http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,956,070
Page Views16,262,339
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ลาดชะโด :ตลาดโบราณสืบสานวิถีชีวิตแสนงาม โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

ลาดชะโด :ตลาดโบราณสืบสานวิถีชีวิตแสนงาม   โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

    

                                     ลาดชะโด :ตลาดโบราณสืบสานวิถีชีวิตสงบและแสนงาม  

                                                                              โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

 

                ลาดชะโดดังมาตั้งแต่ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าเรื่องอดีตบ้านเรือนไทยที่สวนพลูของท่านลงใน นสพ.สยามรัฐ นั่นเท่ากับเปิดตลาดลาดชะโดในหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ที่เพิ่มสีสันและเล่าเรื่องได้อย่างกว้างขวางยิ่ง  แต่เนื้อแท้แล้ว คลองลาดชะโดมีหมู่บ้านอยู่อาศัยสองชายฝั่งหนาแน่นมานับร้อยๆปี โดยเพาะตัวตัวตลาดลาดชะโดซึ่งเป็นแหล่งรวมสรรพสินค้าทั้งซื้อและขายให้กับชุมชนคนทั่วๆไป มันเป็นวิถีชีวิตที่สงบ สวยงาม และยั่งยืน 

                                                คุณป้ากลับมานั่งขายคลายเหงา                               

            วันนี้ ตลาดลาดชะโดยังคงสภาพสิ่งปลูกสร้าง เค้าโครง โรงเรือน เหมือนเดิม มีบางส่วนชำรุดไปตามอายุไขของไม้ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง แต่ชาวตลาดลาดชะโดยังคงอยู่อาศัยและทำกินกันไปตามภาวะการเปลี่ยนแปลง ที่เคยขายของกินของใช้ วัสดุการเกษตร อะไหล่เรือและเครื่องมือการเกษตร ฯลฯ ลดราลงไปบ้าง แต่ก็ยังมีร้านที่เปิดขายให้กับชุมชนที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไป เหมือนเจ๊เจ้าของร้านหัวมุมเล่าว่า

              "มันเคยเคยนะ ก็ยังอยากขายอยู่ ตะเกียงกระจุก ตะเกียงรั้ว ไม่มีใครค่อยซื้อกันแล้ว แต่เหลืออยู่ก็ขายไป บางคนที่มาซื้อเพื่อเก็บสะสม"

                     ขนมชั้นบรรจงทำ                                     ขนมเก่าๆที่ถูกถ่ายทอดให้ลูกหลาน

               ผมกลับมาเดินที่ตลาดลาดชะโดนับครั้งไม่ถ้วน แต่มาคราใดผมก็ยังรู้สึกว่า ได้กลิ่นอายความวุ่นวายของตลาดเมื่อ4-50 ปีที่ผ่านมาเสมอ ชาวบ้านหอบสินค้าจากในไร่ในนามาส่งขาย แล้วก็ซื้อสินค้าจำเป็นกลับไปใช้ ไปกินที่บ้าน ขนมหวาน ขนมจากกรุงเทพ เป็นของแปลกที่เด็กๆชอบ ด้วยความรักและห่วงใย พ่อกับแม่ก็มักจะซื้อหาไปฝาก แต่ถ้าแห  ยอ  ลอบ  หรือสวิงขาด ก็ซื้อไปใช้หากินที่บ้าน วัฎจักรของวงเวียนชีวิตชาวตลาดกับชาวนา แนบแน่น ผูกพัน และได้ใจ

                          โรงหนังจำลอง                                         ภาพใบปิดหนังในอดีต

              ผมจอดรถยนต์ที่วัดลาดชะโดแล้วเดินเข้าตลาดลาดชะโดบนทางแคบๆ ผ่านโรงเรียนวัดลาดชะโด คุณครูคณะหนึ่งนั่งผัดไทยขายให้กินในอาคารโรงเรียน  ผ่านตรอกกลางตลาดแคบๆ มีร้ายขายก๋วยจั๊บ ขนมสำหรับเด็กๆ ของเล่น กิ๊บหลากสี ตลาดผักพื้นบ้าน ปลาท้องนาและจากคลองลาดชะโด มีทั้งปลาสดในกะละมังและปลาย่างแห้งซื้อกลับไปกินที่กรุงเทพได้ เลยเข้าไปเส้นกลางของตลาด เป็นพิพิธภัณฑ์สืบสานวิถีชีวิตชาวบ้านทั่วๆไป เครื่องมือการทำกินหลากหลาย

                                         เรือแดงสองชั้นในอดีตที่เคยโดยสาร

              เลยไปอีกนิดเป็นร้านขายขนมนมเนย กาแฟโบราณ ร้านเป็ดพะโล้เจ้าอร่อยหยุดขายจึงไม่เจอกัน ก๋วยเตี๋ยวริมคลองลาดชะโด วันนี้มีเรือนแพลอยน้ำให้ลงไปนั่งสัมผัสบรรยากาศผิวน้ำได้ด้วย มีเรือนำเที่ยวชมวิถีชีวิตชาวลาดชะโดราคาคนละ 10 บาท ถูกมากๆ แต่เรือจะออกก็ต่อเมื่อมีผู้โดยสารเกินกว่า 6 คน รอบๆตลาดเดินวนไปหากันได้หลายตลาด  แต่ละตลาดก็มีทั้งของกิน ของใช้ ของฝาก และได้เห็นห้องนิทรรศการภาพเล่าเรื่องของชาวลาดชะโด อลังการ

 

                        คุณยายเดินมาพัก                                สะพานสูง(ไม้) ข้ามคลอง

               หันหลังกลับไปเห็นภาพนิทรรศการด้วยวัสดุเครื่องใช้ไม้สอยและหนังสือ สงสัยจังว่าใครจัด เดินเข้าไปถ่ายรูปฉับๆ แล้วก็ได้พบกับศิลปินที่หน้าตาท่าทางใจดี ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่งกายด้วยวิสัยของศิลปินทั่วๆไป ออกแนวคลาสสิคสมกับยุคสมัยของผมที่หยิกหยอย ผมเดินเข้าไปหาและขออนุญาตถ่ายภาพพร้อมแจกนามบัตร www.thongthailand.com 

               "เอะ เป็นอะไรกับพี่นิวัตร เปาอินทร์ที่ตลาดเก่าเมืองระยอง" ผมได้รับคำถามด้วยเสียงนุ่มน่าฟัง

               "เป็นญาติลูกพี่ลูกน้องกันครับ"  เท่านั้นเอง เรื่องราวต่างๆก็พรั่งพรูออกมาอย่างเต็มใจ 

                    

                                                  ศิลปิน ชอง ระย็อง

               "ผมเป็นคนระยอง เคยอยู่ตลาดเมืองเก่านั่นแหละครับ แต่เมื่อตลาดเก่าเมืองระยองดังมาก ผู้คนก็มากตามไปด้วย ความสงบที่เคยมีอยู่หดหายไปนะครับ" 

               "ผมเดินทางออกมาอยู่ที่ตลาดน้ำคลองระแหงปทุมธานี แล้วก็สัญจรจนมาพบที่นี่ ตลาดลาดชะโด ได้อารมณ์(ศิลปิน) เงียบสงบ มีเรื่องราว แต่ไม่เหงา ผู้คนน่ารักและเป็นกันเอง ผมตัดสินใจมาอยู่ที่นี่เพราะเหตุนี้ครับพี่" 

                    

                                                ท่าทีที่สื่อถึงอารมณ์สุนทรี

               "ในวงการเรียกผม ชอง ระย็อง ครับ ส่วนประวัติผมนั้นคงไม่เปิดเผยตัวตนมากนัก อยากให้เห็นครับว่า เครื่องหมายคำถามคือตัวตนที่ผมเป็นอยู่" 

                ผมฟังแล้วก็รู้สึกฉงนฉงายใจ  คนไม่อยากดัง อยากอยู่เงียบ และทำงานตามอุดมการณ์สืบสานงานศิลป์ไปตามความต้องการของอารมณ์ ยังมีอยู่อีกหรือ วันนี้ศิลปินหลายคนเปลี่ยนเป็นศิลปินเพื่อธุรกิจกันไปหมดแล้ว  ภรรยาคุณชองออกมาส่งกาน้ำชาพร้อมถ้วย

                     

                                                       ดูเอาเลย สวยไหม

 

                "จิบชาร้อนๆ ด้วยกันนะคะ" 

                ระหว่างการเสวนา ผมรู้สึกทึ่งและฉงนใจ ผมเหลือบตาแล การจัดวางหนังสือ สิ่งของต่างๆ ในแสงเงาทึมๆแต่ชวนสนใจ นึกในใจ"เข้าใจจัด" แต่ปากกลับบอกว่า

                "ตกแต่งร้านได้สวยงามมากนะครับ ผมคงทำไม่ได้ นี่มันอารมณ์ของศิลปิน ผมไม่มีเซ้นท์เลย"

                    

                                                           เริ่มมีแม่ค้ามาขายภาพ

                ผมสารภาพด้วยความจริงใจและยอมรับความจริง ใช่แล้วละครับ ความสามารถเฉพาะตัวนี้ลอกเลียนแบบกันได้แต่ไม่มีทางเหมือน               

                "ผมขออนุญาตถ่ายภาพไปเล่าเรื่องลงในเว็บนะครับ ตลาดลาดชะโดวันนี้ไม่ธรรมดาเสียแล้ว คุณชองกลายเป็นจุดขายของตลาดน้ำโบราณแห่งไปแล้ว"

 

                           

                                     ร้านรวงกลับมามีชีวิต  ถ้ามีโฮมสเตย์คงน่าสัมผัส

                    ผมร่ำลาคุณชองและภรรยา  ดีใจที่ได้เห็นว่าตลาดโบราณลาดชะโดมีศิลปินมาช่วยให้เกิดความน่าสนใจมากขึ้น แท้จริงแล้วผมอยากคุยกับคุณชองต่ออีกเยอะ แต่ก็รู้สึกเกรงใจ เวลาทุกนาทีของเขาแตกต่างจากคนธรรมดาสามัญเช่นเราๆ ขอบคุณครอบครัวคุณชองที่เพิ่มสีสันให้กับตลาดลาดชะโดโบราณแห่งนี้ครับ

                   ผลงานที่ลาดชะโด                                            เครื่องหมาย ? คือตัวตน

                    ผมวกกลับไปตามทางเดินที่สะดวก ร่มรื่นและปลอดภัย มีร้านรวงอีกมากมายที่อยากไปเยี่ยมยามถามไถ่อีก  นั่นคือร้านขายกับข้าวในกะละมัง เห็นแล้วน้ำลายสอเชียวครับ ก็ต้มเค็มปลาตะเพียนทั้งเกล็ด ปลาร้าใส่ปลาชิ้นโตๆ  แกงขี้เหล็ก และแกงบอน ของหากินยากที่สุดในโลกของอาหารการกินวันนี้ แต่ที่ตลาดโบราณลาดชะโดมีให้กินได้อย่างเหลือเฟือ 

              ต้มเค็มปลาตะเพียนไร้ก้าง                            แกงขี้เหล็กบ้าน..เห็นแล้วน้ำลายไหล

 

                      ปลาร้าปลาสดๆ                                        แกงบอนหากินยากขึ้นทุกวัน

                  ถาดถัดไปเป็นห่อหมกปลาห่อด้วยใบตอง กลิ่นหอมโชยมาก็ชวนกินแล้ว เมื่อลองเปิดแล้วชิมก่อนซื้อ "อร่อยยังกับฝีมือแม่เชียว" ผมก็เลยซื้อกลับมากินที่บ้านอีกครับ ผมเป็นคนชอบกินข้าวแกงกลางตลาด ไปกินที่ไหนๆก็รสชาติออกหวานจนเอียน กินไม่ลง แต่เมื่อมาเจอรสชาติยังกับแม่ทำให้กินมาแต่อ้อนแต่ออก อดใจไม่ไหว

                    ห่อหมกปลาแม่น้ำ                                               ข้าวหมากกำลังน่ากิน

                 ตลาดลาดชะโดโบราณแห่งนี้ เปิดเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ยังมีที่ว่างให้เดินได้สะดวกสบาย ไม่แออัด ที่จอดรถสะดวกกว้างขวาง เข้าไปจอดได้สองแห่ง แต่ที่วัดกว้างขวางมากกว่าครับ  การเดินทางไปตลาดลาดชะโดหรือครับไปได้หลายทางเลย ถ้ามาจากกรุงเทพนนทบุรีหรือปทุมธานีหรือชานเมือง ไปตามถนนสายเอเซียแล้วไปเลี้ยวซ้ายที่ป้ายบอกทางว่า ไปอ.ป่าโมก-ไผ่ขวาง,สุพรรณบุรี  วิ่งเลยอำเภอป่าโมกไปถึงสี่แยก อ.ผักไห่และอ.วิเศษชัยชาญ เลี้ยวซ้ายไปตามถนนลาดยางจนถึงสะพานเล็กๆ มีป้ายบอกทางไปตลาดลาดชะโดชัดเจนครับ ระยะทางแค่ 130 กม. ไม่ไกลเลย หรือมาจากทางตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี-ไผ่ขวาง-ผักไห่-ตลาดลาดชะโดก็ได้เช่นกันครับ ระยะทางพอๆกัน 

                    

                                       อาคารเรียนสุทธาประมุขหลังเก่าที่อนุรักษ์ไว้

                 อยากจะเล่าว่า ก่อนไปตลาดโบราณลาดชะโดนั้น ผมไปที่สมาคมนักเรียนเก่าสุทธาประมุข อันมีนาย ปราโมช พันธุ์รัตน์ เป็นนายกสมาคม  โรงเรียนแห่งนี้มีอาคารเรียนตั้งอยู่ในน้ำครับ แปลกแตกต่างจากโรงเรียนทั่วๆไป ในการประชุมคณะกรรมการสมาคม ก็เพื่อที่จะช่วยกันพัฒนาโรงเรียนเก่าแก่ที่เคยร่ำเรียนกันมา  และเพื่อช่วยให้นักเรียนปัจจุบันได้มีวัสดุอุปกรณ์การเรียนการ

สอน เป็นมุทิตาจิตจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง เป็นกุศลอีกหนึ่งวิถีที่พึงช่วยกันคนละไม้คนละมือ ผมได้เห็นความตั้งใจของคณะกรรมการสมาคมนี้แล้วก็รู้สึกเห็นใจ ชอบใจ และอยากให้ความร่วมมือทุกทางที่สมาคมอยากให้ช่วย                         

                  หลังการประชุมคณะกรรมการแล้วเลี้ยงข้าวด้วยแกงส้มสารพัดผัก รสชาติผักไห่พันธุ์แท้ ฝีมือครูอาจารย์ช่วยกันทำแต่นายกสมาคมจ่ายตังส์  เคียงด้วยปลาช่อนแดดเดียวทอด อร่อยจนผมอดใจไม่ไหวกินไปสองชุด จุกเลย นี่ถ้าได้นั่งประชุมท่ามกลางเรือนกลางน้ำที่ปิดโล่งแล้วนั่งกินอาหารตรงนั้น คงเยี่ยมเลย ประหยัดค่าไฟฟ้าค่าแอร์ และลดโลกร้อนไปได้อีกพะเรอ..

                              วัดชีโพน                                                 แม่น้ำน้อยอ้อยอิ่ง

                                                      วังปลาหน้าวัดตึกคชหิรัญ

                  หลังจากประชุมเสร็จผมแวะไปให้ทานด้วยการให้อาหารปลาที่วังปลาหน้าวัด  ซึ่งมีเรือนแพสองหลังริมฝั่งแม่น้ำน้อย อาหารปลาถุงละ 10 บาท ก็ช่วยให้มีความสุขใจเหลือหลาย ผมนั่งผึ่งลมริมน้ำแล้วมองทอดข้ามไปยังวัดเก่าแก่แต่สวยงามมากชื่อ วัดชีโพน ท้องฟ้าที่ใสกระจ่าง สายน้ำที่เย็นฉ่ำไหลเรื่อยๆเอื่อยๆ มันช่างสวยงามและไม่อยากจะลุกไปไหนต่อเลยครับ อยากไปที่วัดนี้ ถามทางไปได้ไม่ยาก ถนนลาดยางมีทั่วแผ่นดินแล้ว  

 

                                                  สินค้าเก่าๆในตลาดลาดชะโด

 

Tags : ตลาดโบราณ ตลาดน้ำ ลาดชะโด ผักไห่ อยุธยา

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view