Dely169.doc/6กย41 ตำนานการปลูกป่าประชาอาสา
เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีปลูกต้นไม้สักจำนวน 20 ไร่เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2516 ณ กองทัพเรือสัตหีบ ซึ่งถือกันว่าเป็นศุภมหามงคลฤกษ์ครั้งแรกที่นอกเหนือจากกรมป่าไม้แล้วเกิดการปลูกป่าโดยผู้อื่น ตราบจนบัดนี้ การปลูกป่าแบบประชาอาสาได้เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน และจุดที่เคยปลูกอย่างยิ่งใหญ่สมัยหนึ่งนั้น บัดนี้สวนป่าตรงนั้นอยู่ไหน โตเท่าไร การวิวัฒนาการได้เพิ่มความแปลกมากขึ้น แต่ทุกครั้งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ถ้าถามหาผลที่เกิดขึ้น ? !
ต่อมาเกิดโครงการอาสาพัฒนาปลูกป่าในฤดูฝน(15 มค.-330 กันยายน 2520) โดยกรมป่าไม้เร่งรัดปลูกป่าในพื้นที่เสื่อมโทรมและรกร้างว่างเปล่าทั่วประเทศ ด้วยการเชิญชวนประชาชนร่วมปลูก กรมป่าไม้แจกกล้าไม้ให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แล้วมีมติ ครม.เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2520 ให้ถือเอาวันเข้าพรรษของทุกปีเป็นวันต้นไม้ประจำปีของชาติ
ผลของโครงการดังกล่าว กรมป่าไม้รายงานไว้ในหนังสือกรมป่าไม้ครบรอบ84ปีว่าได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งรวมจำนวนสวนป่าที่ปลูกได้ 286,212.46ไร่ ต่อมาปีพ.ศ.2521-2523 โครงการดังกล่าวได้รับอนุมัติให้ทำอย่างต่อเนื่องรวมเนื้อที่ได้อีก 157,518.35 ไร่ รวมสองสมัยที่ผ่านมาเป็น 443,730.81 ไร่ หลังจากนั้นมีการปลูกป่าประชาอาสาอีกมากมายจนเกินกว่าจะประมาณการณ์ได้ว่า หมดค่ากล้าไม้ที่เพาะแจกจ่ายในการปลูกไปเท่าไร ต้นไม้น่าจะเติบโตจนเป็นป่าร่มครึ้มไปทั้งป่าเสื่อมโทรมเหล่านั้น แต่อยู่ที่ไหน เป็นการกระทำซ้ำซากที่จะมั่นใจได้อย่างไรว่า ได้จิตสำนึก
เพราะผลของการแปรภาพถ่ายดาวเทียมของ นายธงชัย จารุพพัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม(ภาพขนาด1:250,000จากLandsat-5 TM)เนื้อที่ป่าเหลืออยู่ 25.28%ของเนื้อที่ประเทศ ตามหนังสือกรมป่าไม้ด่วนมากที่ กษ.0709.7/16001ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2541รายงานต่อประธานคณะทำงานฯการป้องกันและปราบปรามการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ป่าลดลงไปจากปีพ.ศ.2538-2541 เนื้อที่อีก 1,101,733 ไร่ เฉลี่ยปีละ 367,244.3 ไร่
พื้นที่ป่ายังถูกทำลายแต่ลดปริมาณลง ในขณะที่กระแสป่าสาละวิน ป่าร่มเกล้า ดังกระหึ่มแสดงว่าโครงการนี้สร้างจิตสำนึกของประชาชน พ่อค้า ข้าราชการผู้เกี่ยวข้องทุกหน่วย ไม่ได้เลย เพราะไม่มีใครหยุดแผ้วถางไร่และตัดต้นไม้เสียที “ไม่แผ้วถาง,ไม่ตัดเท่ากับเพิ่ม”
ต่อมาปีพ.ศ.2536 รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ได้อนุมัติโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเนื่องมาจากทรงครองราชย์เป็นปีที่ 50 จำนวน 5 ล้านไร่ ให้กรมป่าไม้เพาะชำกล้าไม้ 854.6 ล้านกล้า ๆละ 1.56 บาท เป็นเงิน 1,333 ล้านบาท เพื่อเตรียมไว้สนองแก่พ่อค้าประชาชนและองค์กรของรัฐและรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการปลูกอีก 3,000 บาท/ไร่ โดยปลูกแล้วบำรุงต่อ 2 ปี ได้พื้นที่ป่าเฉลิมพระเกียรติ ฯ 1,416,014.92 ไร่ (พ.ศ.2537-2541)
ใช้กล้าไม้ไป 544.62 ล้านกล้า และปลูกตามถนน สองข้างทางรถไฟ แม่น้ำ ลำคลอง อ่างเก็บน้ำ ที่สาธารณะ ฯใช้กล้าไม้ไป 309.98 ล้านกล้า หมดเงินทั้งในและนอกงบประมาณไปทั้งสิ้นจากปีพ.ศ.2537-2541รวม 11,826,790,000 บาท(ไม่รวมที่เอกชนสมทบ) มีการขอถอนการปลูกป่าดังกล่าวมากมาย มีรัฐวิสาหกิจที่ปลูกจริงจังคือ ปตท.และกฟผ. เพราะมีกำไรมาก ส่วนบริษัทเอกชนก็เห็นชัดเจนแค่ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์จำกัด ฯลฯเท่านั้น เนื่องมาจากธุรกิจถดถอยจริงๆ และหลังจากเกิดเหตุการณ์ IMF ต้องยอมรับความจริงว่า เข็นครกขึ้นภูเขาง่ายกว่า
วันเข้าพรรษาที่ผ่านมา วันต้นไม้ประจำปีของชาติได้เปลี่ยนแปลงเป็นโครงการป่ารักน้ำ ฯ กรมป่าไม้สั่งการให้หน่วยงานป่าไม้ทุกจังหวัด ทุกป่าไม้เขต รณรงค์ปลูกป่าจำนวน 72,000 ไร่ๆละ 100 ต้น หรือจังหวัดละ 720 ไร่ คราวนี้ใช้กล้าไม้ที่เหลืออยู่จากการปลูกป่าตามปกติและเพาะกล้าไม้แจกจ่ายประชาชน ผู้อาสาปลูกร่วมบริจาคต้นละ 10 บาท ถวายเป็นราชย์สักการะ
วันที่ปลูกเลื่อนมาเป็นวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2541 เวลา 07.20 น.ทั่วประเทศ หน่วยงานกรมป่าไม้ทุกแห่งเตรียมการกันพร้อมสรรพ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ประชาชนทุกหมู่เหล่าแห่แหนกันออกมาปลูกป่ามืดฟ้ามัวดิน ความจงรักภักดีเช่นนี้จะหาดูที่ไหนไม่ได้ในโลกนี้ เป็นพลังศรัทธาที่ไม่มีพลังใดเสมอเหมือน จะขอให้ประชาชนออกมาปลูกทุกปีก็ออกมาทุกปี
การหากล้าไม้ปลูกในจำนวน 720 ไร่มากกว่า 72,000 กล้า มีหน่วยงานกรมป่าไม้จัดหาให้ การระดมคนมาปลูกผู้ว่าราชการจังหวัดมีเครื่อข่ายที่ช่วยสนองตอบได้มากกว่า 5,000-10,000 คน การเตรียมการก่อนการปลูกใช้ทรัพยากรมากมายก็ทำได้ ฝนไม่ตกก็จัดหาน้ำมารดก็ยังทำได้อีก งานอย่างนี้กี่ครั้งกี่ปีเมื่อเสร็จสิ้นพิธีการแล้วก็แล้วกัน
“การปลูกน่ะง่ายมาก แต่การบำรุงรักษาไว้ยากกว่า” เรื่องนี้นายปลอดประสพ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ ได้สั่งการด้วยความห่วงใยเพื่อให้ช่วยกันรักษาสวนป่าที่ปลูกในวันนี้ไว้ให้ได้ เพื่อว่าในปีต่อไปเมื่อครบวาระเช่นนี้จักได้เห็นความร่มรื่นที่จะเกิดขึ้นจริงๆเสียที
ที่จังหวัดน่าน ณ สวนสักห้วยคำ นายคำรณ ณ ลำพูน รมช.กระทรวงสาธารณะสุข ส.ส.น่าน ได้มาเป็นประธานในพิธี นายเชิดพงษ์ อุทัยสาง ผวก.น่าน กล่าวรายงาน ที่ดินแปลงที่ปลูกนี้อยู่ใกล้เมือง ประชาชนโดยรอบทำสวนผลไม้ ปลูกป่าเอกชน และปลูกพืชไร่ มีถนนรายรอบ จะเป็นไปได้เพียงใด ถ้าสวนป่าตรงนี้จะถูกพัฒนาเป็นปอดของคนเมืองน่านอย่างถาวร
เป็นดั่งคล้ายสวนลุมพินีของกรุงเทพ ฯ มีที่เล่นกีฬาในร่มและกลางแจ้ง มีที่นั่งพักผ่อน มีที่เต้นแอโรบิค มีที่รำมวยจีน มีลู่วิ่ง มีร้านอาหารไว้สังสรรค์ มีสถานลีลาศเพื่อการออกกำลังกาย สระน้ำ ภูเขาดิน แต่ต้นปาล์มน้ำมันอย่างริมถนนในกรุงเทพฯไม่เอานะครับ
นายคำรณ ณ ลำพูน รับจะไปติดตามหางบประมาณมาพัฒนาโครงการป่ารักน้ำแห่งนี้ให้ได้
ระหว่างการรอคอยนี้ ถ้าบรรดา สโมสร ชมรม มูลนิธิ หอการค้า อบจ. อบต.และราชการ ร่วมกันออกมาช่วยทำให้มันเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชาวจังหวัดน่าน ด้วยการออกมาบำรุงรักษา(ดายวัชพืช พรวนดิน ใส่ปุ๋ย เปิดแสงสว่างให้)ทุกเดือนครึ่ง ต้นไม้จะได้เติบโต ยิ่งโตก็ยิ่งให้อากาศที่ดีแก่เรา ข้อสำคัญจะได้ไม่มีใครมากล้าบุกรุกและยึดถือครอบครองที่ป่าของคนเมืองน่านไปอีก เรื่องนี้คงไม่มีใครปรารถนาที่จะเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยครับ ป่าปลูกประชาอาสาแห่งแรกที่จังหวัดสระบุรี สมัยนายถนอม เปรมรัศมี เป็นอธิบดีกรมป่าไม้ วันนี้ ไม่มีต้นม้เหลืออยู่เลยครับ