http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,960,495
Page Views16,266,827
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ฝนนี้ คนลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน วิบัติ ใครหรือจะช่วยได้ โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

ฝนนี้ คนลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน วิบัติ ใครหรือจะช่วยได้  โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

                        ฝนนี้ คนลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน วิบัติ ใครหรือจะช่วยได้ 

                                                                โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

              เมื่อน้องชายผม นายช่วงชัย เปาอินทร์ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี  ปัจจุบันประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดสิงห์บุรี ชวนให้ไปล่องเรือดูน้ำท่วมที่สิงห์บุรี ผมดีใจครับ ด้วยว่าถ้ามีน้ำท่วม ฝนแล้ง และหนาวเหน็บจนเกิดมีคนตาย ผมอยากรู้อยากไปมาตลอด คราวนี้แม้เขาจะเกษียนราชการจากตำแหน่งแล้ว แต่ก็ยังมีความผูกพันกับคนเมืองสิงห์อยู่อย่างแนบแน่น ส่วนผมหรือ ห่วงทรัพยากรป่าไม้ของชาติ และห่วงว่า ป่าหมดคนจะเดือดร้อนเพราะน้ำจะไหลทะลักท่วมเมือง

                        

                                              นายช่วงชัย เปาอินทร์ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี

            น้องชายผมสำเร็จปริญญาตรีและโททางด้านรัฐศาสตร์ ไต่เต้ามาจากปลัดอำเภอ จ่าจังหวัด นายอำเภอ ปลัดจังหวัด สิ้นสุดเพียงรองผู้ว่าราชการหลายจังหวัด วิถีชีวิตของเขาผูกพันกับเมืองและผู้คน   ส่วนผมสำเร็จปริญญาตรีทางด้านวิชาการป่าไม้(วนศาสตร์) ปริญญาโททางรัฐประศาสนศาสตร์ วิถีชีวิตผูกพันกับป่าไม้ และชุมชนในผืนป่า

                        

            ภาพที่ผมเห็น น้ำท่วมเจิ่งนองไปทั่วทุ่งนา บ้านเรือนหลังใดปลูกแบบดั้งเดิมสองชั้นใต้ถุนสูงก็ยังเหลือชั้นสองไว้อยู่อาศัยได้  แต่ถ้าบ้านหลังใดปลูกชั้นเดียวตามแบบสมัยใหม่(ลืมไปเพราะว่าน้ำไม่หลากมาท่วมเหมือนในอดีต)ก็จมน้ำจนแทบมิดหลังคา  วัวควายหมูหมากาไก่ต้องไล่ต้อนไปอยู่บนถนนริมคลองชลประทาน  ถนนหนทางที่เชื่อมต่อระหว่างชุมชนมีแต่น้ำ จนไม่กล้าขับรถยนต์ผ่าน กลัวตกหลุมหรือจมน้ำซี  

                         

             นาข้าวหรือครับ  ล่มจมน้ำจนมองไม่เห็นยอดข้าว กอกล้วยในบ้านเรือนเหลืองและเหี่ยวเฉาเน่าตายไปกับน้ำท่วมขัง  มะม่วงรากเน่าเฉาตายเกลี้ยง  พอเรือท้องแบนของเทศบาลผ่านไปที่บ้านหลังใด ก็มีการแซวกันฉันมิตร

             "น้ำขึ้นให้รีบตัก ตักซะให้เต็มตุ่มล่ะ"

             สิ่งที่เห็น คนแซวยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ คนถูกแซวหัวเราะงอหาย คนฟังอย่างผมยิ้มด้วยความขมขื่น มันเพราะอะไรกันหรือน้ำจึงหลากไหลมาไม่เป็นเวลาที่แน่นอน ทำไมในอดีตเมื่อถึงฤดูน้ำหลากก็หลากมาจนเป็นปกติ  ก่อนน้ำจะหลากก็ยาเรือเตรียมรับตามที่เคยปฏิบัติ  วัวควายก็สร้างร้านให้เขาอยู่ พายเรือไปเกี่ยวหญ้ามาให้เขากิน พอน้ำนิ่งก็วางข่ายดักปลาเป็นอาหารกลับบ้าน มันเป็นวิถีชีวิตที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ไม่รู้สึกเดือดร้อนอย่างทุกวันนี้เลยสักนิด

                         

             ผมกลับจากสิงห์บุรีด้วยรถตู้ประจำทาง น้องชายผมยังอยู่พูดคุยกับชาวบ้านที่สิงห์บุรี เมื่อกลับมาแล้วก็ได้แต่ไตร่ตรองดูถึงมูลเหตุ ด้วยหลักการจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำ เป็นวิชาการป่าไม้ที่ทำงานจนเกษียนราชการ เป็นบทบาทที่เคยรู้และเคยประสบพบเห็นมามากมายหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ภาคเหนือ ภาคอีสาน ผมเห็นตั้งแต่เมื่อแหงนคอมองขึ้นไปในป่าใหญ่ๆ มองไม่เห็นตะวัน เพราะว่าเรือนยอดของเหล่าไม้ป่าหนาแน่นจนเบียดเสียดกันจนมิด

                       

            และผมได้เห็นเมื่อป่าไม้ไม่มีเหลืออยู่อย่างที่สมควรจะเหลืออยู่ มองไปทางไหนก็มีแต่ภูเขาหัวโล้น มีแต่วัชพืช หรือไม่ก็พืชไร่ฤดูเดียว มันโล้นเลี่ยนเตียนโล่งจนสุดลูกหูลูกตา มันไม่มีต้นไม้ป่าต้นใหญ่ๆเหลืออยู่  มันจึงไม่มีเรือนยอดต้นไม้เหล่านั้นคอยปะทะน้ำฝนที่ตกกระทบ ไม่มีระบบรากของเหล่าแมกไม้คอยดูดซับน้ำไว้  ไม่มีระบบภูมิอากาศใต้เรือนยอดและใต้ดิน  เมื่อฝนตกลงมา น้ำจึงไหล่บ่าผ่าดงหญ้าจากยอดขุนเขาจนลุล่วงลงมาถึงที่ราบ พังฉิบหายวายป่วง

                        

             พี่น้องที่เคารพครับ ถุงยังชีพแก้ปัญหาไม่ได้หรอกครับ งบประมาณเยียวยาหลังภาวะน้ำท่วมทุกครั้งก็ช่วยไม่ได้หรอกครับ ตราบใดก็ตามที่ยังไม่มีแนวคิดเป็นระบบ ก็ไม่มีทางเลยที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ อีกกี่ปีกี่ชาติก็รับรองได้ว่า แก้ปัญหากันได้เพียง ถุงยังชีพกับเยียวยาหลังน้ำลด ที่ผมกล้ากล่าวเช่นนี้ก็ด้วยว่าผมได้รู้เห็นขบวนการทำลายผืนป่ามูลค่ามหาศาลไปกับตา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่บนต้นน้ำ บนภูเขาสูงๆทางภาคเหนือ และอีสาน

                          

             เมื่อผมกลับมาจากเมืองสิงห์แล้วผมมาเปิดอินเตอร์เนทดูพื้นที่ที่น้ำท่วม บนจอจะเป็นสีฟ้าจนถึงสีน้ำเงิน ตั้งแต่นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม(บางเลน) กินวงกว้างพอๆกับเมื่อคราวน้ำท่วมปีก่อนๆ ผมไม่รู้ว่ามันเป็นกรรมครั้งไหนของคนภาคกลางหรือถึงต้องมาทนกับภาวะน้ำท่วมเช่นนี้ทุกปีๆ ทั้งๆที่ไม่เคยไปตัดไม้ทำลายป่ากับเขาสักหน่อย  คนใต้น้ำกลับมาได้รับความเดือดร้อน ความยุติธรรมอยู่ไหน คนใต้น้ำต้องใช้สิทธิเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญไหม หรือจะปล่อยให้คนบนเขาเขามีสิทธิแต่ฝ่ายเดียว

              Stakeholder หรือการมีสิทธิ์มีส่วนร่วมในการจัดการผืนป่าของชาติ ทุกคนมีสิทธิครับ

                         

              ลุ่มน้ำในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 25 ลุ่มน้ำ แต่แบ่งเป็นกลุ่ม กลุ่มที่มีผลกระทบกับภาคเหนือและภาคกลางตอนนี้คือ กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน  มีลุ่มน้ำสาขารวมทั้งสิ้น 70 ลุ่มน้ำ แต่มีลุ่มน้ำสาขาที่สำคัญๆอยู่ 8 ลุ่มน้ำคือ  ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง  ป่าสัก และท่าจีน ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 157,925 ตารางกิโลเมตร(31%ของพ.ท.ประเทศ)

                   

                        หมายเลข 6-7-8-9-10-11-12-13 กลุ่ม พ.ท.ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน

              พื้นที่ป่าต้นน้ำสำคัญๆส่วนใหญ่อยู่บนภูเขาทางภาคเหนือตอนบน  ภาคเหนือตอนล่างและชายขอบลุ่มน้ำ พื้นที่ป่าทั้งหมด  66,364 ตารางกิโลเมตร หรือ42.02 %ของลุ่มน้ำ  มีพื้นที่ราบตามริมฝั่งแม่น้ำแคบๆ แต่มีที่ราบมากมายในภาคเหนือตอนล่างลงมาจนถึงภาคกลาง ซึ่งเป็นที่ดินทำการเกษตรกรรม 80,443 ตารางกิโลเมตร หรือ 50.94% นอกจากนั้นเป็นแหล่งน้ำ ที่อยู่อาศัยและอื่นๆ 1,118 ตารางกิโลเมตร ถ้าศักยภาพของพื้นที่ป่าไม้ 42.02% ที่เกินกว่ามาตรฐานป่าต้นน้ำ 25% ซึ่งควรอนุรักษ์นั้น ทำไม น้ำจึงท่วมท้นล้นไปทั่ว คนใต้น้ำเดือดร้อนน้ำตานอง

                          

            ตามปกติลุ่มน้ำสำคัญ 8 ลุ่มน้ำนี้จะปลดปล่อยน้ำลงมารวมกันเฉลี่ยรายปีดังนี้คือ  แม่น้ำปิง 8,726 ล้าน ลบ.ม. แม่น้ำวัง 1,617 ล้าน ลบ.ม. แม่น้ำยม 3,657 ล้าน ลบ.ม. แม่น้ำน่าน 12,014 ล้าน ลบม.  ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 1,732 ล้าน ลบ.ม. แม่น้ำสะแกกรัง 1,124 ล้านลบ.ม. แม่น้ำป่าสัก 2,827 ล้าน ลบ.ม. และแม่น้ำท่าจีน 1,365 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งหมด 33,132 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่คราวนี้เกิดมรสุมหลายสิบลูก เมื่อปริมาณน้ำมากจนเกินไปก็ไหลทะลักลงมาพร้อมๆกัน

                         

            ถามว่าเขื่อนต่างๆเก็บกักน้ำไว้ได้มิใช่หรือ ต้องตอบว่าได้ แต่เมื่อปริมาณน้ำเกินพิกัดมันก็ต้องเปิดน้ำทิ้ง เว้นแต่แม่น้ำยมที่ไม่มีเขื่อนก็เลยไหลลงมาอย่างเต็มที่ เมื่อรวมกับแม่น้ำน่านที่มีปริมาณน้ำจำนวนมหาศาล แล้วมาผนวกกับปริมาณน้ำที่มาจากฝนมรสุม ก็จบกันพอดี ไม่มีทางใดแล้วที่จะจัดการบริหารน้ำได้โดยมนุษย์ ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ด้วยว่า ป่าไม้มันหายไปกลายเป็นภูเขาหัวโล้นน่ะซี แต่ถ้ายังมีป่าเหลืออยู่มันจะดูดซับไว้ได้ แล้วค่อยๆปลดปล่อยทีละนิดๆ แบบน้ำซึมบ่อทราย ไม่ใช่สะสมกันจนเป็นก้อนแล้วก็ไหลพรวดเดียวถึงที่ราบ กระจุย        

                          

           ปริมาณน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำปิงมาบรรจบกับแม่น้ำยมที่บ้านตาก จังหวัดตาก เหนือเขื่อนภูมิพล  ส่วนแม่น้ำยมไหลมาบรรจบกับแม่น้ำน่านที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์  ทั้งสองสายใหญ่มารวมกันที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา พอลงมาถึงอุทัยธานีก็รวมกับแม่น้ำสะแกกรังจากผืนป่าห้วยขาแข้ง ใต้ลงมาถึงอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท แม่น้ำเจ้าพระยาแตกสาขาออกไปเป็นแม่น้ำท่าจีน (ต้นน้ำท่าจีนจึงอยู่ที่จุดนี้) ไหลผ่านสุพรรณบุรี นครปฐม ไปออกอ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรสาคร ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาก็ไหลไปออกอ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรปราการ 

                         

                                               วัด..ศาสนสถานสำคัญเดือดร้อนไปด้วย

           ประสบการณ์ที่ผมพบเห็นบนเทือกเขาดอยอินทนนท์ คนอยู่กับป่า ป่าก็เลยหมด เหลือแต่ป่าหัวโล้น มีป่าไม้เหลือเป็นกระจุกๆ เช่นเดียวกับต้นน้ำวังก็มีคนอยู่บนภูเขาสูงๆ เช่นกัน ส่วนแม่น้ำยมนั้นนอกจากมีคนอยู่บนเขาสูงๆที่เรียกว่าป่าต้นน้ำแล้ว ยังไม่มีเขื่อนเก็บกักน้ำหรือชลอน้ำแต่อย่างใด ปริมาณน้ำจึงไหลแรงเร็วและมากมายมหาศาล อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ จึงต้องทนกับภาวะน้ำท่วมเฉียบพลันปีละ 5-6 ครั้ง พรมโรงแรมใหญ่ๆเน่าก็แล้วกัน  

                        

                                                                  ลงข่ายไล่ล่าปลาหนีบ่อ  ตัวใหญ่ๆ

            ลุ่มแม่น้ำน่านหรือ ผมอยู่มาสิบปีตั้งแต่ปีพ.ศ.2521-2531 เห็นมาทั่วแผ่นดินจังหวัดน่าน บินเฮลิคอปเตอร์ดูก็หลายครั้ง ขับรถตระเวณปลูกป่าต้นน้ำไปนับพันครั้ง ยิ่งรู้ว่ามีปริมาณน้ำที่ไหลหลั่งไปจากลุ่มน้ำนี้ถึง 12,014 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็ยิ่งห่วงใยว่า แม้มีเขื่อนสิริกิติติ์ ก็รองรับไม่พอเพียง  ส่วนป่าไม้บนที่สูงก็เหลือเพียงหย่อมเล็กหย่อมน้อย มีคนบนเขามากมายเหลือคณานับ  บริหารกันแบบ ป่าอยู่กับคนได้จะไปรอดน่ะหรือ ตอบแบบฟันธงเลย "ไม่มีทางแก้ปัญหาได้"    

                         

           ต้องขอบคุณนายช่วงชัย เปาอินทร์ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรีที่ชวนไปดูน้ำท่วม ก็เลยเกิดแรงบันดาลใจให้เขียนบทความนี้ บทความที่เกิดด้วยความเก็บกดเหมือนน้ำที่เดือดอยู่ในกา มีรูเล็กๆนิดเดียวให้พวยพุ่ง ก็เอาดีละโว๊ย เว็บไซท์ของเราเอง เขียนมันให้สะใจที่อยากปลดปล่อย แต่ถ้าเขียนลงลึกลงไปอีกก็ไม่ได้แล้ว เดี๋ยวก็จะโดนตามล่า "ปิดเว็บมันเสีย"  

         

           มีคนโทรศัพท์มาแซวผม เป็นคนเขียน "พินิจการเมือง" นสพ.โพสท์ทูเดย์ วันศุกร์ ทุกสัปดาห์ ชื่อจำลอง บุญสอง  เขาแซวผมว่า          

           ดร.เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง คนบ้านเดียวกับผม ดร.เจิมศักดิ์พูดว่า  

           "ที่น้ำท่วมอีสานครั้งนี้ก็เพราะว่าเทวดาลงโทษคนเสื้อแดง"

           "แล้วน้ำท่วมอ่างทอง เพราะว่าเทวดาลงโทษ ปากหมาๆ ของ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง หรือเปล่า" เสียงหัวเราะดังมาตามสาย

           "ไอ้...เจิมศักดิ์ ลูกครูเทื้อนเจ๊จู..เอ๋ย...วอนเสียแล้วนะมึง"

                           

                                                        ป่าหมด  เหมือนบ้านไม่มีหลังคา

             

Tags : คืนป่าสู่แผ่นดิน ป่าไม้ ลุ่มน้ำ

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view