กรมอุทยานแห่งชาติกับการท่องเที่ยว
ธงชัย เปาอินทร์
ถ้าแนวคิดขององค์กรของรัฐสองภาคนี้เดินสวนทางกัน จะเกิดอะไรขึ้น ในขณะเดียวกันถ้าหากแนวคิดสอดคล้องกันจะเกิดอะไรขึ้น ผลตอบแทนต่อชาติบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ในเมื่อสององค์กรดังกล่าวมีหน้าที่ที่ใกล้เคียงกันอยู่อย่างยากจะแยกออกจากกันได้ แต่กระบวนการบูรณาการแนวคิดและแนวทางปฏิบัติต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ นี่คือหน่วยงานของรัฐะ
ภาพรวมกรมอุทยานแห่งชาติมีทรัพยากรท่องเที่ยวหลากหลายในรูปแบบของอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน และผืนป่าอนุรักษ์ประเภทอื่นๆเช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ หรือแม้แต่ป่าอนุรักษ์ต้นน้ำที่มีสภาพนิเวศน์โดดเด่นอีกรูปแบบหนึ่ง จุดมุ่งเน้นเรื่องการท่องเที่ยวที่กรมอุทยานแห่งชาติยอมรับไม่ค่อยได้นัก นั้นเป็นการท่องเที่ยวที่มุ่งหวังผลทางเศรษฐกิจ จึงใช้คำว่า การนันทนาการกลางแจ้งแทนการจะยอมรับคำว่า การท่องเที่ยวโดยตรง
การจัดการอุทยานแห่งชาติ จึงยึดหลักการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงธรรมชาติให้น้อยที่สุด จนดูเหมือนสักแต่ว่า ก็มีเขตเพื่อการบริการ ที่พักแบบต่างๆอยู่เหมือนกัน ให้มีการขายของที่ระลึกและอาหารได้ รวมทั้งหมดเป็นไปแบบทำธรรมดา ร้านอาหารแบบเพิงหมาแหงน ขายอาหารพื้นๆที่ลูกเมียเจ้าหน้าที่ทำกันมาตามมีตามเกิด การจัดการแบบธรรมชาติ ก็เลยไม่ค่อยน่าดู น่ารับประทาน และก็ไม่ได้มาตราฐาน ค่อนข้างกริ่งเกรงและสงวนอาชีพเพื่อกลุ่มบุคคลมากกว่า
แม้กระทั่งการจะนำเที่ยวหรือการขอเข้าใช้ประโยชน์จากภาคเอกชน ก็เป็นไปได้ยาก ยื่นเรื่องขออนุญาตผ่านหัวหน้าอุทยานแห่งชาติไปแล้ว เกินกว่าระเบียบที่กรมกำหนด เรื่องก็ยังคงหมกอยู่เช่นนั้นถือเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จที่จะดึงดองดักและทำทุกทางไม่ให้เกิดความคล่องตัวต่อการท่องเที่ยวเชิงพานิชย์ เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นทั่วไป ร้องแรกแหกกระเฌอเมื่อไรก็เจ็บตัว เรื่องจะยิ่งยากขึ้นไปอีก ถ้าเอกสารไม่สมบูรณ์ ถ้าผิดระเบียบหรือติดขัดใดๆ ก็น่าจะต้องแจ้งให้แก้ไข หรือถอนได้ ก็ไม่ทำ ปล่อยให้อึมครึมแบบตามใจพระเดชพระคุณ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ ยิ่งกลับได้รับการสนองตอบที่แทบเอาหน้าไปไว้ที่ไหนก็อายชาวต่างชาติ เพราะว่าความไม่พร้อมในแนวคิดและการพัฒนาต่างๆ ล้าหลัง การประชุมร่วมการจัดสัมมนา การพยายามที่จะให้เดินๆไปทางเดียวกันยากแสนยาก กลายเป็นว่าเกิดความไม่พอใจต่อกันและกัน กลายเป็นความกินใจลึกๆ สงสารบ้านเมือง ที่หน่วยงานของ"รัฐะ"ถ้าร่วมกันเสนอและสนอง จะต้องเกิดประโยชน์มหาศาล
ยกตัวอย่างเช่น การท่องเที่ยวมุ่งหวังส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก แต่กรมอุทยานแห่งชาติยึดหลักการพัฒนาเพียงรูปแบบเดียวคือ การกางเต็นท์นอนเท่าที่มีให้นอน แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกต้องการมากเท่าใด ก็ไม่สามารถรองรับได้ ติดขัดกฎหมาย ระเบียบ หลักการ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้จึงกลายเป็น "เพชรในตม"
ในขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวผิดหวัง บ่น เบื่อ เบะหน้า และหน่ายที่จะเข้าไปอีก เว้นแต่นักท่องเที่ยวหน้าใหม่หรือที่ยังไม่เคยสัมผัสของจริง แต่เกิดความกระสันจากสื่อที่ถ่ายทอดความสวยงามตระการตาให้เห็น ซึ่งสร้างภาพที่ไม่สวยงามแก่กิจกรรมการท่องเที่ยว ทั้งๆที่ ณ ที่แห่งนี้มีศักยภาพสูงต่อการพักผ่อนหย่อนใจมากมาย สามารถจะพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวอย่างยิ่งใหญ่ได้
ด้วยการปรับเปลี่ยนหลักการ ระเบียบ ข้อกฎหมาย โดยออกพระราชกฤษฎีกาทับพื้นที่ส่วนหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ที่มีศักยภาพเหมาะสมแก่การท่องเที่ยว ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ แล้วพัฒนาร่วมกันอย่างสอดคล้องก็จะกลายเป็นพื้นที่รองรับการท่องเที่ยวระดับประเทศได้อย่างสวยหรู จัดการการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ จัดองค์กรให้สามารถประกาศได้ว่านี่คือ อุทยานแห่งชาติระดับโลก กระตุ้นให้เกิดการเข้าถึงได้สะดวกขึ้น ได้มีโอกาสให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น หรือกระตุกเงินตราทั้งในและต่างประเทศไว้ได้อย่างมากมาย โดยยึดหลักการจัดการอุทยานแห่งชาติอย่างยั่งยืน
พูดอย่างนี้ก็จะกลายเป็นเห็นแก่เงิน ซึ่งไม่ใช่เลย การจัดการอุทยานแห่งชาติและการท่องเที่ยวที่เหมาะสม ช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่าง"ชาญฉลาด" ใช้อย่างยั่งยืนภายใต้ขอบเขตที่กำหนด และรักษาทรัพยากรท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน มันอยู่ที่ว่าจะพัฒนาอย่างไร จะรักษาอย่างไร จะจัดการอย่างไร จะสื่อความหมายแก่นักท่องเที่ยวอย่างไรให้เข้าใจการท่องเที่ยวที่อนุรักษ์ทรัพยากรท่องเที่ยว และปลุกกระแสสำนึกการใช้ประโยชน์อย่างมนุษย์ ประการสำคัญ เจ้าหน้าที่เองต้องหาตัวคนที่พัฒนาแล้วจริงๆเข้ามาบริหารจัดการ
ถ้ากรมอุทยานแห่งชาติคือเจ้าบ้าน การท่องเที่ยวคือคนเชื้อเชิญและต้อนรับ นักท่องเที่ยวคือลูกค้า เจ้าหน้าที่ทั้งเจ้าบ้านและคนเชิญ ร่วมกันบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ แน่นอน มีแต่ได้กับได้