อโศกเหลือง
ชื่อพื้นเมือง ศรียะลา อโศกใหญ่ อโศกเหลือง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Saraca thaipingensis Cantley ex Prain
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE CAESALPINIOIDEAE
สถานภาพ พืชหายาก
นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์
ในประเทศ ภาคใต้ของไทย ขึ้นริมลำธารในป่าดงดิบชื้นที่ระดับความสูง 100-500 เมตร
ในต่างประเทศ พม่า มาเลเซีย สิงคโปร์และอินโดนีเซีย
ลักษณะทั่วไป
ต้นไม้ ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 5-10 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกลมต่ำแน่นทึบ เปลือกนอกเรียบสีเทาอมน้ำตาล มีช่องระบายอากาศเป็นตุ่มกระจายทั่วลำต้น เปลือกในสีขาวอมเหลือง
ใบ ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงเวียนสลับ ใบย่อย 4-8 ปลายคู่ ใบรูปไข่ รูปขอบขนาน แกมรูปใบหอกหรือรูปไข่ กว้าง 3-9 ซม. ยาว 7-32 ซม. ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบเรียวมองเห็นเส้นแขนงใบเป็นร่องลึกชัดเจนจากหลังใบ ข้างละ 10-12 เส้น ก้านใบย่อยยาว 3 มม. ท้องใบเกลี้ยง
ดอก ดอกออกรวมเป็นช่อ แตกแขนงเป็นพุ่มกลมตามปลายกิ่ง และลำต้น บานไม่พร้อมกัน ดอกที่บานก่อนสีจะเข้มกว่า ช่อดอกกว้าง 15-40 ซม. ใบประดับร่วงง่าย กลีบเลี้ยง 4 กลีบ ไม่มีกลีบดอก ดอกบานเต็มที่กว้าง 1-1.5 ซม. รังไข่มีขนและมีก้านชูรังไข่ มีกลิ่นหอม
ผล ผลเป็นฝักแบนยาวขนาดใหญ่ ผิวสีแดงปนน้ำตาล ปลายฝักโค้งทั้งสองด้าน กว้าง 3.5-8 ซม. ยาว 15-40 ซม. เมล็ดรูปไข่แกมรูปขอบขนานมี 2-3 เมล็ด เมื่อฝักแก่แตกได้
ระยะเวลาการออกดอกและเป็นผล
ออกดอก ม.ค.-เม.ย. ผลแก่ พ.ค.-มิ.ย.
การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด
การใช้ประโยชน์
ด้านเป็นไม้ประดับ ไม้ขนาดเล็กเรือนยอดร่มครึ้มบดบังแสงแดดได้ดี ดอกสวยตระการตาสีเหลืองส้ม ๆ ดูอร่ามตา นิยมปลูกประดับตามบ้าน วัด วัง ประกอบกับเป็นพืชหายากจึงหาพันธุ์ได้ยาก ว่ากันตามจริง ช่อดอกแข็งแรงดูสวยสง่ากว่าอโศกต้นอื่น ๆ ด้วยซ้ำไป ควรปลูกเพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมไว้อย่างยิ่ง
ด้านสมุนไพร สรรพคุณ
ดอก แก้ไอ ขับเสมหะ