คำพูดซ้ำซากของนายมนตรี เมื่อครั้งที่นายมนตรี พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาเยี่ยมกรมป่าไม้ครั้งที่หนึ่ง ได้กล่าววาจาที่ฟังแล้วถือเป็นนโยบายง่ายๆสั้นๆ ว่าขอให้กรมป่าไม้รักป่าให้มาก ป่าก็จะอนุรักษ์ไว้ได้ และให้กรมป่าไม้ไปคิดมาว่าจะทำอย่างไร จึงจะสามารถปลูกป่าเพิ่มพื้นที่ให้ได้ครบ 10 ล้านไร่ ได้แก่ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์เป็นปีที่ 50(พ.ศ.2539)จำนวน 5 ล้านไร่และส่งเสริมเกษตรกรปลูกป่า 5 ล้านไร่ ให้แล้วเสร็จเพื่อทูลเกล้าถวายเป็นราชสักการะให้ได้ทันเวลา คำพูดสั้นๆที่นายมนตรีกล่าวครั้งนั้น ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากข้าราชการกรมป่าไม้กันมากเนื่องเพราะว่าพูดสั้นๆ ชัดเจน แต่ฟังแล้วไม่คิดตามก็เหมือนไม่มีอะไรในกอไผ่ ต่อเมื่อคิดตามให้ดี ไตร่ตรองให้ลึกซึ้ง จะพบว่ามีความจริงจังแฝงอยู่อย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ ถ้าคนของกรมป่าไม้รักป่า ก็จะรักษาป่าที่เหลืออยู่(26.02 %ของเนื้อที่ประเทศ)ไว้ให้ได้ แสดงว่าฝ่ายการเมืองมองคนของกรมป่าไม้ไม่รักป่า ป่าจึงรักษาไว้ไม่ได้ และ ให้ไปหาวิธีดำเนินการมาให้ได้ว่า จะทำอย่างไรให้โครงการปลูกป่าทั้งสองโครงการสำคัญได้ครบ 10 ล้านไร่ ทันทูลเกล้าในปีที่ทรงครองราชย์ปีที่ 50(2539) ต่อมาวันที่ 20 พฤศจิกายน 2538 เป็นประธานเปิดการประชุมการป่าไม้แห่งชาติ ประจำปี 2538 ที่หอประชุมมหาวิทยาลันเกษตรศาสตร์ นายมนตรี พงษ์พานิช รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่งในเรื่องดังกล่าวข้างต้น เป็นครั้งที่สองแล้วที่ยืนยันคำพูดเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายและระยะเวลาใดๆ หากคำพูดเหล่านั้นคือนโยบาย ในส่วนที่กรมป่าไม้ต้องเร่งกระทำอย่างเร่งด่วนคือการแปลงนโยบายเพื่อให้เป็นแผนการปฏิบัติ แล้วนำแผนการเหล่านั้นส่งต่อหรือบริหารให้หน่วยปฏิบัติรับไปดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเมืองแทรกซ้อน มีอำนาจแฝงที่ไม่มีใครกล้าขัดขืน แต่ยินดีรับมากกว่าต่อต้าน ตลอดจนเงื่อนไขเริ่องเวลาที่สั้นกระชั้นเกินไป และเป้าหมายสูงเกินกว่าจะผลักดันให้เป็นไปได้ ถ้าไม่โกหกตัวเองและพวกพ้อง
เช่น กรณีที่ข้าราชการกรมป่าไม้จะปลูกป่าจำนวน 500,000 ไร่ ในโครงการนี้โดยไม่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ตามที่อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ นายผ่อง เล่งอี้ เป็นผู้ไปบันทึกเสนอเอาไว้กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งจะด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบได้ แล้วนำมาจัดแบ่งเพื่อให้ทุกป่าไม้จังหวัด ทุกป่าไม้เขต ทุกกอง ทุกสำนัก ทุกส่วน เสียสละเพื่อปลูกป่าจำนวนนั้นให้สำเร็จ จนบัดนี้มีใครตอบได้หรือไม่ว่า มีการยอมรับไปปฏิบัติได้ตามคำสั่งการที่เป็นไปไม่ได้เหล่านั้นหรือไม่ ได้ผลมากน้อยเพียงใด มีใครรายงานเท็จมาบ้างหรือไม่ หรือว่าปลูกกันแล้วก็ทิ้งไปจนตายข้าราชการกรมป่าไม้ในยุคสมัยปิดการทำไม้ ค่อนข้างเก็บตัว เจียมตัว เพราะว่าไม่มีพ่อค้ามาอนุเคราะห์ดังแต่เก่าก่อน ไอ้ที่เคยซ่ามากๆก็หดหายไปตามกรรม นี่คือตัวอย่างที่สั่งไม่ชอบ สิ่งที่กรมป่าไม้จะต้องนำมาทบทวนกันอย่างจริงจัง คือ คำพูดซ้ำซากของนายมนตรี มีเจตนาแน่วแน่เพียงใด แล้วหาแนวทางกำหนดยุทธวิธีขึ้นใหม่ ให้เห็นชัดเจนเป็นเรื่องเป็นราว ที่เมื่อนำไปปฏิบัติการต้องปฏิบัติได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ประกอบด้วยประเด็นหลักคือรักษาป่าไม้ไว้ให้ได้ 26.02 % และปลูกป่า 10 ล้านไร่ถวายในหลวง กรณีการรักษาป่าไม้ไว้ให้ได้ 26.02 %ของเนื้อที่ประเทศ ปัจจุบันนี้ทราบกันหรือไม่ว่า ป่าที่เหลือเป็นป่าจำนวนนี้เหลืออยู่ที่ไหน ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศเหลืออยู่เท่าใดในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศเหลืออยู่เท่าใด ป่าสัมปทานทำไม้ที่ถูกปิดลงเหลืออยู่เท่าใด ป่าหย่อมเล็กหย่อมน้อยกระจัดกระจายอยู่ที่ไหน เท่าใด เมื่อทราบแน่ชัดว่า ป่าเหลืออยู่ที่ไหน หน่วยงานไหนเป็นผู้รับผิดชอบ ก็ให้จัดทำแผนการปฏิบัติมาเป็นการเฉพาะกรณีๆไป น่าจะเป็นรูปธรรมที่ใกล้เคียงความเป็นจริงได้ หากการนำแผนการไปปฏิบัติติดขัด มีปัญหา กงล้อตัวใดคือปัญหา ประเมินผลระหว่างการปฏิบัติ แล้วก็ปรับแผนใหม่ จนกว่าจะลงตัวเป็นผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ เช่นขาดกำลังคน ก็ระดมคนมาจากจุดอื่นๆเป็นการชั่วคราวแล้วขออัตรากำลังเพิ่มเติมอย่างเป็นระบบ เป็นต้น ส่วนกรณีการปลูกป่าให้ได้ 10 ล้านไร่ จากโครงการปลูกป่าถาวรฯ 5 ล้านไร่ ซึ่งเป็นนโยบายพรรคการเมืองหนึ่งเป็นผู้กำหนด แล้วผลักดันลงสู่การปฏิบัติ ด้วยความมุ่งมั่นระดับมากที่เดียว แต่น่าเสียดายว่า เมื่อถึงหน่วยปฏิบัติๆไม่สามารถผลักดันโครงการได้สำเร็จ ตราบจนกระทั่งผ่านมาถึงรัฐบาลนี้ น่าจะมีการนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุและวางแผนการปฏิบัติเสียใหม่ ถือเป็นการปรับปรุงแผนการ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย กรณีสุดท้ายคือ โครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกป่า 5 ล้านไร่ใน 3 ปี ปีแรกที่ได้รับงบประมาณให้ส่งเสริมให้ได้พื้นที่ครบ 1 ล้านไร่ ก็ปฏิบัติได้เพียง 70 % ปีถัดมา(2538)ได้รับงบประมาณ 1 ล้านไร่เท่าเดิม ปัจจุบันนี้ปฏิบัติได้ตามเป้าประมาณ 85 % แต่ยังไม่ทันไรก็เกิดเรื่องขึ้นอีกคือ น้ำได้ท่วมบ่าอย่างร้ายแรง สวนป่าของเอกชนจำนวนหลายหมื่นไร่ บางจังหวัดเสียหาย_ตายไปเป็นหมื่นๆไร่ ยอดรวมสะสมลดลงไปอีก จะทำกันอย่างไร คำพูดซ้ำซากของนายมนตรี จะมีความหมายมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่รับผิดชอบว่าจะสามารถกระทำได้อย่างไร หรือไม่ นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถ หรือมีความหมายอื่นใดอีก ที่จะกลายเป็นอำนาจแฝงอันหอมหวล
จะอย่างไรก็ตาม น่าจะมิได้หมายความว่า ในการป้องกันรักษาป่าไม้ส่วนที่เหลือ 26.02 % ของเนื้อที่ประเทศ ต้องยกกองทัพไปป้องกัน หากแต่น่าจะเป็นเรื่องของการ วางมาตราการ แผนการ วิธีการและกลยุทธต่างๆมากว่า ในกรณีการปลูกป่าก็เช่นกัน จะปลูกป่าในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ให้ได้ครบถ้วนตามกำหนดเวลาคงไม่ได้ แต่แผนการปฏิบัติ วิธีการ กลยุทธ น่าจะถูกนำมาพิจารณามากกว่า การปฏิบัติการที่มุ่งเน้นเพียงแค่ปริมาณ แต่ต้องหลอกลวง โกหกพกลม ปิดบังอำพราง ความเป็นจริงเหมือนหนูที่แอบขึ้นจากรูมากินข้าวในนาแล้วก็หนีลงรูไป