http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,994,791
Page Views16,303,101
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

หิ่งห้อย อัมพวา-คลองท่าคา

หิ่งห้อย อัมพวา-คลองท่าคา


                               

                         หิ่งห้อย อัมพวา-คลองท่าคา
                                                                        "ป่าน ศรนารายณ์"
 
             ถ้าเอ่ยถึงตลาดน้ำยามค่ำอัมพวา มีนักท่องเที่ยวรู้จักกันมากมาย มันดังคับฟ้าไปแล้ว แต่ถ้าเอ่ยถึงตลาดน้ำคลองท่าคา ยังต้องมองหาว่าอยู่ที่ไหนหรือ? อันที่จริงมันก็อยู่ในอำเภอเดียวกันนี่แหละ เพียงแต่ว่า ตลาดน้ำท่าคาเปิดช้ากว่ามาก เพิ่งจะเปิดมาปีเศษๆเท่านั้น ก็ย่อมจะได้รับการสื่อสารโฆษณาสั้นๆ เป็นเรื่องปกติธรรมดา
              เหมือนกัน ตั้งแต่เปิดเว็บไซท์มา 6 เดือนเศษๆ ก็เพิ่งจะได้รับการเชิญชวนจากคุณปัญญา ไกรทัศน์ ผู้อำนวยการส่วนประชาสัมพันธ์ของ สำนักพัฒนาการท่องเที่ยวและกีฬา สื่อใหม่และเล็กๆนี้ ขอขอบพระคุณที่ให้เกียรติ แม้ว่าจะเป็นนักเขียนอิสระใน นสพ.รายวันบางฉบับ แต่ภูมิใจที่จะได้รับเชิญในฐานะเจ้าของเว็บไซท์
www.thongthailand.com มากกว่า 

                        
                                            เรือนไทยโฮมสเตย์+โรงเคี่ยวน้ำตาล

              เนื่องจากสามารถเขียนเผยแพร่ได้ทันทีที่กลับเข้าสำนักงาน มีอิสระที่จะพร่ำพรรณนาได้อย่างที่คิดและเห็นว่ามันควรจะเป็นไป  จะใส่รูปมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญมันเป็นสื่อที่กว้างไกลไปทั่วโลกไซเบอร์ ที่ใครๆก็อาจจะเปิดเข้ามาชมได้ ส่วนจะน่าสนใจหรือไม่มีปัจจัยอยู่สามสี่อย่างเช่น                              
              แหล่งข้อมูลได้ให้มากพอเพียงหรือมากเกินไปไหม  สถานที่ที่แนะนำมีความน่าสนใจและได้เกณฑ์มาตรฐานทรัพยากรท่องเที่ยวไหม ผู้นำชมเข้าใจและสามารถถ่ายทอดให้เกิดความกระจ่างและชวนชมแค่ไหน  และช่วงเวลาที่พาชมตรงกับพฤติการที่ควรให้ได้รับรู้และนำไปสื่อสารหรือไม่ 

      
                          ระเบียงน่านั่งเล่น                                     ห้องนอนน่านอนไหม?

              วันนี้ จึงได้มานั่งทบทวนดูว่า ช่วงเวลาที่พาไปชมตลาดน้ำท่าคาวันราชการนั้น ไม่ได้ภาพใดๆของตลาดน้ำท่าคาเลยสักภาพ เพราะว่าตลาดเปิดช่วง 6.00-10.30 น.ของวันเสาร์-อาทิตย์ ประเด็นเที่ยวตลาดน้ำตกไปในทันที  แต่อย่างไรก็ตาม ได้ไปชมการปาดตาล การเคี่ยวน้ำตาล การหยอดน้ำตาลปึก และน้ำตาลปี๊บ ก็ได้ภาพมาเผยแพร่ได้เต็มๆ

       
                             เปลยวนใต้ถุนบ้าน                                     ถังนวดข้าวดั้งเดิม

               โฮมสเตย์ ได้เข้าไปสัมผัสบ้านเรือนไทย 3 หลัง น่าชื่นชมที่สำนักพัฒนาการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาบริการท่องเที่ยว  คุณขจร วีระใจ  ได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านแปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน ซึ่งเป็นธุรกิจชุมชนขนาดความเสี่ยงต่ำสุด แต่โอกาสที่จะร่ำรวยเหมือนรีสอร์ท ม่านรูด โรงแรม ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ความพึงพอใจในการดำเนินการจึงขึ้นอยู่กับว่า ผู้ประกอบการเข้าใจตวามหมายของโฮมสเตย์เพียงใด

                             

                คุณขจรเล่าว่า "สำนักได้กำหนดคุณสมบัติโฮมสเตย์เบื้องต้นไว้ 6 ประการคือ   รายได้จากโฮมสเตย์เป็นเพียงรายได้เสริม บ้านมีห้องเหลือเฟือ แต่ต้องไม่เกิน 4 ห้อง พักคราวหนึ่งๆได้หลังละไม่เกิน 20 คน นักท่องเที่ยวเข้าพักในบ้านหลังเดียวกับเจ้าของบ้าน ดุจญาติมาเยี่ยมเยียน ได้เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ร่วมกัน ร่วมมือร่วมใจกับสมาชิกโฮมสเตย์ด้วยกันในหมู่บ้านนั้น ซึ่งควรอย่างยิ่งที่จะต้องจัดตั้งเป็นอีกกลุ่มอาชีพหนึ่งในชุมชน"

     
                                                                   สวนมะพร้าว วิถีชีวิตที่น่าสนใจ

                "สำหรับปีพ.ศ.2552 มีโฮมสเตย์ที่ได้เกณฑ์มาตรฐาน 37 ราย บริการอาหารเพื่อการท่องเที่ยว 37 ราย มาตรฐานเรือรับจ้างท่องเที่ยว 29 ลำ มาตรฐานที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท 64 ราย  เป็นต้น" 

                "โฮมสเตย์ที่คลองท่าคานี่ ผมรู้สึกดีใจ ประทับใจ ที่ผู้ประกอบการร่วมมือร่วมใจกันอย่างยอดเยี่ยมโดยเฉพาะเรือนไทยของผู้ใหญ่ ฐานิดา สีเหลือง คุณศิริ ธรรมสวัสดิ์ คุณทวีป เจือไทย  จำนวน 3 หลัง เป็นเรือนไม้ริมน้ำอีก 9 หลัง รวมเป็น 12 หลัง เข้าเกณฑ์มาตรฐานอยู่นะครับ(ดูป้าย) อย่างไรก็ตาม การร่วมใจกันทำกิจการโฮมสเตย์เพิ่มความสนิทสนมกลมเกลียวให้กับชุมชน  มีตลาดน้ำเป็นตัวเชื่อมต่อด้วยยิ่งมีศักยภาพสูงกว่าแหล่งอื่นๆ" 

                   จำลอง บุญสอง บก.หน้าท่องเที่ยว นสพ.โพสท์ทูเดย์ " โฮมสเตย์ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเจ้าของบ้านได้อย่างแตกต่าง บ้านเรือนสะอาดมาก ใต้ถุนรุนช่องสะอาด น่านั่งเล่น ทัศนคติ อุปนิสัยชาวสวนเปลี่ยนไป ยิ้มแย้มต้อนรับแขกเข้าบ้านได้ดีจริงๆ"  

                    ผู้ใหญ่บ้าน คุณฐานิดา สีเหลือง  เล่าว่า  "โฮมสเตย์บ้านท่าคาเข้าพักด้วยอัตรา 350 บาท/หัว/คืน ประกอบด้วย ที่นอนสะอาด ห้องน้ำสะอาด น้ำชากาแฟ อาหารเช้า อาหารค่ำ และเน้นย้ำเลยว่า ให้ชุดตักบาตรพระตอนเช้าด้วย อาหารมื้อหลักตอนค่ำนี่ กับข้าว 4อย่าง ผลไม้อีก 1 อย่างตามฤดูกาล ส่วนอาหารเช้าจะเป็นกาแฟ-ข้าวต้มเครื่องเบาๆ "

                           
     คุณจำรัส เซ็นนิล สัมภาษณ์ผู้ใหญ่ฐานิดา มี น.พ.สุวิทย์ เกียรติเสวี นสพ.เดลินิวส์ นั่งอยู่ข้างหลัง

                   "มีการปาดตาลบนต้น ช่วงเช้าหรือเย็น ท่านอาจจะทดลองทำดูได้ ถ้ากล้าไต่พะอง(ไม้ไผ่มีก้านสั้นไว้เหยียบ) อันนี้ดูฟรี เช่นเดียวกับการทำน้ำตาลปี๊บ ส่วนการนำชมหิงห้อยในยามค่ำคืนด้วยเรือพายนั้น ค่าเรืออยู่ที่ 200 บาท/6คน มีฝีพาย 2 คนหัวท้าย" 
                   "ส่วนตลาดน้ำคลองท่าคานั้น ท่านต้องมาพักแรมช่วงเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ จึงจะมีตลาดน้ำให้เลือกซื้อสินค้าพื้นบ้าน เวลาปิดเปิดตลาดก็ 6.30-10.30 น. แต่ท่านก็อาจจะไปเที่ยวตลาดน้ำยามค่ำได้ที่ตลาดน้ำอัมพวา(ตอนบ่าย-ค่อนคืน)ได้อีกแห่งหนึ่ง ใกล้ๆกันนี่เอง เรื่องความปลอดภัยหายห่วง ผู้ใหญ่ขอรับประกันค่ะ" 
                   "การเดินทางมาไม่ยาก มาถึงตลาดอัมพวาได้ก็เลยมาคลองท่าคาได้ง่ายๆ โทร.มาซิคะถ้าหลงทาง 086-7898130 ยินดีบริการเสมอนะคะ"

                    อาจารย์ศิริ  ธรรมสวัสดิ์  เจ้าของเรือนไทยโฮมสเตย์(สวนตาล รีสอร์ท) เล่าว่า "การชมวิถีชีวิตคนปาดตาล(มะพร้าว) ในอดีตเจ้าของสวนส่วนใหญ่ทำกันเอง  แต่ต่อมาความเจริญมากขึ้น เยาวชนเรียนหนังสือมากขึ้น ไปรับราชการ ไปทำงานกรุงเทพ ไปเป็นคนงานโรงงาน ในสวนมะพร้าวจึงเหลือแต่คนแก่ๆ เฝ้าสวน แรงงานการขึ้นไปปาดจั่นมะพร้าวเพื่อรองน้ำตาลจึงเป็นแรงงานรับจ้างมากกว่า"

                    "การดูและคัดเลือกมะพร้าวทำตาลนี่ ดูกัน 4 ข้อคือ ทาง(มะพร้าว)ถี่  งวงหรือจั่น(ก้านช่อดอก) ยาว นิ่ม รก(กาบหุ้มช่อดอก) ก็ต้องนิ่มด้วย น้ำตาลออกดี ปาดแล้วก้านนิ่ม  เหล่านี้คุณลักษณะของการทำตาลที่มีคุณภาพ"  

                   

                     คุณทัศนี ฉ่ำบุญรอด คนปาดตาล หญิงลูกหนึ่ง (087-1051842)เล่าว่า"ตอนสาวก็เข้าโรงงาน รับจ้างทั่วไป พอเข้าวัยนี้ก็มีภาระลูกๆ จึงยึดอาชีพคนปาดตาล แฟนก็ทำด้วย สองคนก็จะมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว ได้เงินรายวันมากน้อยขึ้นอยู่กับขยันไหม เลือกจั่นและปาดเป็นไหม อ๋อ..จั่นหนึ่งปาดได้ทุกวัน ปาดจนเหลือแต่ตอเชียวแหละ เช้าเย็น ต้องเทน้ำตาลออกทุกครั้ง บางทีก็ล้นกระบอกเหมือนกัน เมื่อก่อนนี้ใช้กระบอกไม้ไผ่ กระรอกบ้าง กระแตบ้าง หนูก็มี กัดกระบอกรั่วหมด ก็เลยเป็นกระบอกพลาสติก ได้มากได้น้อยนับเป็นปี๊บๆ ละ 20-35 บาท  หลังๆมานี่ น้ำตาลขึ้นราคา เจ้าของสวนเขาก็ขึ้นให้เป็น 35 บาท"

          
                         ผู้ใหญ่บ้านกำลังบรรยายให้ เจ้าของโฮมสเตย์จากทั่วประเทศ  ชมและฟัง

                     "ปาดตาลวันหนึ่งเช้าเย็นก็ราวๆ 70-80 ต้น ได้น้ำตาลสองเวลานี่ก็ตก 100 กว่าปี๊บ ขึ้นอยู่กับว่า จั่นที่ปาดนั่นปาดใหม่ๆน้ำตาลก็ออกดี พอลึกเข้าๆ จั่นก็ให้น้ำตาลน้อยลง"                      
                      "เรื่องตกต้นมะพร้าวนี่หรือ บ่อย พะองมันซุ่มท่อน(ผุข้างในท่อน) ไม่ทันสังเกตก็เหยียบขึ้นไป ร่วงหงายท้องเลยค่ะ" หัวเราะชอบใจ
                       ผู้หญิงอารมณ์ดีคนนี้ทำงานกลางแจ้ง สูดอากาศบริสุทธิ์ในสวนมะพร้าวทุกวัน ท่าทางร่างกายดูแข็งแรง ทะมัดทะแมง แต่ตอนที่หล่อนทดลองลับมีดปาดตาลให้ดู น่าเสียวไส้ ยิ่งตอนที่หล่อนปาดฉับเดียวงวงตาลกระเด็นยิ่งเสียว นี่ก็คือรายการหนึ่งที่เพิ่มสีสันวันมานอนพักโฮมสเตย์คลองท่าคา น่าชม น่าทดลองทำ น่าเก็บภาพไปเป็นที่ระลึกได้ เป็นอีกประสบการหนึ่งที่น่าทึ่งนะครับ 


     
                 อุปกรณ์โบราณ                             เตาเคี่ยวน้ำตาล                        น้ำตาลเคี่ยวจนได้ที่

                       เดินเข้าไปอีกนิด เป็นโรงเคี่ยวน้ำตาล มีรูเตาต้นทาง ใช้ทางมะพร้าวที่ร่วงหล่นเป็นเชื้อไฟ เตามีทั้งหมด 6 เตา มีกระทะใบบัววางรองรับน้ำตาลที่จะเคี่ยว ท้ายเตาที่ หก เป็นปล่องสูง 6 เมตร เหมือนปล่องโรงสีข้าว นี่ก็เป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งนะครับ ใส่เชื้อไฟที่ต้นทาง ความร้อนเผาไหม้ไล่ไปออกปลายทางคือปล่อง แต่ความร้อนต้นทางก็แรงกว่า น้ำตาลจึงงวดเร็วกว่าปลายทาง การเคี่ยวเป็นการกลั่นน้ำออกไปจากน้ำตาล  และที่ต้องใส่น้ำตาลทรายประมาณ 30 % ก็เพื่อให้เกิดการแข็งตัว 

                       คุณสิริวิมล จำปาหล่อ  โทร.081-9557888 ผู้จัดการบริษัทบ้านน้ำตาลมะพร้าวไทย จำกัด เล่าว่า "ทิศทางการพัฒนาน้ำตาลจากมะพร้าวจะไปในรูปกรีน น้ำตาลไร้สารพิษ ไม่ใส่สารกันบูด ไม่ใส่น้ำตาลทราย และกำลังแปรรูปเป็นไซหรับทดแทนน้ำตาลปึกหรือน้ำตาลปี๊บ เพื่อช่วยให้เกิดแพคกิ้งรูปแบบใหม่ น่าใช้น่าซื้อเป็นของฝากมากขึ้น" 
                       "คุณค่าของน้ำตาลมะพร้าวมีมากมาย ใส่ขนม ชงกาแฟ ปรุงอาหาร ได้หลากหลายรูปแบบ วัตถุดิบมีมาก โดยเฉพาะบ้านคลองท่าคา มีมากเป็นพิเศษ จึงมีโอกาสพัฒนาสูง"

                       ลุงดำ คำโต นักเขียนเรื่องชิมอาหาร  "ว่ากันตามความจริง ในการประกอบอาหารหวานคาว ถ้าใส่น้ำตาลปี๊บจะหอมหวลชวนกินมากกว่าใส่น้ำตาลทราย ตอนเคี่ยวไฟอ่อนจะส่งกลิ่นกำจายเลย ความกลมกล่อมก็ดีกว่า แต่มันต้องใช้ศิลปะนะว่าจะใส่แค่ไหน อยากให้มีการทดลองว่า ใส่ในซองปริมาณเท่าไร เหมาะกับใส่ต้มยำทำแกง อะไรทำนองนี้ ก็จะสะดวกในการใช้งานมากขึ้น" 
                       "มีอีกอย่างหนึ่งที่อยากเห็น ก็การดัดแปลงขนมไทยๆที่ใช้วัตถุดิบพื้นบ้านเช่น ขนมกล้วย ขนมถ้วย ขนมตาล ขนมบ้าบิ่น ขนมขุยหนู หรือประแนมที่กินกับใบทองหลางสวน หรือเมี่ยงคำกับใบทองหลางสวน ใบชะพลู เป็นอาหารว่างที่เสริมบรรยากาศการพักโฮมสเตย์บ้านสวนมากขึ้น"    

                        จำรัส  เซ็นนิล  ผู้จัดรายการ ทั่วทิศถิ่นไทย และผู้อ่านข่าวเช้า 92.5 เอฟเอ็ม ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ช่วงเวลา 13.00-14.00 น.ทุกวัน  ให้บทสรุปในการเยี่ยมชมโฮมสเตย์บ้านคลองท่าคาว่า " เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ทรงคุณค่ายิ่ง ได้พักค้างร่วมกับเจ้าบ้านอย่างอบอุ่น ได้รับประทานอาหารพื้นบ้านที่มีทั้งอาหารทะเล(ปลาทูหน้าหัก) น้ำพริกกะปิ ดอกโสน ชะอมผัดไข่ นึ่งปลาเก๋า ผัดคะน้าปลาเค็ม ตามด้วยผลไม้จากสวน ส้มโอขาวทองดี ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ได้เห็นวิถีชีวิตคนทำน้ำตาล คนปาดตาล อันเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยชั้นเยี่ยม ราคาการเข้าพักก็ไม่แพงเลย 350 บาท/คน/วัน ยังมีอาหารให้ 2 มื้อ เช้าและเย็น ที่สำคัญได้รับความเป็นกันเองขากเจ้าของบ้านซึ่งน่ารักและยินดีต้อนรับ ก็ชื่นใจแล้ว" 
                       "อย่าลืมนะครับ เปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนทัศนคติและวิถีชีวิตสักครั้ง มาเยี่ยมเยียนพี่น้องบ้านคลองท่าคา ในรูปของโฮมสเตย์ได้เลย แล้วท่านจะรู้ความหมายของคำว่า "ลืมไม่ลงนั้นมีความหมายว่าอย่างไร" 

                        ค่ำคืนนี้ มีเพียงแสงดาวที่พร่างพราวบนท้องฟ้าสีนิล เรือพายรอรับให้ล่องท่องเที่ยวด้วยความสำนึกในมลภาวะเป็นพิษ(ไม่ใช้เรือหางยาวติดเครื่องยนต์) ฝีพายสองคนหัวท้ายจับเรือให้นักท่องเที่ยวได้ลงไปอย่างปลอดภัย เสียงพายจ๋อมแจ๋มบนสายน้ำ แสงเดือนส่องรางๆให้เห็นทางน้ำเป็นริ้วๆ  เรือพายเคลื่อนไหลไปตามแรงฝีพาย ผ่านต้นลำพูทีหนึ่งก็เห็นแสงระยิบกระพริบถี่ๆ เสียงหือดังขึ้น เป็นความตื่นเต้นที่ได้เห็นหิ่งห้อยน้อยแสง แต่มีปริมาณมาก

                          
                                                   แสงขาวๆคือหิ่งห้อย

                         "มีสายไฟต่อเข้าไปหรือเปล่า ไฟกระพริบซะละมั้ง" นักท่องเที่ยวแซวฝีพาย ๆ วาดเรือเข้าไปจนหน้าคนพูดแทบจะแนบอยู่กับก้นหิ่งห้อย
                          "ของจริงโว๊ย สวยจริงๆ" เสียงผู้ชายจอมแซวดังลั่นคุ้งน้ำ     
                          "บ้านเราก็มี แต่มันน้อยตัวเนาะ" เสียงผู้หญิงพูดขึ้น
                          "ที่นี่โชคดีจัง อยู่ใกล้กรุงเทพด้วย แล้วยังมีสิ่งสวยงามเอาไว้อวดแขกได้หลายอย่าง" อีกคนพูดขึ้นบ้างเหมือนว่าจะอิจฉา 

   

                          เรือล่องไปด้วยเสียงสัพยอกกันและกัน เป็นอีกคืนหนึ่งที่ซึ้งใจ และอยากกลับไปอีก แต่ก็หมดรอบเสียแล้ว เลยต้องกลับขึ้นไปนอนโฮมสเตย์เรือนไทย  ระเบียงที่สายลมโชยผ่านเย็นระรื่นชื่นใจดึงเอาไว้อีก นั่งกันแน่น และคุยกันตรึม กว่าจะยอมขยับกายไปนอนก็ปาเข้าไปถึง 23 น.เศษๆ อากาศบ้านสวนยามฝนพรำๆ เย็นสบายดีจริงเลย นอนหลับสนิทหวังว่าจะตื่นแต่เช้าเพื่อตักบาตรพระที่พายเรือมารับนิมนต์ เป็นอีกวิถีชีวิตหนึ่งของชาวคลองท่าคา เป็นความสวยงามที่มีอยู่อย่างธรรมชาติ 

                           

                           เช้าตรู่ ตื่นนอนแล้วเดินไปยืนที่ระเบียงหน้าบ้าน ระเบียงที่ลมเย็นๆเมื่อคืน  กลับโปร่งโล่งสบายกว่าอีก ขันข้าวใบจิ๋ว ถุงแกง ขนม น้ำ แถมด้วยซองขาว 1 ซอง เผื่อว่าจะมีใครใส่ปัจจัยไปด้วยรวมกันอยู่ในกระเช้าใบเขื่อง   06.30 น.พระพายเรือมาสองลำในสายน้ำสีเข้ม ผ้าเหลืองขับให้ดูโดดเด่นยิ่งขึ้น เป็นความสวยงามที่สงบ เยือกเย็น และเป็นผลให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นในร่มเงาพระธรรม 

                               

                           ตักบาตรแล้วนั่งพนมมือรอรับศีลรับพรตามธรรมเนียมปฏิบัติ เสียงสวดสัพพีอวยชัยให้พรกับผู้มีจิตศรัทธา เป็นภาพสวยงามอีกภาพของการเข้ามาพักค้างที่โฮมสเตย์คลองท่าคา มาเยี่ยมเยียนเมื่อไร ท่านจะได้รู้ว่า น่าพักสักแค่ไหน

                                  
                      
                                  
                 

           

 

Tags : One day trip

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view