การจัดการทรัพยากรป่าไม้ เป็นลุ่มน้ำ
ธงชัย เปาอินทร์
นิยามของคำว่า “ลุ่มน้ำ” (Watershed) คือพื้นที่รองรับน้ำฝนโดยน้ำฝนที่ตกลงมาในลุ่มน้ำเดียวกันจะพากันไหลไปออก(Outlet)ที่จุดเดียวกัน (นิวัติ เรืองพานิช 2541) นั่นคือพื้นที่ที่โอบล้อมด้วยแนวขุนเขาจนเป็นวงรอบๆพื้นที่ที่น้ำทุกส่วนจะไหลรวมกันลงไปสู่ลำห้วยย่อยๆแล้วไหลไปสู่ลำห้วยสาขาใหญ่ในที่สุดไหลไปออกที่จุดเดียวกัน สันปันน้ำจึงเป็นเส้นแบ่งลุ่มน้ำ
ป่าอุ้มน้ำไว้ให้ไหลรินริน
ประเทศไทยแบ่งออกเป็นลุ่มน้ำสำคัญๆได้ 25 ลุ่มน้ำ เช่นลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปิง วัง ยม น่าน ป่าสัก สะแกกรัง แม่กลอง ท่าจีน เพชรบุรี สะแกกรัง ป่าสัก ตาปี โขง ชี มูล ปราจีนบุรี ปัตตานี ภาคใต้ฝั่งตะวันตก สาละวิน บางปะกง เป็นต้น ซึ่งมีทั้งลุ่มน้ำที่มีจุดไหลเข้าและไหลออกนอกพื้นที่ประเทศไทย
ในแต่ละลุ่มน้ำมีลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะภูมิอากาศ ทรัพยากรพันธุ์พืช(ป่าไม้) สัตว์ป่า ทรัพยากรมนุษย์ แตกต่างกันไปอย่างชัดเจน ดังนั้นการใช้ประโยชน์ในพื้นที่แต่ละลุ่มน้ำจึงแตกต่างกันไปตามสภาพธรรมชาติที่เป็นฐานทรัพยากร ปัญหาที่เกิดและดับก็ต่างกันเช่นกัน การบริหารจัดการแต่ละลุ่มน้ำก็ต้องแตกต่างกันไป ยุทธศาสตร์ที่จะวางจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยแต่ละลุ่มน้ำ
ตัวอย่างเช่นลุ่มน้ำแม่กลอง มีพื้นที่ทั้งลุ่มน้ำ 30,198 ตร.กม. หรือ 18,873,750 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี ตาก สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม และสมุทรสงคราม น้ำจะถูกรองรับและไหลไปจากลุ่มน้ำสาขาที่สำคัญๆได้แก่ ลุ่มน้ำแควใหญ่ตอนบน ลุ่มน้ำแควน้อยตอนบน ลุ่มน้ำแควใหญ่ตอนล่าง ลุ่มน้ำแควน้อยตอนล่าง ลุ่มน้ำห้วยขาแข้ง ลุ่มน้ำห้วยตะเพิ่นคี ลุ่มน้ำภาชี ลุ่มน้ำที่ราบแม่กลอง ลุ่มน้ำห้วยปิล็อก ลุ่มน้ำห้วยแม่จัน ลุ่มน้ำห้วยแม่ละมุง ไปลงแม่น้ำแม่กลองแล้วไหลไปออกที่จุดเดียวกันในปริมาณน้ำเฉลี่ยรายปี 9,478 ล้าน ลบ.ม. ไหลลงทะเลที่อ่าวไทย
บนเขาต้องเป็นป่าปก
เมื่อปี พ.ศ.2543 ส่วนวิเคราะห์ทรัพยากรป่าไม้จากภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า ลุ่มน้ำแม่กลองมีป่าเบญจพรรณ 41.37% ซึ่งเป็นป่าประเภทผลัดใบหรือเรียกว่าป่าโปร่ง การรองรับน้ำได้ดีแต่ศักยภาพในการดูดซับน้ำและลดแรงตกกระทบสู้ป่าดงดิบแล้งหรือดงดิบเขาไม่ได้ ป่าดิบเขา 14.16% ป่าดิบแล้ง 4.42 % รวมกัน 18.58% ส่วนใหญ่พบว่ามีอยู่เป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อยตามริมห้วยหรือสันเขาสูงชัน
ป่าไผ่ 2.81% ป่าเต็งรัง 1.65% และป่าฟื้นฟูตามธรรมชาติ 1.28% ของพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง ในลุ่มน้ำนี้มีพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรม 30.42% เป็นที่อยู่อาศัย ที่สาธารณะประโยชน์ แหล่งน้ำ รวม 6.79% รวมแล้วลุ่มน้ำนี้มีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่ 62.79%ของลุ่มน้ำ ก็ดีกว่าไม่มี แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่ป่าที่มีอยู่ 62.79%อยู่ตรงส่วนไหนของลุ่มน้ำ ถ้ามีอยู่ในจุดที่ส่งผลกระทบสูงก็จะดีกว่าอยู่ในจุดที่แทบไม่ส่งผลต่อระบบนิเวศลุ่มน้ำ
ข้อมูลยังบอกว่า พื้นที่ 60% หรือ 11,324,250 ไร่(18,118.8 ตร.กม.)ของลุ่มน้ำนี้อยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ประเภทอุทยานแห่งชาติ 9 แห่ง พื้นที่ 5,112.30 ตร.กม.(16.93%ของลุ่มน้ำแม่กลอง) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 5 แห่ง พื้นที่ 9,975.77 ตร.กม.(33.03% ของพื้นที่ลุ่มน้ำ) และหน่วยจัดการต้นน้ำ 5 หน่วย พื้นที่ 1,532.04 ตร.กม. (5.07%ของพื้นที่ลุ่มน้ำ)และพื้นที่ส่วนเหลืออีกส่วนหนึ่งที่เล็ดลอดการจัดการ
ถ้ามีป่าคลุมเต็ม ความชุ่มชื้นสูง
คราวนี้ลองมากำหนดจุดลุ่มน้ำขนาดเล็กเช่น ลุ่มน้ำภาชีในเขตจังหวัดราชบุรี ที่มีพื้นที่ 2,535.50 ตร.กม. ค่อนข้างวิกฤตเพราะว่ามีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่เพียง 1,162.26 ตร.กม. เป็นป่าเสื่อมโทรม 1,373.22 หรือ 54.16% ของลุ่มน้ำภาชี ดังนั้นในพื้นที่เสื่อมโทรมดังกล่าว ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ตามลักษณะพื้นที่เสื่อมโทรมไป เช่นถ้าพื้นที่เสื่อมโทรมดังกล่าวเป็นพื้นที่ภูเขาสูงชัน ต้องปลูกป่าฟื้นฟูต้นน้ำ แต่ถ้ามีพื้นที่เสื่อมโทรมมากในพื้นที่ที่เป็นที่ดินทำกินแบบไร่เลื่อนลอยหรือที่ดินส.ป.ก.4-01 หรือ น.ส.3ก. ยุทธศาสตร์ต้องเป็นการฟื้นฟูพื้นที่ด้วยป่าปลูกของภาคเอกชน ด้วยการนำเสนอ เปลี่ยนแปลงแนวคิดการทำกินจากไร่อ้อยหรือพืชไร่เป็นการปลูกป่าเป็นอาชีพ เราก็จะได้พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น
หรือที่ลุ่มน้ำห้วยตะเพินคี เขตอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่ 2,496.32 ตร.กม. มีผืนป่าไม้เหลืออยู่ 939.82 ตร.กม. เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม 1,556.50 ตร.กม.หรือ 62.4%ของพื้นที่ลุ่มน้ำ การวิเคราะห์ต้องลงไปดูว่าเสื่อมโทรมมากตรงจุดไหนก็ดำเนินการตามแนวทางที่เขียนถึงในลุ่มน้ำภาชี แต่กรณีลุ่มน้ำห้วยตะเพินคีต้องเร่งด่วนมากกว่าเพราะว่าสถานภาพค่อนข้างวิกฤต
แต่ถ้าพื้นที่เสื่อมโทรมอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ประเภทอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การฟื้นฟูสภาพป่าไม้ต้องอยู่ในหลักการที่กำหนดในการจัดการฟื้นฟูทรัพยากร กติกาของการเสริมสร้างพื้นที่ป่าไม้ทดแทนจึงมีปัจจัยหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ พื้นที่ที่จะจัดการนั้นอยู่ในสถานภาพใด ควรจัดการด้วยวิธีการใด ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย
มีน้ำก็มีนา
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้านป่าไม้ลงลึกลุ่มน้ำจึงต้องประมวลสถานภาพลุ่มน้ำ จุดเด่นที่มีป่าไม้อยู่แล้วต้องรักษาไว้ให้ได้ทั้งการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและการบุกรุกพื้นที่ทำไร่เลื่อนลอยไม่ให้เกิดเพิ่มขึ้น ส่วนจุดด้อยพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมต้องระดมสรรพกำลังฟื้นฟูขึ้นใหม่ด้วยความจริงจัง โดยเฉพาะโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติที่ได้ปลูกแล้วต้องบำรุงรักษาไว้ให้เจริญเติบโตต่อไป พื้นที่ FPT ที่เหลืออยู่ต้องหาวิธีการดำเนินการต่อให้บรรลุเป้าหมาย
อุดมสมบูรณ์
การจัดการทรัพยากรมนุษย์ในและนอกพื้นที่ผืนป่าในกรอบลุ่มน้ำ ต้องมีแนวทางปฏิบัติที่แน่ชัดและได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจนกว่าการปฏิบัติจะลุล่วงด้วยดี เพราะว่าถ้าทำๆหยุดๆไม่ต่อเนื่อง คงไม่เกิดผลสัมฤทธิ์เหมือนเคย ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่แน่วแน่ ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีจริงใจ และไม่จริงจัง มันเละตุ้มเป๊ะ งบประมาณแผ่นดินเละเป็นโจ๊ก โดยเฉพาะการสรรหาคนที่จะดำเนินการก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เอาโจรมาเฝ้าป่าก็คิดดูกันเอง อะไรจะเกิดขึ้น
แต่เพื่อนสื่อมวลชนหญิงคนหนึ่งบอกกับผมว่า "ข้าราชการกินเล็กกินน้อย แต่นักการเมืองซิกินคำใหญ่ บ้านเมืองเสียหายวายป่วงก็เพราะพวกมัน" เช่นเดียวกับที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เคยเขียนเอาไว้ "หยุดโกงกินกันสักปีเดียว บ้านเมืองเราก็รวยแล้ว" สาธุ สาธุ
วาระประเทศไทย "หยุดโกงกินเพื่อชาติสัก 365 วัน" ดีไหม