http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,955,977
Page Views16,262,240
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

เห็นตะวันก่อนใครในสยาม โดยเอื้อยนาง เรื่อง-ภาพ

เห็นตะวันก่อนใครในสยาม โดยเอื้อยนาง เรื่อง-ภาพ

เห็นตะวันก่อนใครในสยาม

เอื้อยนาง

เฮม มัดมะนาง โญงมู ต็อง กูแตะ ธัย    เช้าตรู่ของแต่ละวันมีใครตื่นขึ้นมาเฝ้าดูพระอาทิตย์ขึ้นกันบ้างหนอ   พระอาทิตย์ดวงกลมสีแดงๆ ค่อยๆ เลื่อนขึ้นตรงขอบฟ้าในขณะท้องฟ้ายังสลัวรางน่ะ สวยจับใจทีเดียว

โดยเฉพาะหากตรงที่พระอาทิตย์ขึ้นนั้นเป็นแม่น้ำไหลแทรกซอกซอนอยู่ระหว่างภูเขา  ภาพที่เห็นจะยิ่งสวยงามเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า


                          

           และคนที่เห็นพระอาทิตย์ก่อนใครในแต่ละวัน   ก็คือคนที่อยู่ทางทิศตะวันออก หากดูแผนที่ประเทศไทย  จะพบจังหวัดที่อยู่ทางทิศตะวันออกสุดคือ จังหวัดอุบลราชธานี  อำเภอโขงเจียม  ซึ่งมีชายแดนติดต่อกับประเทศลาว ชายแดนทั้งหมดยาวตามลำน้ำโขงเรื่อยมา ไหลคดโค้งไปตะวันออก มุ่งตรงเข้าสู่อาณาเขตของประเทศลาว หมู่บ้านสุดท้ายของแม่น้ำโขงในเขตไทยคือบ้านเวินบึก อำเภอโขงเจียม 

          ชาวบ้านเวินบึกจึงภูมิใจนักหนาว่าเขา
เฮม มัดมะนาง โญงมู ต็อง กูแตะ ธัย แปลว่าเห็นตะวันก่อนใครในสยาม ไงล่ะ


                          

           แรกที่มาตั้งหมู่บ้านนี้ ชาวเวินบึกทั้งหมดเป็นชาว ข่า ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยดั้งเดิมในบริเวณแถบอีสานใต้ ข่าที่อาศัยอยู่ตามภูเขาเรียกตนเองว่า บรู แปลว่าภูเขา พวกที่อาศัยตามบริเวณพื้นราบ มีหลักแหล่งทำมาหากิน ทำไร่ ทำนา เรียกตนเองว่า กวย หรือ กูย ชาวอีสานส่วนมากเรียกชนเหล่านี้ว่า ส่วย ประโยคที่ว่า
เฮม มัดมะนาง โญงมู ต็อง กูแตะ ธัย นั้นคือภาษาของพวกเขาละ


                                                                  หญิงข่ากำลังอยู่ไฟหลังคลอด


           แม่น้ำโขงไหลเรื่อยจากดินแดนทิเบต จีน สู่ชายแดนพม่า ลาว ไทย ไหลลงสู่เขมร และออกทะเลที่เวียดนาม ผู้คนบนสองฟากฝั่งได้อาศัยหล่อเลี้ยงชีวิตอย่างไร แม่น้ำโขงตรงบ้านเวินบึกก็ไม่แตกต่าง


           เวินบึก
เป็นวังน้ำวนกลางแม่น้ำโขง ในฤดูน้ำหลาก น้ำจะไหลถั่งโถม ซัดเซาะ

ตลิ่งทางฝั่งขวานานนับวัน  นับคืน นับเดือน นับปี นับศตวรรษ จนกลายเป็นเวิ้งกว้างใหญ่  และมีหาดทรายเว้าโค้งเป็นเนินสวยในฤดูแล้ง   นั่นคือจุดที่มองเห็นพระอาทิตย์ก่อนใครในสยาม นักท่องเที่ยวชาวอุบลราชธานี และใกล้เคียงรู้จักกันในนาม จุดชมพระอาทิตย์ขึ้น


                          

           วังน้ำวนแห่งนี้เป็นแหล่งที่เคยมีปลาชุกชุม เช่น ปลาแข้ ปลาเคิง ปลาปึ่ง ปลาพอน และอื่นๆ รวมถึงปลาบึกซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดด้วย เคยมีตำนานเล่าขานกันมาว่า ปลาบึกตัวโตเท่าควายก็เคยมีในวังเวินแห่งนี้ จึงเรียกกันว่า เวินบึก อันหมายถึงวังน้ำวนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าปลาบึกทั้งหลายนั่นเอง


             เมื่อประมาณ ๑๐๐กว่า ปีมาแล้วคือ พ.ศ.๒๔๓๖ เป็นต้นมา ฝรั่งเศสเข้ายึดครองดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงซึ่งสมัยนั้นยังเป็นเมืองขึ้นของไทยอยู่(รวมทั้งอุบลราชธานีและแถบใกล้เคียง)  ชาวพื้นเมืองที่ไม่ชอบใจในการปกครองระบบอาณานิคมของฝรั่งตังโมจึงพากันอพยพข้ามมาอยู่ฝั่งขวาเป็นจำนวนมาก และที่หุบเขาริมฝั่งแม่น้ำโขงใกล้เวินบึก ก็มีชาวบรูกลุ่มหนึ่งอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่เช่นกัน


                          

          ชาวบรูที่เวินบึกไม่ได้ทำนาทำไร่เหมือนที่อื่น เพราะมีเนื้อที่เป็นพื้นราบน้อยมาก การทำมาหากินอาศัยป่าและแม่น้ำเป็นหลัก ผู้ชายชาวบรูมีความชำนาญในการล่าสัตว์ซึ่งมีอยู่มากมายบนภูเขา เช่น กระต่าย อีเห็น บ่าง เป็นต้น ส่วนเด็กและผู้หญิงชำนาญในการสานหวดและเสื่อใบเตย

บ้านของชาวบรูสร้างด้วยไม้ไผ่ฝาผนังใบตอง มุงหญ้าคา ใต้ถุนสูงใช้ทำครัวนึ่งข้าวเหนียวและประกอบอาหาร

           ประมาณ พ.ศ.๒๔๕๗ กลุ่มชาวบรูบ้านเวินบึกจึงได้เป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ โดยเป็นหมู่บ้านหนึ่งขึ้นกับอำเภอโขงเจียม ซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกตามลำน้ำโขงประมาณ ๘ กิโลเมตร

ชาวบรูบ้านเวินบึกมีประเพณีนับถือผีบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัด เด็กๆ เชื่อฟังผู้ใหญ่ ชาวบ้านทั้งหลายเคารพเชื้อฟังจ้ำ(ผู้เฒ่าที่ทำหน้าที่เป็นสื่อในการติดต่อกับผี) สังคมเล็กๆ ของชาวเวินบึกอยู่กันอย่างเรียบง่าย สงบสุขและไม่ติดต่อพบปะกับสังคมภายนอกอื่นๆ นอกจากความจำเป็น คือการนำสินค้าอันมีของจากป่า หวดสำหรับนึ่งข้าวเหนียว เสื่อใบเตย และปลาเป็นต้น ไปแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า ข้าวเกลือ จากหมู่บ้านอื่น แม้แต่การแต่งงาน ชาวบรูจะแต่งกันภายในหมู่บ้านของตนเท่านั้น ไม่ยอมให้แต่งกับชาวบ้านอื่นเลย สังคมชาวบรูบ้านเวินบึกจึงล้าหลังอยู่มาก


                           

           ต่อมา พ.ศ.๒๔๙๗ ทางราชการได้มาตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้น และมีการเร่งรัดพัฒนาในด้านอื่นๆ ด้วย สังคมชาวบรูบ้านเวินบึกจึงค่อยๆ เปลี่ยนไป

ชาวเวินบึกรุ่นใหม่สามารถพูดภาษาไทย-ลาวได้ นับถือพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น มีถนนตัดเข้าสู่หมู่บ้านสายสำคัญคือถนนศรีพัฒนา จึงเริ่มไปมาหาสู่กับสังคมภายนอก การแต่งงานก็ยินยอมให้ลูกหลานแต่งกับคนภายนอกได้ โดยเสียสินสอดเป็นควาย ๑ ตัว และเงินอีกจำนวนหนึ่ง สังคมชาวบ้านจึงกว้างขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปบ่อยๆ เพื่อชมทิวทัศน์อันสวยงามของแม่น้ำโขง ซึ่งไหลซอกซอนอยู่ระหว่างภูเขาสองด้าน อันเป็นรอยต่อระหว่างเทือกเขาภูพานทางฝั่งซ้ายและเทือกเขาพนมดงรักทางฝั่งขวา


                               

          หมู่บ้านเล็กๆ ที่นอนสงบนิ่งอยู่ใต้หุบเขาริมฝั่งแม่น้ำโขงปลอดจากการคุกคามของโลกภายนอกมานานนับศตวรรษ กำลังจะถูกปลุกให้ตื่นจากการชักพาของถนนศรีพัฒนาที่นำพาเอาผู้คนจากต่างถิ่นเดินทางสู่เวินบึก

โดยเฉพาะในช่วงวันเสาร์ทุกเสาร์ เป็นวันตลาดสินค้าไทย-ลาว(ความจริงเป็นลาวในไทยกับลาวในลาว) เวินบึกจะคึกคักเป็นพิเศษ เพราะมีแม่ค้าแม่ขายจากทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขงมาพบกัน เนินทรายตรงโค้งเวินบึกอันเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นนั้นกลายเป็นท่าเรือหางยาวที่นำสินค้าพื้นเมืองจากประเทศลาวบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง มาขายให้ผู้คนที่มาจากทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ซึ่งส่วนมากจะมาโดยรถยนต์ทางถนนศรีพัฒนา

           


            นอกจากแม่ค้าจากโขงเจียมเท่านั้นที่ใช้เรือหางยาวมากับลำน้ำโขงสินค้าของลาวนั้นได้แก่หมูไทย(น่าจะชื่อหมูลาว) กล้วยหมาก หวด ตะกร้าหวาย กบ เขียด ปูปลา จิ้งหรีด(ก็มี) บ่างนก หนู เป็นต้น คนไทยกลุ่มหนึ่งจะลงไปดักซื้อสินค้าเหล่านี้ถึงท่าเรือเลยทีเดียว ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะนำสินค้าไปตั้งเรียงรายไว้คอยท่าชาวลาวที่มาขายของหมดแล้วขึ้นมาซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคกลับบ้าน อันมีเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ผงซักฟอก สบู่ และที่เห็นซื้อกันมากคือ บะหมี่สำเร็จรูปกับผงชูรส เปรียบเทียบราคาแล้วคนลาวขายกล้วยสองหวีได้บะหมี่หนึ่งซอง(กล้วยหวีโตๆ ลูกงามๆ)


                         



           ชาวบรูหลายคนมีอาชีพค้าขาย หลายคนเป็นเจ้าของเรือหางยาว หลายคนเก็บค่าบริการฝากรถที่ริมถนน หลายคนเก็บค่าจอดเรือที่ริมท่า บนหลังคากระต๊อบหลายหลังมีเสาโทรทัศน์โผล่ขึ้นมาให้เห็น

ชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณี วัฒนธรรมของชาวบรูเมื่อวันวานกำลังจะถูกลบเลือนกลืนหาย แต่แม่น้ำโขงยังคงไหลเรื่อย ซอกซอนภูเขา มุ่งหน้าไปทางเดิมอยู่ชั่วนาตาปี และเวินบึกก็ยังคงเฮม มัดมะนาง โญงมู ต็อง กูแตะ ธัย อยู่เหมือนเดิม



ปล.เรื่องนี้เขียนขึ้นก่อนมีการยกเลิกตลาดไทย-ลาว มีโครงการศิลปาชีพบ้านเวินบึกในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ(ทอผ้า)ขึ้น   เรื่องนี้เคยลงตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือสตรีสารก่อนสตรีสารยกเลิกไม่นานนัก  ผู้เขียนกลับไปเยือนเวินบึกอีกที  เห็นความเปลี่ยนแปลงแล้วใจหาย  ก็เลยไม่ปรับปรุง  เพราะนี่คือหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์พื้นบ้าน  ค่ะ

  การเดินทาง  กรุงเทพ-อุบลราชธานี ระยะทาง 629 กม. อุบลราชธานี-โขงเจียม 110 กม(อุบล-ตระการพืชผล-โขงเจียม)  แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง-อช.ผาแต้ม ดูภาพเขียน-น้ำตกออกรู-น้ำตกแสงจันทร์-วัดถ้ำคูหาสวรรค์ ไหว้หลวงปู่คำคนิง เกจิอาจารย์ที่ไม่เน่าเปื่อย อาหารปลาสดริมโขง

Tags : เอื้อยนนาง โขงเจียม อุบลราชธานี ouynang

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view