http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 08/05/2024
สถิติผู้เข้าชม14,057,844
Page Views16,368,598
« May 2024»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ผ้าแห่งกาสี โดยสาวภูไท เรื่อง-ภาพ

ผ้าแห่งกาสี โดยสาวภูไท เรื่อง-ภาพ

ผ้าแห่งกาสี

“สาวภูไท”

               เห็นสาวอินเดียแต่งตัวแล้วออนซอนหลาย  ออนซอนจนค่อน ๆ ไปในทางอิจฉาด้วยซ้ำไปน่ะค่ะ

            โดยประเพณีแล้ว  ผู้หญิงอินเดียทั่วไปจะอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน  ทำงานบ้าน  เลี้ยงลูก  คอยท่าสามีซึ่งออกไปทำมาหากิน  ทำงานทำการนอกบ้าน  ไม่ว่าค้าขาย หรือรับจ้าง  หรือทำงานอื่นใดเขาก็ออกไปโดยลำพัง  เพราะเป็นหน้าที่ของเขา 

            “แต่งงานก็เสียค่าสินสอดให้แล้ว  เขาต้องเลี้ยงดูสิ”

            นั่นเป็นประเพณี  ยิ่งฐานะดี  ยิ่งวรรณะสูง มีบ้านช่องใหญ่โต  โอกาสที่จะเห็นคุณเธอออกมานอกบ้านยิ่งยากเข้าไปอีก  เธอจะออกมาแต่ละครั้งก็ต้องเป็นโอกาสพิเศษ  และมักไปกันเป็นกลุ่มกับครอบครัว  ลูกเต้า  ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนฝูง 

            ดังนั้นหากมองขึ้นไปบนหลังคาบ้าน  ระเบียง หรือช่องหน้าต่าง เห็นผู้หญิงแต่งตัวสวย ๆ ชายส่าหรี่พลิ้วไสว  เหมือนสายตาของเธอที่ส่งออกมาเมียงมองคนภายนอกละก็อย่าได้แปลกใจ  นั่นเป็นหนทางที่เธอจะได้พบปะโลกนอกบ้านของเธออีกทางหนึ่งนั่นเอง (คิดแล้วอิจฉา เราล่ะทำงานหัวปั่น  กว่าจะได้กลับบ้านก็มืดค่ำในแต่ละวัน...เฮ้อ)

            มาเที่ยวอินเดียทั้งที  สาวภูไทก็เลยตั้งหน้าตั้งตาสอดส่ายกล้องเล็งหาผู้หญิงอินเดีย อาจมีบ้างที่มีผู้หญิงมาเดินถนนให้เห็น ซึ่งอาจเป็นชนชั้นล่างสุดที่จำเป็นต้องทำมาหากินช่วยเศรษฐกิจ ช่วยชีวิต หรือเป็นชาวพุทธ  เช่น มาทำงานในวัดไทย เป็นผู้ช่วยแม่ชีทำครัว  ปัดกวาด แต่เธอเหล่านั้นมักมีท่าทางอาย ๆ หลบ ๆ และส่วนมากก็อายุมากแล้ว

            จึงมองหาตามถนน หรือโบราณสถาน  ย่านชุมชนค้าขายมากกว่า  หากว่าเห็นมีมาผ่านตาละก็ออนซอนหลาย  กดชัตเตอร์ฉับเลยทีเดียว  ได้รูปสวย ๆบ้าง ไหว ๆ พร่าเลือน บ้าง ขาด ๆ หาย ๆ บ้าง  หรือมีผู้ไม่ประสงค์อื่นใดติดมาบ้าง ก็ยังคงออนซอนภาคภูมิใจ

            ที่ออนซอนน่ะ เป็นสีสัน ลวดลายของส่าหรีที่เธอห่มคลุมนั่นแหละมากกว่า  เพราะสไตล์การแต่งตัวของพวกเธอจะเป็นแบบซ้ำ ๆ อยู่  คือนุ่งกางเกงขายาวแคบ ๆ หรือกระโปรงจีบ ๆสวมเสื้อสั้น ๆ แล้วห่มคลุม พัน พาด ด้วยส่าหรีผืนยาว  ความงามน่าทึ่ง(ออนซอนหลาย)ก็อยู่ตรงความพลิ้วของเนื้อผ้า และสีสันสดสวย ลวดลายลานตาบนผืนส่าหรี่นี่เอง

            ไม่ว่าสาว/แก่/เด็กๆ บ้านนอก หรือในเมือง  ผิวกายค่อนคล้ำ หรือกระจ่างใส เธอก็ใช้สีสันแบบไม่ประหยัด  อีกทั้งลวดลายที่เด่นสะดุด  ต้องตา ตรึงใจ ให้คนรักผ้าพื้นเมืองอีสานไหม-ฝ้ายลายขิด ลายมัดหมี่ อย่างสาวภูไทเปลี่ยนความคิด หันมาเทใจ  เกิดความสะออนผ้าส่าหรี่ของอินเดียแทน

            ว่ากันว่า อินเดียเป็นประเทศที่ผลิตผ้าคุณภาพมาแต่สมัยพุทธกาล  โดยเฉพาะผ้าจากแคว้นกาสี (พาราณสี)นั้นมีชื่อเสียงเลื่องลือที่สุด  ราคาจึงแสนแพง เป็นของที่เหมาะของชนชั้นสูง  เป็นที่ต้องการของเหล่าเศรษฐี มหาเศรษฐี

            เรื่องเล่าตามพุทธตำนาน ในพระสูตร  ในพุทธภาษิต ต่าง ๆ ว่าในชีวิตของพระพุทธองค์ตั้งแต่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะมาแล้วที่เกี่ยวข้องกับผ้ากาสี  เริ่มเมื่อพระพุทธองค์ประสูติออกมาก็ได้รับการรองรับด้วยผืนผ้าจากกาสี

            พระองค์เคยตรัสเล่าชีวิตเมื่อยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ที่ยกย่องความเป็นเลิศของแคว้นกาสีให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า

            “ภิกษุทั้งหลาย  ไม่เพียงแต่เราจะใช้ไม้จันทน์เมืองกาสีเท่านั้น  ถึงผ้าโพก ผ้านุ่ง ผ้าห่ม และเสื้อของเราล้วนทำในกาสี...”

            ความงามแห่งผ้ากาสีนั้นเทียบได้กับควางงามแห่งผู้ประพฤติธรรมดั่งว่า

            “ภิกษุทั้งหลายผ้าที่ทอด้วยด้ายชนิดใดในโลก  (แต่)ผ้าแคว้นกาสีชาวโลกกล่าวว่าเลิศกว่าผ้าเหล่านั้น  แม้ฉันใด กุศลธรรมทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ...

            “ภิกษุทั้งหลาย  ผ้ากาสีแม้ยังใหม่อยู่ สีก็งาม นุ่งห่มก็สบายเนื้อ ราคาก็แพง...แม้จะกลางเก่ากลางใหม่แล้วสีก็ยังงาม นุ่งห่มก็สบายเนื้อ ราคาก็แพง...แม้จะเก่าคร่ำแล้ว สีก็ยังงาม  นุ่งห่มก็สบายเนื้อ ราคาก็ยังแพงอยู่นั่นเอง...

            ผ้ากาสีแม้เก่าคร่ำแล้ว คนทั้งหลายก็ยังใช้เป็นที่ห่อรัตนะ ...ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าเป็นผู้มีศีลมีความเป็นอยู่งดงามแล้ว ก็กล่าวว่ามีผิวพรรณงามดีเหมือนผ้ากาสี(ไม่ว่าใหม่ กลางเก่ากลางใหม่ หรือเก่าคร่ำ)”

            พระอาจารย์ผู้เป็นวิทยากรในคณะเล่าว่า ผ้ากาสีนั้น

 

            “เนื้อละเอียดนุ่ม  นิ่มนวล  ลื่นไหน  แม้นหากว่าผ้านั้นถูกขว้างขึ้นไปบนยอดไผ่

               ที่มีหนามเรียวแหลมอยู่มากมาย  ผ้านั้นก็ลื่นไหลลอดลงมาได้ดั่งน้ำ

              (หนามไผ่ไม่สามารเกี่ยวผ้า  หรือผ้าไม่กลัวหนาม ด้วยคุณสมบัติพิเศษที่มีความลื่นไหล นวลนุ่มเป็นทุน)

              ผ้าขนสัตว์จากกาสีที่ผืนโต ๆ หนา ๆ ห่มอุ่น ๆ นั้น  หากเป็นผ้าจากกาสีแท้ ๆ แล้วสามารถม้วนพันเข้าแล้วสอด ลอดในวงแหวนที่สวมนิ้วออกได้เลย”

 

             โห... ฟังแล้วก็ออนซอนเพิ่มขึ้นอีก  พอถึงเมืองพาราณสี(vanarasi) รัฐอุตตรประเทศ หรือแค้นกาสีเดิม รถจอดตรงศูนย์ทอผ้าก็สาวเท้าไว ๆ เข้าไปไม่รอช้า

            โอ...พระเจ้าจอร์จที่...

            เท้าที่ก้าวมีอันชะงัก งันและงง ด้วยในอาคารชั้นล่างเรียงรายไปด้วยกี่ทอผ้า(ไม่รู้อินเดียเรียกอะไร)  และช่างฝีมือผู้นั่งคร่ำเคร่งอยู่กับการสร้างลวดลายบนผืนผ้าล้วนเป็นผู้ชาย

            ผู้ชายจริง ๆ นะ ส่วนมากมีอายุมากแล้ว จึงมากประสบการณ์(ในการทอผ้า)

            ดูลวดลายแต่ละกี่  ที่ช่างบรรจงสอดเส้นไหมเข้าไปถักทอขัดสานให้เป็นผืนผ้าแล้วยอมให้ผ้าฝ้าย ผ้าไหมลายอีสานออกจากหัว(ใจ)  ทิ้งไปแบบไม่ไยดีเลยทีเดียว

            ขอยกให้ช่างทอแห่งกาสีเป็นที่หนึ่งในหัวใจแทนไปเลย

            บนชั้นสองคือห้องจัดแสดงและจำหน่ายผ้า  ทั้งญาติโยมและพระภิกษุในคณะต่างได้ทัศนาจนเกิดความออนซอนในหัวใจกันถ้วนหน้า  เสียงถามไถ่ราคา  เสียงต่อรอง  ดังวุ่นวายทั้งภาษาไทย  ภาษาแขก  และภาษาอังกฤษแบบไทย ๆ แขก ๆ

            แต่ขอกระซิบบอกเบา ๆ กันเลยนะว่า  สาวภูไทนั้นไม่ได้ติดมือ ติดกระเป๋ามาด้วยแม้สักชิ้นเดียวหรอกจะบอกให้ ไม่ว่าผืนเล็ก หรือผืนใหญ่

            เพราะราคามันแสนแพง โดยเฉพาะผ้าทอผสมขนจามรีนั้น  แค่สไบผืนเล็ก ๆ ก็หลายพันบาท/รูปีเข้าไปแล้ว  

เกินงบคนมาแสวงธรรม  แม้จะมีญาติโยมทางเมืองไทยฝากมาในกระเป๋าก็เอาไว้ทำบุญตามตู้ ตามวัด และให้ขอทานเขาบ้างละ

           “เก็บผ้านายเอาไว้ก่อนเถิดนะนายจ๋า”

            ว่าแล้วก็ขอลาไปต่อคิวเข้าห้องสุขาซึ่งศูนย์นี้มีบริการ

            หายากจริง ๆ ในเมืองแขก  พบเจอแล้วต้องรีบใช้บริการค่ะ

๐๐๐๐๐๐

 

 

 

 

 

Tags : incredible อินเดีย 3.

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view