เทศกาลกินปลาเมืองสิงห์
โดย ลุงดำ คำโต
ถ้าพระยาอนุมานราชธน นิยามคำว่าประเพณี คือความประพฤติที่ชนหมู่หนึ่ง อยู่ในที่แห่งหนึ่ง ถือเป็นแบบแผนกันมาอย่างเดียว และสืบต่อกันมานาน ถ้าใครในหมู่ประพฤติออกนอกแบบก็ผิดประเพณี หรือผิดจารีตประเณี แล้วไซร้
เทศกาลกินปลาที่สิงห์บุรีก็เป็นประเพณีที่ดีงามและอยู่ยั้งยืนยงมานาน เรียกว่าโด่งดังไปทั่วประเทศ และก็ยังมีผู้มาเยี่ยมเยียนเวียนกันมากินปลามากมายก่ายกอง แต่ถ้าให้ดีสำหรับผู้มาเยี่ยมเยือน ต้องมาให้ทันคืนเปิดงาน แสงสีและการแสดงสวยงามมาก และสำหรับปีนี้ คุณตัดสินใจไปกันหรือยัง ใกล้ๆแค่นี้เอง
ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี กล่าวเปิดงาน
นายกเหล่ากาชาดกล่าวรายงาน แสงสีสดสวย
ในอดีต ลุงดำจำไม่ได้แล้วว่าเป็นปีพ.ศ.ไหน แต่จำได้ว่าเคยไปงานเทศกาลกินปลาที่เมืองสิงห์บุรี ลุงดำรู้สึกว่า ในปีนั้น ประทับใจมาก มีอาหารปลาขายตามร้านต่างๆมากมายหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่เป็นลักษณะอาหารพื้นบ้าน เช่น ปลาช่อนเผา ปลาดุกย่าง แกล้มน้ำปลาหวานกับสะเดา ปลาดุกผัดเผ็ด ทอดมันปลากราย ปลาช่อนแดดเดียว ปลาตะเพียนต้มเค็มทั้งเกล็ด ต้มยำปลาหมอกลม(ตาล) ปลาไหลผัดเผ็ด ปลาตะเพียนแดดเดียวทอดกรอบ ปลาช่อนนึ่งบ๋วย ปลาเนื้ออ่อนทอดราดพริกแกงเผ็ด ปลาเนื้ออ่อนแดดเดียว โอย โอ๊ย โอย จารนัยไม่หวาดไหว
ปลาพ่นไฟสัญลักษณ์การเปิดงาน กระบองไฟโชว์
ปีนี้ เมืองสิงห์จัดเทศกาลกินปลาตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2552 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2553 ที่หลังศาลากลางจังหวัด มีร้านที่ออกมาจำหน่ายอาหารปลาและอาหารประเภทอื่นๆ มากมายหลายสิบร้าน บางร้านก็มาจากร้านดังๆของเมืองสิงห์บุรี บางร้านก็มาจากที่อื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามด้วยระบบการตลาดแบบเหมาจัดงาน ก็เลยดูแตกต่างไปกว่าที่เคย เรียกว่า พัฒนาการไปไกลจากแบบพื้นบ้านงานวัดเดิมๆเยอะเลย
ปลาช่อนย่างเกลือ แหนมปลาทอด
น้ำแกงส้ม ปลาช่อนทอดเหลือง กรอบ
ลุงดำตัดใจไปกินปลาเพราะว่าชอบกินปลาน้ำจืดพื้นบ้านเราๆนี่แหละ ผิดหวังก็มีบ้าง เช่นกลับไปบ้านนอกทั้งที ภาคกลางอย่างเราๆ ก็อยากกินปลาเห็ด ซึ่งเป็นปลาสารพัดชนิดที่นำมาสับและตำจนละเอียด เหนียว เคล้ากับเครื่องแกงออกเผ็ดหน่อยๆ ที่ขาดไม่ได้ก็ใบมะกรูดซอยละเอียดยิบ ช่วยเพิ่มรสชาติในการทอดหรือนาบจนแห้งจนหอมกรุ่น ในเนื้อปลาเห็ดที่ทอดแบบน้ำมันติดก้นกระทะนั้น คนภาคกลางกินกันมานานแสนนาน แต่วันวันนี้ หากินยากเหลือกำลัง
ต้องร้องเรียกหาแม่ว่าอยากกินปลาเห็ดจัง
อีกอย่างหนึ่งก็ปลาช่อนอบฟาง ที่ใช้ปลาขนาด ครึ่ง ก.ก. ยัดไส้ด้วยตะไคร้และข่า มัดแน่น แล้วนำไปเสียบกับเหล็กหลักที่ปักไว้บนดิน เอาปี๊บคลุมแล้วครอบด้วยฟางข้าว จุดไฟเผาราวๆ 20 นาที พอเปิดปี๊บออกก็จะได้เห็นปลา เหลือง หอม และเมื่อแกะเกล็ดออก เนื้อปลาช่อนงี้ขาวจั๊วน่าเจี๊ยะจริงๆ ทำน้ำจิ้มซีฟู๊ดก็ได้ หรือจะเป็นน้ำจิ้มน้ำมะขาม ใส่พริกเผา และหัวหอมกับกระเทียมซอยแล้วเจียวจนหอม ถ้ามีผักนึ่งเคียงด้วยแล้ว น้ำลายหยดเลย ปีหน้าท่าจะมี
ฟ้อนนกสวยสง่าน่ารัก
ทุกวันนี้ งานเทศกาลสมัยใหม่ใช้ระบบการตลาดนำการสร้างสรรค์วัฒนะธรรมดั้งเดิม โฉมของงานจึงพัฒนาไป ไกล ได้เงินเข้ากาชาดมากมาย มีร้านค้ามาจำหน่ายตามเป้าหมาย เปิดงานและปิดงานได้ตามกำหนด การแสดงได้รับความร่วมมือจากสถาบันต่างๆ เพียบเลย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เมืองสิงห์ขายปลาจนเป็นโลโก้ไปแล้ว ถ้าเป็นเทศกาลกินปลาผู้คนทั่วไปก็จะนึกถึงแต่เมืองสิงห์ น่าภาคภูมิใจไม่น้อยเลย ยิ่งการรักษาประเพณีดีงามอย่างนี้ไว้ได้ก็ต้องชื่นชมผู้จัดงานซึ่งก็คือ จังหวัดสิงห์บุรีทั้งจังหวัด อันประกอบด้วย ข้าราชการ องค์การส่วนท้องถิ่น พ่อค้า และประชาชน เยี่ยมๆ
ฟ้อนนกหลากลีลาน่าชมยิ่งนัก
แต่สำหรับลุงดำแล้ว ชอบ อยากให้มีงานอย่างนี้ทุกปี โดยเฉพาะเมืองสิงห์บุรี เพราะว่าจะได้ไปเที่ยวไหว้พระโต 2 วัดด้วย วัดแรกก็วัดพระนอนจักสีห์ พระนอนที่ใหญ่และมีรูปลักษณ์พิเศษ ว่ากันว่าเหมือนพระนอนของอินเดีย ไหว้พระนอนแล้วก็กลับออกมาไหว้พระนั่ง ที่วัดหลวงพ่อแพ เกจิอาจารย์ชื่อดังมากๆ ของวัดพิกุลทอง ซึ่งท่านก็สร้างไว้ใหญ่โตมากทีเดียว ในแต่ละสัปดาห์ มีพุทธศาสนิกชนวนเวียนไปกราบไหว้กันมากมาย
อนุสาวรีย์วีรชน
หลวงพ่อธรรมโชติ พระโตวัดพิกุลทอง
ออกจากวัดพระโตแล้วลุงดำชอบไปเยี่ยมเคารพวีรชนคนกล้าที่ค่ายบางระจัน ไปเดินเล่นใต้ร่มไม่ใบบังบนพื้นที่กว้างขวาง ลมพัดมาทีหนึ่งก็ชื่นใจ แล้วข้ามไปไหว้หลวงพ่อธรรมโชตผู้ประสาทความฮึกเหิมให้กับเหล่าชาวบ้านบางระจัน กล้าแกร่ง แต่ทุกครั้งที่ไปก็อดคิดไม่ได้ว่า เมื่อชาวบ้านบางระจันรบพุ่งจนตัวตายไปจนหมดแล้วนั้น ท่านอาจารย์ธรรมโชติท่านหนีรอดไปได้หรือว่าท่านก็ตายไปกับเหล่าผู้กล้า ใครรู้ช่วยตอบทีเถอะ สงสัยมานานแสนนานแล้วจ้า
ปลาช่อนแดดเดียว ห่อหมกข้าวหลาม
เมืองสิงห์บุรีนี้มีชื่อเรียกอีกหลายชื่อเช่น เมืองสิงหราชาธิราช เมืองสิงหราชา ซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำจักสีห์ ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยา 200 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ อาชีพที่ขึ้นหน้าขึ้นตาคือทำนาข้าว มีอยู่ 6 อำเภอ แต่มีอยู่ 2 อำเภอ ชื่ออำเภออินทร์บุรี อีกอำเภอชื่อว่า พรหมบุรี นั่นหมายถึงว่าเมืองสิงห์บุรีมีทั้งพระอินทร์และพระพรหมคุ้มครองทีเดียว ชาวสิงห์จึงได้ร่วมกันสร้างศาลพระพรหมและพระอินทร์ไว้กราบไหว้ทั้งสองอำเภอ ไปทั้งทีก็อย่าลืมแวะไปกราบไหว้เอาสิริมงคลเสียด้วย ก็ไม่เสียเที่ยวเชียวครับ เมืองสิงห์บุรีอยู่ห่างจากกรุงเทพแค่ 146 กม.แค่นี้เอง
ศาลพระพรหมริมถนนสายเอเซียขาขึ้นส่วนศาลพระอินทร์อยู่ขาลงในfynow
พระพรหม พระอินทร์