http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 13/03/2024
สถิติผู้เข้าชม13,991,777
Page Views16,299,968
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

อุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

อุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

อุโบสถวัดเบญจมบพิธดุสิตวนาราม

The Marble Temple Of Thailand โดยธงชัย เปาอินทร์

 

                 คืนหนึ่งเมื่อได้ไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ.2552 ตามหน้าที่ www.thongthailand.com บรรณาธิการบริหาร เพื่อบันทึกภาพกิจกรรมตามระบอบประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญปีพ.ศ.2550 ในการเดินทางไปร่วมงานนี้ ผมนั่งรถแท็กซี่เป็นส่วนใหญ่ สะดวกดี และไม่ต้องห่วงใยเมื่อเลิกจากกิจกรรม แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งต้องเดินผ่านหน้าวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ได้เห็นภาพอุโบสถวัดต้องแสงไฟ งดงามเหลือเกิน จึงกดชัตเตอร์เก็บภาพไว้ในไฟล์ ได้โอกาสจะเผยแพร่แค่รูปเดียวนี่แหละ

                 หลังการปราบปรามคนเสื้อแดง ผมยังมีชีวิตอยู่ ไม่ถูกลูกหลงและรอดพ้นทุกประการงัดไฟล์ออกมาดูจึงได้เห็นภาพอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม มีอยู่เพียง 2 รูป แต่ในเรื่องนี้ก็ใช้เพียง 1 รูป ก็อธิบายได้มากมาย  

                        อุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม The Marble Temple  

             วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิด ราชวรวิหาร นิกายเถรวาท มหานิกาย เดิมชื่อวัดแหลม พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชทานการปฏิสังขรณ์ และพระราชทานชื่อใหม่ดังปัจจุบันนี้ โดยเน้นความวิจิตรพิศดารงานสร้างอย่างปราณีตยิ่ง ถือเป็นพระอารามในพระราชวังดุสิต  มีพระประธานพระพุทธชินราชจำลองจากวัดพระศรีมหาธาตุจากจังหวัดพิษณุโลก

             ลักษณะทั่วไปของอุโบสถ สถาปัตยกรรมแบบจตุรมุขตามแบบอย่างศิลปะไทยโบราณ  มุขด้านตะวันออกขยายยาว ด้านเหนือและใต้มีมุขกระสันต่อกับระเบียง หลังคา ๔ ชั้น ด้านมุขกระสันทิศเหนือและทิศใต้ ๕ ชั้น มีระเบียงโอบรอบด้านหลัง

              ด้านหน้าอุโบสถ มีกำแพงแก้ว บนมุมกำแพงแก้วซ้าย-ขวา มีเสาคอนกรีตหัวเสาเป็นศิลาสลักรูปดอกบัวตูม คือเครื่องหมาย "สีมา" สำหรับด้านหน้า ส่วนสีมาด้านหลังพระอุโบสถ สลักรูปเสมาธรรมจักรที่แผ่นหินแกรนิตปูพื้น ภายในกำแพงแก้ว ปูหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา

              มุขตะวันออก  มีเสากลมหินอ่อน ๔ ต้น ข้างบันไดหินอ่อนมีสิงห์สลักหินอ่อน ๒ ตัว ซึ่งโปรดเกล้าฯให้ ขุนสกลประดิษฐ์ ช่างในกรมช่างสิบหมู่ เป็นผู้ปั้นแบบ ตามภาพที่สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเขียนลายไว้ให้   ผนังรอบอุโบสถด้านนอกประดับด้วยแผ่นหินอ่อน ๔ เหลี่ยมสีขาวบริสุทธิ์ หนา ๓ เซนติเมตร

              มุขตะวันตกด้านนอก  มีเสาและสิงห์เช่นเดียวกับด้านหน้า และที่ซุ้มจรนำ ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณ เป็นพระยืนทรงเครื่องสมัยลพบุรี ปางห้ามญาติ ถวายพระนามว่า "พระธรรมจักร" เพราะที่ฝ่าพระหัตถ์สลักเป็นรูปพระธรรมจักร กับโปรดเกล้าฯให้บรรจุพระอังคารสมเด็จพระเจ้ามไหยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร (พระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้าละม่อม ซึ่งทรงอภิบาลเลี้ยงดูพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พระเยาว์มา ประหนึ่งสมเด็จพระราชชนนี) ใต้ฐานพระด้วย 

              ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลำยอง ลงรักปิดทองทึบ อ่อนช้อยรับกันทุกชิ้นมีคันทวยรับเชิงชายเป็นระยะ ๆ    หลังคาอุโบสถมุงกระเบื้องเคลือบสีเหลือง เรียกว่า "กระเบื้องกาบู" ซึ่งมีลักษณะเป็นกาบโค้งครอบแผ่นรอง เชิงชายเป็นแผ่นเทพนม ซึ่งโปรดเกล้าฯให้นำกระเบื้องวัดกัลยาณมิตร ส่งไปเป็นตัวอย่างทำสีจากเมืองจีน

                หน้าบันอุโบสถ   โปรดเกล้าฯให้ผูกลายประกอบพระราชลัญจกรต่าง ๆ คือ
               ๑. หน้าบันมุขตะวันออก จำหลักไม้ ผูกลายประกอบตราเป็นพระนารายณ์ทรงครุฑ ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "พระครุฑพาห์" ในลายมีหมู่เทวดาอัญเชิญเครื่องสูงประกอบซ้ายขวาด้วย
               ๒. มุขตะวันตก จำหลักไม้ ผูกลายประกอบตราเป็นอุณาโลมในบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "มหาอุณาโลม" หรือ "มหาโองการ"
               ๓. มุขเหนือ ปั้นปูน ผูกลายประกอบตราเป็นช้างสามเศียร บนหลังมีบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "ไอยราพต"
               ๔. มุขใต้ ปั้นปูน ผูกลายประกอบตราเป็นรูปจักรรถ ซึ่งถอดมาจากพระราชลัญจกร "จักรรถ" แต่เพราะพระราชลัญจกรจักรรถเหมือนกับ "พระธรรมจักร" จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "พระธรรมจักร"

               ในการผูกลายประกอบพระราชลัญจกร นอกจากสมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์แล้ว ส่วนหนึ่งพระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์ศุภากร (พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ช่วยเขียนแบบ ในกำกับของสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ด้วย

               บานประตูด้านนอก  ติดแผ่นโลหะนูน ภาพเทวดารักษาประตู (ทวารบาล) ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนกับด้านนอก บานหน้าต่างด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพมาร (ยักษ์) แบก ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนด้านนอก

                ภายในพระอุโบสถ มุขตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธชินราช ด้านหน้าพระพุทธชินราชเป็นรั้วหินอ่อนกลมสีเขียวหยก
                พระแท่นรัตนบัลลังก์พระพุทธชินราช ผนังเสมอกรอบหน้าต่าง และพื้นพระอุโบสถ ประดับหินอ่อนหลากสี   ณ พระแท่นรัตนบัลลังก์นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้บรรจุพระสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ผู้ทรงสถาปนาวัด

                ผนังเหนือกรอบหน้าต่างขึ้นไปซึ่งเป็นส่วนถือปูน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ช่างกรมศิลปาากรเขียนลายไทยเทพนมทรงพุ่มข้าวบิณฑ์สีเหลืองบนพื้นขาวอมเหลืองอ่อน ตลอดถึงเพดาน เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗

                เหนือหน้าต่าง ๑๐ ช่อง เป็นช่องกระจกรับแสง เขียนสีลายไทยเทพนม โดยช่างกรมศิลปากร ออกแบบสั่งทำจากเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ประเทศอิตาลี ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงรับเป็นเจ้าภาพ
               ด้านบน ขื่อในและขื่อนอก ๓ ชั้น ลงรักปิดทองลายรดน้ำ เพดานในล่องชาด ประดับดาวกระจาย ๒๓๒ ดวง ดาวใหญ่ ๑๑ ดวง มีโคมไฟระย้าแก้วขาวอย่างดี ตราเลข ๕ ซึ่งเป็นตราวัดเบญจมบพิตร ๖ โคม พร้อมสายบรอนซ์ ซึ่งสั่งทำจากประเทศเยอรมนี
              ช่องคูหาทั้ง ๘ เขียนภาพสถูปเจดีย์ที่สำคัญทุกภาค จัดเป็น "จอมเจดีย์" ในประเทศไทย โดยว่าจ้างให้กรมศิลปากรออกแบบและเขียน แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ คือ พระมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี, พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม, พระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช, พระเจดีย์ชัยมงคล จังหวัดนครศรีอยุธยา, พระมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย, พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม, พระมหาธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน และ พระศรีรัตนธาตุ จังหวัดสุโขทัย
               เฉพาะช่อง "พระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับเป็นเจ้าภาพ ช่อง "พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงรับเป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้มีพระบรมวงศานุวงศ์ และผู้มีจิตศรัทธารับเป็นเจ้าภาพ

               สำหรับหินอ่อนที่ประดับตกแต่งอุโบสถ ระเบียง ตลอดจนสถานที่อื่น ๆ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงวัดขนาดทำแบบส่งไปเป็นตัวอย่าง เรียกประกวดราคาโดยตรงจากบริษัทขายหินอ่อน ประเทศอิตาลี
               ในการออกแบบประดับหินอ่อน มีวิศวกรและสถาปนิกชาวอิตาเลียน จากกรมโยธาธิการ ร่วมดำเนินการด้วยคือ วิศวกร อัลเลกริ (Carlo Allegri) ประสานงานสั่งซื้อหินอ่อน, สถาปนิก ตะมาโย (Mario Tamagno) เป็นผู้ช่วยเขียนแบบบางส่วน
               หินอ่อนทั้งหมดได้มีการสั่งซื้อและเรียกประกวดราคาไปหลายแห่ง ส่วนหนึ่งเป็นหินอ่อนจากห้างโนวี ยัวเสปเป้ (Novi Guiseppe) เมืองเยนัว กับหินอ่อนจากเมืองคาร์รารา (Carrara) ประเทศอิตาลี ที่ถือว่าเป็นเมืองที่มีหินอ่อนมากและดีที่สุด มีเอกสารหลักฐานการสั่งซื้อมากมายเป็นหลักฐาน มิใช่เป็นหินอ่อนที่เหลือจากสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมตามที่นักเขียนหลาย ๆ คนเข้าใจและเขียนเผยแพร่อยู่ในหนังสือต่าง ๆ แต่อย่างใด ในช่วงแรกมีมิสเตอร์ มูโซ่ (Mr. L. Mosso) ซึ่งเป็นช่างจากบริษัทขายหินอ่อน เป็นนายช่างประดับหินอ่อน มีช่างคนไทยเป็นลูกมือ

ปล.ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก www.Dhamathai.orgจ้ะ

 

 

 

Tags : หนึ่งภาพ 1 000 คำ หุ่นไล่กา ลูกนอกไส้

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view