http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม14,004,363
Page Views16,313,274
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

พนมรุ้ง : มหัศจรรย์สถาปัตยกรรมขอม สมบัติมนุษยชาติ

   พนมรุ้ง :  มหัศจรรย์สถาปัตยกรรมขอม สมบัติมนุษยชาติ

                         พนมรุ้ง :  มหัศจรรย์สถาปัตยกรรมขอม สมบัติมนุษยชาติ 

                                                                                                                  โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

 

                   ไม่ว่าใครจะเป็นผู้สร้าง และไม่ว่าใครจะเป็นเจ้าของ พนมรุ้งก็จะยังคงเป็นมหัศจรรย์สถาปัตยกรรมที่ชวนฉงนและชวนให้อยากรู้เรื่องราวตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ความลงตัวเชิงศิลปะและสถาปัตยกรรมสำแดงความยิ่งใหญ่ในเชิงความคิด ความเชื่อ ความศรัทธาและแนวการสร้างสรรค์ มันมีความเป็นมาอย่างไรหรือ ถึงได้ตราตรึงใจและมีเสน่ห์ชวนหลงไหลยิ่งนัก ไปแล้วก็ยังอยากไปอีก แม้ไม่มีความรู้เรื่องปราสาทขอมมาก่อนเลยก็ยิ่งตื่นตะลึงกับภาพที่เห็น อลังการ!

 

                                 ถนนขาขึ้น                                                                              ถนนขาลง

            ผมไปท่องเที่ยวที่เขาพนมรุ้งเพื่อชมความยิ่งใหญ่อลังการของปราสาทขอมในแผ่นดินบุรีรัมย์มาหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่เคยรู้สึกว่า เบื่อหรือก็งั้นๆแหละ หากแต่ยิ่งเข้าใกล้ได้รู้เรื่องราวมากขึ้นก็ยิ่งรู้สึกว่า จะขุดอย่างไรได้หรือถึงจะถึงก้นบึ้งของแก่นแท้แห่งมนต์อาถรรพณ์ที่สิงสถิตอยู่ในใจกลางสิ่งก่อสร้างที่มองเห็นว่า ก็เป็นแค่หินผา หากแต่มันช่างประทับใจเหลือที่จะกล่าวถึงได้

                อาคารศูนย์ข้อมูลที่ควรเข้าไปชม                                   ไกด์พนมรุ้งบรรยายให้นักศึกษาฟัง เยี่ยมๆ

            ไปคราวนี้แม้มีเวลาน้อยนิด แต่ก็ได้รูปและเรื่องราวมากมาย จนแทบว่าจะจับต้นชนปลายไม่ถูก อย่างไรก็ตาม การค้นคว้าจากอินเทอร์เนต จากเอกสารแจก และถกกับผู้รู้(เอื้อยนาง) ได้ความสรุปพอให้อ่านกันได้ว่า เรื่องราวจากอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น มีความเป็นมาเช่นไร จะได้กล่าวได้ว่า ไปท่องเที่ยวอย่างมีคุณค่า มิใช่ไปเปลี่ยนที่กินเหล้าเมายาให้ผู้คนเขาตำหนิ ก็ว่าได้

                       

                                                       เสานางเรียงเขตพระราชดำเนินของพระราชา

              น่าฉงนที่คนไทยเชื้อสายหนึ่งซึ่งอยู่ในชุมชนหมู่ที่ 2 บ้านดอนหนองแหน  ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ(ส่วนแยกจากอำเภอนางรอง) จังหวัดบุรีรัมย์ รู้เรื่องราวเกี่ยวกับพนมรุ้งจากตำนานนิทานพื้นบ้านเรื่อง "อินทรปรัสถา" อันเป็นเรื่องราวของหนุ่มสาวที่หลงป่าอยู่บนเทวสถานอันลึกลับ และ..........ก็ยังสืบหาไม่ได้ว่า เรื่องราวตอนต่อไปจะเป็นเช่นไรกัน 

           

                                              โครงสร้างปราสาทพนมรู้งทั้งหมดด้านตะวันออก

              ความมาปรากฎเมื่อ ปีพ.ศ.2428 ชาวฝรั่งเศสชื่อ Etienne  Aymonier  (เอเตียน เอมอนิเยร์) นทึกเรื่องราวของพนมรุ้ง ปราสาทขอมโบราณในแผ่นดินสยาม   แล้วตีพิมพ์เป็นหนังสือในปีพ.ศ.2445 ในโลกวรรณกรรมและสถาปัตยกรรมจึงได้เริ่มรับรู้ว่า มีสิ่งก่อสร้างชนิดปราสาทขอมอยู่ที่นี่ แต่ในรายละเอียดหนังสือจะกล่าวถึงอย่างไรไม่ปรากฎด้วยว่าไม่มีหนังสือแปลให้อ่าน แต่ก็ได้แสดงให้เห็นว่า มีการพบแหล่งสถาปัตยกรรมขอมโบราณแห่งหนึ่งแน่นอน

                     

                                              ท่อโสมประสูติ รองรับน้ำมนต์จากศิวลึงค์ถ่ายจากทิศเหนือ

             ปราสาทขอมแห่งนี้ ปรักหักพังอยู่บนภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ชื่อพนมรุ้ง เป็นภูเขาลูกเดียวโดดเด่นอยู่กลางพื้นที่ราบกว้างใหญ่ เหนือหมู่บ้านดอนหนองแหน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,320 ฟุต (440 เมตร) สูงจากพื้นที่ราบตีนดอย 200 เมตร และมีการขุดค้นพบหลักศิลาจารึกพนมรุ้ง หลักที่ 2 หลักที่ 4 และ K10900 มีข้อความที่กล่าวอ้างว่า 

                         

                                                               ถ่ายจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

              พนมรุ้งเป็นชื่อเทวสถานที่มีขอบเขตกว้างขวาง  มีที่ดินทำกิน มีหมู่บ้านที่ผู้คนอาศัยอยู่ และมีเมือง ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระศิวะดุจประทับอยู่ยังเขาไกรลาสกระนั้น อันเป็นการแสดงว่ามีการนับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย  หลังจากนั้น ปีพ.ศ.2449 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จประภาสพนมรุ้ง และได้กลับมาเพื่อสำรวจจริงจังอีกครั้งหนึ่ง

  

                                                                     ปรางค์ประธานพนมรุ้ง

               ปีพ.ศ.2478 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ลงในประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอน 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 ถัดจากนั้นก็ปล่อยรกร้างอยู่ จนเมื่อพ.ศ.2503-2504  จึงได้งบประมาณลงมาสำรวจอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ต่อมาปีพ.ศ.2514  กรมศิลปากร ได้งบประมาณเพื่อการเริ่มต้นบูรณะพนมรุ้ง โดยวิธี อนัสติโลซิส (Anastylosis) ซึ่งก็คือการรื้อของเก่าออกแล้วนำชิ้นส่วนเหล่านั้นมาประกอบให้ได้รูปทรงที่แท้จริงใหม่อีกครั้ง  

             

                                                              ถ่ายจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

              อุทยานประวัติศาสตร์ พนมรุ้ง ได้เปิดให้ประชาชนเข้าไปเยี่ยมชมได้เมื่อวันที่ 21 พค.2531 นับจากนั้นเป็นต้นมาก็มีหน่วยงานของกรมศิลปากรเข้าไปบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม วัสดุชิ้นส่วนบางส่วนถูกขโมยไป บางส่วนตามไปจับมาจากร้านค้าของเก่าได้ แต่มีชิ้นหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นศิลปะหลักของปรางค์ประธานปราสาทพนมรุ้ง มีชื่อเรียกว่า ภาพสลักพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ต่อมาได้คืนจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอเมริกา นำมาประดิษฐานไว้ดังเดิม(ทั้งๆที่ก็ไม่แน่ใจว่าของจริงหรือทำเทียมมาใหม่)  

   

                             ภาพถ่ายจากทิศใต้เช่กันแต่เห็นรายละเอียดประตู  ลูกกรง และหน้าบรรณ

                  ย้อนอดีตไปไกลสุดกู่ เมื่อพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 3 แห่งราชวงศ์มหิทรปุระ ผู้ครองราชย์เมืองพระนคร ระหว่างปีพ.ศ.1487-1511  ทรงสร้างศาสนสถานอันเป็นเทวาลัยขึ้นบนเขาพนมรุ้ง  แต่ไม่ใหญ่โตนัก ดูท่าจะเป็นเพียงอาคารหลังเล็กๆสองหลังที่ทุกวันนี้เหลือเพียงทรากปรักหักพัง  ต่อมาพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ได้ทรงพระราชทานที่ดินและข้าทาสบริวารให้อยู่ทะนุบำรุงเทวาลัยแห่งนี้เป็นการเทิดพระเกียรติของพระบิดาพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 3                    

           

                                                  ภาพถ่ายจากด้านทิศใต้ เห็นทวารบาลยืนประจำการอยู่

                  จนลุล่วงมาถึงศตวรรษที่ 17 นเรนทราทิตย์ โอรสแห่งพระนางภูปตีนทรลักษณ์มี ได้รับความดีความชอบจากเมืองพระนคร หลังจากร่วมสงครามสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับเมืองพระนครแล้ว จึงได้ส่งมาครองเมืองในราชอาณาจักร "พนมรุ้ง" ได้ก่อสร้าง "ปราสาทประธาน" ขึ้นอย่างสวยสุดอลังการ สลักลวดลายและตกแต่งจนวิจิตรพิศดาร อันเป็นความตามหลักศิลาจารึกหลักที่ 7 และหลักที่ 9 ด้วยความเลื่อมใสในลัทธิไศวนิกาย นเรนทราทิตย์จึงได้ออกบรรพชาเป็นฤษี อยู่ ณ เทวาลัยแห่งนี้  หิรัณยะ ราชโอรสได้ทรงบันทึกเรื่องราวของบิดาไว้เป็นหลักฐานดังกล่าว  

             

                                                ด้านหน้าโคปุระแรกเข้าปรางค์ประธาน

                  ในช่วงศตวรรษที่ 18 ระหว่างพ.ศ.1724-1762 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราชโอรสของพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 และพระนางศรีชยราชจุฑามณี ผู้ครองราชย์ระหว่างปีพ.ศ.1693-1703 ในระหว่างที่เจ้าชายชัยวรมันที่ 7 เสด็จไปปราบจามปาอยู่ บิดาของพระองค์ได้เกิดสวรรคตลง  จังหวะนี้เองที่พระเจ้ายโศวรมันที่ 2 ซึ่งไม่ปรากฎหลักฐานใดๆว่า เกี่ยวข้องอย่างไรกับราชวงศ์มหิทรปุระ ได้ยึดราชบัลลังก์ไปอย่างหน้าตาเฉย และครองราชย์อยู่ระหว่างปีพ.ศ.1704-1710   

         

                                             ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จริงหรือปลอม

                  แต่กรรมของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ยังไม่สิ้น แม้พระองค์จะทรงยอมรับในสถานะของพระเจ้ายโศวรมันที่ 2 ครองราชย์  พระองค์ยังคงออกไปปราบปรามอริราชศัตรูของแผ่นดิน  แต่ในระหว่างไปสงคราม  ก็เกิดกบฏขึ้นโดยขุนนางชั้นผู้ใหญ่ แล้วตั้งตนเป็นพระเจ้าตรีภูวนาทิตยวรมัน

ระหว่างปีพ.ศ.1711-1720   เมื่อเจ้าชายชัยวรมันที่ 7 เสด็จกลับมาก็แอบซ้องสุมกำลังจนกระทั่งปีพ.ศ.1724 จึงได้ปราบอริราชศัตรูลงได้ พระองค์ปกครองเมืองพระนคร จนถึงพ.ศ.1762 ก็สวรรคต  ทรงครองราชย์อยู่ถึง 38 ปี

                                                             

                           

                                                                     ลวดลายสลักที่บรรณาลัย

              เมื่อพระองค์ทรงครองราชย์ ได้ทรงสร้างปราสาทบายน อันมีพระพักตรของพระองค์เล็งไปทั้งสี่ทิศ ด้วยแววพระเนตรที่ทรงเปี่ยมล้นด้วยเมตตา ส่วนที่ปราสาทพนมรุ้ง พระองค์ทรงให้สร้างบรรณาลัยและพลับพลาเปลื้องผ้า เพื่อใช้ในการเปลี่ยนเครื่องทรงสำหรับราชพิธี  นอกจากนั้นยังทรงสร้างโรคยาศาล102 แห่ง  ที่พักคนเดินทาง 121 แห่ง ตลอดเส้นทางในพระราชอำนาจแห่งจักรวรรด์ขแมร์ หรือเขมร หรือขอม หรือเมืองพระนคร 

                                                        ภาพสลักสวยงามจับใจ ได้ไง หินนะครับหิน

               ผมเดินขึ้นพนมรุ้งจากล่างสุด พอพ้นเนินสูงก็มองเห็นความอลังการของปราสาทพนมรุ้ง ผมเดินไปตามแนวเสานางเรียงบนพื้นศิลาแลง จนปีนขึ้นบันไดไปทีละขั้นๆ แต่ละชั้นความสูงมีภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไป ผมข้ามสะพานนาคราชเข้าสู่โคปุระแรก แล้วก็วกกลับออกมาหามุมถ่ายภาพ ผมเดินเข้าแล้วก็เดินออกอย่างสนุกสนาน แต่ละมุมภาพมีความแตกต่างอย่างสวยซึ้ง ลวดลายจำหลักหินช่างพิศดารนักหนา คนธรรมดาจะสลักเสลาได้เช่นนั้นหรือ

                                                                     เหนือคำบรรยายจริงๆ

                ปรางค์ประสาทประธานสร้างโดย นเรนทราทิตย์ ผู้ปกครองนครพนมรุ้งราวๆ ศตวรรษที่ 17  ด้วยหินทรายสีชมพู เนื้อหินเนียนจนสลักลายได้วิจิตร มีองค์ประกอบของกรอบหน้าต่าง ลวดลายดอกไม้และเถาวัลย์ บางมุมก็เป็นรูปฤษีชีไพร บางมุมก็เป็นนางอัปสรร่ายรำ  ตัวปราสาทประธาน ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป คือห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้าที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธานตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่าง ๆ ตลอดจนกลีบขนุนมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมกว้าง 8.20 เมตร สูง 27 เมตร ด้านหน้าทำเป็นมณฑปโดยมีอันตราละหรือฉนวนเชื่อมปราสาทประธานด้วย

                                     มุมหยัก                                                                           ด้านตรง

                ห้องครรภคฤหะ เป็นห้องที่อยู่ตรงกลางที่ประดิษฐานรูปเคารพสำคัญที่สุดนั่นคือศิวลึงค์ อันเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ แต่ได้สูญหายไปแล้วคงเหลือเพียงแต่ม่อโสมสูตร คือร่องน้ำมนต์ที่ใช้รับน้ำสรงจากการสักการะศิวลึงค์เท่านั้น  ที่บริเวณหน้าบันและทับหลังของปราสาทประธานมีภาพจำหลักแสดงเรื่องราวในศาสนาฮินดู เช่นพระศิวนาฏราช(ฟ้อนรำ) ทับหลังนารายณ์บรรณทมสินธุ์  อวตารของพระนารายณ์ เช่น พระราม หรือพระกฤษณะ

                แต่ที่น่าตื่นเต้นก็คือภาพอิโรติกที่น่าฉงนหลายรูป เป็นเจตนาหรือเป็นอารมณ์ขัน หรือเป็นด้วยลีลาตัณหาของช่างที่อาจจะห่างเหินจากเมียและครอบครัว

  

                                                นี่แหละครับภาพสลักอีโรติก น่ารัก ๆ

              

 

                 ทวารบาลที่ยืนตระหง่านวันนี้ไม่สามารถปกป้องคนชั่วช้าสามาณย์ที่มีจิตใจต่ำทรามได้เลย เมื่อวันที่ 19 พค.2551 คนชั่วได้บุกรุกเข้ามาทุบทำลาย ทำพิธีกรรมชั่วช้า      

                 ขอให้กรรมตกต้องไปยังพ่อแม่พี่น้องลูกหลานเหลนของมันผู้เลวทราม ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เฉกเช่นกรรมที่จะต้องตามทันเข้าสักวัน

                                 

                                    เกิดมาเสียชาติเกิดคนบุรีรัมย์เสียจริงๆ 

ดูลวดลายสลักเสลาหินทรายสีชมพูที่ฐานปรางค์ประธานนะครับ ว่ามันช่างวิจิตรพิศดารเพียงใด นี่คือทรัพสินของแผ่นดิน นี่คือทรัพยากรท่องเที่ยวที่ทรงคุณค่าของอารยะธรรมขอมโบราณ เป็นสมบัติของมนุษยชาติที่ตกทอดจากบรรพบุรุษมาถึงวันนี้ เป็นทรัพย์อันควรทะนุถนอมและหวงแหน 

ใครทำลาย มันผู้นั้นทำลายชาติและความเป็นมนุษยชาติ                    

                    

                สิ่งมหัศจรรย์ของพนมรุ้งอย่างหนึ่งคือวันที่ 3-5 เมษายน และ 8-10 กันยายน ของทุกปี ดวงอาทิตย์ขึ้นช่วงเวลา 06.00-07.30 น.จะมองเห็นแสงลอดประตูทั้ง 15 บาน ชาวบ้านจะเดินเท้าขึ้นมาเพื่อชมความอลังการที่ผสานระหว่างธรรมชาติและสิ่งก่อสร้างของบรรพชน นอกจากนี้ในวันที่ 6-8 มีนาคม และ 6-8 ตุลาคม ของทุกปี ดวงอาทิตย์ก็จะตกและสาดแสงส่องลอดประตูทั้ง 15 บาน เช่นกัน  แต่สำหรับผมแล้ว ผมอยากไปทุกฤดูกาล เพื่อเก็บงำความสวยงามที่แตกต่าง

                     

Tags : พนมรุ้ง บุรีรัมย์ ปราสาทขอม ธงชัย เปาอินทร์

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view