http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,961,336
Page Views16,267,708
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

กล้วยทะนีออง...เคยเลี้ยงน้องมา

กล้วยทะนีออง...เคยเลี้ยงน้องมา

 

กล้วยทะนีออง...เคยเลี้ยงน้องมา

“แพงขวัญ”

 

                ในวัฒนธรรมอีสาน แต่นานมา  เรารู้จักกับกล้วย  ต้นกล้วย ใบ(ตอง)กล้วย หยวกกล้วย  เชือกปอกล้วยจนคุ้นเคย  เหมือนมันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกบ้านเรือน และทุกคนในสังคมหมู่บ้าน

               กล้วยที่เราปลูกกันมีหลายพันธุ์ หลายชนิด มีชื่อแปลก ๆ  เช่น กล้วยตีบใหญ่  กล้วยตีบน้อย  กล้วยหมูสี  กล้วยทะนี  และที่จำได้ติดใจก็คือ  กล้วยทะนีออง(ตะนีอองก็เรียก)

              อาจเป็นด้วยชื่อของมันเพราะ หรือเพราะมีคำคล้องจองที่พูดกันเป็นเหมือนสร้อยคำว่า  “กล้วยทะนีอองเลี้ยงน้องนะ”  กระมัง  จึงจำชื่อกล้วยชนิดนี้ได้ตลอดมาทั้ง ๆ ในปัจจุบันไม่ได้ยินใครพูดกันแล้ว  และเราก็ย้ายจากบ้านเกิดมานานจนหลาย ๆ อย่างเลือนหายไปจากความทรงจำ

            วันหนึ่งกำลังเลี้ยงหลานอยู่กระบี่  เพื่อนที่แสนดี คุณอรพิน ก็โทร.ไปถามว่า “นี่เธอจะปลูกกล้วยไหม เรากำลังมาซื้อหน่อกล้วยหอมสี่หน่อหนึ่งร้อย”

            “กล้วยทะนีอองมีไหม” 

            “ไม่มี... เขาไม่รู้จักด้วยจ้า กล้วยโบราณอย่างนั้นใครเขาปลูกกัน”

            “งั้นก็เอากล้วยหอมปลูกให้เราด้วยสักสิบหน่อ”


            “ปลูกทำไมแค่สิบต้น เอายี่สิบต้นละกัน คิดเงินง่ายด้วย แค่นั้นนะ เดี๋ยวจะปลูกให้นะ มาอุบลปีหน้ามาตัดเครือกล้วยในสวนไปกินได้เลย”

            แล้วเธอก็วางหูไป  แล้วเราก็เป็นหนี้เพื่อนอีก  เป็นหนี้ทั้งเงินทองและน้ำใจ  ซึ่งทั้งสองอย่างเพื่อนก็ไม่ใส่ใจจะจดจำหรอก  คนอีสานอย่างเราที่เกิดและเติบโตมาในวัฒนธรรมชาวบ้านเมื่อหลายทศวรรษก่อน ไม่เคยเห็นว่าเรื่องการเผื่อแผ่แก่กันและกันอย่างนั้นจะเป็นเรื่องใหญ่โตให้ต้องเป็นกังวล

            เราซื้อที่ไว้ติดกัน และหวังว่าแก่แล้วจะมาอยู่ใกล้กัน  (อันนี้เล่าให้ลูกฟังลูกก็หัวเราะว่านี่ยังไม่แก่เหรอ อะไรประมาณนั้นแหละ...ไม่อยากจำกับคำถามพันนั้น)  เพื่อนจะทำอะไรก็มักเผื่อเราเสมอ  ในฐานะที่เธออยู่ใกล้และเราอยู่แสนไกลถึงกรุงเทพ  และกระบี่ในบางโอกาส

“เธอจะล้อมรั้วไหม” 

“เธอจะขุดสระเลี้ยงปลาไหม  นี่รถแบ็คโฮกำลังขุดของเราอยู่”

“ เธอจะไถพรวนดินไว้ไหม” 

“เราลงตะไคร้ไว้ให้เธอแล้วนะ”

“ให้เขาทำกระท่อมไว้แล้วนะ”

“ลงยางพารากันนะสักคนละห้าร้อยต้น ปลูกต้นไม้อื่น ๆ แซม ๆ ไว้ได้อยู่แล้ว”


มาถึงตอนนี้ ผ่านมาปีกว่า ๆ เราไปสวนนั้นแล้วไม่อยากจากไปไหนเลยหละ  ดูมันช่างง่ายเหลือเกินสำหรับการจะเป็นเกษตรกรแบบไม่คิดถึงกำไรกำรี้

“กล้วยทะนีออง กล้วยโบราณอย่างนั้นใครปลูกกัน” 

“งั้นก็กล้วยอะไรก็เอา ปลูก ๆไปเถอะ”

วางหูแล้วเสียงเพื่อนยังแว่ว ๆ ในโสตประสาท  พอดีหลานร้องขึ้นมาทำให้นึกได้ว่าสมัยก่อนเราเลี้ยงเด็กทารกอย่างนี้ด้วยกล้วยตะนีออง

“กล้วยอะไรก็เอาปลูกๆไปเถอะ”

ปลูกง่ายขนาดนั้นเลยแหละจะบอกให้  และผืนดินในประเทศไทยก็ปลูกกล้วยได้ทุกภาค อาจแตกต่างกันบ้างในสภาพความอุดมสมบูรณ์และธาตุอาหารในดิน  ซึ่งทำให้ต้องดูแลให้น้ำให้ปุ๋ยแตกต่างกันบ้าง  แต่เชื่อเถอะว่า  กล้วยเคยเป็นพืชประจำสวนของคนทุกภาคมาแต่โบราณ  และทุกส่วนของต้นกล้วยก็อยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย ไม่ว่ากาบ ลำต้น ดอก ใบ ผล ทั้งใช้เป็นอาหารคน อาหารสัตว์ ใช้ทำเครื่องใช้ไม้สอย เพิ่งจะมาห่างหายไปไม่นาน เมื่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนนี่หรอกนะ

โดยเฉพาะในวิถีชาวบ้านอีสานก่อนนั้น ทุกบ้านทุกสวน ต้องมีต้นกล้วยทะนีอองปลูกไว้อย่างน้อยหนึ่งกอ 


และกล้วยก็ช่างปลูกง่ายดาย  แม้แต่บนดินไม่ดีจืดชืดอย่างไรปลูกแกไปดูแลไปสักสองสามปี ตัดดอกตัดผลตัดต้นตัดใบ แล้วก็ใช้ส่วนที่เหลือกองทับถม บำรุงดินให้ชุ่มชื้น กลายเป็นดินดีให้แกแตกหน่อแตกกอออกมาได้เองมากมาย  จำได้ว่าสมัยเป็นเด็กที่บ้านผับแล้ง อ.สำโรงโน้นยายข้างบ้านสวนติดกันแกปลูกกล้วยไว้ริมรั้วติดกับสวนของเรา  เผลอแป๊บเดียวต้นกล้วยแกแตกหน่อ ขยายกอ รุกล้ำเข้ามาในสวนเราเจ้าของก็ขยับรั้วล้อมกอกล้วยเข้ามาเรื่อย ๆ ที่สวนของเราก็หดแคบจนเกิดกรณี ต้องพากันขึ้นบ้านผู้ใหญ่บ้านให้มาตัดสินความแกจึงยอมขุดย้ายกอกล้วยออกไป ... นั่นปะไรตัวอย่างการขยายพันธุ์ง่ายดายของต้นกล้วยเขาละ

กล้วยจึงเป็นมิตรแท้มาแต่โบราณ  หน้าแล้งอาหารหายากเราก็ตากกล้วยไว้  เพราะมีธาตุอาหารครบ  ไม่แสลงต่อกระเพาะทารก กล้วยจึงเป็นอาหารเริ่มแรกของทารกได้เป็นอย่างดี  กล้วยทะนีอองตากหอมหวานนั้นเด็ก ๆ ชอบกินมากขนาดขโมยกินกล้วยที่ตากไว้เลี้ยงน้องกัน จนมีบทกลอนล้อเลียนคนขโมยกินกล้วยของน้อง ที่เราท่องกันเล่น ๆ เป็นที่สนุกเลยหละ


นกเจวเวว*ลักกินกล้วยน้อง

แม่ถามหา ว่ากากินแล้วๆๆๆ...

ก็กล้วยตากมันอร่อย เด็ก ๆ แทบทุกคนจึงมีสิทธิ์ถูกเรียกเป็นนกเจวเวว(นกแจนแวน)เพราะมีประวัติแอบกินกล้วยที่เก็บไว้ให้น้องกันทั้งนั้น

มาถึงปัจจุบัน  กล้วยกลายเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งได้รับการปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมากมาย  บางชนิดเป็นผลไม้ส่งออกที่คนไทยไม่มีสิทธิ์กินเพราะราคามันแพง  และผู้ค้าส่งออกก็จองไว้หลาย ๆ สวน ปีละหลาย ๆ ตัน  ที่เป็นอย่างนั้น(แบบถูกจองไว้ส่งนอก)เพราะเขาปลูกแบบอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมี

“เดี๋ยวนี้ตลาดจะเป็นแบบนี้แหละค่ะ อะไรที่เป็นเกษตรอินทรีย์ไม่ว่าพริก มะเขือ ถั่ว แตงล้วนมีผู้แย่งกันซื้อและจับจอง ส่งเมืองนอกญี่ปุ่น อเมริกาทั้งนั้น”

เกษตรกรรายหนึ่งบอกให้เจ็บใจ  เพราะเราเป็นคนไทยต้องให้กินของปนเปื้อนจากสารฆ่าแมลง เร่งดอก เร่งผล ไปเถอะ

ช่างเถอะเราจะปลูกกล้วยของเรากินเอง  ก็ปลูกง่ายออกอย่างนั้น  แถมใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน  ขายได้ตั้งแต่ใบตองโน่นแหละ

คุณจะแปลกใจหากได้เห็นว่า  อลังการจากใบตองกล้วย  ในงานประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวไทย ชาวอีสานในปัจจุบัน  นับตั้งแต่กรวยดอกไม้ใส่พาน หรือจานพร้อมหมากพลูถวายพระสงฆ์ กระทงเล็ก ๆ ใส่ขนมพื้นบ้าน ไปจนถึงงานช้างอย่างเทียนพรรษา  ปราสาทผึ้ง  ไปถึงกระทงหลวง ทำให้งานใบตองออกมาวิจิตรตระการตา เป็นรูปนก รูปช้าง พญานาค ปราสาทราชวังได้ทั้งหมด


เอารูปมาให้ดูแล้วค่ะ

๐๐๐๐

*นกแจนแวน(เจวเวว)เป็นนกชนิดหนึ่งที่มักหลบหน้าหายไปในช่วงฝนชุกฤดูเข้าพรรษาเชื่อกันว่ามันหลบไปจำพรรษา  จะออกมาร้องส่งเสียงอีกทีในวันฟ้าใสใกล้ออกพรรษาเป็นคล้ายเสียงเตือนให้คนในท้องถิ่นรู้ว่าเทศกาลออกพรรษาใกล้เข้ามาแล้วให้เตรียมตัว เตรียมหมักข้าว ตัดใบตองทำข้าวต้มข้าวหนมในบุญออกพรรษาที่จะมาถึง  

 

 

           

              

Tags : ไหว้พระเมืองลี้ ลำพูนตอน 6 วัดพระธาตุดวงเดียว

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view