http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,995,075
Page Views16,303,391
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

หลากวัฒนธรรมสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

หลากวัฒนธรรมสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา  โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

                                    หลากวัฒนธรรมสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

                                                                    โดยธงชัย เปาอินทร์  เรื่อง-ภาพ

 

                   เช้าตรู่ แสงสุรีย์สีทองสาดส่องแผ่นฟ้าพระนครศรีอยุธยา และทาบทาท้องน้ำ “เจ้าพระยา” ที่ไหลรี่   เงาสะท้อนจากแสงที่ตกกระทบเหมือนเกร็ดแก้ว   ชาวบ้านยังสัญจรทางน้ำเหมือนที่เคย  เรืออีกลำกำลังเก็บกู้ข่ายลอย “ลอยข่าย” อีกคนหนึ่งใส่เสื้อสีแดงอิงเรือน้อยแนบเรือใหญ่ ตกปลาด้วยปลายนิ้ว(ไม่ใช้คันเบ็ด) เป็นอีกวิถีชีวิตที่เก็บเกี่ยวหากินจากสายน้ำ 

                      ตกปลาด้วยปลายนิ้ว                                                ลอยข่าย

                    เบนสายตามองตามแสงสีทองส่องข้ามไปอีกฝั่ง   เห็นโครงหลังคาอุโบสถวัดพนัญเชิง ดูช่างงามสง่าน่าเคารพเหลือ แต่วันนี้คงไม่มีโอกาสไปกราบกราน  

                     

                                                                  วัดพนัญเชิง

                    ใช่แล้วครับ ผมนอนค้างอ้างแรมที่ วรบุรี อโยธยา  อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห้องที่เปิดออกแล้วเห็นในสิ่งที่ได้บอกเล่าเก้าสิบ น่านอนพักผ่อนให้อิ่มเอมไหม?

                  เรือเอี่ยมจุ๊น..บ้านลอยน้ำ                                           วิถีชีวิตคนริมน้ำ

                     ตัดตอนรอนแรมมากับรถตู้คณะถ่ายรูปประกวดกันเป็นครั้งสุดท้าย โจทย์พระนครศรีอยุธยามรดกโลก ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  โฟโต้เทค  การรถไฟแห่งประเทศไทย  ธนาคารกรุงเทพ ที่ร่วมกันจัด  เพื่อไปลงเรือ ริเวอร์ซันครุยส์  ที่วัดช่องลม จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นเรือนำเที่ยวติดแอร์เย็นฉ่ำ ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ  อาหารหวานคาวผลไม้ กาแฟ  เพียบพร้อม หรูระดับโรงแรมห้าดาว  แถมมีคาราโอเกะให้ทดสอบเสียงและผ่อนคลาย

                    

                     จัดประชุมกลุ่มย่อยก็ได้ ท้ายเรือเปิดโล่งให้นั่งรับลมชมบรรยากาศและวัฒนธรรมของผู้คนสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ครั้งนี้ คณะได้ใช้ห้องตัดสินการประกวดภาพถ่ายรอบสุดท้าย  โดยผู้ที่เข้าแข่งขันล้วนเป็นผู้ที่เข้ารอบจากการประกวดภาพมาแล้ว 3 ครั้ง 3 โจทย์ ในการประกวดภาพถ่ายครั้งนี้ มีรางวัลมูลค่า 500,000 บาท  

 

                    สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีอะไรบ้างหรือที่ถือว่าเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ของ “เขา” เหล่าพี่น้องร่วมแผ่นดินไทย มุมมองจากสิ่งที่เห็นจากบนเรือล่องกลางแม่น้ำทำให้ ผมสาธยายได้เพียงเลาๆว่า มีต้นหมากรากไม้เขียวขจีไปทั้งสองฝั่ง แทรกแซมด้วยเรือนไทยสไตล์ต่างๆ ถ้าผ่านชุมชนใดที่เป็นชาวพุทธก็มี “วัดพุทธ” ให้เห็น  พระเณรในสมัยก่อนจะพายเรือไปบิณฑบาต ศาลาท่าน้ำรูปแบบเฉพาะตัวสวยงาม                                                                                      

                  หลวงพี่โตริมน้ำเจ้าพระยา                             ศาลาท่าน้ำที่กำลังจะสูญสิ้น

                     ชาวพุทธที่ว่างงานหรือมาเยือนวัด นิยมมานั่งเสวนากัน เพราะว่าลมพัดเย็นดีมาก เป็นอีกมุมหนึ่งที่เหมือนเป็นสมาคม หรือสโมสร              

                    

                                                            ทรงไทยเศรษฐี

                     ในอดีตผู้คนที่อาศัยอยู่ชายแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้น้ำทั้งบริโภคและอุปโภค ผมก็เคยอยู่บ้านชายน้ำ เมื่อจะใช้น้ำก็จะตักน้ำใส่ถังสำรองแล้วแกว่งด้วย “สารส้ม” ซึ่งมีคุณสมบัติในการจับตะกอน ตั้งทิ้งไว้ชั่วครู่ น้ำก็ใสแจ๋ว มีตะกอยสีแดงๆตกอยู่ก้นถัง หลังจากนั้นผมก็เทน้ำใสๆลงในตุ่มน้ำ

                   ล่องเรือมาหา..ปลา                                       บ้านเรือนริฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

                      ส่วนตะกอนก็เทใส่โคนต้นไม้ที่มักจะปลูกในกระถางเพื่อความสวยงาม  หรือถ้าเป็นหม้อ ไห ที่แตกๆพังๆบางส่วน นิยมปลูกผักสมุนไพรประเภทเครื่องครัวเช่น กระเพรา โหระพา ผักชีฝรั่ง ตะไคร้ แม้กระทั่งใบมะกรูด  ไว้ใช้สอยในครัวเรือน ผมเองก็เคยปลูกจนถึง หอมแดงเพื่อจะกินใบหอมแดงใส่ไข่เจียวด้วยซ้ำไป 

                                 วัดพุทธ                                                   วัดแขก         

                      แต่เมื่อเรือล่องผ่านมาถึงวัด “แขก” ก็จะได้เห็น “สุเหร่า”หรือ "มัสยิด" รูปลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว  ชุมชนหนาแน่นแทบว่าจะแออัด ชายน้ำเจ้าพระยามีชุมชนมุสลิมอยู่อาศัยมากครับ  จังหวะดีๆก็จะได้เห็นสุภาพบุรุษมุสลิมนิยมนุ่งผ้าโสร่งลายตาหมากรุก เสื้อแขนยาว  ถ้ากำลังจะไปละหมาดมักแต่งตัวครบเครื่อง และใส่หมวกชายมุสลิมที่เรียกว่า “กปิเยาะห์”  หรือ"คูฟียะฮุ" ส่วนใหญ่เป็นหมวกสีขาว

                        อาบน้ำ....อบอุ่น                                        ทรงไทยหมู่เศรษฐี

                     ส่วนสตรีมุสลิมนิยมโพกผ้า “ฮิญาบ” ผ้าฮิญาบนี้มักมีสีสันสวยงาม บางผืนมีลวดลายวิจิตรพิสดารมาก มีทั้งแบบคลุมเพียงผม และมีทั้งแบบคลุมผมแล้วคลุมหน้าด้วย ส่วนว่าแบบไหนเรียกอะไร ขอไม่ลงในรายละเอียดครับ  ส่วนผ้าโสร่งถ้าเป็นมุสลิมใต้หรือมาเลเซียนิยม “ผ้าปาเต๊ะ” สีสันสดใส แต่ถ้าเป็นมุสลิมไทยๆก็โสร่งทั่วไป 

                    

                                                      เกาะเกร็ด..........น่าเที่ยว

               เรือริเวอร์ซันครุยส์พาผมล่องลงมาถึงชุมชนบ้านเกาะเกร็ด เห็นเจดีย์ทรงมอญเอียงกระเท่เร่อยู่มุมวัดปรมัยยิกาวาส เป็นภาพที่กลายป็นจุดขายของเกาะเกร็ด นอกจากเจดีย์องค์เอียงแล้ว วัดนี้ยังมีพระมหารามัญเจดีย์  อยู่หลังอุโบสถก์ พระมหาเจดีย์องค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  ได้ทรงโปรดให้จำลองมาจากเมืองหงสาวดี ประเทศพม่า 

                     ตอนแดดจัดจะว่างเปล่า                         แต่เมื่อแดดร่มลมดึก... น่านั่ง

                   พี่น้องชาวไทยรามัญบนเกาะเกร็ดอพยพมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 2  เดิมโค้งแม่น้ำเจ้าพระยาจุดนี้เรียกว่า บ้านแหลม  แต่คลองลัดเกร็ดน้อยนี้ได้เริ่มขุดตั้งแต่สมัยพระเจ้าท้ายสระ ปีพ.ศ.2265 กว้าง 3 วา ลึก 6 วา ยาว 29 เส้นเศษหรือราวๆ 2 กิโลเมตรเศษๆ ต่อมากระแสน้ำแรงมากจนคลองขุดขยายใหญ่ขึ้นดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้  ทุกวันนี้ วิถีชีวิตชาวรามัญบนเกาะเกร็ดได้ถูกถ่ายทอดออกสู่สาธารณชน เป็นแหล่งท่องเที่ยววันเดียวกลับที่ได้รับความนิยมมาก

                               

                                                     สะพานพระราม 8

                    เรือล่องมาตามสายน้ำจนได้ไหว้หลวงพ่อใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซีกขวามือ หรือฝั่งตะวันตก ส่วนเป็นพระวัดอะไรถ่ายภาพไม่ทันก็เลยชวดไป แต่รู้แน่นอนว่าเป็นวัดพุทธ ชุมชนพุทธ สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยายามตะวันเริ่มรอนๆ ให้บรรยากาศที่งดงามน่านั่งชมจริงๆ  มีอยู่ภาพหนึ่งเป็นแพไม้ซุงอยู่หลังโรงเลื่อยจักร ผมเห็นผู้ชายสองสามคนอยู่บนท่อนซุง  เขาเหล่านั้นกำลังตก “ปลากระทิง” :ซึ่งมีนิสัยอาศัยใต้ท่อนซุง 

                                                     เรือดัดแปลงเป็นเรือนำเที่ยว 

                     โผล่พ้นมาแล้วก็ได้เห็นวัดเฉลิมพระเกียรติรำไร มีต้นไม้บดบังมาก รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างถวายแด่พระมารดาของพระองค์  ถัดลงมาเป็นบ้านแบบชุมชนแออัดริมแม่น้ำเจ้าพระยา และบ้านคฤหาสทายาทของขุนนางงดงามมาก  แม้ว่าจะเก่าลงตามสภาพ  ชั่วพริบตาก็ล่องเรือผ่านสะพานพระราม 8  ตากล้องอดใจกันไม่ไหวถ่ายภาพกันอยู่เนืองๆ 

                       เมื่อเรือแล่นผ่านพระบรมมหาราชวัง แถวๆท่าช้าง  แสงแดดเริ่มอ่อนลงเต็มที เมื่อเข้าคุ้งน้ำวัดอรุณราชวราราม ภาพที่ถ่ายได้ก็ระดับเห็นรูปทรง ไม่งดงามดั่งภาพถ่ายที่โฆษณาไปทั่วโลก  ว่ากันว่าเดิมชื่อวัดแจ้ง  บ้างก็ว่าวัดมะกอก แต่จะชื่ออะไรก็สืบค้นได้ ที่แน่นอนเลยทุกวันนี้ วัดอรุณกลายเป็นจุดขายให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต้องมา ต้องไปสัมผัส ส่วนใหญ่ลงเรือข้ามฟากมาจากโรงแรมหรูๆ

 

                  พระบรมมหาราชวัง                                                   วัดแจ้ง 

                      ผมเห็นท่าเตียน เห็นวัดโพธิ์ แล้วก็นึกถึงเพลงของคุณพี่มีศักดิ์ นาครัตน์  ชื่อเพลง ยักษ์วัดแจ้งกับยักษ์วัดโพธิ์ ซึ่งต่อมามีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เด็กจนโด่งดังไปทั่วเอเชีย อีกสำนึกผมอดนึกถึงเมื่อครั้งที่ผมล่องเรือแดงมาจากบ้านตาลานใต้  อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาพร้อมกับเพื่อนๆที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนผักไห่สุทธาประมุขพร้อมกัน เพื่อเข้ากรุงมาเรียนต่อ  ได้ใช้ช้อนอลูมิเนียมบางๆกินข้าวจากกระทงใบตองแห้ง ได้นอนบนชั้นสองของเรือส่วนชั้นล่างเขาบรรทุกสินค้ามาขายที่ท่าเตียน 

                   แต่ฉับพลันทันใด สายตาผมมองเห็นตึกรามบ้านช่องที่เปลี่ยนแปลงไปจากเหนือแม่น้ำที่ยังรักษาสภาพเดิมๆไว้ได้  ช่วงท้ายแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นย่านตลาดน้อย เจริญกรุง สีลม สาธร ย่านธุรกิจทำเงินของประเทศ ซึ่งหนาแน่นไปด้วยโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว ริมสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่นี่ มีวิถีชีวิตที่แตกต่างและเปลี่ยนแปลงไปเสียแล้ว

                   แตกต่างแม้กระทั่งเรือที่เห็นในภาพครับ

 

 

 

Tags : ธงชัย เปาอินทร์ art&culture พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view