http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,992,557
Page Views16,300,776
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ท่องอุบลแบบคนอุบล 4.รำลึกเจ้านางเจียงคำ(ตาอ)

ท่องอุบลแบบคนอุบล 4.รำลึกเจ้านางเจียงคำ(ตาอ)

ท่องอุบลแบบคนอุบล๔.

เที่ยวทุ่งศรีเมือง : รำลึกเรื่องเจ้านางเจียงคำ(ต่อ)

 

                                          “เอื้อยนาง

 

                   เจ้านางของเราอายุเพียง ๑๔ ย่างเข้า ๑๕ หยก ๆ ในปีนั้น  คุณพ่อบำเพ็ญ ณ อุบลเคยเล่าไว้ว่า  เจ้านายอุบลราชธานีตอนนั้นหลายท่านต่างส่งลูกสาวไปไว้จำปาศักดิ์(ญาติกันอยู่ทางนั้นก็มากมาย เทียวไปเทียวมาอยู่แล้ว)  เพราะเสด็จในกรมไม่ได้มาเสด็จมาอุบลเพียงพระองค์เดียว  แต่ยังมีขบวนหนุ่มไทย ตำรวจ ทหาร ข้าราชบริพารอีกมากมายเป็นกรมกองมาด้วย  ผู้เฒ่าผู้แก่กลุ่มอุบลเก่าบางท่านไม่อยากเกี่ยวดองกับหนุ่มไทยซึ่งอาจมีเรื่องคล้าย ๆ สาวเครือฟ้าเกิดขึ้นในช่วงก่อนที่เคยมีเจ้านายไทยสยาม(อัญญาไทย)มากำกับราชการทั้งในยุคกรมหลวงพิชิตปรีชากร  และคนอื่น ๆ ก่อนหน้านั้นอีกหลายคน  เพราะหลังจากหมดยุคเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์เจ้าเมืองคนสุดท้ายในจารีตแบบล้านช้างแล้ว ทางกรุงเทพฯก็ไม่ได้แต่งตั้งเชื้อสายเก่าอุบลฯเป็นเจ้าเมืองอีก แต่ได้ส่งข้าราชการจากทางกรุงเทพฯมากำกับราชการ(หัวเมือง)แทน


                    เสด็จในกรมนั้นทรงเป็นทั้งทหาร  นักปกครอง  นักการทูต ได้เคยปราบปรามโจรผู้ร้ายที่ชุกชุมแถบโคราชถึงปราจีนจนราบคาบมาแล้ว  และเคยประทับกำกับราชการอยู่ที่นครราชสีมาก่อน  เพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯให้ไปเป็นผู้สำเร็จราชการที่หลวงพระบาง แต่ยังไม่ทันได้เสด็จไปก็มีการเปลี่ยนแปลงให้มาอยู่อุบลราชธานีแทน  ทรงเป็นข้าหลวงใหญ่สำเร็จราชการมณฑลลาวกาวซึ่งมีเมืองสำคัญคืออุบลราชธานีและจำปาศักดิ์  ทรงประทับที่ “วังสงัด” ที่ตั้งอยู่บนเนินสูงเหนือทุ่งศรีเมืองขึ้นไป

                    ต้องเข้าใจนะคะว่าสภาพภูมิประเทศที่ตั้งอุบลราชธานี และวารินชำราบนั้นเป็นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำเต็มไปด้วยหนองน้ำ เนินดิน สูง ๆ ต่ำ ๆ ตรงที่เป็นที่ลาดจากเนินดินเราเรียกว่าค้อย(คล้อย)  วังสงัดนั้นตั้งอยู่ใกล้ค้อย กกมะแงว(เนินต้นมะไฟป่า)

                    สมัยนั้นเคหสถานบ้านที่พักของเจ้านายอุบลราชธานีเรียกว่า “โฮง” ซึ่งเป็นคำลาวหมายถึง “วัง”  “ท้องพระโรง”  ในอุบลช่วงนั้นมี  โฮงหลวง  โฮงกลาง  โฮงแพ  เจ้านางเจียงคำนั้นอาศัยอยู่ใน “โฮงทุ่ง” ใกล้ที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานีในปัจจุบัน(ศาลากลางจังหวัดหลังแรก) 

                      วังสงัด จึงเป็นชื่อใหม่ที่มีขึ้น  วังนี้ตั้งอยู่ในสวนไม้ร่มรื่นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของทุ่งศรีเมือง(คุณพ่อบำเพ็ญเล่าจากความทรงจำของ   คุณแม่ คุณยายของท่านว่า มีต้นมะพร้าว หมากพลูในสวนมากมายร่มรื่น)

                     อย่างที่บอก   ว่าเสด็จในกรมเป็นทั้งทหาร นักปกครอง นักการทูต เป็นหนุ่มใหญ่เคยมีหม่อมและโอรส ธิดามาแล้วในกรุงเทพฯ  แต่ครั้นได้มาพบเจอเจ้านางเจียงคำสาวน้อยหลานสาวเจ้าเมืองเก่าก็ทรงต้องพระเนตรทันที  การเจรจาสู่ขอจึงมีขึ้น  และทางผู้ใหญ่ฝ่ายอุบลก็ไม่ขัดข้อง  พีธีสู่ขวัญแบบพื้นเมืองตามประเพณีฮีตคองของอุบลยุคนั้นจึงถูกจัดขึ้นในเดือนมีนาคมของปีต่อมานั่นเอง(ทรงมาถึงเมื่อ พฤศจิกายน  ๒๕๓๖ ยุคนั้นการนับปีพ.ศ.หลังเดือนธันวาคม-เมษายนยังเป็นปีเก่าอยู่ การระบุพ.ศ.นี้จึงมีเอกสารบางฉบับนับเป็น ๒๔๓๗)

                     แต่ถึงอย่างไรเจ้านางของเราก็อายุยังไม่ครบ ๑๕ เต็ม   คุณพ่อบำเพ็ญว่า “เป็นธรรมดาของผู้หญิงยุคนั้น”   ซึ่งการเข้าพิธีครั้งนี้ก็เป็นผลดีแก่ตัวเองและอุบลราชธานีทั้งมวล ความสัมพันธ์กับกรุงเทพกระชับแน่นขึ้น  ด้วยความเสียสละของเจ้านาง


                     ในปีนั้นเองที่นักปกครองสายพระเนตรแหลมคมอย่างเสด็จในกรมก็ได้ทรงเจรจาปรึกษาหารือกับกรมการเมือง และผู้ใหญ่ฝ่ายอุบลทั้งปวง เพื่อขอที่ดินแปลงต่าง ๆ อันเป็นมรดกของเจ้านางเจ้าเจียงคำผู้เป็นหม่อมห้ามของพระองค์ใหม่ ๆ ขอให้เป็นที่ราชพัสดุใช้ประโยชน์ในทางราชการสืบมา  คือ

บริเวณสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี (เป็นอาคารศาลากลางจังหวัดหลังแรก) ทางทิศใต้ของทุ่งศรีเมือง บริเวณสถานที่ตั้งสำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี ทางทิศตะวันออกของทุ่งศรีเมืองและพิพิธภัณฑ์ฯดังกล่าว บริเวณทุ่งศรีเมืองรวมถึงโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี(เดิมเคยเป็นโรงเรียนนารีนุกูลซึ่งปัจจุบันย้ายออกไปตั้งที่ใหม่)

                      บริเวณที่ตั้งศาลจังหวัด ด้านทิศเหนือของทุ่งศรีเมือง บริเวณที่ตั้งอำเภอเมืองอุบลราชธานี รวมศาลากลางจังหวัดที่ ๒ (ที่ถูกเผาเพราะเหตุขัดแย้งทางการเมืองในปี ๒๕๕๓)  และสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดที่รวมอยู่ในบริเวณเดียวกัน


                       ดังนั้นหากเรายืนอยู่ตรงกลางของทุ่งศรีเมือง ไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหนก็จะพบสถานที่ที่เคยเป็นมรดกตกทอดของเจ้านางเจียงคำ หรือ หม่อมเจียงคำ  ชุมพล  ณ  อยุธยา 

                       ทุ่งศรีเมืองวันนี้ในยามปกติเป็นสวนสุขภาพ  เป็นให้ปอดอุบลราชธานี  ให้ทั้งความร่มรื่น สวยงามเหมาะจะมาพักผ่อนในท่ามกลางบรรยากาศแห่งยุคสมัยที่ปัญหาใหญ่ของมนุษย์ในเมืองประสบคือ ปัญหาจราจร แต่หากหลบเข้าไปซุก ณ มุมหนึ่งมุมใดของทุ่งศรีเมืองก็เสมือนหนึ่งว่าได้หลบออกจากปัญหานั้นได้ตลอดกาล 

                       มุมโน้น ใต้ร่มเงาไม้มีใครบางคนนั่งบนม้าหินทอดสายตามองเทียนจำลองปูนปั้นต้นใหญ่  มุมโน้นใกล้ลานหญ้าเขียวมีกลุ่มครอบครัวหลากวัยปูเสื่อนั่ง ๆ นอน ๆ มองดูเด็ก ๆ ที่วิ่งเล่นหยอกล้อกันอย่างอิสระ

                       นักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งกำลังถ่ายรูปหน้าอนุสาวรีย์แห่งความดี  หลายคนกำลังกราบไหว้บนบานอยู่ที่หน้าอนุสาวรีย์ท่านท้าวคำผง

ไกลออกไปคนละฟากถนนกับทุ่งศรีเมือง มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่ติดกับศาลจังหวัดเป็นที่ตั้งของวัดสุทัศวนาราม  มองเห็นหน้าบันของโบสถ์ทรงแปลกตา ศิลปะเอกลักษณ์อุบลราชธานีสีนวลชมพูชูยอดทอดมองออกมาจากทิวไม้เขียวในวัด


                        ใกล้ประตูหน้าของโบสถ์หลังนั้นนั่นเองเป็นที่บรรจุอัฐของเจ้านางเจียงคำ  ด้วยวัดแห่งนี้เป็นวัดที่บรรพบุรุษฝ่ายราชบุตร(สุ่ย)ปู่ของเจ้านางสร้างขึ้น  และลูกหลานได้อุปถัมภ์ทำบุญสืบทอดกันต่อ ๆ มา

                        เจ้านางเจียงคำมีโอรส ๒ พระองค์  คือ หม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล  และหม่อมเจ้ากมลีสาณ  ชุมพล  ในปี ๒๕๕๒ ได้ย้ายติดตามพระสวามี พร้อมหม่อมชาวอุบลอื่น ๆ และโอรส ธิดา อีกหลายคน เข้าพักในพระราชวังดุสิต  จนถึงบั้นปลายของชีวิตเจ้านางได้กลับมาอยู่บ้านเกิด และป่วยเป็นอำพาตกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม ณ โฮงที่พักของพระวิภาคพจนกิจ(เล็ก สิงหัษฐิต)เลขานุการในพระองค์กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์  ถนนพิชิตรังสรรค์ เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๑ สิริอายุ ๕๙ ปี  และอัฐิได้ถูกบรรจุไว้หน้าพระอุโบสถ์วัดสุทัศวนารามซึ่งมองเห็นได้จากทุ่งศรีเมืองแห่งนี้


๐๐๐

 

 

Tags : ท่องอุบลแบบคนอุบล3.

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view