http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,989,386
Page Views16,297,424
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

เอกภาพการบริหารอุทยานแห่งชาติ โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

เอกภาพการบริหารอุทยานแห่งชาติ    โดยธงชัย เปาอินทร์  เรื่อง-ภาพ

                            เอกภาพการบริหารอุทยานแห่งชาติ


                                                                                      โดยธงชัย เปาอินทร์

 

          ต้องตอกย้ำเรื่องหลักการบริหารอุทยานแห่งชาติที่สากลเขายึดถือกันว่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติต้องเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่บริสุทธิ์ มีทรัพยากรธรรมชาติของป่าไม้และสัตว์ป่าสมบูรณ์ ทรัพยากรท่องเที่ยวหลากหลาย และหายาก  เหนือสิ่งอื่นใด ต้องมีเอกภาพการบริหารจัดการ เพื่ออนุรักษ์ไว้อย่างชาญฉลาด (wise use)  อันนำไปสู่การจัดการอย่างยั่งยืน เรื่องนี้ มีกฎหมายกำหนดหรือไม่ ตอบได้เลยว่า ไม่ แต่เป็นหลักการสากล


                  
                                      
ค่ายเยาวชน


ตัวอย่างการบริหารจัดการที่ขาดเอกภาพ

            ก่อนการตรา พรบ.อุทยานแห่งชาติ 2504 ราวๆ ปี พ.ศ.2503 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งให้กรมทางหลวงตัดถนนจากปากช่องขึ้นเขาใหญ่ไปลงปราจีนบุรี และให้กองทัพอากาศสร้างสนามกอล์ฟ ส่วนกองสลากกินแบ่งรัฐบาลสร้างบ้านพักตากอากาศริมหนองขิง ต่อมายกทั้งบ้านพักบังกาโลและสนามกอล์ฟให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง

          เมื่อมีการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พ.ศ.2505 จึงกลายเป็นป่าอนุรักษ์ที่มีหลายหน่วยงานเข้าไปเกี่ยวข้องเสียแล้ว ส่วนชาวบ้านที่บุกรุกทำไร่อพยพลงจนหมด เป็นผืนป่าอุทยานแห่งชาติที่วางรากฐานเรื่องมนุษย์ไว้อย่างเหมาะสม  

           นายกรัฐมนตรี พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้ ค.ร.ม.ลงมติเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ 14 ป่า หนึ่งในจำนวนดังกล่าวมีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรก ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 79 ตอนที่ 86 วันที่ 18 กันยายน 2505 พื้นที่ 1,353,471.53 ไร่ ครอบคลุม 4 จังหวัดคือ สระบุรี นครราชสีมา นครนายก และปราจีนบุรี

          โดยมี ดร.จอร์จ ซี รูห์เล (GEORGE C. RUHLE) ผู้เชี่ยวชาญของ IUCN จากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นที่ปรึกษาและดำเนินการ  นายบุญเรือง สายศร เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นคนแรก

          การบริหารจัดการเป็นไปอย่างไม่มีเอกภาพตั้งแต่เริ่มต้น  พื้นที่ป่าอนุรักษ์กลายเป็นแบบผสมผสานประโยชน์ของหน่วยงานดังกล่าวโดยไม่คาดหมาย หลักการมันเลื้อยไปได้ไกลลิบ ไกลจากอุดมการณ์และทฤษฎีการจัดการอุทยานแห่งชาติสากล  

          ททท.บริหารเรื่องการท่องเที่ยวไปตามรูปแบบธุรกิจ มีอำนาจจัดการได้เต็มร้อย ส่วนกรมทางหลวงก็มีอำนาจจัดการซ่อมสร้างถนนสายดังกล่าว รวมทั้งบ้านพักรับรองที่รองรับนักท่องเที่ยวอภิสิทธิ์ชนทั้งปวงในบ่วงกรรมของกรมทางหลวง  แหละครับ


                                                              
กวางป่า
 

เมื่อ ททท.ยกออก เกิดอะไรขึ้นอีกหรือ?

          มีการประสานงานกับกรมทางหลวงขอให้ยกออกจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งรวมทั้งเจ้าหน้าที่ พนักงาน คนงาน แต่บ้านพักต่างๆ ยังคงอยู่กลายเป็นบ้านพักของเจ้าหน้าที่เขาใหญ่ไปเสียอีก ซึ่งน่าจะรื้อทิ้งมากกว่า เพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็น นี่ก็เพราะว่าเสียดายของ ก็เลยเปิดเป็นเขตบริการสำหรับเจ้าหน้าที่ไป เฮ้อ! เหนื่อยไหมคนดี ?

          ต่อมาพ.ศ.2535 นายอานันท์ ปันยารชุณ ร่วมกับองค์กรภาคเอกชนและสื่อมวลชนปลุกกระแสกันตรึม ออกมติ ครม.ยกเลิกกิจการของ ททท.บนเขาใหญ่ ด้วยเหตุผลว่า ทำลายสิ่งแวดล้อม ดูเหมือนดีและดูจะหมดเสี้ยนหนามการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติอย่างมีเอกภาพอยู่แล้วเชียว

         แต่ก็เกิดอุบัติเหตุเจตนาที่ไม่รู้ว่า หวังดี หรือหวังร้าย  เมื่อนายผ่อง เล่งอี้ อธิบดีกรมป่าไม้ในช่วงห้วงเวลานั้น ได้สั่งให้ยกบ้านพักแรมทั้งหมดและภัตตาคารหรู ไปขึ้นตรงกับ กองฝึกอบรม กรมป่าไม้เสียฉิบ ไม่แน่ใจว่าเพราะเสียดายของหรือเปล่า หรือเป็นเพราะว่านายผ่องเคยให้สัมภาษณ์ว่า

        ขณะนั้นคณะวนศาสตร์ไม่มีการเรียนการสอนวิชาอุทยานแห่งชาติและการอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife conservation group กลุ่มเรารักษ์ป่า)  ก็เลยบริหารราชการไปตามที่ปรากฎ

          การบริหารจัดการบ้านพักแรมคืนของ ททท.ทั้งหมด กองฝึกอบรมกรมป่าไม้เข้าไป.จัดการอนุญาต เก็บค่าเข้าพัก นำเที่ยว จำหน่ายอาหาร ฯลฯ ได้โดยตรง เพราะว่าขออนุมัติกระทรวงการคลังแล้ว ไม่มีใครท้วงติงใดๆ ทั้งจากเอ็นจิโอและสื่อต่างๆ  อำนาจเบ็ดเสร็จของอธิบดีกรมป่าไม้ขณะนั้น ใครแหยมไม่ได้เลย ยิ่งใหญ่และทรงอำนาจมาก แม้ว่าจะผิดหลักการ ก็จะทำ มึงจะทำไม?

          ทุกวันนี้ การบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นอุทยานแห่งชาติอกแตก ป่าผืนเดียวกันแท้ๆ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ก็มองเห็นชัดๆ ขับรถผ่านทุกวัน  แต่ควบคุมหรือบริหารจัดการไม่ได้ กลายเป็นพื้นที่ รัฐอิสระ อยู่บนเขาใหญ่ เหมือนทำเนียบรัฐบาลครั้งที่ถูกเสื้อเหลืองยึด

          แค่นี้ยังไม่สะใจครับ กรมป่าไม้ในขณะนั้นได้ตั้ง สถานีป้องกันและดับไฟป่าเขาใหญ่ขึ้นมาอีกหน่วยงานหนึ่ง แต่ขึ้นตรงกับสำนักป้องกันและดับไฟป่าหน่วยงานของกรมป่าไม้ในขณะนั้น 
        ทุกวันนี้แม้จะเปลี่ยนเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ,สัตว์และพันธุ์พืชแล้ว ก็ยังแยกการบริหารจัดการ พูดง่ายๆ ไฟป่าเกิดขึ้นบนเขาใหญ่เมื่อไร สถานีป้องกันและดับไฟป่าเขาใหญ่รับผิดชอบโดยตรง มีรถยนต์ อุปกรณ์ เจ้าหน้าที่ พนักงาน และคนงานเพียบ พร้อมงบประมาณบานตะเกียง

       พอเกิดไฟป่าไหม้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แตะไม่ได้ สั่งไม่ได้ ไปวุ่นวายก็ไม่ได้ กลายเป็นนั่งดูไฟไหม้บ้านตัวเองไปอย่างตาปริบๆ ถ้าหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเป็นคนจริงจัง ก็คงจะระดมคนไปช่วยกันดับไฟป่า แต่ถ้าได้คนที่ยึดหลักการบริหารราชการก็จะปล่อยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการไป กลายเป็นผืนป่าอนุรักษ์    สามเส้า



    น้ำตกเต่าดำ 

หลักการจัดการอุทยานแห่งชาติสากลที่อเมริกา

          ในพื้นฐานการจัดการอุทยานแห่งชาติสากล อันเป็นกติกาที่ยอมรับและถือปฏิบัติกันมายาวนาน ซึ่งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ประเภทอุทยานแห่งชาติเขากำหนดพื้นที่ให้มีเอกภาพในการบริหารจัดการ  ไม่มีมนุษย์เข้ามาตั้งชุมชนหรือแอบสร้างอะไรขึ้น มีเฉพาะเจ้าหน้าที่เท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจสร้างได้ ต้องอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติและอยู่ในเขตบริการที่กำหนดไว้ในแต่ละประเภทๆ

          การบริหารจัดการต้องมีเอกภาพเต็มร้อย โดยมีทุกหน่วยงานอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ผืนนี้ มีหัวหน้าย่อยๆ รับผิดชอบภายใต้การบริหารจัดการของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทั้งสิ้น เช่น ในอุทยานแห่งชาติหนึ่งจะมีงานดังนี้คือ

ฝ่ายวิชาการและวางแผน อันเป็นฐานข้อมูลทางวิชาการทุกด้านของพื้นที่เขตอุทยานฯ เช่นการสำรวจสัตว์ป่า พันธุ์พืช ต้นน้ำ การมีส่วนร่วมของประชาชน การกำหนดขนาดพื้นที่และจำนวนที่รองรับได้ การวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของไฟป่า การจัดการอุทยานฯลฯ   

ฝ่ายฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ(พืชป่าและสัตว์ป่า)และสิ่งแวดล้อม  เช่นเคยมีพื้นที่อุทยานถูกบุกรุกมาก่อนมาก ก็ปลูกป่าด้วยพันธุ์ไม้ในถิ่นกำเนิดของประเทศไทยทดแทน ตามหลักวิชาการ เพื่อให้มีป่าเพิ่มขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หรือสัตว์บางชนิดล่อแหลมต่อการดับสูญ ก็เพาะเลี้ยงและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ก็ต้องเป็นสัตว์ป่าในถิ่นกำเนิดประเทศไทยนะครับ

ฝ่ายจัดการป้องกันและดับไฟป่า   มีหน้าที่ต้องป้องกันไฟป่า ควบคุมไฟป่า และเตรียมอุปกรณ์ครบถ้วนเพื่อศักยภาพการดำเนินการ

ฝ่ายป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด บ้านเรายังมีกลุ่มทุนที่หากินกับการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอยู่มาก เช่นตัดไม้เพื่อการก่อสร้าง ตัดไม้หอมราคาแพง ลักลอบล่าสัตว์ป่า แม้กระทั่งเก็บหาของป่าประเภทกล้วยไม้ แมลง จำหน่าย

ฝ่ายวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม  ควบคุมการตัดถนน ซ่อมบำรุง ซ่อมสร้างบ้านพัก ฯลฯ ซึ่งจะต้องไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งต้องไม่เสียภูมิทัศน์ วิวทิวทัศน์

ฝ่ายประชาสัมพันธ์และผลิตสื่อ  ผลิตสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ แจ้งข่าวสารข้อมูลให้กับนักท่องเที่ยวทุกช่วงฤดูกาลการท่องเที่ยว ฯลฯ 

ฝ่ายบริหารบ้านพักและการนันทนาการ มีกำหนดกฎกติกาหลากหลายที่ต้องดูแลบ้านพักแรม ค่ายพักแรม ลานกางเต็นท์ การเล่นรอบกองไฟ ที่นักท่องเที่ยวต้องปฏิบัติตาม มีเจ้าหน้าที่ที่ยิ้มแย้มแจ่มใส เข้าใจและสร้างความเข้าใจให้กับนักท่องเที่ยว ฯลฯ

                        

 

อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศเป็นเช่นไร ?

          อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ใช้กฎหมายราชพัสดุทับซ้อนกับ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ที่นี่มีเพียงสองหน่วยราชการดังกล่าว แต่เละตุ้มเป๊ะจริงๆ จากอดีตที่เคยมีแต่ธรรมชาติแสนงาม หาดทรายขาวบริสุทธิ์ บ้านพักแรมเป็นกระท่อมชายหาด แต่วันนี้มีกระทั่ง บาร์เบียร์  ส่วนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ไม่รู้ว่าจะกล่าวคำใดให้เจ็บปวดได้ยิ่งกว่า คำว่า มึนทึบ อุทยานแห่งชาติทางทะเลทุกแห่งเกือบเข้าขั้นวินาศสันตะโรเข้าไปทุกที่แล้ว โว๊ย

          อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติออบขาน อุทยานแห่งชาติแม่สุรินทร์ ฯลฯ มันเละไปด้วยมนุษย์ กิจการท่องเที่ยวเอกชน บุกรุกพื้นที่ป่าอุทยานฯ ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า-สัตว์ป่า-แม้กระทั่งแมลงสำคัญบางชนิด

หน่วยราชการสิ้นปัญญาจะเข้าไปบริหารจัดการใดๆ ไม่มีรูปธรรมการจัดการ ไม่มีแนวคิดใหม่ คนไทยเรา อะลุ่มอะล่วย จนเลยเถิดเกินไปหรือเปล่า ? กฎหมายจึงไม่เป็นกฎหมาย คิดแล้วเศร้า แม้แต่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่อวดกันนักหนาว่า เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรก และเป็นอุทยานที่ยูเนสโก้ ประกาศว่า เป็นมรดกโลก ก็ยังเหลวแหลกขนาดนี้  โล่ เกียรติบัตร ถ้วยรางวัล จะยังมีความหมายอยู่หรือไม่ คิดดู

ระบบบริหารราชการช่วยเพิ่มจำนวนข้าราชการที่ทดท้อใจ เสียขวัญสั่นสะยอง หมดกำลังใจ ทำงานดีก็ไม่ได้รับการเลื่อนระดับ เงินเดือนตันเต็มขั้นหลายปีก็ไม่ได้ตำแหน่งหรือเลื่อนระดับ  ดีไม่ดีถูกย้ายเข้ากรุไปได้ง่ายๆ สู้พวกที่ตัดสินใจ ทำเงินเสียเลยดีกว่า เพราะว่าได้ดีมีถมไป ? เงินเดือนระดับ 8 แค่ 28,000 บาท ยังขยับข้ามหัวคนร้อยแปดพันเก้าได้สบายๆ

มันอยู่ที่  ดวงเด็กใคร วิ่งเท่าไร เงินน่ะมีมั้ย ?

Tags : National park เขาใหญ่ การจัดการอุทยานแห่งชาติ

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view