การฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ในป่าอนุรักษ์
ธงชัย เปาอินทร์
ด้วยกลไกหลายประการแต่อดีต ทำให้คำว่า “การปลูกป่า” มีภาพพจน์ในทางลบมากกว่าบวก ต่อมาคำว่า “การปรับปรุงหรือการฟื้นฟูระบบนิเวศน์” ถูกนำมาใช้เพื่อให้ได้งบประมาณมาทำงานอย่างหวั่นกลัว กลไกสำคัญที่ถูกกดดันมากคือ “การคอร์รัปชั่น” พูดกันจะจะ ไม่ว่าองค์กรไหนที่มีคำว่าอนุมัติ อนุญาต จากการเบิกจ่าย จากการผ่านเรื่องราว จากการตรวจตราหรือตรวจสอบ มีการคอร์รัปชั่นทุกที่ แต่ในความเป็นจริงที่จำเป็นต้องปลูกป่าเพราะว่าอะไรนั่นหรือ วันนี้หน้านี้มีคำตอบ
การปลูกป่าที่กรมป่าไม้เคยปฏิบัติ
อดีตกาลของกรมป่าไม้ มีกองบำรุงเป็นกองเดียวที่มีหน้าที่ในการเพาะชำกล้าไม้เพื่อแจกจ่ายประชาชนปลูกประดับ ปลูกให้ร่มเงา ปลูกในบ้านและที่ดินส่วนตัว ปลูกในวัด โรงเรียน ที่สาธารณะประโยชน์ ไม่ได้เพาะกล้าเพื่อปลูกป่า ชนิดไม้ที่เพาะจึงแตกต่างจากที่จะปลูกป่าเศรษฐกิจและป่าเพื่อการอนุรักษ์ (ต้นน้ำ) จริงๆ
งานการปลูกป่าและบำรุงรักษาสวนป่า มีตั้งแต่การตั้งเรือนเพาะชำกล้าไม้ การเก็บหาเมล็ดไม้ การเพาะชำกล้าไม้ การกราดแดดเพื่อให้กล้าไม้แกร่ง การคัดขนาดต้นกล้าให้เหมาะสม เพื่อที่จะให้ได้กล้าไม้ที่แข็งแรงเมื่อนำไปปลูกจะได้ทนแล้ง เติบโตเร็ว รอดในฝนเดียว การปลูกป่าลักษณะนี้มีทั้งการปลูกป่าเศรษฐกิจ(ไม้ป่าเศรษฐกิจ) และการปลูกป่าเพื่อรักษาต้นน้ำ(ไม้ไม่ผลัดใบ ใบเล็ก และเติบโตเร็วเพื่อปกคลุมพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม)
การเตรียมพื้นที่ประกอบด้วยการแผ้วถางป่า การเก็บริบสุมเผา การปักหลักหมายแนวปลูก(ปลูกเป็นแถวเป็นแนวมีระยะปลูกที่เหมาะสม) การปลูก การบำรุงสวนป่าที่ประกอบด้วยการดายวัชพืชครั้งที่ 1 การปลูกซ่อมเมื่อพบว่ามีต้นกล้าที่ปลูกตายไป การดายวัชพืชครั้งที่ 2-3 เพราะว่าการปลูกป่าที่แท้จริงต้องอาศัยน้ำฝนจากฟ้าเท่านั้น จนพูดกันว่า “ปลูกให้เทวดาเลี้ยง” พอชนรอบจะเข้าแล้งก็ต้องทำแนวกันไฟป่า ทางตรวจการณ์ไฟป่า การชิงเผา ต้นไม้ที่ปลูกรอดตายจากแล้งและไฟป่า ถือว่าเป็น “ผลงานที่มีหลักฐานยืนยัน” `_แต่จะรอดกี่เปอร์เซ็นต์
ในอดีตถ้าหัวหน้าสวนป่าคนไหนปลูกป่าไม่มีผลงาน มักจะถูกย้ายออกและถูกตั้งกรรมการสอบสวน ดองเค็มไปหลายปี บางคนต้องขอย้ายไปที่อื่นๆ แต่วันนี้มีแต่การปฏิบัติที่เป็นความสัมพันธ์ลึกซึ้งจนกลายเป็น “เด็กกูเอง” จนทำให้เกิดข้อความที่เจ็บปวดกระดองใจ “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” คนทำดีจึงหยุดทำกันหมด ใช่ ! เลย
กองอนุรักษ์ต้นน้ำยุคเข้มข้น
กองบำรุง กรมป่าไม้ในยุคนั้นมิใช่มีเพียงการเพาะชำกล้าไม้และปลูกป่า แต่มีงานอุทยานแห่งชาติ งานอนุรักษ์สัตว์ป่า งานอนุรักษ์ต้นน้ำ เหมือนไผ่แตกกอกลายเป็นกองอุทยานแห่งชาติ กองอนุรักษ์สัตว์ป่าและกองอนุรักษ์ต้นน้ำ ส่วนการเพาะชำกล้าไม้และการปลูกป่าเศรษฐกิจ(ไม้สักและไม้มีค่า) ทั้งหมดทั้งมวลเป็นการแตกกอออกตามสายวิชาการด้านต่างๆ
กองอนุรักษ์ต้นน้ำ มุ่งเน้นทำงานสืบค้นหาพื้นที่ที่เป็นป่าต้นน้ำซึ่งถูกบุกรุกทำลายจนหมดสภาพความเป็นป่า แล้วเดินทางด้วยเท้ากันสามวันสองคืนเพื่อเข้าไปปักหลักตั้งหน่วยงานด้วยกระดาษคำสั่งใบเดียว กระต๊อบหญ้าคาเป็นที่ทำการที่ทั้งนอน ทำงาน ทำอาหาร คนงานหาเอาจากหมู่บ้านใกล้เคียง หรือบางทีต้องลงมาเอาคนจากพื้นราบขึ้นไปอยู่เป็นกลุ่มๆ เพื่อให้งานดำเนินไปได้
ทุกที่ที่เข้าไปทำงาน หน่วยงานป่าไม้กองนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อชาวบ้านหรือชาวเขาที่แผ้วถางป่าทำไร่เลื่อนลอย มีการร้องเรียน มีการถวายฎีกา มีการลอบทำร้าย มีแม้กระทั่งการหยอดสลอดใส่ในไม้ไผ่ผ่าซีกที่ทำเป็นรางน้ำมาใช้ดื่มกินจนท้องเดิน(เสีย)แทบจะวางวาย แต่ทุกคนสวมวิญญาณนักสู้สู้ไม่ถอย จนในที่สุดตั้งหน่วยงานได้ เพาะกล้าไม้ ปลูกป่ารักษาต้นน้ำได้โดยมีชาวบ้านเป็นแรงงานสำคัญที่ไม่ควรลืมบุญคุณ “ปลูกป่าต้องปลูกคน”
กิจกรรมการปลูกป่าต้นน้ำ(100-200 ต้น/ไร่) ปลูกด้วยพันธุ์ไม้ป่าที่มีถิ่นกำเนิดในท้องถิ่นเช่น เติม แอปเปิ้ลป่า ก่อ นางพญาเสือโคร่ง ยางแดง ตะเคียนทอง สนสามใบ สนสองใบ ฯลฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่ที่ปลูกมีลักษณะป่าประเภทใด สูงจากระดับน้ำทะเลแค่ไหน เป็นพันธุ์ไม้ที่ไม่ผลัดใบเป็นหลัก ความยากและอัตราการรอดตายอยู่ที่ชนิดพันธุ์ดังกล่าว “แต่พูดได้คำเดียวว่าเป็นงานที่ยาก”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ป่าต้นน้ำเหล่านั้นมักจะเป็นที่สูงชัน แค่หาบกล้าไม้ไปปลูกก็ล้มคว่ำกันหลายตลบ `ดินก็เสื่อมโทรมมาหลายปีจากการทำไร่เลื่อนลอย ปลูกไม่ตรงฤดูกาลก็ตายมาก
นักการเมือง เอ็นจิโอ และกระแส
ในการแปรญัติงบการปลูกป่าของกรมป่าไม้ ขั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร อ้างแต่การโกงกินของเจ้าหน้าที่ การปลูกป่าไม่มีผลงาน จนกระทั่งมีการให้เปิดประมูลงานปลูกป่า โดยภาคเอกชน แต่แล้วผลการแปรญัติดังกล่าวล้มเหลวในปีถัดมา จึงได้เกิดการยอมรับว่า การปลูกป่าไม้ได้ง่ายอย่างปลอกกล้วยเข้าปาก เงื่อนไขดังกล่าวเลิกล้มไป
เวลาเดียวกันเอ็นจิโอสายลบกล่าวกันมากว่า การปลูกป่าเป็นการจับต้นไม้มาเข้าแถว เป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ต่อไปก็จะไม่เป็นป่าธรรมชาติ มีการเปิดแผ้วถางป่าเพื่อปลูกป่า อ้างกระทั่งว่าการเปิดพื้นที่เพื่อปลูกป่าทำให้น้ำในดินระเหยมากขึ้น สรุปว่าการปลูกป่าไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ที่เสื่อมโทรมเลยสักประเด็น
แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เอ็นจิโอไม่รู้ก็คือ จากขั้นตอนการแผ้วถางป่าปลูกต้นไม้แล้วดายวัชพืชเพื่อเปิดแสงให้กับต้นไม้เข้าแถวนั้น มันมีต้นไม้ที่แตกหน่อจากตอเดิมหรือเหง้าใต้ดินหรือจากเมล็ดที่ปลิดโปรยจากแม่ไม้ตามธรรมชาติ โผล่ขึ้นมาแซมทั่วไป ตรงนี้แหละครับที่นักวิชาการป่าไม้เขาจะไม่ตัดทำลายมัน แต่จะปล่อยให้เติบโตไปพร้อมๆกับต้นไม้ที่ปลูกใหม่ กลายเป็นป่าผสมผสานในปีถัดมาและตลอดไป
อีกประการหนึ่ง นักวิชาการป่าไม้มีกรรมวิธีในการปลูกป่าแบบผสมผสาน ที่มีทั้งปลูกคละกันไปทั้งดอยและปลูกเป็นแปลงๆ(บล็อก) สลับกันไปแบบไร่ต่อไร่หรือดอยต่อดอย ซึ่งวิธีการปลูกลักษณะนี้ช่วยในการป้องกันการระบาดของโรคหรือแมลง มีการทำแนวกันไฟป่ารอบแปลงที่เพิ่มความปลอดภัยให้กับต้นไม้ที่ปลูก และเพิ่มขีดความสามารถในการดับไฟป่าได้อีกทางหนึ่ง
ถึงอย่างไรก็ตาม เพราะว่ากรมป่าไม้อ่อนด้อยเรื่องการประชาสัมพันธ์ การทำความจริงให้ปรากฏ การสร้างความเข้าใจ การเผยแพร่รวมถึงการสร้างแนวร่วม ปวกเปียก ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงเป็นลบตามไปอย่างช่วยไม่ได้ เหตุที่เป็นดังนั้นก็เพราะว่า ในตำราวิชาวนศาสตร์ทั่วไป มีเพียงประโยคเดียวที่พูดถึงการประชาสัมพันธ์ว่า
“ในอนาคตการประชาสัมพันธ์จะเป็นเรื่องสำคัญที่นักวิชาการป่าไม้ต้องตระหนัก”
กรมป่าไม้เคยมีสำนักสารนิเทศระดับ 9 ยุบเป็นส่วนประชาสัมพันธ์ระดับ 8 ไปเรียบร้อยแล้ว
สำนักนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ
การปรับเปลี่ยนโครงสร้างจ่ากกรมป่าไม้เป็นกรมอุทยานแห่งชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืชจากกองระดับ 8 กลายเป็นสำนักระดับ 9 จากฝ่ายระดับ 7 เป็นผู้อำนวยการส่วนระดับ 8 แต่น่าเสียดายที่เนื้องานการปลูกป่าต้นน้ำถูกนักการเมือง เอ็นจิโอสายลบ ข้าราชการที่อ่อนไหวไปกับกระแสการอนุรักษ์ป่าแบบ “ไม่ต้องปลูกเดี๋ยวก็ขึ้นเอง” และข้าราชการที่มีแผลก็เลยตอบอ้อมๆแอ้ม ในที่สุดก็ยกเลิกการปลูกป่าปรับปรุงต้นน้ำไปอย่างน่าเสียดาย งบประมาณก็น้อยลง สำนักแทบจะไม่มีงานทำ
แต่แล้วคำว่า “การปรับปรุงหรือการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ก็ปรากฏขึ้น” `เป็นก้าวย่างที่โอนอ่อนไปตามกระแสอนุรักษ์เพี้ยนๆ จากการปลูกป่าไร่ละ 100-200 ต้น/ไร่ ที่มีระบบตรวจสอบติดตามผลการปลูก ทุกหลักที่ปักหมายแนววัดพื้นที่ป่าที่จะปลูกทุกหลัก ประกันได้ว่า มีผลงานที่มองเห็นได้กว่า 85 เปอร์เซ็นต์ กลายมาเป็นการเจาะช่องปลูกไร่ละ 25 ต้น(660 บาท/ไร่) วัชพืชและไฟป่าโหมพักเดียวก็หงิก วัชพืชรกเร็วก็หงิก ติดตามตรวจสอบก็ยาก
มีการสร้างเขื่อนดักตะกอน(Check damp) ตามหลืบห้วยเล็กๆ ด้วยวัสดุจากธรรมชาติเช่นไม้ไผ่ซึ่งอาจมีอายุ 1 ปีหรือมากกว่านั้น เรื่องนี้ผู้เขียนไม่เห็นด้วยนักเพราะว่าถ้าปลูกต้นไม้ให้หนาแน่นชั่วเวลาหนึ่งเรือนยอดต้นไม้ก็ปกคลุมพื้นที่ได้ดียิ่งกว่า ป้องกันแรงตกกระทบของเม็ดฝนได้ดีกว่า ป้องกันตะกอนที่จะเกิดได้มากกว่า เก็บความชุ่มชื้นตั้งแต่ใต้ร่มเรือนยอดจนถึงใต้ดินได้ดีกว่า เรียกว่าเพิ่มความชุ่มชื้นทั้งเหนือดิน ใต้ดิน(น้ำฝนที่ตกผ่านเรือนยอดแล้วไหลลงตามลำต้นและระบบรากสู่ชั้นใต้ดิน) แต่ถ้าทำจริงๆจังๆไม่หวังผลเป็นเม็ดเงิน ก็น่าทำ
และจากผลการปลูกป่าต้นน้ำด้วยสนสามใบที่ดอยตุง จังหวัดเชียงราย ดอยขุนคอง จังหวัดเชียงใหม่ ดอยสามหมื่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นภาพที่เห็นได้ด้วยสายตาว่า ถ้าการปลูกป่าได้ผล เรือนยอดที่แผ่กว้างจนจรดกันช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แผ่นดินเพียงใด ข้อแม้คือการป้องกันไฟป่าต้องเข้มข้น ซึ่งในงบการปลูกป่าต้นน้ำจะมีการปลูก การบำรุง การป้องกันไฟป่า อยู่รวมในหน่วยงานเดียว ไม่ได้แยกกันบริหารอย่างปัจจุบันนี้
คำตอบเรื่อง ทำไมต้องปลูกป่า
1. นายสมเพิ่ม กิตตินันท์ อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ ได้ทำการวิจัยสมัยที่ดำรงตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้เอก หัวหน้าฝ่ายวนวัฒนวิจัย กองบำรุง เมื่อปีพ.ศ.2511 พบว่า ต้นไม้สักที่เกิดตามธรรมชาติจะเติบโตจนพ้นไฟป่า(รอดตายเติบโตเป็นต้นสักสูง 128 ซม.) ใช้เวลา 15 ปี นั่นหมายความว่า ตั้งแต่แตกหน่อเป็นต้นกล้าเมื่อฤดูฝนที่ผ่านมา แล้วเข้าแล้งไฟป่าจะไหม้กล้าสักเล็กๆ(ขนาดก้านไม้ขีด)จนตายแล้วตายอีกนาน 15 ปี
ในแต่ละปีเหง้าสักใต้พื้นดินสะสมอาหารมากขึ้นๆเพื่อแทงยอดขึ้นมาอีกครั้ง ถ้าขุดเหง้าสักขึ้นมาดูจะพบว่า มีร่องรอย(แผลเป็น)ต้นสักที่ถูกไฟป่าเผาตาย(ต้นบนดิน)ชัดเจน มีต้นไม้ในป่าธรรมชาติหลายชนิดที่มีรากสะสมอาหารเป็นเหง้า มีขีดความสามารถในการแตกหน่อจากตอหรือเหง้าได้ แต่มีต้นไม้อีกนับหมื่นชนิดที่ไม่มีการแตกหน่อจากตอ ไฟป่ามาคราวเดียวก็ตายเกลี้ยง
ป่าสักตามธรรมชาติก็เช่นกันต้องใช้เวลานานถึง 15 ปีจึงพ้นไฟป่า แต่ถ้าเพาะกล้าไม้สัก 1 ปีได้เหง้าสักหรือต้นกล้า แล้วนำไปปลูก บำรุง ป้องกันไฟป่า ชั่วอีกปีเดียวต้นสักก็ไม่ต้องผจญไฟ รอดตายและเติบโตเป็นป่าได้ ย่นเวลา 14 ปี ต้นไม้อื่นๆอีกหลายชนิดที่แตกหน่อจากตอได้ เช่น ประดู่ป่า เต็ง รัง เหมือด เป็นต้น
2. พรพรรณ จงสุขสันติกุล และสุชี ลา ธีราภรณ์ ได้ทำการวิจัยเรื่อง กษัยการของดินระหว่างพื้นที่ป่าไม้กับพื้นที่ทำไร่เลื่อนลอย ที่หน่วยจัดการต้นน้ำม่อนอังเกต จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่า
2.1 ป่าดงดิบชื้นธรรมชาติความลาดชัน 68% สูญเสียดิน 3.14 ตัน/ไร่/ปี และมีการสูญเสียแร่ธาตุ(N-P-K-Ca-Mg-Na) 19.08 กก./ไร่/ปี
2.2 พื้นที่ทำไร่เลื่อนลอยความลาดชัน 28% สูญเสียดิน 13.11 ตัน/ไร่/ปี และมีการสูญเสียแร่ธาตุ((N-P-K-Ca-Mg-Na) 65.78 กก./ไร่/ปี
2.3 พื้นที่สวนสนสามใบอายุ 12 ปี ความลาดชัน 68% สูญเสียดิน 2.35 ตัน/ไร่/ปี และมีการสูญเสียแร่ธาตุ((N-P-K-Ca-Mg-Na) 18.05 กก./ไร่/ปี
จะเห็นว่าป่าสนสามใบที่ปลูกอายุ 12 ปี มีศักยภาพเทียบเท่าป่าดงดิบชื้นธรรมชาติ แก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงทีใช่หรือไม่ ? ถ้าปล่อยให้ฟื้นคืนตามธรรมชาติต้องเผชิญกับไฟป่ากี่ปี ระบบการปลูกป่าจะเพิ่มศักยภาพการฟื้นตัวเร็วขึ้นเพียงใด ที่สำคัญต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่ป่าอนุรักษ์(โซนซี) ต้องปลูกพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยเป็นหลัก (ต้นอะไรดี?)
ดังนั้น การปลูกป่าจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมบนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่สูงชัน มีผลกระทบสูงต่อระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำ โดยเฉพาะเป็นกรณีเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขวิกฤติที่เกิดมายาวนาน เมื่อมีป่าที่อุดมสมบูรณ์ย่อมมีความชุ่มชื้นและส่งเสริมให้ป่าต้นน้ำมีศักยภาพในการเอื้ออำนวยผลต่อระบบการไหลเวียนของน้ำอย่างยิ่งยวด
มีน้ำที่สะสมอยู่บนที่สูงเหมือนมีแทงค์น้ำที่มีน้ำเต็ม มีน้ำในปริมาณที่มากพอเพียงที่จะเอื้อประโยชน์ได้เต็มที่ มีน้ำที่มีคุณภาพดีปราศจากตะกอนดินและสิ่งปนเปื้อน มีน้ำที่ไหลลงสู่ที่ราบต่ำได้อย่างยั่งยืน ใช้ได้ตลอดเวลา
“รักในหลวง ห่วงพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระราชินีของเรา ร่วมกันปลูกป่ารักษาต้นน้ำ วันนี้ ประชาชีมีน้ำใช้อย่างยั่งยืนในวันหน้า”