http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,995,940
Page Views16,304,316
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ประเพณีการฌาปนกิจ : ส่งดวงวิญญาณสู่สรวงสวรรค์ โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

ประเพณีการฌาปนกิจ : ส่งดวงวิญญาณสู่สรวงสวรรค์  โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

                          ประเพณีการฌาปนกิจ : ส่งดวงวิญญาณสู่สรวงสวรรค์  

                                                            โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

 

               จากหลักฐานโบราณคดีที่จุดค้นพบศพคนตายมากมายหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่มีอุปกรณ์เครื่องใช้ไม้สอยชนิดต่างๆฝังไว้ด้วย  แต่ละโครงกระดูกที่พบสำแดงกาลเวลาที่ผ่านมาว่ายาวนานเพียงใด  นั่นเป็นประเพณีหนึ่งของการจัดการเกี่ยวกับคนตายหรือคนที่เสียชีวิตแล้ว  ส่วนประเพณีการฌาปนกิจ หรือเผาศพให้มอดไหม้ไปจนหมดสิ้น จึงยากที่จะกล่าวได้ว่า เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อใด

                                 

                                          พ.ท.ณรงค์ ยอดแก้ว

               วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 (วันวิสาขบูชา) อันเป็นวันที่พระสมณะโคดม องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าพระศาสดาของพุทธศาสนิกชนได้ดับขันธ์ปรินิพพาน ณ ป่าสาละ  กรุงกุสินารา ชมพูทวีป ในกาลครั้งนั้น  พระเจ้ามัลละ กษัตริย์ผู้ครองกรุงกุสินารา ผู้ทรงเป็นพุทธมามะกะสำคัญ พระองค์ได้ถวายการบูชาพระบรมศพของพระพุทธเจ้าอยู่ถึง 6 วัน  ครั้นถึงวันที่ 7 ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 พระองค์ได้ถวายพระเพลิงพระศพของพระพุทธเจ้า ณ มกุฏพันธนเจดีย์ วันนี้มีชื่อเรียกกันว่า วันอัฎฐมีบูชา

                    

               หลังจากพระเจ้ามัลละกษัตริย์ทรงถวายพระราชทานเพลิงแล้ว ได้มีพระมหากษัตริย์จากเจ้าเมืองต่างๆมาอีก 7 เมืองเพื่อจะมาขอพระอัฐิไปบูชายังเมืองของตน แต่พระเจ้ามัลละไม่ทรงยอมให้โดยอ้างว่า พระพุทธเจ้าเสด็จสวรรคต ณ เมืองกุสินารา ก็ควรจะเก็บเถ้าและอัฐิไว้ ณ เมืองนี้เท่านั้น ขณะนั้นพราหมณ์โฑณ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของเหล่ากษัตริย์ทั้งหลายได้เสนอว่า ให้แบ่งพระบรมสารริกธาตุของพระพุทธเจ้าออกเป็น 8 ส่วน แบ่งกันไปบูชา 8 เมือง เรื่องจึงได้สงบลง

                    

               ตราบทุกวันนี้ พุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะคนไทย จึงได้สืบสานประเพณีการฌาปนกิจศพผู้ตายคล้ายๆกัน  นั่นคือ เมื่อมีผู้ตายเกิดขึ้น ชอบที่จะประกอบพิธีการโดยสังเขปดังนี้คือ

               1. วันตาย หรือวันสิ้นลมหายใจ ปัจจุบันนี้ ถ้าตายในโรงพยาบาลจะมีการฉีดยากันเน่าเหม็น ตกแต่งศพสวยงาม สวมใส่เสื้อผ้าสวยหรูหรือชุดที่เจ้าตัวชอบหรือถ้าเป็นตำรวจทหารหรือช้าราชการก็มักแต่งด้วยชุดใหญ่ หลังจากนั้นจะต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ศพจากนายแพทย์เฉพาะทาง ออกใบมรณะบัตรรับรองการเสียชีวิต

                                  

               เมื่อเสร็จขั้นตอนทางราชการเจ้าภาพจะนำศพไปยังศาลาวัดที่จองไว้ จัดศพให้นอนบนเตียงตั่งเตี้ยๆ โดยหันหัวไปทางทิศตะวันตก  จัดให้มือหนึ่งรองรับน้ำศพ ญาติสนิทมิตรสหายจะเข้ามาเคารพผู้ตายด้วยการตักน้ำที่โรยด้วยดอกไม้หอม รดลงที่ฝ่ามือ ลูกหลานจะคอยนั่งตักน้ำส่งให้กับแขก เมื่อเสร็จการรดน้ำก็จะมัดตราสังศพตามพิธีการของสัปเหร่อ นำศพบรรจุลงในโลงที่เตรียมไว้   ภายในโลงศพมักนิยมโรยด้วยดอกไม้ธูปเทียน และสิ่งของที่ผู้ตายเคยชื่นชอบ  โบราณจะป้องกันกลิ่นด้วยใบชาแห้ง  นำขึ้นตั้งบนตั่งสูงและตกแต่งหน้าศพด้วยดอกไม้สวยงาม เงินไม่มีก็ไม่ต้องทำตามคนมีเงินก็ได้

                      

              2. วันสวดพระอภิธรรมศพ  การตั้งศพหันหัวไปทางทิศตะวันตก ส่วนใหญ่นิยมนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 4 รูปเพื่อสวดอภิธรรม ญาติผู้เสียชีวิตมักนำอาหารหวานคาวไปเคาะหัวโลงพร้อมกับคำพูดว่า "....กินข้าว" ทุกวันที่สวด  จำนวนวันขึ้นอยู่กับญาติพี่น้องของผู้ตาย อาจจะ 3 วัน 5 วัน 7 วัน เวลาที่สวดนิยมสวดในตอนค่ำหลังเลิกจากกิจการงานแล้ว 

              ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 19.00-21.00 น. การสวดพระอภิธรรมศพนิยมสวน 4 จบ หรือ 4 ตอน มีบางวัดเทศนาสั่งสอนพุทธศาสนิกชนด้วย บางวัดปล่อยให้ญาติโยมเล่นการพนันเป็นเพื่อนศพ บางทีก็เกิดการตีหรือแทงกันตายตามไปอีกศพ แต่หลังๆมานี้มักห้ามเล่นการพนันเว้นแต่ตั้งศพไว้ที่บ้านเจ้าภาพ  ในการสวดพระอภิธรรมพระสงฆ์จะมีตาลปัตรองค์ละอัน เพื่อตั้งบังขณะสวด หน้าตาลปัตรมักจะเขียนว่า “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี”

                     

            3.  วันเผาหรือวันฌาปนกิจ  วันนี้ เจ้าภาพจะทำบุญเลี้ยงพระเพล (ครบวันตาย 7 วัน)  ถ้าเป็นผู้มีอันจะกินก็จะนิมนต์พระเณรเท่าจำนวนอายุผู้เสียชีวิต แต่ถ้ามีเงินน้อยก็นิมนต์พระตามปกติ 5 หรือ7 หรือ9 องค์ หลังจากนั้นนิยมเลี้ยงญาติและผู้ที่มางานตอนกลางวัน ราวๆบ่ายสองโมงจะนิมนต์พระเทศนาธรรม ถ้าเป็นเจ้าภาพมีเงินก็จะนิมนต์พระอาจารย์ชื่อดังหรือที่ผู้เสียชีวิตเคารพนับถือ แต่ถ้าเป็นผู้มีเงินน้อยก็นิมนต์พระที่วัดตามปกติ

                       

             หลังจากนั้นจะเคลื่อนศพไปเวียนรอบเมรุ ถ้ามีเงินก็นิยมเช่าเมรุที่สวยงามมากๆ เป็นที่ฌาปนกิจ แต่ถ้าโดยทั่วไปนิยมเวียนสามรอบแล้วตั้งศพหน้าเมรุสำเร็จที่เผากันด้วยไฟฟ้า มอดจนสิ้น ไร้มลพิษ กำจัดกลิ่น เมื่อตั้งศพหน้าเมรุแล้ว มักจะเปิดโลงให้ดูหน้าและล้างหน้าด้วยน้ำมะพร้าวเป็นครั้งสุดท้าย เหตุที่ใช้น้ำมะพร้าวก็ด้วยเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ที่สุด  เจ้าภาพนิยมให้บุตรอ่านประวัติประกาศเกียรติคุณ แต่ถ้าโดยทั่วไปก็จะแจกหนังสือหรือมีของชำร่วยแก่ผู้มาร่วมงานเช่นยาหม่อง หนังสือธรรมะ ฯลฯ

                     

             ในการมอดผ้าบังสุกุล เจ้าภาพจะเชิญแขกผู้มีเกียรติขึ้นทอด มากบ้างน้อยบ้างตามสมควร ผู้ที่ได้รับเกียรติขึ้นทอดผ้าบังสุกุลส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ผู้เสียชีวิตหรือครอบครัวเคารพนับถือ ส่วนพระสงฆ์ที่นิมนต์มารับผ้าบังสุกุลก็ตามศรัทธา  อย่างไรก็ดี นี่เป็นการแสดงความเคารพครั้งสุดท้ายแด่ผู้วายชน  เมื่อมีการบังสุกุลเรียบร้อยจะมีการเผาหลอกโดยแขกผู้มีเกียรติขึ้นว่าดอกไม้จันท์ ต่อจากนั้นจะเผาจริงในเวลาต่อมาเมื่อแขกส่วนใหญ่กลับไปแล้ว

                      

              4. วันเก็บกระดูกและอังคาร   ไม่มีแขกเหรื่อเหลืออยู่ เช้าตรู่วันรุ่งขึ้นเจ้าภาพที่ส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัว จะเตรียมผ้าขาว โกฏ์เพื่อบรรจุอัฐินำกลับไปบูชาที่บ้าน หรือบรรจุในเจดีย์ที่วัดหรืออนุสรณ์สถานของตระกูล ส่วนอังคารมักนิยมนำไปโปรยสู่พื้นดินใต้ต้นโพธิ์ที่หน้าวัด หรือลอยน้ำ หรือลอยทะเล ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตมักจะสั่งเอาไว้  แต่ในรายที่ไม่ทันได้สั่งเสียก็ขึ้นอยู่กับครอบครัวจะเห็นสมควร 

              เรื่องอย่างนี้ พูดยาก ผู้เขียนเองเป็นบุตรชายคนโต บิดาได้สั่งไว้ว่า

             “หากกูตายไป มึงสวดศพกู 3 วันแล้วเผาเลย   กระดูกและอังคารกูเอาไปโปรยใส่ต้นไม้ให้เป็นปุ๋ย กูตายแล้วก็ไม่ต้องไหว้เจ้าตามธรรมเนียมอีกต่อไป ตอนนี้กูยังอยู่จะให้กินอะไรก็ซื้อมาเลย”

             เอาเข้าจริงๆ ผมปฏิบัติการตามสั่งไม่ได้เลยด้วยว่าทั้งครอบครัวไม่มีใครยอม

                     “เตี่ยมึงมันเจ๊กกบฏ มันไม่เอาธรรมเนียมหมดแหละ” แม่ว่าเสียงดัง ผมก็เงียบซี

                      

             5.  ทำบุญครบรอบวันตาย 50 วัน 100 วัน  ดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมไปโดยปริยาย ว่าเมื่อครบ 50 วันหรือ 100 วัน ขึ้นอยู่กับครอบครัวจะกำหนดนัดหมายกัน มักจะมีการนิมนต์พระสงฆ์เพื่อทำบุญส่งส่วนกุศล พร้อมอาหารหวานคาวไปให้กับผู้เสียชีวิต  การแต่งกายยังคงครองชุดขาวหรือดำอยู่  แต่ก็ขึ้นอยู่กับ เคร่ง หรือไม่เคร่งเท่าไร ของแต่ละครอบครัว 

             6. การแต่งกายในงานฌาปนกิจ  ด้วยประเพณีของคนไทย มักสวมใส่เสื้อผ้าด้วยสีดำ หรือดำขาว หรือขาว เว้นแต่มีเลือดจีนผสมก็จะยึดเอาพิธีการจีนเข้ามาเกี่ยวข้อง บางทีก็สวดทั้งพระไทยและพระจีน การแสดงความเคารพที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้เสียชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย  แต่ในท้องถิ่นที่ทุรกันดารก็ไม่เคร่งครัดนัก ส่วนบุตรหลานที่เป็นข้าราชการนิยมแต่งเต็มยสของแต่ละคนเช่นชุดขาวใหญ่ เพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้วายชนถ์ แต่ถ้ามีบุตรธิดาน้อย เพื่อนร่วมงานของแม่หรือของลูกๆจะร่วมแต่งด้วย

                      

              7.  การแสดงความเคารพ  ญาติๆ เพื่อนๆ นิยมนำพวงหรีดดอกไม้สดหรือดอกไม้แห้งมาร่วมแสดงความเคารพ ยิ่งผู้เสียชีวิตมีอำนาจวาสนามาก ก็จะมีพวงหรีดมาก ส่วนผู้เสียชีวิตที่ยากจนก็อาจไม่มีเลย  อย่างไรก็ตาม ได้มีพระผู้ทรงศีลบางรูป แนะนำให้เคารพศพด้วยต้นไม้บ้าง ธูปเพียงดอกเดียวบ้าง เพราะว่าเมื่อครบ 7 วัน พวงหรีดก็เหี่ยวเฉา สูญเสียเงินไปโดยใช่เหตุ  แต่อย่างไรก็ดี ญาติๆก็ยังดื้อแพ่งด้วยหลงในเกียรติยศดังกล่าว

            แต่ถ้าจะให้แขกเหรื่อมามือเปล่าก็กระไรอยู่ ครั้นจะให้บริจาคเงินที่จะซื้อดอกไม้ในพวงหรีดเพื่อนำเงินไปสมทบทุนการกุศลใดๆ แขกเหรื่อเหล่านั้นก็ไม่นิยมเสียอีก ด้วยว่าในพวงหรีดมักเขียนชื่อและตำแหน่งของตนเองไว้ด้วย ใครมางานศพก็จะเห็นและนั่งอ่านไปทีละชื่อๆ โก้อยู่ด้วยนะซีครับ 

           ที่น่าขำขันคือนักการเมืองเมืองไทย จัดทำพวงหรีดเป็นผืนผ้า มีชื่อแสดงอย่างสวยงาม ผืนใหญ่คับงาน แต่เมื่อมีผู้ลงคะแนนตายอีก นักการเมืองเหล่านี้ใช้ให้บริวารเก็บหรีดผ้าเพื่อนำไปวางที่งานอื่นต่อ เรียกว่า อยากได้หน้าแต่เสียดายเงิน นี่แหละนักการเมืองของไทย

           "คะแนนเสียงเอา เงินไม่อยากเสีย"

 

                     

                                                          ขอเพียงช่อดอกไม้จันท์

                   ภาพประกอบในเรื่องนี้ เป็นงานฌาปนกิจของ พ.ท.ณรงค์  ยอดแก้ว  ณ วัดหนองบัว อำเภอลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี  ซึ่งสมรสกับนางลัดดาวัลย์  ยอดแก้ว  (สกุลเดิมบรรลือหาญ) มีธิดา 2 คน เป็นนางพยาบาลทั้งคู่ ในฐานะญาติ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของแอ๊ว ที่สามีได้ด่วนจากไปอย่างคาดไม่ถึง แต่อย่างไรก็ดี ในงานฌาปนกิจครั้งนี้ มีผู้มาร่วมแสดงมุทิตาจิตมากมาย นั่นแสดงว่า เมื่อครั้งที่ พ.ท.ณรงค์ ยอดแก้ว ยังมีชีวิตอยู่นั้น มีเพื่อนฝูงและญาติมิตรมาก ขอดวงวิญญาณ พ.ท.ณรงค์ ยอดแก้ว สู่สัมปรายภพด้วยความสงบงาม

                       

 

 

           

 

                       

 

Tags : ประเพณีการฌาปนกิจ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตและความเชื่อ art&cultere

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view