด้วยวิหารประดิษฐ์พระประธานแต่พระประธานพังลงมาหมดแล้ว คงเหลือแต่เสาวิหารขนาดใหญ่ ที่ทำจากศิลาแลงก่อเป็นทรงกลมจับเฟี้ยมฉาบปูนปิดทับแล้วกลายเป็นทรงแปดเหลี่ยม

               และท้ายสุดเป็นเจดีย์ช้างล้อมที่ยังคงสภาพเกือบสมบรูณ์ แต่ช้างที่นี่ไม่มีลวดลายปูนปั้นทรงเครื่องลายไทย เหมือนที่วัดช้างรอบกำแพงเพชร สันนิฐานว่าสร้างถวายพระเจ้าลิไทเมื่อคราวสวรรคต

 

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยอดีตอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของไทย

                แล้วก็มาถึงอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยอย่างเต็มตัวเสีย เมื่อปั่นห้ามสะพานไม้หน้าอุทยานฯเข้ามาใน อาณาจักรสุโขทัยอันยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองในอดีต ศูนย์กลางการปกครองของไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 – 19  ครอบคลุมพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยทั้งหมด

                 ตัวผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เกือบจะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส คือมีความยาวประมาณ  2  กิโลเมตร กว้าง 1.6 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยกำแพงเมืองก่ออิฐถือปูนทั้งสี่ด้าน มีประตูเมืองอยู่ตรงกลางกำแพงเมืองในแต่ละด้าน

                  ภายเป็นที่ตั้งของโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่ยังคงหลงเหลือร่องรอยของศิลปวัฒนธรรม และอารยะธรรมอันยิ่งใหญ่ของไทย กรมศิลปกรเข้าบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2531 องค์การยูเนสโกประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย – ศรีสัชนาลัย – กำแพงเพชร เป็นแหล่งมรกดโลก เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2534

วัดพระพายหลวง

               เลยจากสะพานไม้สีแดงเข้ามาไม่ไกลนัก ผมก็มาหยุดรถอยู่ที่หน้าวัดพระพายหลวง เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 คน ยืนจินตนาการถึงอดีตอันยิ่งใหญ่ของวัดพระพายหลวง อยู่หน้ามณฑปพระสี่อิริยาบถโดยมีพระปรางค์สามยอดเป็นฉากหลัง

                ผมยืนมองคนทั้งสองแล้วเกิดปิติอยู่ในใจไม่น้อย ที่คนต่างเมืองยังอุตสาหะข้ามน้ำมาจากอีกฟากโลกเพื่อมาชื่นชม มรดกไทยมรดกโลกของเรา การมาตามรอยปั่นตามฝันฯของผม มีความหมายขึ้นมาทันที อย่างน้อยก็จะได้มาบอกเล่าให้คนบ้านเรากันเองหันกลับให้ความสนใจบ้าง หรือหันมามองเพื่อเป็นทางเลือกของการท่องเที่ยวพักผ่อนบ้างก็ยังดี

วัดศรีชุมโบราณสถานชิ้นเอกของสุโขทัย

                จอดจักรยานไว้ที่หน้าวัดเดินเข้าไปไม่กี่ก้าว ก็มองเห็นพระพักตร์พระพุทธรูปปั่นปางมารวิชัยองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ในมณฑป พระพักตร์นิ่งสงบงดงามตามแบบศิลปะสุโขทัย ยิ่งเดินเข้าไปในมณฑปก็รับรู้ถึงความใหญ่โตขององค์พระ บ่งบอกถึงความรุ่งเรื่องในอดีตกาล ขนาดจะปิดทองยังปิดได้แค่นิ้วอันยาวเรียวงามขององค์พระเท่านั้น

                 ถ้าจะมองพระพักตร์ก็ต้องแหงนคอตั้งบ่ากันเลยที่เดียว ผนังมณฑปทั้งสามด้านไม่มีช่องหน้าต่าง แต่มีภาพเขียนฝาผนังอันทรงคุณค่า น่าเสียดายเลือนรางไปมาก จากแสงแดด สายลม เม็ดฝน ที่กระทำมาต่อภาพเขียนมาหลายร้อยปี ถือเป็นโบราณสถานชิ้นเอกของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ไม่มาที่นี่ถือว่าไม่ได้มาสุโขทัยจริงๆครับ

                 อ้ออีกอย่างหนึ่งถ้าใครโชคดีก็จะได้เห็นคุณยายเฉลาแห่งบ้านศรีชุม หนึ่งในสองผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงสุโขทัย นั่งสานปลาตะเพียนให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างแดน ได้เรียนรู้วัฒนธรรมอันงดงามของไทยผ่านปลาตะเพียนที่แกสานให้ดู บ้างวันคุณยายนำดอกบัวมานั่งบูชาพระ อยู่บริเวณนิ้วอันเรียวงามของพระพุทธรูป เป็นที่มาของรูปโปสการ์ดและโปสเตอร์รูปคุณยายไหว้พระที่วัดศรีชุม ที่มีวางขายอยู่ทั่วไป

วัดสะพานหินวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขา

               อยู่ข้างล่างมององค์พระยืนที่อยู่บนเนินเขาสูง ผมยืนรวบรวมกำลังใจอยู่นานเหมือนกัน เพราะแข้งขาเริ่มอ่อนแรงตะวันอยู่ตรงหัว ท้องเริ่มหิวหลังจากปั่นกันมาตั้งแต่เช้า ต้องเดินขึ้นเขาไปอีกประมาณ 800 เมตร ไหนๆก็มาแล้วก็ต้องขึ้นแหละครับ ขึ้นไปพักไปหายใจลึกๆอยู่หลายรอบ มาช้าหน่อยยังดีกว่าไม่ได้ขึ้น และก็จะไม่ได้เห็นวิวทุ่งนาเขียว และองค์พระประธานปางประทานอภัย ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาท้ายแดดลมฝนมาหลายร้อยปี เป็นที่น่าเสียดายเนื่องจากตัววิหารได้พังลงมาหมดแล้ว ลองนึกภาพย้อนกลับไปน่าจะสวยเด่นอยู่บนเนินเขา คอยรอรับชาวเมืองนี้ขึ้นมากราบไหว้บูชา

ศูนย์เรียนรู้เครื่องเคลือบดินเผาสังคโลกสุโขทัย

              ท้องเริ่มส่งเสียงขออาหารเข้าสู้ร่างกายหน่อย มองเข็มนาฬิกาที่ข้อมือก็ปาเข้าไปบ่ายโมงแล้ว ปั่นกันเพลินจริงๆครับกว่าจะได้ทานข้าวก็เล่นเอาหิวไปตามๆกัน มื้อเที่ยงที่ร้านโบนัสก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยอยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์สุโขทัย ผมสั่งแห้งชามน้ำชามตามความหิวมาก ร้านนี้เขาใช้น้ำตาลโตนดแทนน้ำตาลทราย ใช้ถั่วฝักยาวหั่นเฉียงแทนถั่วงอก ใส่หมูแดงโรยทับด้วยกากหมู เท่านี้ก็อร่อยไม่เหมือนใครแล้วครับ มาสุโขทัยก็ต้องทานก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย เพราะไม่ได้หาทานกันได้ง่ายกับสูตรอร่อยดั่งเดิมแบบนี้

               ท้องอิ่มแล้วก็ไปต่อกันที่ศูนย์เรียนรู้เครื่องเคลือบดินเผาสังคโลกสุโขทัย อยู่ที่ชุมชนบ้านใหม่ตระพังทอง ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย ที่นี่เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้สอนให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส กระบวนการผลิตอย่างครบวงจรเลยทีเดียวครับ ตั้งแต่เตรียมดิน ขึ้นรูป เผา เขียนลาย และเคลือบสีเป็นขั้นตอนสุดท้าย ถ้าใครอยากลองเขียนลายในชามสังคโลกในแบบของตนเอง เขาก็มีให้ลองเขียนแล้วนำกลับไปเป็นของที่ระลึกได้ด้วยครับ

วัดมหาธาตุศูนย์กลางอาณาจักรสุโขทัยที่ยิ่งใหญ่ในอดีตของไทย

                เขียนลายสังคโลกเสร็จก็ปล่อยให้ปั่นชื่นชมความยิ่งใหญ่ในอดีตของอาณาจักรสุโขทัย ที่วัดมหาธาตุและวัดใกล้เคียงกันอย่างเต็มที่ วัดมหาธาตุเป็นวัดขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางอาณาจักรสุโขทัย เป็นต้นแบบโบราณสถานศิลปะแบบสุโขทัยโดยแท้ ที่นี้มีครบหมดครับ

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  

              พระวิหารอยู่ด้านหน้า ตระพังหรือสระน้ำอยู่ด้านข้าง พระอุโบสถอยู่ตรงกลางอดีตเคยเป็นที่

ประดิษฐาน พระศรีศากยมุนีวัดสุทัศน์ กรุงเทพมหานคร ด้านหลังมีพระเจดีย์มหาธาตุทรงดอกบัวตูม หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ตั้งเป็นเจดีย์ประธาน มีพระปรางค์ประจำสี่ทิศ ล้อมรอบด้วยเจดีย์รายประจำสี่มุม ทั้งหมดอยู่บนฐานเดียวกัน

                มณฑปพระยืนอยู่ข้างพระมหาเจดีย์ ถัดมามีพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั่นปางสมาธิ ด้านหลังพระวิหารมีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำต้นแบบศิลปอุยธยาตั้งอยู่

                 ทั้งปั่นทั้งเดินชมตลอดช่วงบ่ายไปจรดเย็นก็ยังไม่อิ่มใจ สมกับความยิ่งใหญ่อลังการของวัดมหาธาตุจริงๆครับ เมื่อวานแสงหมดไปเสียก่อนจึงต้องมาต่อตอนเช้าอีกครั้ง แล้วก็ไม่ผิดหวังจริงครับแสงเช้าสาดส่องมากระทบผิวน้ำในตระพังข้างวัด เห็นภาพสะท้อนเงาโบราณสถานต่างๆสลับกับดอกบัวบานสีชมพู เป็นภาพที่ประทับใจผมจริงๆครับ สำหรับวัดมหาธาตุศูนย์กลางอาณาจักรสุโขทัยที่ยิ่งใหญ่ในอดีตของไทยแห่งนี้

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

              อิ่มใจกับความงดงามของวัดมหาธาตุยามเช้าไปแล้ว ก็กลับมาทานอาหารเช้าที่รีสอร์ทที่มานอนเมื่อคืนนี้ เสร็จแล้วเก็บกระเป๋าเดินออกทางมาที่อำเภอศรีสัชนาลัย เตรียมตัวตามรอยปั่นตามฝันฯกันต่อครับ คุณหมูกับคุณวรรณและน้องเย็นตาก็ยังมาปั่นนำทางให้เราเหมือนเดิม โดยเฉพาะน้องเย็นตาตั้งแต่มาวันแรกถึงวันนี้วันที่สามแล้ว ผมยังไม่ได้ยินเสียงน้องเย็นตาเลยสักแอะ น่ารักมากดูเธอช่างมีความสุขกับการได้ปั่นจักรยาน ท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆเหมือนพ่อกับแม่เธอจริงๆ

               อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยตั้งอยู่ที่ตำบลศรีสัชนาลัย หรือบริเวณ “แก่งหลวง” เดินชื่อเมืองเชลียง  เปลี่ยนชื่อเป็น “ศรีสัชนาลัย” ตอนต้นสมัยสุโขทัย อุทยานฯ มีโบราณสถานที่สำคัญอยู่มากมายเช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง  วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดยอด วัดนางพญา

               เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. ทางอุทยานฯ มีบริการรถรางนำชมโบราณสถานและวิทยากรบรรยาย หากนักท่องเที่ยวที่ต้องการติดต่อได้ที่ทำการอุทยาน

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงหรือวัดพระปรางค์

                เริ่มต้นตามรอยปั่นตามฝันฯวันที่สามกันที่สะพานแขวน ปั่นข้ามแม่น้ำยมไปที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย  สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 – 19 ด้านหน้าสุดของวัดมีพระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่ ถัดมาเป็นพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย

 

                ทางด้านขวามีพระพุทธรูปปูนปั่นปางลีลา ทางด้านซ้ายมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางห้ามญาติ หลังวิหารมีพระปรางค์ประธานก่อด้วยศิลาแลง มีบันไดขึ้นไปบนพระปรางค์  บนพระปรางค์มีสถูปขนาดเล็กรูปดอกบัวตูมประดิษฐานอยู่ 

วัดพระศรีมหาธาตุเชลียง

                 ลงมาจากพระปรางค์ผมได้เจอกับคุณตาแฉล้มแห่งศรีสัชนาลัย ผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งของกรุงสุโขทัยในปัจจุบัน นั่งเป่าขลุ่ยเพลงไทยเดิมให้นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ได้ซึมซับวัฒนธรรมของไทยผ่านทางเสียงขลุ่ยของคุณตา ถ้าใครมีโอกาสมาเที่ยวที่วัดเชลียงอย่าลืมแวะมาเยี่ยมแกบ้างเน้อ

วัดช้างล้อมศรีสัชนาลัย

               มาถึงตอนนี้การปั่นจักรยานของผมเริ่มมีปัญหาแล้วครับ ขาทั้งสองข้างอ่อนแรงไม่สนองตอบสมองที่สั่งให้ปั่น ทำยังไงได้ ต้องลงเดินและเข็นจักรยานไปซิครับ เพื่อให้ทันคุณหมูกับคุณวรรณและน้องเย็นตา ที่ปั่นนำหน้ามาถึงวัดช้างล้อมก่อนใคร แล้วยังปั่นผ่านหน้าวัดช้างล้อมให้พวกเราได้ถ่ายรูปอีกด้วย

วัดช้างล้อมศรีสัชนาลัย

               หน้าวัดยังเห็นฐานซุ้มประตูก่อด้วยศิลาแลง และแนวกำแพงแก้วเตี้ยๆ ก่ออิฐถือปูนอยู่โดยรอบวัด เดินเข้าไปจากซุ้มประตูเป็นทางเดินไปสู่พระวิหาร ด้านหลังมีเจดีย์ทรงระฆังล้อมด้วยช้างตั้งอยู่ เป็นที่มาของชื่อวัดช้างล้อม

                วัดช้างล้อมจะมีอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 3 แห่ง แต่วัดช้างล้อมศรีสัชนาลัย จะแตกต่างจากวัดช้างล้อมของกำแพงเพชรและสุโขทัยที่ เห็นขาหน้าเพียงสองข้างเท่านั้นที่ยื่นออกมา ช้างล้อมศีสัชนาลัยจะประดับเครื่องทรงลวดลายปูนปั้น และตัวใหญ่กว่าที่อื่น แล้วยังยื่นออกมาจากฐานเกือบทั้งตัวเห็นทั้งสี่ขา นับเป็นเอกลักษณ์ของวัดช้างล้อมศรีสัชนาลัย

วัดเจดีย์เจ็ดแถวมีเจดีย์รายหลายรูปแบบ

                ไม่ต้องปั่นครับสำหรับวัดเจดีย์เจ็ดแถว เพราะอยู่ตรงกันข้ามกับวัดช้างล้อม เดินข้ามถนนมาก็ถึงแล้ว ค่อยยังชั่วหน่อยประหยัดแรงขาของผมได้เยอะ ที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวนี้มีเจดีย์อยู่หลายรูปแบบสวยงามไม่เหมือนวัดอื่น  เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือทรงดอกบัวตูมเป็นเจดีย์ประธาน ตั้งอยู่หลังพระวิหารที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก และมีเจดีย์รายรูปแบบต่างๆ 

                 เช่นทรงยอมุมไม้สิบสอง ทรงระฆัง ทรงปราสาท ทรงดอกบัวตูมเป็นต้น รวมแล้วนับได้เจ็ดแถว อาจเป็นที่มาของชื่อวัดเจดีย์เจ็ดแถว ที่ชาวบ้านเรียกกันต่อมาก็เป็นได้ ด้านหลังประธานมีเจดีย์ทรงปราสาท ในซุ้มทางทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรกสมัยสุโขทัย ที่สวยงามสมบรูณ์เต็มองค์ให้ได้ชมกันอีกด้วย

วัดนางพญา

วัดนางพญาต้นแบบลายทองคำสุโขทัย

                เดินออกมาทางด้านหน้าวัดเจดีย์เจ็ดแถว มาเขาทางด้านหลังวัดนางพระพญา ซึ่งเป็นโบราณสถานที่อยู่ท้ายสุด ติดกำแพงด้านตะวันออกของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เพื่อมาตามหาลวดลายปูนปั้นสมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นต้นแบบของลวดลายทองรูปพรรณสุโขทัยในปัจจุบัน ที่ยังคงหลงเหลืออยู่บนผนังวิหารวัดนางพญา

                นอกกำแพงแก้วมีคูน้ำอยู่ด้านหน้า เข้ามาในกำแพงแก้วมีวิหารยกพื้นสูงก่อด้วยศิลาแลง ปรากฏร่องรอยว่าเคยมีพระประธานประดิษฐานอยู่ ด้านหลังประดิษฐานเจดีย์ทรงระฆัง และที่สำคัญยังเหลือผนังด้านซ้ายของวิหาร ยังคงมีลวดลายปูนปั้นลายดอกไม้แบบสุโขทัยหลงเหลืออยู่ ให้เป็นต้นแบบนำไปใช้เป็นลวดลายของทองรูปพรรณสุโขทัย ที่ผมมาตามจนเจอ อ่อนช้อยงดงามจริงๆครับ ลวดลายปูนปั้นไม่ได้มีเฉพาะที่ผนัง ตามเสาวิหารก็ยังมีลวดลายปูนปั้นลายเทพพนมเหมือนกัน บอกให้เห็นถึงความปราณีต อ่อนช้อย งดงามยิ่ง จากอดีตได้เป็นอย่างดี

ลวดลายสวยงามของวัดนางพญา

แก่งหลวง แก่งหินตามธรรมชาติกันลำน้ำยม

                 เลียบลำน้ำยมบริเวณแก่งหลวงหรือแก่งเมือง เป็นที่ตั้งของเมืองศรีสัชนาลัยในอดีต ปั่นมาถึงที่แก่งหลวงคงเป็นที่สุดท้ายแล้ว สำหรับตามรอยปั่นตามฝันฯวันนี้ แก่งหลวงเป็นแก่งหินตามธรรมชาติที่กันลำน้ำยมไว้ ปล่อยให้น้ำที่เอ่อล้นแก่งหินไหลเลียบไปกับกำแพงอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตามตำนานเล่าว่าพระยาร่วงได้มาดำน้ำจมหายไปที่แก่งหลวงแห่งนี้ ต่อมามีพ่อค้าไม่ทำการระเบิดแก่งหินกลางลำน้ำออก เพื่อเป็นเส้นทางล่องไม้ซุงได้สะดวก จึงเหลือแก่งหินให้เห็นแค่สองฝั่งลำน้ำยมในปัจจุบัน

บ้านทองสมสมัยศิลปะแห่งสุโขทัย
              เหมือนจะขาดไปอย่างหนึ่งถ้าไม่มาศึกษาเรียนรู้ วิธีทำทองแบบสุโขทัยสืบทอดต่อกันหลายชั่วอายุคน ที่บ้านทองสมสมัยให้เห็นกับตา อุสาหะไปดูลวดลายปูนปั้นที่ผนังวัดนางพญามา เห็นลายทองคำที่ช่างทำทองบ้านสมสมัย ประดิดประดอยขึ้นมาเหมือนกันเลยครับ  ทองโบราณสุโขทัยที่นำมาเครื่องประดับต้องมีความบริสุทธิ์ 99.99 % เริ่มต้นตั้งแต่ ตีให้เป็นเส้น ถัก ร้อย เชื่อมด้วยแก๊สประกอบเป็นรูปประพรรณ ทำจากมือทุกขั้นตอนด้วยความประณีต ทำให้บ้านทองสมสมัยศิลปะแห่งสุโขทัย มีชื่อเสียงในการประดิษฐ์งานศิลป์ทองโบราณสุโขทัยมาจนถึงทุกวันนี้

              แล้วก็มาถึงย่อหน้าสุดท้ายสำหรับตายรอยปั่นตามฝันฯ ตอนแรกที่นั่งอ่านหนังสือปั่นตามฝันฯมาในรถ ก็อยากมาลองปั่นดูเฉยๆเพราะไม่เคยปั่นจักรยานท่องเที่ยวชมโบราณสถานมาก่อน พอปั่นไปเรื่อยๆก็เพลินครับ ถึงแม้จะเหนื่อยบ้างแต่ก็ไม่ท้อ ยิ่งได้มาเห็นศิลปะสุโขทัยอันงดงาม ความรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ในอดีต ของโบราณสถานที่สำคัญทั้ง 3 แห่ง ได้มาพบกับคุณยายเฉลาบ้านศรีชุม คุณตาแฉล้มบ้านเชลียง สองผู้ยิ่งใหญ่ของกรุงสุโขทัย ที่ยังสืบทอดวัฒนธรรมของเราแล้ว ยิ่งรักเมืองไทยขึ้นมาอย่างจับจิต ฝรั่งต่างแดนยังข้ามฟ้าข้ามน้ำมาดูของเรา อยากเชิญชวนให้มาท่องเที่ยวกันเยอะๆครับ มาตามรอยปั่นตามฝัน 3 เส้นทางมรดกโลก สุโขทัย - ศรีสัชนาลัย – กำแพงเพชร อย่างผมบ้างนะครับ

ขอขอบคุณ

สำนักงานองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (อพท,) สนับสนุนการเดินทาง

 

 

 

 

 

 


ความคิดเห็น

Reply : ตามรอย ปั่นตามฝัน 3 เส้นทางมรดกโลก สุโขทัย - ศรีสัชนาลัย - กำแพงเพชร By : แซงค์ ชายคาตะวัน Date : 1374816828

รูปสวยงาม  เยอะถูกใจครับ เยี่ยมยอด!!!!


Reply : ตามรอย ปั่นตามฝัน 3 เส้นทางมรดกโลก สุโขทัย - ศรีสัชนาลัย - กำแพงเพชร By : Date : 1385478556

ชื่นชอบจึงชื่นชมมา ณ โอกาสนี้


Reply : ตามรอย ปั่นตามฝัน 3 เส้นทางมรดกโลก สุโขทัย - ศรีสัชนาลัย - กำแพงเพชร By : ชา สามชุก Date : 1385478678

ชื่นชอบ จึงชื่นชมมา ณ ที่นี้