http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,957,249
Page Views16,263,557
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

เกร็ดเมืองเขมราฐฎร์ธานี : จังหวัดอุบลราชธานี

เกร็ดเมืองเขมราฐฎร์ธานี : จังหวัดอุบลราชธานี

                                     เกร็ดเมืองเขมราฐฎร์ธานี : จังหวัดอุบลราชธานี

                                                                                     ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

 

              พ.ศ.2517 ปลายปี ผมได้ไปอยู่เพื่อทำงานในพื้นที่ป่าเมืองเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ถนนหนทางจากเมืองอุบลฯลาดยางสองช่องจราจรเล็กๆ ใช้เวลาเดินทางสองชั่วโมง แค่ระยะทางเพียง 104 กม.(อุบล-ตระการ-เขมราฐ) ผมพักที่โรงแรมกลางตลาดเขมราฐ แต่หน้างานจริงๆต้องเดินทางต่อไปบนถนนรถลากไม้ ยากลำบากมากๆ เหนื่อยและใช้เวลาโยกคลึงไปตลอดทาง ปลายทางอยู่ที่บ้านโสกชัน ตำบลโพธิ์ไทร 

                               

            แน่นอนว่าป่าไม้ก็ต้องทำงานในป่า งานในหน้าที่ช่วงนั้นเป็นการตัดเลือกตีตราไม้ เพื่อให้ป่าไม้เขตอุบลราชธานี กรมป่าไม้ ที่เป็นต้นสังกัดออกใบอนุญาตให้บริษัทอุบลราชธานีทำไม้จำกัด ตัดฟันตามที่ผมคัดเลือกไว้ ซึ่งเป็นการคัดเลือกด้วยวิธีการคัดเลือกไม้ที่ได้ขนาดจำกัด(Selection system) นั่นหมายความว่า กรมป่าไม้กำหนดไว้แล้วว่า ต้นไม้ชนิดไหนต้องมีขนาดความโตวัดที่สูงเพียงอก(1.30 เมตร) เท่าไร เช่น ไม้ยางมีขนาดจำกัด 200 ซม. ต่ำกว่านี้ก็คัดเลือกตีตราให้ตัดไม่ได้ ผิดระเบียบ 

                   

             พื้นที่ป่าที่ผมต้องเข้าไปทำงานนั้นกว้างใหญ่ไพศาล เดินผ่านป่าดงดิบที่มีต้นยาง ต้นตะเคียน ต้นกะบาก ต้นสนสองใบ ต้นปู่เจ้า ต้นพันชาด ต้นเขลง ต้นพะยอม  ฯลฯ ร่มทึบไปทั้งราวไพร ด้วยว่าเรือนยอดต้นไม้เหล่านั้นชนกันหมด บดบังแสงแดดที่สาดส่องจนสิ้น ผมเดินคัดเลือกไม้ใต้ร่มเงาทะมึน แต่เดินทั้งวันอาการก็ออกเหนื่อย (07.00-18.00 น.) เหม็นเปรี้ยวเหงื่อมาก

                                

                                             เสื้อยีนจีนแดงแขนยาว..ลุยทั้งวัน

             เชื่อไหมครับว่า อีกสองปีถัดมา ผมกลับไปด้วยหน้าที่ปราบปรามการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ป่าที่ผมเหลือต้นไม้ไว้เป็น ไม้สงวน ไม้เชื้อ ไม้โทน ไม้สันเขา ไม้ริมห้วยหนองคลองบึง ไม้ต่ำขนาดจำกัด(ไม้ชั้นสอง)  ตามหลักวิชาการ ไม่เหลือเลย พื้นที่แถวบ้านโสกชันกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม มีหน่วยงานใหม่เรียกว่าสวนป่าเข้าไปปลูกป่าทดแทน

                    

                                 เช้าชมพระอาทิตย์ขึ้น  ตะวันรอนๆชมพระอาทิตย์ตกดิน

            มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมต้องไปเดินสอบสวนสิทธิ์ทำกินของชาวบ้านในป่าฝั่งขวาแม่น้ำโขงท้องที่อำเภอเขมราฐนี้แหละ เดินจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง เดินฝ่ากลางป่าใหญ่ๆใต้ร่มไม้รกครึ้มทั้งวัน นานๆทีก็พ้นขอบร่มเรือนยอดต้นไม้เข้าไปในที่ดินทำกิน(ปลูกมันสำปะหลังและข้าวไร่) แล้วก็เข้าร่มเงาต้นไม้ป่าดงทึบไปอีกนานนับชั่วโมง ค่ำที่บ้านไหนก็ทำงานที่บ้านนั้น เรียนวนศาสตร์(วิชาการป่าไม้) ช่างทุกข์ยากเสียนี่กระไร น้องชายผมเรียนรัฐศาสตร์เป็นปลัดอำเภอก็อยู่แต่ในอำเภอ ไม่ได้เดินดงจนหน้าดำอย่างผมสักหน่อย วาสนาไอ้เรืองนะนี่

                    

                                                    วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน

            ผมกลับไปคราวนี้ ช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2553 ผมเดินหาโรงแรมกลางตลาดที่เคยพักพิง ร้านค้าพรรคพวกที่เคยพูดคุย ไม่พบเลยสักคน ตลาดเหลือเรือนแถวไม้ไม่กี่หลัง ตึกแถวเกิดขึ้นทดแทน  ผมขับรถเลียบถนนชายโขง ยังร่มเย็นเหมือนเดิม แม่น้ำโขงมีน้ำมากพอดู ชาวประมงพื้นบ้านลอยเรือหากินอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ชายโขงมีร้านอาหารมาทดแทนบ้านเรือนเดิมๆ แปลงผักที่ปลูกตามชายแม่น้ำโขงหยุดทำการ เนื่องจากน้ำกำลังขึ้น 

                     

                                                     ตลาดอำเภอเขมราฐวันนี้

             ผมเปิดอินเตอร์เนตพูดได้(อ.เอื้อยนาง)ปุ๊บก็รู้เรื่องราวว่า แท้ที่จริงประชาชนคนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงซึ่งก็คือคนเมืองอุบลราชธานีนั้นเป็นคนเชื้อสายลาวที่อพยพย้ายถิ่นฐานอันเป็นการขยายพื้นที่ทำมาหากิน  ใกล้ๆกันมีนครจำปาศักดิ์อยู่ทางลาวใต้อีกหัวเมืองหนึ่ง นั่นคือต้นเรื่องเมืองอุบลราชธานีหรือเมืองหนองบัวลำภูหรือเมืองนครเขื่อนขันฑ์กาบแก้วบัวบาน มีหลายชื่อจริงๆ

                    

                                                    ด้านหน้าอุโบสถวัดชัยภูมิการาม

             แต่ที่พบเพิ่มเติมคือเรื่องของเมืองเขมราษฎร์ธานี ซึ่งวันนี้คืออำเภอเขมราฐ เรื่องเล่ามีอยู่ว่า ท้าวก่ำ ลูกชายของพระวอ อดีตเสนาบดีนครเวียงจันทน์ที่อพยพมาตั้งเมืองหนองบัวลำภูกับพระตา ซึ่งเป็นญาติพี่น้องกัน  ได้ขยายพื้นที่ไปยังชายแดนด้านเหนือสุดริมฝั่งแม่น้ำโขงตรงจุดที่เรียกว่า บ้านโคกกงพะเนียง  ต่อมาได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงโปรดให้ท้าวก่ำอุปฮาดเมืองอุบลเดิมเป็น "พระเทพวงศา" เมื่อปีพ.ศ.2357 ปกครองเมืองเขมราษฎร์ธานีแต่นั้นมา 

                   

                    

                                                       อุโบสถมหาอุตเก่าแก่

             ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ปรับปรุงการปกครองใหม่แบ่งอีสานออกเป็น 8 มณฑล เมืองเขมราฎร์ธานี มีผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรกชื่อ เดชธนีรักษ์ 

 พ.ศ.2452 เมืองเขมราฐฎร์ธานีถูกลดฐานะเป็นอำเภอ ขึ้นตรงต่อเมืองยโสธร แล้วจึงโอนย้ายมาขึ้นตรงต่ออุบลราชธานีเมื่อพ.ศ.2455  มีวัดชัยภูมิการาม เป็นวัดที่มีอุโบสถแบบมหาอุต พระประธานสวยงามตามแบบศิลปะล้านช้าง ศาลาการเปรียญหลังเก่ามีภาพวาดด้วยสีธรรมชาติศิลปะพื้นบ้านเช่นกัน 

                  

                                                    พระประธานในอุโบสถ            

              น่าเสียดาย....นี่ถ้าเมืองเขมราฐฎร์ธานียังดำรงฐานะเป็นจังหวัดอยู่ ประเทศไทยก็จะมีจังหวัดชายแดนลาวติดฝั่งแม่น้ำโขงอีกจังหวัดหนึ่ง ซึ่งก็คงจะเจริญมากกว่าทุกวันนี้

                    

            เพราะว่าเมืองนี้มีเรื่องเล่ามากมาย ว่ากันว่าพบโครงกระดูโบราณอายุกว่า 2,000 ปี

มีอารยะธรรมและวัฒนธรรมประเพณีมากเหลือ เป็นเมืองที่แสดงเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ไทยผสมอย่างเหนียวแน่น ผ้าพื้นทอมือ  วัฒนธรรมเรื่องอาหารการกิน และการอยู่ วิถีชีวิตเรียบง่าย อากาศและภูมิประเทศที่สวยงามน่าอยู่                    

                    

                                                               ศิลปะพื้นบ้าน

              

 

             

 

 

              

            

 

 

         

Tags : เขมราฐ อุบลราชธานี เขมราฐฎร์ธานี

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view