http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,995,676
Page Views16,304,034
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

เมื่อผมตามนักวิจัยสัตว์ป่านานาชาติไปชมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

เมื่อผมตามนักวิจัยสัตว์ป่านานาชาติไปชมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

เมื่อผมตามนักวิจัยสัตว์ป่านานาชาติไปชมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ

 โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

ดร.สุวิทย์ เกียรติเสวี แห่ง นสพ.เดลินิวส์(Dailynews Newspaper)ชวนผมให้ร่วมเดินทางไปกับบรรดาคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อันประกอบด้วยนสพ.สิทธวีร์ ทองทิพย์ศิริเดช(นิกร ทองทิพย์) คณะสัตวแพทยศาสตร์ รศ.วรวิทย์ วัชชวัลคุ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และรศ.ดร.นริศ ภูมิภาคพันธ์ คณะวนศาสตร์(ชีววิทยาป่าไม้-สัตว์ป่า)ร่วมกับนักวิจัยสัตว์ป่าจากนานาประเทศ 40 ชีวิต ออกทริปเพื่อศึกษาผลการวิจัยและการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรีน่าตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่ได้พานพบประสบมาโจ๊ะพรึมพรึม

 

              วัวแดงในสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าน้ำพุ

ผมเคยไปท่องเที่ยวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระนานนับสิบกว่าปีมาแล้วรวมทั้งเคยไปชมสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าน้ำพุซึ่งอยู่ติดกับหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยสะด่อง ริมถนนสายกาญจนบุรีไปยังอุทยานแห่งชาติน้ำตกเอราวัณและเขื่อนศรีนครินทร์ แต่เมื่อกลับไปอีกครั้งถึงได้รู้ว่า ที่สถานีฯน้ำพุนั้น นอกจากมีคอกสัตว์ป่าหลายชนิดที่อยู่ในข่ายการเพาะเลี้ยงขยายเผ่าพันธุ์แล้ว ก็ยังมีอาคารสถานที่เหมาะสมมากๆสำหรับการสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องสัตว์ป่า โรงเรือนเรียบง่ายให้พักแรมได้ มีอาหารให้สั่งจองล่วงหน้าได้ และมีเวทีกลางแจ้งสำหรับการฉายสไลด์โชว์และนั่งฟังการบรรยายได้ด้วยความน่าสนใจ

 

คืนนั้น คณะนักวิจัยสัตว์ป่าจากนานาชาติ เช่น นายสัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนิเซีย ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศศรีลังกา ประเทศอินเดีย ฯลฯ และองค์กรเอกชนจากหลายแห่ง คะเนดูแล้วมีอายุตั้งแต่หนุ่มเหน้าสาวสวยจนถึงวัยอาวุโสไม่น้อย แต่เมื่อร่วมวงเสวนากลางแจ้ง ต่างให้ความสนใจฟังความละเอียดต่างๆจากวิทยากรอาทิเช่น นายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ นสพ.สิทธวีร์ทองทิพย์ศิริเดช ดร.นริศ ภูมิภาคพันธ์ ฯลฯโดยมี Nancy L. Gibson จาก Lovewildlife ช่วยแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ

                      หอคอยส่องสัตว์ป่าได้มาใหม่ทาสีขาวเว่อเลย

อาจารย์ นสพ.สิทธวีร์ ทองทิพย์ศิริเดช เล่าแจ้งแถลงไขว่า โครงการสัมมนาครั้งนี้ เพื่อเชื่อมโยงนักวิจัยสัตว์ป่าที่มีแผ่นดินติดต่อกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์แก้ไขปัญหาเรื่องช้างบุกรุกที่ดินทำกินคน สร้างเครือข่ายกลุ่มนักอนุรักษ์และกลุ่มนักวิชาการสัตว์ป่าประเทศเพื่อนบ้าน บทสรุปก็ไม่พ้นเก็บงำนำเรื่องราวต่างๆที่ได้แลกเปลี่ยนกันและกันมาลองใช้ประโยชน์สืบไป

                           นสพ.สิทธวีร์ ทองทิพย์ศิริเดช กำลังกล่าว

ผมกับ คุณจำลอง บุญสอง บรรณาธิการท่องเที่ยว นสพ.โพสท์ทูเดย์(Posttoday Newspaper)อยากเข้าไปชมสัตว์ป่าในเส้นทางเข้าไปยังหน่วยพิทักษ์ป่าสลักพระ ระยะทาง 9 กม.ในยามค่ำคืนที่มีเดือนส่องสว่าง ว่าจะได้พบความหลากหลายของบรรดาสัตว์ป่าที่ออกหากินหรือไม่ การเดินทางไปไปด้วยรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อในสภาพโทรมสุดๆแต่วิ่งได้สบายๆของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ หัวหน้าครรชิตสั่งการให้เตรียมพร้อม บนเส้นทางในป่าที่ขึ้นเขาบ้าง ลงห้วยบ้าง โขยกเขยกไปตามสภาพของเส้นทาง มีพนักงานพิทักษ์สัตว์ป่าคอยส่องสปอตไลท์เพื่อให้ได้เห็นร่องรอยที่สัตว์ป่ากระทำทิ้งไว้ เช่นมีต้นไม้ ต้นไผ่ ถูกช้างล้มลงมากิน บางทีก็สัตว์ป่าขนาดเล็กๆ แต่ถ่ายรูปไม่ทันสักตัว

 

                            นักวิจัยสัตว์ป่านานาชาติ

มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ได้พบช้างกำลังหนุ่มๆ ตัวไม่ใหญ่มากนัก เมื่อรถยนต์เข้าไปใกล้เขาก็วิ่งนำหน้าไปบนถนนดินลูกรัง วิ่งพลางก็ยังถ่ายมูลออกมาด้วย ส่งกลิ่นเหม็นตลบอบอวลไปทั้งคันรถ เพราะว่าวิ่งตามเขาไปติดๆ ระยะห่างสัก 30 เมตรเห็นจะได้ ผมพยายามจะถ่ายรูปแต่ก็ไร้ผลด้วยว่ารถไม่นิ่งและผมเองก็นั่งแทบไม่ติดเบาะ กระดอนไปกระดอนมาอยู่ในเบาะนั่งนั่นแหละ อีกประการหนึ่ง กล้องดิจิตอลรุ่นที่ผมใช้ไม่สามารถจะโฟกัสภาพได้รวดเร็วดังกล้องฟิล์มในอดีตเลย คุณจำลอง ยืนเกาะราวรถอยู่กระบะท้ายก็ไม่สามารถถ่ายได้เช่นกัน

 

 

                         หน.สลักพระ นายครรชิค ศรีนพวรรณ

แม้ไม่มีภาพมาฝาก แต่ได้รับรู้และเกิดความรู้สึกตื่นเต้นไปกับสัตว์ป่าพันธุ์แท้ที่ได้พบพานในป่ากลางคืน ซึ่งน้อยคนนักจะมีโอกาสดีเช่นที่พวกเราได้ประสบ ยิ่งพอเข้าไปใกล้หน่วยพิทักษ์สัตว์ป่าสลักพระ ก็ยิ่งตื่นเต้นเมื่อไฟจากสปอตไลท์ส่องไปเห็นกวาง และ เนื้อทรายเดินและเล็มหญ้าอยู่เบื้องหน้าอันเป็นสนามหญ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์สลักพระ เขาเดินกินไปพลางก็แกว่งหางสั้นๆไปด้วย ดูเหมือนว่าจะไม่ตื่นตกใจอะไร นั่นก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า สัตว์โลกอยู่ร่วมกันได้เสมอ ถ้าไม่มีอันตรายระหว่างกันและกัน

 

       หน.มานะ มณีนิล

 

 

 

 

 

 

เมื่อจอดรถยนต์แล้วลงพักที่ศาลาของหน่วยพิทักษ์สัตว์ป่าสลักพระ ได้เสวนากับรศ.วรวิทย์ วัชชวัลคุ  นสพ.ไพศิลป์ เล็กเจริญ จากส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า จ.อุบลราชธานี นสพ.เบญจรงค์ สังขรักษ์ ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า จ.สงขลา ซึ่งเดินทางเข้ามาก่อนตอนบ่ายๆ เช่นเดียวกับหัวหน้าหน่วยพิทักษ์สัตว์ป่าสลักพระ นายมานะ มณีนิล และเพื่อนร่วมงาน เมื่อผมและคณะมาถึงจึงได้เล่าให้ฟังว่า น่าจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้เข้ามาส่องสัตว์ในเส้นทางนี้ เช่นเดียวกับที่มีการส่องสัตว์บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่นี่น่าตื่นเต้นมากที่มีช้างให้ดูและพบได้มากมายหลายตัวทีเดียว

                                    ฟังและชมภาพช้าง

คืนนั้น กว่าจะเข้านอนกันได้ก็กว่าเที่ยงคืน ผมนอนในเต็นท์ที่กางอยู่บนอาคารยกพื้นสูงราวๆ 1 เมตร มีหลังคามุงเรียบร้อยหัวหน้าหน่วยมานะเล่าว่า ถ้ากางเต็นท์นอนกับสนามหญ้าจะมีเพื่อนมาเยี่ยม ไม่อยากให้เสี่ยง ส่วนรศ.วรวิทย์และคณะ นสพ.ก็นอนในเต็นท์ใต้ถุนที่ทำการหน่วย เช่นกัน ส่วนพนักงานพิทักษ์ป่านอนในอาคารหลังเดียวกับผม แต่เขาผูกเปลนอนกันง่ายๆ อากาศคืนนั้นเย็นสบายๆ ด้วยว่าฝนได้โปรยปรายมาจนเย็นระรื่นชื่นใจ ระหว่างที่นั่งคุยกันและยามนอนก็ได้ยินเสียงสัตว์ป่า ร้องบ้าง เห่าบ้าง(กวาง-เก้ง)แมลงกรีดปีกดังหวิ่งๆเพรียกไปทั้งราวไพร แต่งแต้มให้ค่ำคืนกลางป่าดงพงไพรมีเสน่ห์ยากจะหาที่ไหนเหมือน

 

 หนองน้ำเทียม,ต้นโด่ไม่รู้ล้ม,และรอยเท้าหมาไน(มีรอยเล็บ)

คืนนั้น เมื่อลองส่องสปอตไลท์กวาดไปแถวชายป่าและสนามหญ้าหน้าที่ทำการ ก็ได้เห็นสัตว์ป่าเยื้องย่างและเล็มหญ้าอยู่สองสามตัว ตอนกลางคืนอากาศเย็นสบายแบบไม่ต้องสวมเสื้อผ้านอนเลย

ครั้งรุ่งเช้าตรู่ท้องฟ้าเปิดกว้างด้วยแสงสุรีย์ สายลมเย็นๆโชยมาแผ่วผิว กาแฟร้อนในอุ้งมือให้ความรู้สึกที่ยากจะบรรยาย อยากให้ท่านได้มีโอกาสมาสัมผัสกันดู เข้าทำนอง "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น" อะไรเทือกนี้

หลังอาหารเช้าแบบง่ายๆ ได้อารมณ์รื่นรมย์สมใจที่ได้มานอนกลางป่ากลางดงดอน นานทีปีหนก็น่าพิสมัย แต่ถ้าต้องอยู่จำเจอย่างพนักงานพิทักษ์ป่าจะเหงาสักเพียงไหน เป็นอะไรที่ใครไม่เคย ไม่มีวันรู้รสชาติของความวังเวง

รอยเท้าช้าง รอยเท้ากระทิง(Gaur หรือ Bosgaurus)และขี้ตัวนิ่มหรือลิ่น (PengolinหรือManis javanic)

เมื่อคณะนักวิจัยสัตว์ป่านานาชาติเดินทางมาถึง เพื่อ Workshopตามเส้นทางกลางป่าสลักพระ หัวหน้าครรชิต หัวหน้ามานะ นสพ.นิกร รศ.นริศ รศ.วรวิทย์ และสื่อมวลชน ได้เดินทางด้วยรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ เพราะว่าเดินยากด้วยดินเปียกแฉะเกิน และช่วงเวลาที่มีให้เหลือน้อยลงไป การเดินทางด้วยรถยนต์เข้าป่าจึงช่วยย่นระยะเวลาได้ไม่น้อย

หลังจากนั้นก็ลงเดินไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติอันเป็นดินดำๆที่เปียกแฉะ ระหว่างการเดินชม มีดร.นริศ คอยชี้ชวนให้ดูร่องรอยเท้าของสัตว์ป่า แล้วก็เล่าให้ฟังว่าเป็นรอยเท้าสัตว์อะไรไปด้วย

 

                         ดร.นริศกับนักวิจัยจากนานาชาติ

บรรดานักวิจัยสัตว์ป่านานาชาติต่างก็ตามติดและให้ความสนใจมาก สมกับเดินทางมาไกล มายาก และน่าจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงพอควร เขาและเธอเหล่านั้นจึงสนใจที่อยากจะรู้

"รอยที่เห็นนี้เป็นเท้าของหมาไน(Asian Wild Dog หรือ Cuon alpnus ) ปลายนิ้วเท้ามีรอยเล็บเห็นได้ชัดเจน ถ้าเป็นอุ้งตีนเสือจะไม่มีรอยเล็บอย่างนี้"

"อีกรอยหนึ่งนั้นเป็นรอยเท้ากวาง(Sambadeer) รอยหมูป่ายังไม่เห็น"

 

สื่อมวลชนอย่างเรา ไม่รู้จักจึงได้แต่ถ่ายรูปเพื่อเก็บภาพไปเล่าเรื่องให้กับผู้อ่าน พร้อมมีภาพประกอบด้วย เราเดินผ่านไปอีกระยะหนึ่ง ดร.นริศ ก็ชี้ให้ดูกล้องวงจรปิด(Camera Trap) จับความเคลื่อนไหวของสัตว์ป่าซึ่งติดตั้งอยู่บนต้นไม้ หากมีสัตว์ป่าชนิดใดเดินผ่านมาตามถนนดินนี้ ก็จะได้เห็นแล้วนำมาเทียบเคียงกับรอยเท้าได้ เป็นวิทยาการสมัยใหม่ที่ใช้แบตตเตอร์รี่ไม่กี่ก้อน บันทึกภาพได้นานนับสิบๆชั่วโมง บางกล้องก็ติดตั้งไว้ใกล้กับ "โป่ง"(Salt Licks) ซึ่งเป็นดินเค็มที่สัตว์ป่าทุกชนิดต้องแวะเวียนเข้ามาลิ้มเลีย "เกลือ" เพื่อเสริมสุขภาพของเขา

 

"โป่ง" เป็นแหล่งดินที่มีส่วนผสมของเกลืออยู่ด้วย ดินเค็มเหล่านี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ต่อมานักวิชาการสัตว์ป่าได้เพิ่ม "โป่งเทียม"(Manmade Salt Lick) ด้วยการขุดดินให้มีน้ำขังได้นิดๆแล้วใช้เกลือทะเลเทราดหรือฝังไว้ เกลือจะค่อยๆละลายดินก็จะเริ่มเค็มจนสัตว์ป่าได้กลิ่น ในการทำโป่งเทียมเพื่อเสริมธรรมชาตินี้ ถือเป็นมิติหนึ่งของวิชาการจัดการสัตว์ป่า เช่นเดียวกับการติดตั้งกล้องเพื่อบันทึกภาพ ในบริเวณดินโป่งมีร่อบรอยสัตว์ป่าหลายชนิดเข้ามากิน เช่นรอยเท้ากลมโตๆนั่นคือรอยเท้าช้าง อีกรอยหนึ่งเป็นรอยกระทิง และอีกรอยหนึ่งเป็นรอยเท้าวัวแดง กวาง หมูป่า ฯลฯ

 

     

           ดอกต้นฝาง(Caesalpinia sappan L.)                               ร่องรอยช้างใช้งาแคะเปลือกไม้กิน

 การเดินชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติสัตว์ป่าคราวนี้ แม้มีเวลาไม่มากนักแต่ก็เรียกเหงื่อได้เต็มแผ่นหลัง ได้ความรู้จากวิทยากรผู้ชำนาญการยิ่งให้อัตถาธิบายจนหายข้องใจ ได้เห็นความอยากรู้อยากเห็นของกลุ่มนักวิจัยสัตว์ป่านานาชาติ และได้เห็นความสวยงามจากป่าไม้ ดอกไม้ป่า และยังได้รู้คุณประโยชน์ของต้นไม้สมุนไพรอีกหลายชนิด เช่น ดอกสีเหลืองสดใสของต้นฝาง ซึ่งเนื้อไม้นอกจากให้สีย้อมผ้าแล้วยังเป็นสมุนไพรต้มน้ำสีแดงๆออกมาให้ดื่มบำรุงสุขภาพอีกด้วย

จำลอง บุญสองสัมภาษณ์                                         ดร.นริศ ชูขุยไผ่ให้ดู

บางต้นเป็นพืชล้มลุกชื่อว่า โด่ไม่รู้ล้ม(Elephantopus scaber var. scaber Linn) ดร.นริศเล่าว่า กวางและช้างชอบกิน ดังนั้นกวางและช้างจึงคึกคักมากๆ ที่แท้ มันเป็นสมุนไพรบำรุงกำหนัดได้ทั้งคนและสัตว์ป่า กวางชอบกินเพื่อบำรุงสมรรถนะทางเพศของเขาเสมอๆ มนุษย์ก็ใช้ได้ดี กินกันมาแต่ครั้งโบราณกาลแล้ว เดินไปพบขี้ช้างกองหนึ่ง ดร.นริศอธิบายให้เห็นภาพว่า ช้างตัวนี้กินขุยไผ่มา จึงถ่ายออกมาเป็นขุยไผ่แทรกอยู่ด้วย พลันก็ชี้ให้ดูกอไผ่ตายขุยที่ยืนต้นอยู่ข้างๆ เดินไปอีกหน่อย ชี้ให้เห็นว่า หน่อไม้ไผ่ป่านั้นช้างปลอกกินแต่กาบ ส่วนเนื้อหน่อกลับไม่กินเดากันว่า ท่าจะขมเลยไม่กิน

 

                                ถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระลึก

เลยไปอีกช่วงหนึ่งต้นไม้ล้มระเนน แต่น่าแปลกที่ช้างตัวโตกลับลอกแต่เปลือกต้นไม้บางชนิดกิน เช่นต้นส้มเสี้ยว ลำไผ่ ฝาง บางจุดก็พบว่า ช้างใช้งาแทงเปลือกไม้เพื่อกิน น่าจะเป็นเพราะว่าเปลือกต้นไม้ต้นนั้นอร่อย หรือเป็นยา

แต่มีต้นไม้บางชนิดที่กวางใช้เป็นเครื่องสลัดเขา หากไม่เคยได้พบเห็นอาจเข้าใจผิดไปได้เช่นกัน จะอย่างไรก็ดี ต้นไม้ที่กวางใช้สลัดเขานั้นน่าจะได้ติดกล้องวงจรปิดดักถ่ายพฤติกรรมเผยแพร่แก่สาธารณชน ก็น่าจะช่วยให้ผู้คนทั่วๆไปได้เห็นพฤติกรรมน่ารักของเขา

มาคิดๆดู อันป่าสลักพระนี้ดีมากๆที่มีสัตว์ป่าขนาดใหญ่คือ ช้างเป็นพระเอก และมีนักอนุรักษ์สัตว์ป่าสนใจ หากสามารถถ่ายภาพยนตร์น่ารักๆไว้ได้ก็คงจะดังขนาด

 

                             นพ.สุวิทย์ เกียรติเสวีกับคณะ

ในผืนป่าสลักพระ ยังมีสัตว์ป่ามากมายหลายชนิดที่ไม่สามารถถ่ายภาพไว้ได้ เช่นวัวแดง กระทิง หมีควาย เสือดาว เสือลายเมฆ นกนานาชนิดที่ส่งเสียงเรียกร้องกันตลอดเส้นทางที่เดินผ่าน ความงดงามจากความเขียวขจีของผืนป่า ความสวยสดจากดอกไม้ป่านานาชนิด บรรยากาศป่าดงพงพีที่เป็นแอ่งกระทะ พื้นที่ค่อนข้างราบเรียบเป็นแหล่งอยู่อาศัยและขยายเผ่าพันธุ์ได้อย่างปลอดภัย

สมควรไหมที่จะเปิดกว้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน

เสมือนหนึ่งว่า นักท่องเที่ยวคือผู้ตรวจการผืนป่า ซึ่งจะเป็นทั้งกองกำลังและกองโฆษณาให้เกิดความรู้สึกรักสัตว์ป่าได้มากขึ้น

                                   แนนซี่ แอล กิ๊บสัน ช่วยแปล

วิชาการการจัดการสัตว์ป่า น่าจะคล้ายคลึงกับวิชาการการจัดการอุทยานแห่งชาติ มิเช่นนั้น สัตว์ป่าในแอฟริกาก็คงต้องงดท่องเที่ยวเสียกระมัง

เอ้า นักอนุรักษ์สัตว์ป่าทั้งหลายเอ๋ย โปรดขยายม่านตาให้กว้างขวาง  เปิดวิสัยทัศน์ให้กว้างไกล ตระเตรียมหัวใจให้เป็นนักจัดการสัตว์ป่าที่ชาญฉลาดเสียที 

เพื่อให้สมกับนิยามของคำว่า การอนุรักษ์คือการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดมิใช่หรือ (Conservation = Wise used)

             กางเต็นท์นอนใต้ถุนที่ทำการเพราะว่าเสียวช้างเหยียบ

      

                            กล้องดักถ่ายสัตว์ป่า(Camera Trap)

Tags : สัตว์โลกน่ารัก นกอีแจว นกจาบคาหัวเขียว

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view