http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม14,004,205
Page Views16,313,106
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

หลวงพ่อโต พระมงคลบพิตร :พระพุทธรูปไร้วัดจำพรรษา จ.อยุธยา โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

หลวงพ่อโต พระมงคลบพิตร :พระพุทธรูปไร้วัดจำพรรษา จ.อยุธยา  โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

                                    

                  หลวงพ่อโต พระมงคลบพิตร :พระพุทธรูปไร้วัดจำพรรษา จ.อยุธยา

                                                                โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

                ไม่ว่าหลวงพ่อโตแห่งวิหารพระมงคลบพิตรจะสร้างเมื่อใด ผู้ใดเป็นคนสร้าง มีประวัติความเป็นมาเช่นไร  แม้แต่จะกล่าวว่า ท่านเป็นพระพุทธรูปนอกวัด นอกพุทธสถาน ไร้วัดจำพรรษาหรือจะอย่างไรก็ตาม ท่านก็เป็นรูปเคารพแทนองค์สมณะโคดม ที่ล้วนได้รับความเคารพกราบไหว้จากหัวใจสุดล้ำลึกของชาวพุทธเสมอ โดยเฉพาะชาวกรุงศรีอยุธยาจนถึงชาวสยามตราบเท่าทุกวันนี้ที่เป็นประเทศไทย  

                   

                                                           วิหารพระมงคลบพิตร

                ข้อมูลล้วงลึกเกี่ยวข้องกับองค์พระมงคลบพิตร กล่าวกันว่ามีร่องรอยที่บ่งชี้ว่าสร้างมาตั้งแต่พ.ศ.2000 แต่ขัดแย้งกับพงศาวดารที่ระบุว่าสร้างเมื่อปีพ.ศ.2081 (สุจิตต์ วงศ์เทศ มติชน 29 มิย.53)  ถ้าสร้างมาแต่สมัยพ.ศ.2000 จริงก็อยู่ในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งทรงครองราชย์ระหว่างพ.ศ.1991-2031 

 

                  

                                                              วิหารแกลบเบื้อหน้า

                 แต่ถ้าสร้างเมื่อพ.ศ.2081 ตามการกล่าวอ้างของพงศาวดาร ก็จะอยู่ในสมัยของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ซึ่งทรงครองราชย์ระหว่างปีพ.ศ.2077-2090  และสรุปว่า พระองค์คือกษัตริย์ผู้ทรงสร้างหลวงพ่อโต พร้อมกับสร้างวัดชีเชียง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของวิหารพระมงคลบพิตรในปัจจุบันนี้  ประมาณว่า วิหารแกลบที่เห็นซากอยู่น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของวัดชีเชียงดังกล่าว

                    วิหารพระมงคลบพิตร                                                            พระมงคลบพิตร

                ปีพ.ศ.2154-2171 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมครองราชย์สมบัติ ได้ทรงให้ชะลอหลวงพ่อโตจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก อันเป็นที่ประดิษฐานอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ในปีพ.ศ.2155  พร้อมกับให้สร้างมณฑปครอบองค์หลวงพ่อโต  และพระราชทานชื่อว่า พระมงคลบพิตร ยังความน่าเคารพต่อชาวพุทธอยุธยาเสมอมา

                  

                                                              พระมงคลบพิตร

                75 ปีต่อมา ช่วงปีพ.ศ.2246-2251 สมเด็จพระเจ้าเสือ (พระศรีสรรเพชรที่ 8) ครองราชย์ ได้เกิดอสุนิบาตฟาดเปรี้ยงๆใส่มณฑป เครื่องบนมณฑปไหม้หักพังลงมาถูกพระเศียรของพระมงคลบพิตรหักหล่นสู่พื้นดิน  แต่ก็ทรงให้สร้างองค์พระและมณฑปขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง  อย่างไรก็ดี ล่วงสู่สมัยสมเด็จพระบรมโกศ ทรงครองราชย์ปีพ.ศ. 2275-2301  แต่ในปีพ.ศ.2285  พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์มณฑปพระมงคลบพิตรให้เป็นมหาวิหารขนาดสูงใหญ่กว่าหนึ่งเส้น 

                  

                                                      วิหารด้านข้าง

                 ในที่สุด ปีพ.ศ.2310 สมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาอัมรินทร์ เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2  พม่าได้เผาเมืองจนวายวอด พระมงคลบพิตรก็ถูกทำลายลงไปในคราวนั้นด้วย แต่มีผู้คัดค้านว่า ในพงศาวดารพม่ากลับไม่มีจารึกว่า มีการเผาพระองค์ใหญ่แต่อย่างใด จะเป็นไปได้หรือไม่  ที่ชนชาวกรุงศรีอยุธยาเผาและลอกทองกันเอง

                     

                                                                                เศียรพระในวิหาร

                 อย่างไรก็ตาม ปีพ.ศ.2451 อันเป็นวาระที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้ทรงครองราชย์ครบปีที่ 40 จึงได้ทรงโปรดให้พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลกรุงเก่า ดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์ เพื่อให้เหมาะสมกับการประกอบพิธีรัชมังคลาภิเษก บวงสรวงดวงพระวิญญาณของบูรพากษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยาขึ้น 

                 

                                                                     ธูปเทียนทองใบ ...บูชา

                 ในการบูรณะครั้งนี้ได้พบว่าพระกรเบื้องขวาของพระมงคลบพิตรหักสะบั้น แต่ได้พบว่ามีพระเครื่องสมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง สมัยนครศรีธรรมราช และอยุธยา อยู่เป็นจำนวนมาก  ปัจจุบันนี้ได้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา  ส่วนการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระนั้นได้ปรับเปลี่ยนไปตามที่กรมศิลปากรเห็นงาม

 

                 

                                                                 นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีมาทุกวัน

                  พระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้น  สร้างด้วยอิฐบุทองสำริด  ส่วนจะมีทองสำริดอยู่กี่พันกิโลกรัมนั้นไม่มีข้อมูลระบุไว้แต่อย่างใด ขนาดหน้าตักกว้าง 9.55เมตรความสูงองค์พระพุทธรูป 12.45 เมตร  ฐานชุกชีสูง 4.50 เมตร  รวมแล้วตั้งแต่ฐานถึงปลายพระเกศา สูงทั้งสิ้น 16.95 เมตร  พระพักตร์ของพระมงคลบพิตร มนรูปไข่ อิทธิพลสุโขทัย 

                                                                  พระมงคลบพิตรก่อนการปฏิสังขรณ์

                  ต่อมาในปีพ.ศ.2498  ฯพณฯอูนุ นายกรัฐมนตรีแห่งสหภาพพม่า ได้เยือนกรุงศรีอยุธยา เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา มอบเงินให้ 200,000 บาท เพื่อทำนุบำรุงพระมหาวิหารและพระมงคลบพิตร รัฐบาลไทยในขณะนั้น (จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี) ได้อนุมัติงบประมาณสมทบอีก 250,000 บาท ให้กรมศิลปากรทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ พวกเราชาวไทยจึงได้เห็นพระพุทธมงคลบพิตรสวยงามตราบเท่าทุกวันนี้ 

                     

                  แม้นว่าวันนี้ พระมงคลบพิตร หรือ หลวงพ่อโตของชาวกรุงศรีอยุธยา ท่านจะเป็นพระพุทธรูป "ไร้วัดจำพรรษา"  แต่ท่านก็เป็นรูปลักษณ์แห่งองค์สมณโคดมที่ปวงชนชาวพุทธเคารพกราบไหว้กันมาอย่างยาวนาน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ต่างวนเวียนกันมากราบไหว้ไม่ขาดสาย ทั้งชาวพุทธในประเทศไทยและชาวพุทธจากต่างประเทศ         

                               

                  ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่างศาสนา ก็ถือเอาหลวงพ่อโตเป็นส่วนหนึ่งของรายการท่องเที่ยวชมพระราชวังโบราณ อดีตกรุงเก่าที่โด่งดังระดับ “มรดกโลก”   ช่วยเพิ่มและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นมากมายมหาศาล  ซึ่งถือเป็นคุณูปการจากบูรพากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาราชธานี  ผู้ทรงสร้างหลวงพ่อโตองค์นี้ไว้ให้เป็นมรดกทางวัฒนะธรรม ศิลปกรรมและพุทธศาสนาให้กับลูกหลานอย่างประมาณคุณค่ามิได้ 

                                                 ละเลงขนมเบื้อง ..เอ้ย..ไม่ใช่  ละเลงแผ่นโรตีครับผม

                  

 

 

 

 

 

           

Tags : หลวงพ่อโต พระมงคลบพิตร มรดกโลก จ.พนะนครศรีอยุธยา

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view