http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,994,348
Page Views16,302,648
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

วัดศรีดอนมูล: อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มีดีอะไรหรือ โดยทิดท้วม เรื่อง//ภาพ-ธงชัย เปาอินทร์

วัดศรีดอนมูล: อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มีดีอะไรหรือ   โดยทิดท้วม เรื่อง//ภาพ-ธงชัย เปาอินทร์

 

                            วัดศรีดอนมูล: อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มีดีอะไรหรือ

                                                                                        โดยทิดท้วม/เรื่อง ภาพ-ธงชัย เปาอินทร์

                  ความหลังที่อำเภอสารภี เป็นความรู้สึกสำนึกผิดที่อยากกล่าวคำขอโทษ..ที่ไม่กล้าพูดความจริง แต่นั่นก็เป็นเรื่องของอดีตที่ผ่านมานานกว่า 36 ปี ความดีใจที่เหลืออยู่คือไม่ได้ประทับตราบาปให้กับเธอผู้บูชาความรักเป็นสรณะ ด้วยมโนสำนึกดีๆที่ยังเหลืออยู่ แต่วันนี้ได้ไปเยือนแดนดินถิ่นพระธรรมที่ชวนให้รำลึกนึกถึงอดีตรักดอกทองกวาว วัดศรีดอนมูล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่  ด้วยหัวใจบริสุทธิ์ที่เปี่ยมล้นในรสพระธรรม ใช่แล้วครับ ผมไปกราบไหว้ครูบาน้อย เกจิอาจารย์ชื่อดังผู้คงขลังในพระเวทย์

                      

                                                    คืนก่อนวันตักบาตรพระอุปคุต 

               ตอนที่ไปถึงมืดแล้ว ได้เดินเข้าไปชมการตักบาตรเที่ยงคืนแด่พระอุปคุต และได้เห็นศรัทธาอันแรงกล้าของญาติโยมมากมาย ได้เห็นพระอุปคุตรุ่นเหลือกินเหลือใช้ และรุ่นจกบาตร อันเป็นพระเครื่องที่ได้รับความนิยมมากของวัดศรีดอนมูล ได้เห็นกระท่อมไม้ไผ่ที่สร้างไว้ให้ญาติโยมที่มาทำบุญพักอาศัยอยู่ได้  ได้เห็นพระมหาเจดีย์ที่กำลังก่อสร้าง นอกจากนั้นยังได้เห็นการก่อสร้างห้องพักเพื่อปฏิบัติธรรม 108 ห้อง

              ตอนเช้าตรู่ ตื่นนอนด้วยความรู้สึกปลอดโปร่ง มีเป้าหมายว่าจะได้ไปเห็นวัดศรีดอนมูลตอนกลางวัน หลังอาหารได้เดินทางไปที่วัด ได้เข้าไปกราบนมัสการครูบาน้อย ท่านเป็นพระอริยะสงฆ์ที่มีรูปร่างบอบบาง ใบหน้าเปี่ยมบุญ และครองจีวรสีกรัก กำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอยู่ และระหว่างนั่งรอได้เห็นพิธีกรรมที่ดูสวยงาม น่าศรัทธา และแปลกตา มีญาติโยม 3 คนนั่งอยู่ในระหว่างซุ้มสืบชะตา พระสงฆ์เก้ารูปสวดพระธรรมให้พรและปัดรังควาญ

                         

                                                                 กุฎีเจ้าอาวาสและออกรับแขก

              เมื่อได้ฟังคำอวยชัยให้พรเป็นภาษาล้านนา  เรียกกันว่า การปันปอน หรือการปันพร หรือการให้พร ซึ่งไม่เคยพบเคยเห็นที่วัดใดในล้านนา มีเพียงวัดนี้เท่านั้นที่คงคำปันปอนไว้อย่างเข้มขลัง ดูเป็นกรรมพิธีและดูมีความหมาย แม้จะฟังออกบ้าง ไม่ออกบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม เป็นคำอวยพรที่มากไปด้วยคำดีๆ มีความหมายและเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่รับพร ญาติโยมจึงนิยมมารับฟังคำปันปอนของครูบาน้อยกันมากมาย ว่ากันว่า นายพันนายพลจากทั่วประเทศนิยมกันมาก

               ผมเห็นกุฎีที่ครูบาน้อยจำวัดแล้วแทบหงายหลัง      ด้วยอาคารกุฎีหลังนี้ช่างใหญ่โตมโหราฬ เสาเป็นไม้สักเหลากลมขนาดใหญ่ พื้นไม้และฝากุฎี เป็นไม้สักทั้งหลัง  ไม่ได้นับนะครับว่า มีเสากี่ต้น แต่พอจะประเมินได้ว่า เบ็ดเสร็จกว่าจะสร้างเสร็จถ้าจะหลายสิบล้านบาท เป็นบารมีอย่างหนึ่งที่ครูบาน้อยได้พัฒนาวัดศรีดอนมูล จากวัดเล็กๆ จนกลายเป็นวัดพัฒนาทั้งนี้ก็ด้วยพลังศรัทธาโดยแท้

                                               

                                                                             สามเณรครูบาน้อย

               วัดศรีดอนมูล  สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฎหลักฐาน แต่ชื่อเดิมของวัดคือวัดพระเจ้าก้นกึ่ง เนื่องจากมีพระพุทธรูป จำนวนมาก และมีสภาพเป็นวัดร้าง จึงมีช้างเข้ามาอาศัยหากินอาหาร และได้ใช้งางัดพระพุทธรูปจนหน้าคว่ำลง ทำให้ฐานพระพุทธรูปยกขึ้น จึงเรียกขานว่า "วัดพระเจ้าก้นกึ่ง" อันเป็นสำเนียงตามภาษาพื้นเมืองล้านนาโดยแท้ 

                           

                                                                             พระธาตุหลังวิหาร

                วัดนี้  สันนิษฐานกันว่าน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยของพระเจ้าติโลกราช ครั้นพม่าบุกเข้ายึดเมืองเชียงใหม่ได้เป็นเมืองขึ้น ผู้คนอพยพหนีภัยไปไกล จึงปล่อยให้วัดร้างแรมไปอย่างยาวนาน  ตราบจนถึงสมัยพระเจ้ากาวิละ ได้กอบกู้อิสระภาพขับไล่พม่าออกไป และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ทรงพระนามว่า "พระเจ้าวชิระปราการ" แล้วได้พระกรุณาโปรดเกล้าให้แสนพิงยี่เป็นแม่ทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน แต่ตีไม่แตก จึงได้กวาดต้อนเอาราษฏรในละแวกชายแดนเชียงแสนมาเป็นจำนวนมาก

                     

                                                           ครูบาน้อย เตชะปัญโญ

                  พระเจ้ากาวิละให้พญาชมภูพาชาวเชียงแสนไปตั้งรกรากอยู่ทางทิศตะวันออกของตำบลยางเนิ้ง เมื่อหักร้างถางพงออกจึงพบวัดร้าง และพระจำนวนมากก้นกึ่งกลิ้งโค่โล่ไปทั่ว จึงได้รื้อฟื้นเป็นวัดอีกครั้ง และนั่นคือที่มาของชื่อวัดพระเจ้าก้นกึ่ง  ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อวัดศรีดอนมูล วัดศรีดอนมูล ต.ชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ๕๐๔๑๐ โทร. ๐๕๓-๔๒๐๒๗๗, ๐๕๓-๔๒๑๐๔๐  ส่วนตำบลชมภูก็ตั้งตามพญาชมภูผู้นำที่เป็นคนพามาตั้งถิ่นฐานบ้านช่อง นอกจากนั้นยังพบวัดร้างอีกวัดหนึ่ง เมื่อฟื้นเป็นวัดจึงได้ชื่อว่า วัดพญาชมภู  

                          

                                                 คุณไตรเทพ ไกรงู คมชัดลึกกำลังสัมภาษณ์ครูบาน้อย

               วัดศรีดอนมูลมีเจ้าอาวาสองค์ที่หนึ่งชื่อครูบาผัด องค์ที่สองคือครูบาน้อย  เตชะปัญโญ หรือพระครูสิริศีลสังวร อายุ 58 ปี พรรษาที่ 36 ชาติภูมิเดิมท่านชื่อประสิทธิ์ กองคำ (พ.ศ.2494) ปีขาล เกิดอยู่ที่บ้านศรีดอนมูล ต.ชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ค่อมาครูบาผัดขอให้มาอยู่ปรนนิบัตรท่านที่วัดตั้งแต่อายุ 13 ปี เป็นสามเณร และอุปสมบทเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เมื่อพ.ศ.2514 

                           

                                                                 พิธีสืบชะตาตามแบบฉบับล้านนา

             ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดหริภุญชัย จ.ลำพูน ฝึกวิปัสนากัมมัฏฐานจากครูบาผัดและครูบาพรหมมา พรหมจักโก วัดพระพุทธบาตรตากผ้า จ.ลำพูน ต่อมาศึกษาธรณีศาสตร์และพระคาถาต่างๆจากหลวงปู่หล้าตาทิพย์ วัดป่าตึง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ศึกษาอักขระล้านนา  วิทยาคมด้านเมตตามหานิยม ตำรายาสมุนไพร  จากครูบา คำปัน นันทิโย จากวัดหม้อคำตวง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และเรียนเข้านิโรธกรรมจากตำราของครูบาศรีวิชัย

                              ลวดลายผนังนอกโบสก์                                                       หน้าต่างโบสก์

              ครูบาน้อยเข้านิโรธกรรมครั้งละ 7 วัน โดยเริ่มเมื่อพ.ศ.2537 ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นปีแรก  เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่ครูบาผัดที่กำลังป่วยหนักอยู่ ครูบาน้อยได้ชื่อว่าเป็น นักบุญยอดกตัญญู ธุดงค์ไปทั่วป่าเขาลำเนาไพร แต่สุดท้ายก็กลับมารับใช้ในการพัฒนาวัดให้กับครูบาผัดผู้พระอาจารยที่เคารพรัก ตราบจนครูบาผัดสิ้นแล้วจึงได้สืบทอดเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สองของวัดศรีดอนมูล 

                                ปางจกบาตร                                                                 ปางเหลือกินเหลือใช้

              พระเครื่องและตะกรุดที่ครูบาน้อยสร้างเพื่อบอกบุญในการพัฒนาอารามต่างๆมากมายหลายรุ่น  รุ่นที่ได้ชื่อว่านิยมมากก็เช่น พระอุปคุตปางจกบาตร  และรุ่นเหลือกินเหลือใช้ แล้วนำจตุปัจจัยมาสร้างขยายพื้นที่วัดจาก 6 ไร่ กลายเป็น 15 ไร่  พร้อมพุทธสถานมากมายหลายสิ่ง

คติธรรมของครูบาน้อยที่ยึดถือคือ  

              "คิดก่อนทำ  ไม่ใช่ทำแล้วคิด  คิดก่อนพูด ไม่ใช่พูดแล้วคิด  คิดก่อนไป  ไม่ใช่ไปแล้วคิด  คิดดีเพื่อดี คิดดีสู่ดี  ของจริงทำจริง  เห็นจริง ของดีทำดี  เห็นดีคิดดี เพื่อดี  คิดดีสู่ดี คิดชั่ว ทำชั่ว ได้ชั่ว  ฉะนั้น ให้ถึงพร้อมทานศีลภาวนา นิพพานัง ปรมัง สุขัง"  

               ครูบาน้อยออกบิณฑบาตรโปรดสัตว์ทุกเช้า โปรดทานญาติโยมทุก 10.00 น.เป็นต้นไปทุกวัน     

Tags : วัดศรีดอนมูล เชียงใหม่ สารภี พระอุปคุตรุ่นเหลือกินเหลือใช้และรุ่นจกบาตร

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view