ผักหวานบ้าน
ชื่อพื้นเมือง ก้านตง จ๊าผักหวาน โถหลุ่ยกะนีเต๊าะ นานาเซียม ผักหวานใต้ ใบมะยมป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sauropus androgynus (Linn.) Merr.
ชื่อวงศ์ EUPHORBIACEAE
นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์
ในประเทศ ป่าดงดิบ
ในต่างประเทศ อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ อินโดจีน หมู่เกาะโมลุกกะ นิวกินี มาเลเซียตะวันตก
ลักษณะทั่วไป
ต้นไม้ ไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง สูง 2-3 เมตร แตกกอจำนวนมาก พุ่มใบหนาแน่น เปลือกสีเขียว เปลือกในสีขาว ยอดอ่อนสีเขียว เป็นส่วนที่นิยมใช้รับประทาน เป็นผักสดและสุก ไม่ผลัดใบ
ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมขอบขนาน รูปขอบขนานหรือรูปคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน กว้าง 1.5-3x2.7 ซม. ตรงกันข้ามบ้าง เรียงสลับบ้าง โค้งไม่จดขอบใบ ปลายแหลม โคนใบมน เส้นแขนงใบข้างละ 4-6 เส้น หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีเขียวอ่อน เนื้อใบบาง
ดอก ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ มีดอกตัวเมีย 1-3 ดอก และดอกตัวผู้จำนวนมาก ไม่มีกลีบดอก ดอกตัวเมียกลีบเลี้ยงสีแดงเข้มหรือสีเหลืองจุดประสีแดงเข้ม
ผล ผลอ่อนสีเขียว รูปน้ำเต้าแป้น ๆ มีกลีบเลี้ยงสีแดงติดอยู่ที่ขั้วผล ผลแก่แห้งแตกได้ ผลฉ่ำน้ำสีขาวเขียว แก่เมล็ดสีดำ มีหลายเมล็ด
ระยะเวลาการออกดอกและเป็นผล ออกดอกและเป็นผลตลอดปี
การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ดและตอนหรือปักชำกิ่ง
การใช้ประโยชน์
ด้านเป็นพืชอาหาร ปริมาณคุณค่าสารอาหาร คุณค่าสารอาหารของยอดอ่อนและใบอ่อนผักหวานบ้านในส่วนที่กินได้ 100 กรัม และสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายประกอบด้วย พลังงาน 76 แคลอรี น้ำ 80.1 กรัม คาร์โบไฮเดรต 10.2 กรัม โปรตีน 6.8 กรัม ไขมัน 0.9 กรัม แคลเซียม 225 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 70 มิลลิกรัม เหล็ก 3.4 มิลลิกรัม วิตามินเอ 16590 IU วิตามินบี 1 0.1 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.7 มิลลิกรัม วิตามินซี 136 มิลลิกรัม ไนอะซินและเยื่อใยยังไม่มีรายงาน ที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย, 2530
ด้านสมุนไพร สรรพคุณ
ราก แก้ไข้ ถอนพิษไข้ซ้ำ ไข้กลับ แก้คางทูม ถอนพิษซาง ถอนพิษสำแดง กินของแสลงเป็นพิษ ยาพอกแผล ฝี
ใบ เป็นยาพอกแผล ฝี ขับเหงื่อ แก้โรคกำเดา
ดอก ขับโลหิต
ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แก้กำเดา แก้โรคตา แก้ไข้ที่มีพิษร้อน ถอนพิษไข้กลับ ไข้ซ้ำ แก้โรคคางทูม แก้ไข้เพื่อเสมหะและโลหิต แก้ไข้กำเดา
ข้อมูลการวิจัยที่สำคัญ สารเคมี papaverine.
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ยับยั้งเอนไซม์ reverse transcriptase
การทดสอบความเป็นพิษ มีรายงานว่าเมื่อคนรับประทานส่วนที่อยู่เหนือดินพบว่าเป็นพิษต่อปอด