http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,994,335
Page Views16,302,635
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

บ้านทุ่งแสนสุขตอน29.ลุงนกเขา จู้ฮุกกรู กุก กุก

บ้านทุ่งแสนสุขตอน29.ลุงนกเขา จู้ฮุกกรู กุก กุก

บ้านทุ่งแสนสุข

ตอน 29.ลุงนกเขา จู้ ฮุก กรู กุก กุก... จู้ ฮุก กรู กุก กุ๊ก

โดย มณีดิน

               บ้านผมเป็นครอบครัวเล็กๆ อยู่กันเพียงพ่อแม่ลูกหกชีวิต ใกล้ๆกันเป็นบ้านของลุงของป้า ของลูกพี่ลูกน้องที่แยกเรือน ถ้ารวมกันทั้งชุมนับได้สิบห้าหลังคาเรือน เดินไปมาหาสู่กันได้ด้วยทางแคบๆในหน้าแล้ง ครั้นน้ำหลากจนเต็มฝั่งก็เดินไปบนทางไม้กระดานปูชนกัน เหมือนเป็นระเบียงทางเดิน  รู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย

               กลางชุมเป็นเรือนไทยสามหลังใต้ถุนสูง  หลังกลางขวางตะวัน หลังเหนือและหลังใต้อยู่ทิศเหนือและใต้ ตรงกลางเป็นนอกชานกว้างโล่ง ปูด้วยไม้กระดานแผ่นใหญ่ๆ ขอบระเบียงด้านหน้าเป็นเฟี้ยมสลับลูกกรงเหล็ก ประตูขึ้นลงอยู่ด้านหน้าของเรือนกลาง เหมือนเป็นศาลามีที่นั่งสองฟากก่อนเดินลงบันไดหลายขั้น


                ชายคาศาลาบันไดหน้าบ้าน แขวนด้วยกรงนกเขา รูปกลมแป้น ซี่กรงเหลาจากไม้ไผ่กลม รมควันไฟให้ไหม้เกรียม คอนเกาะในกรงใช้ไม้จริงเหลากลม ห่มคลุมด้วยผ้าลายยามแดดร้อนเกิน กะลาน้ำและกะลาใส่ธัญพืชมัดแน่นกับซี่กรง บ้านลุงไกร ใจรักที่จะเลี้ยงนกเขาหม้อตัวผู้ ซึ่งมีสร้อยคอสีขาวสลับดำระย้า สวย และขันคูให้ฟังทุกเช้า บางวันก็แถมในช่วงบ่าย

                ลุงไกรไม่ค่อยใส่เสื้อ ชอบนุ่งโสร่งลาย พาดไหล่ด้วยผ้าขาวม้า เห็บหมากเป็นก้อนไว้ที่ทัดหู หรือไม่ก็อมตุ่ยอยู่ในปากข้างใดข้างหนึ่ง แก้มลุงไกรจึงมองตลกๆ  ผมเป็นหลานโปรดคนหนึ่งของลุงไกรในจำนวนหลานๆมากมายหลายสิบคน วันไหนผมโผล่ไปเรือนลุงไกรตรงเวลากินข้าว ผมก็จะได้นั่งล้อมวงกินข้าวกับลุงและลูกพี่ลูกน้องหลายคน  ถ้าไม่กินลุงไกรจะดุ มาแล้วต้องกิน เหมือนเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของชุมบ้านผม  แต่แม่คิดต่างและชอบพูดใส่ผม


                “มึงมันหมาหลายราง ไปกินมันทุกบ้าน” ผมไม่ค่อยเข้าใจนัก ได้แต่หัวเราะ

               “แกงไก่ใส่หน่อไม้บ้านลุงไกร ห้อมหอม อร่อยจริงๆ เผ็ดดี” แม้ยิ้มแล้วหัวเราะ

               “ตะกระตะกรามน่ะซีมึง”

                ผมก็ยังไม่รู้สึกว่าแม่เหน็บ ไปบ้านลุง บ้านป้า บ้านลูกผู้พี่ ใครเรียกผมว่า “ไอ้ดำ มากินข้าว” ผมตอบว่า “ครับ” แล้วไปหยิบชามตักข้าวกินทันที  นึกในใจ ไม่กินได้อย่างไร เดี๋ยวก็ถูกดุว่า  ไม่รู้กาลควรไม่ควร

                เรื่องมารยาทอย่างนี้ ผมเคยถูกลุงว่าครั้งหนึ่ง และผมจำได้ไม่มีวันลืม แถมอิ่มอร่อยทุกที เรื่องนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันหนึ่ง ผมไปเล่นกับลูกผู้พี่ผู้น้องที่ในบริเวณบ้านลุงไกร  จนได้เวลากินข้าวเที่ยง ป้ากำลังจัดสำรับให้ลุงอยู่ที่นอกชานบ้าน ลมพัดเย็นๆ

                “ไอ้ดำ มากินข้าว” เสียงลุงไกร ตะโกนดังลั่น ผมเล่นกับลูกๆของลุงไกร ถึงกับผงะ แล้วหันไปตามเสียง ลุงไกรชะโงกหน้ามาจากระเบียงเรือน  กวักมือหวอยๆ


                “อื้อ เดี๋ยวผมเดินกลับไปกินที่บ้านครับ ” ผมตอบแล้วหันไปเล่นทอยกองกันต่อ แต่แล้วก็ต้องตกใจเมื่อเสียงฟ้าผ่าดังขึ้น

                “ไอ้ห่านี่ ผู้หลักผู้ใหญ่เรียกให้กินข้าว ต้องมากิน ไม่รู้จักกาลเทศะซะบ้าง ไอ้ลูกที่พ่อแม่ไม่สั่งสอน ไอ้.............” ชุดใหญ่ ผมหน้าซีดจนขาว แล้วก็ต้องเดินหงอๆขึ้นระเบียงเรือนไปกินข้าวตามระเบียบพร้อมลูกๆของลุง

                อีกไม่กี่วันต่อมา ลุงเดินมากินหมากที่บ้านผม สัพพีตีโยเรื่องนี้ซ้ำกับพ่อและแม่ ยกใหญ่   

                เย็นอีกวัน  โรงเรียนเลิกผมเดินถึงบ้านก็เหวี่ยงกระเป๋าเข้ามุมแล้วถอดเสื้อผ้า กำลังจะเผ่นไปเล่นกลางทุ่งหลังบ้าน

               “อย่าเพิ่งไป มานี่ก่อน”  แล้วแม่ก็เล่าเรื่องที่ลุงมาคาดโทษไว้ให้ฟัง

                “ผู้ใหญ่เรียก ต้องทำตาม ห้ามขัดอีก รู้ไหม มันเป็นเรื่องของมารยาทและกาลเทศะที่ดี” 

                 แล้วแม่ก็ลืมที่เคยสอนไว้ กลับมาว่าผมว่า  “ไอ้หมาหลายราง”


                ลุงไกร ชอบเลี้ยงไก่ชน นกเขา และปลากัด ไว้ที่บ้านชานเรือนจึงมีมุมที่ใช้เลี้ยงปลากัดใน”โหลเหลี่ยมทรงสูง” พร้อมอุปกรณ์เช่น กระชอนตักลูกน้ำ ขนไก่เขี่ยลูกน้ำ ส่วนไก่ชนนั้นขังด้วย”สุ่มไก่” ไว้ลานข้างบ้าน อุปกรณ์การให้น้ำไก่ได้แก่ อ่างน้ำปากบานเตี้ยๆ เก้าอี้นั่งอย่างง่ายๆ ฝาละมีฝนขมิ้น เตาไฟขนาดเล็กๆสำหรับผิงฝาละมี

                ระเบียงไม้(นอกชาน)บ้านของลุง แขวนไว้ด้วยกรงนกเขา นกเขาที่กล่าวถึงนี้เป็นนกเขาหม้อ หรือนกเขาหลวง หรือนกเขาใหญ่ อันไม่ใช่นกเขาไฟหรือนกเขาชนิดอื่นๆ ผมเคยไปช่วยลุงใช้ขันตักน้ำส่งให้ลุงใช้พ่นน้ำนกเขาตอนเช้า จึงได้รู้เรื่องราวนกเขาใหญ่และนกเขาไฟ

                “นกเขาไฟ เขาไม่เลี้ยงกัน ชื่อไม่เป็นมงคล และขันก็ไม่เพราะ ไม่มีราคา  เลี้ยงก็เปลืองข้าวเปล่าๆ” ลุงไกรเล่าให้ฟังเช้าหนึ่ง  

                “อ้าว แล้วนกเขาที่ลุงเลี้ยงนี่ไม่เปลืองข้าวเปลือกหรือไงครับ” ผมถามพร้อมกับยื่นขันน้ำให้ลุง

                “เปลือง แต่เห็นไหมว่า เขาสวยแค่ไหน สร้อยคอระย้า มองดูซิ เวลาขันจะพองสวยเชียว”ลุงไกรดีดนิ้วเป๊าะๆ พร้อมกับทำเสียงนำในลำคอ  อือ อือ อือ นกเขาก็ขันคูใส่มือลุงไกร “วุ่ก-วุด-ครู่ วุ่ก-วุด-ครู่” เสียงก้องกังวานหวาน แต่ผมฟังว่าเขาขันว่า จู้ฮุกกรู้ กุก กุก  จู้ฮุกกรู้ กุก กุก

                 “เสียงขันเพราะ มีลูกคอยาว ยิ่งท้ายๆสั่นระรัว น่าฟัง อีกอย่างชื่อเขาคือนกเขาใหญ่ หรือนกเขาหลวง บ้านเราเรียกนกเขาหม้อ มีแต่ให้คุณ เสริมบารมีให้ยิ่งใหญ่ เข้าใจไหม”

                 ลุงไกรตอบแล้วก็พ่นน้ำใส่นกเขาใหญ่ในกรง เจ้านกเขาก็สนองรับด้วยการกางปีกรับและสบัดใส่ ละอองน้ำฟุ้งรอบกรง ช่างสวยงาม

                  “ลุงไกรครับ แล้วที่เรียกว่า นกเขาหม้อนั่นหมายว่า ลงหม้อแกงหรือเปล่า” ผมถามตามประสาเด็กช่างพูด ลุงไกรใช้ตีนข้างขวาถีบใส่ไหล่ผมโครม ผมเซ มองหน้าลุง

                  “ไอ้เวรตะไล คำว่านกเขาหม้อเขาหมายถึงนกเขาที่ขึ้นหม้อ เอ้ย ไม่ใช่ เหมือนที่เรียกปลากัดว่าลูกหม้อ หมายถึงว่า เป็นพันธุ์แท้พันธุ์ลูกหม้อ ของดีมีราคา”

                  “โอ้ ไอ้นี่ ปากไวถามไปเรื่อย” ลุงไกรหงุดหงิดกับความช่างซักของผม แล้วเลยไปเตรียมพ่นน้ำให้นกเขาหม้อกรงถัดไป

                   “วันนี้ ไม่ไปโรงเรียนหรือมึง” ลุงไกรถาม ผมมองหน้าแล้วตอบ

                  “วันพระ พระลงศาลาการเปรียญ  ชาวบ้านไปทำบุญ ผมจะไปเรียนที่ไหนได้ละครับ” ตอบแล้วก็เดินไปตักน้ำให้ลุงพ่นกรงต่อไป

                  ผมชอบไปบ้านลุงไกรเพราะว่าบ้านนี้มีบริเวณกว้างขวางกว่าบ้านผม ลุงไกรชอบเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้หลายชนิด  เช่นไก่ชน ปลากัด และนกเขา  เรื่องสำคัญ ไปทีไรได้กินข้าวบ้านลุงทุกที     

 

                

                       

 

Tags : ดอกไม้เทศและดอกไม้ไทยต้นที่ 99

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view