Dely185.doc/19ธค41 รูปแบบป่าเอกชนของนิวซีแลนด์
ประเทศไทยกำลังพัฒนาป่าเอกชนด้วยความคาดหวังว่า จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดหาไม้เศรษฐกิจมาใช้สอยกันเอง มีรูปแบบหนึ่งเฉพาะตัวซึ่งยังไม่ประสบผลสำเร็จ และมีปัญหาค้างคาหลายประการ แต่ที่ประเทศนิวซีแลนด์มีรูปแบบของป่าเอกชนแตกต่างออกไป ได้รับฟังจากนักวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจนิวซีแลนด์แล้วใคร่นำเสนอเพื่อประกอบความรู้ในการจัดการบ้านเรา แต่อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถลอกเลียนวิธีการได้ทั้งหมดเพราะว่าต่างที่ต่างทาง กันอยู่
ประเทศนิวซีแลนด์เป็นเกาะใหญ่สองเกาะคือ เกาะเหนือและเกาะใต้ เป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ ที่ดินเป็นภูเขาส่วนใหญ่ มีที่ราบน้อย ป่าธรรมชาติแทบไม่มีอยู่เลย มีทั้งอากาศหนาวและอบอุ่น อาชีพเลี้ยงแกะจึงได้รับความนิยม มีชนเผ่าเมารีเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม ปีคศ.1840 มีประชากรเริ่มต้นที่ 1,000 คน แต่ในปีคศ.1996 ประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 ล้านคน ป่าเอกชนของนิวซีแลนด์จึงเป็นป่าที่ปลูกขึ้นมาใหม่เพื่อสนองความต้องการใช้และขายไม้ของประเทศ
แมรี่ คล๊าร์ค (Mary Clarke :NZ INSTITUTE OF ECONOMIC RESEARCH(ING),1พย41)ได้นำเสนอเรื่องราวการพัฒนาป่าเอกชนให้ทราบว่าการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศนี้แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนสำคัญคือ มีกรมป่าไม้ มีหน้าที่กำหนดการเกี่ยวกับนโยบายการป่าไม้ การป้องกันและรักษาโรคแมลงและการศึกษาวิจัย กรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมีหน้าที่ในการอนุรักษ์ป่าหรือทรัพยากรธรรมชาติของรัฐบาล กำหนดนโยบายการอนุรักษ์ และบริษัทนิวซีแลนด์ป่าไม้ ทำหน้าที่ในการจัดการค้าขายไม้ของรัฐบาลที่ปลูกขึ้น การเพาะชำกล้าไม้ การแปรรูปไม้
การปลูกป่าเศรษฐกิจปลูกโดยกรมป่าไม้ซึ่งทำในรูปแบบของบริษัทนิวซีแลนด์ป่าไม้จำกัด ปลูกป่าได้ 550,000 เฮกแตร์(3,437,500 ไร่) ทำการแปรรูปเอง ขายเอง แต่ปรากฏว่ายิ่งทำก็ยิ่งแย่ลงคือไม่ได้กำไร ไม่คุ้มค่าการลงทุน มีจุดบอดหลายจุดเกิดขึ้น ถือได้ว่าการจัดการปลูกและแปรรูปไม้ขายของรัฐเป็นหมัน ต้นทุนสูง กำไรต่ำ
ค.ศ.1990-1 รัฐบาลตัดสินใจแปรรูปการบริหารจัดการป่าปลูกของรัฐจำนวนดังกล่าวโดยการขายเฉพาะไม้ที่ปลูกขึ้นมาและให้อำนาจการปลูกทดแทนใหม่ให้กับบริษัทเอกชนใหม่ดังนี้คือ
ขายให้กับเอกชนจำนวน 247,000 เฮกแตร์ ทิมเบอร์แลนด์ เบย์ของเพลนตี้และนิวซีแลนด์ป่าไม้จำกัดจำนวน 170,000 เฮกแตร์ นิวซีแลนด์ทิมเบอร์แลนด์จำกัดจำนวน 109,000 เฮกแตร์ และทิมเบอร์แลนด์เวสท์โคสท์ จำนวน 24,000 เฮกแตร์
ผลปรากฏว่าเกิดการแข่งขันในการผลิตและการขายไม้อย่างมากมาย ประกอบกับเมื่อเป็นรูปแบบของบริษัทจำกัด เอกชนประสิทธิภาพการดำเนินการสูงขึ้น มีความคล่องตัวมากขึ้น มีต้นทุนต่ำเมื่อขายจึงได้กำไรสูง เป็นธุรกิจการปลูกป่าที่เห็นผลชัดเจน
รัฐบาลขายเฉพาะไม้ในสวนป่ากับสิทธิในการปลูกทดแทนและขายได้ต่อๆ ไปแก่เอกชน เป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นการลงทุนร่วมของเอกชน(Privatisation)ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะให้ประสิทธิภาพการจัดการสูงสุด การร่วมลงทุนระยะยาวเช่นนี้จึงต้องมีกระบวนการที่เกี่ยวข้องเช่น กฎหมาย ระเบียบ ประสิทธิภาพการจัดการ การวิจัยทางวิชาการทุกสาขา การตลาดและความคล่องตัวทุกรูปแบบ น่าจะต้องนำมาอภิปรายให้ถ่องแท้ถึงศักยภาพสูงสุด
ฟังเรื่องราวของคุณแมรี่แล้ว หันกลับมามองดูบ้านเราบ้าง พบว่า กรมป่าไม้(กองบำรุง)เคยมีหน้าที่ปลูกป่าเศรษฐกิจในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม ไม้ที่ปลูกมีหลายชนิดเช่นไม้สัก ยาง ประดู่ ตะเคียน ฯลฯ เพื่อหาไม้ไว้ใช้ในอนาคต อีกส่วนปลูกโดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.) บริษัทไม้อัดไทยจำกัด(มอท.)ในรูปรัฐวิสาหกิจ รวมพื้นที่ป่าปลูกมากกว่า 4 ล้านไร่ ปัจจุบันกำลังพัฒนารูปแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยโครงการปลูกป่าเศรษฐกิจ
ผลที่เกิดขึ้นคือ ช่วงที่มีการทำไม้แล้วขายจากการสัมปทานป่าธรรมชาติ ได้ผลกำไรมาตลอด เก็บเกี่ยวเม็ดเงินเข้าคลังและนำไปพัฒนาประเทศ แต่เมื่อยกเลิกสัมปทานทำไม้จากป่าธรรมชาติแล้ว รัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งนี้ขาดทุนตลอดมา กระทั่งเงินเดือนพนักงานก็ต้องกู้มาจ่าย ไม้จากสวนป่าของกรมป่าไม้ยังไม่เคยนำออกมาแปรรูปหรือใช้ประโยชน์ ออป.และมอท.นำออกมาจากไม้ตัดสางขยายระยะบางส่วนซึ่งถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณเม็ดเงินที่เทลงไป
ลองหันไปมองดูรูปแบบป่าเอกชนในปัจจุบันนี้ ออป.หรือมอท. มีความคล่องตัวในการจัดการบริหารสวนป่าที่ปลูกขึ้นมาตาม พรบ.สวนป่าพ.ศ.2535 แต่ในส่วนของป่าเอกชนจริงๆยังไม่เห็นอนาคต นี่ถ้ามีการนำเอาแนวคิดประเทศนิวซีแลนด์มาใช้ปฏิบัติบ้าง ด้วยการกำหนดเป้าหมายคำว่าป่าเอกชนให้ชัดเจนว่าเพื่อการค้าขายไม้ และทำทุกทางที่เห็นว่าจะเกิดผลดีต่อประเทศและวงการป่าไม้ ประชาชนจะมีงานทำ มีไม้ใช้สอยไม่ต้องขโมยและลดต้นทุนการผลิต น่าคิดและน่าทำนะครับ