ดอยอ่างขางเมื่อลมหนาวมาเยือน
โดยธงชัย เปาอินทร์/เรื่อง-ภาพ
เมื่อลมหนาวมาเยือน ดอยอ่างขาง กลายเป็นดินแดนมหัศจรรย์ที่สุดพรรณนา แม้ว่าระยะทางไกลและไปยาก ด้วยว่าถนนที่ไต่ขึ้นมีความลาดชันสูง หลายครั้งต้องผวากับรถยนต์ที่วิ่งสวนทางลงมาอย่างเฉียดฉิว ความคดโค้งของถนนเพิ่มดีกรีความระมัดระวังอย่างเข้มขาม แต่ก็มีนักท่องเที่ยวที่ใจกล้าท้าทายความเสี่ยง "ไปกันหนาตาทุกปีที่ลมหนาวมาเยือน"

จุดพักเหนื่อยของรถยนต์และคนขับ สวย
ผมนั่งเครื่องบินราคาถูกไปลงที่สนามบินเชียงใหม่ เพื่อย่นเวลาที่ต้องเดินทางไกลไป 700 กม. แล้วยังต้องไปต่อด้วยรถยนต์เช่าเหมาจ่ายรายวัน เป็นรถเก๋ง 5 ที่นั่งทั่วไป ตรวจดูสภาพรถยนต์แล้วค่อนข้างใหม่ เมื่อรับรถยนต์กันเรียบร้อยก็ตั้งหน้าบึ่งไปทันใด "เวลาจะไปเหมือนไก่จะบิน"
ผมขับรถด้วยความเร็ว 120-140 กม./ชม. ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ระหว่างถนนช่วงใด (107) เชียงใหม่-แม่ริม-แม่แตง-เชียงดาว รวมระยะทาง 70 กม. แล้วต่อไปด้วยถนนสาย 1178 ผ่านเมืองงายมุ่งสู่น้ำตกศรีสังวาลย์ ผ่านบ้านอรุโณทัยแล้วไต่บันไดสวรรค์ขึ้นไปยังดอยอ่างขาง รวมระยะทางเส้นนี้ 53 กม. เป็นถนนที่กล่าวได้ว่ามีจุดพักรถยนต์แต่ละแห่งสวยจับใจ
นางพญาเสือโคร่งที่หน้าโรงเตี๊ยมจีนฮ้อบนดอยสูง
มีอีกเส้นทางหนึ่ง โดยวิ่งรถยนต์ไปทางเชียงดาว-อ.ไชยปราการ(107) แล้วไปแยกที่ถนน 1249 -บ้านแม่งอนน้อย สิ้นสุดที่ดอยอ่างขาง โครงการเกษตรหลวงดอยอ่างขาง รวมระยะทาง 73 กม. ไกลกว่าแต่ว่ากันว่าถนนไม่สูงชัน ไม่เสี่ยง รถน้อยกว่าอีกเส้นหนึ่ง ท่านต้องเลือกใช้เส้นทางตามถนัด
สำหรับผมแล้ว ดอยไหนๆก็เหมือนๆกัน เพราะว่าอดีตผมใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ทางภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ คล้ายๆว่าเคยชิน หรือชาชิน

เห็นแล้วชื่นใจ
ตลอดเส้นทางมีรีสอร์ทเกิดขึ้นเป็นระยะ บ้างก็สร้างเหมือนโรงเตี๊ยมในหนังจีนกำลังภายใน ด้วยว่าย่านนั้นเป็นชาวจีนฮ้อ ที่เป็นชาวม้งก็อีกรูปแบบหนึ่ง ชาวมูเซอก็แปลกแตกต่างไปอีก ส่วนชาวปะหล่องที่บ้านนอแลยิ่งน่าสนใจ และทุกแห่งและทุกผู้วันนี้เป็นคนไทยโรยโปเซ็ง (100%) จุดพักเหล่านี้ มีทั้งกาแฟให้กิน และยังมีปาท่องโก๋ตัวโตๆ ซาละเปา พร้อมของฝากจำพวกใบชาด้วย
ก่อนขึ้นดอยสูงมีชุมชนชาวจีนฮ้อนับพันหลังคาเรือน "บ้านอรุโณทัย" ผู้คนหน้าตาดูจีนๆ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าทนหนาวได้ สินค้าจากจีนมีจำหน่ายทุกร้าน และหลังจากจุดนี้แล้ว ก็ไต่ขึ้นเขาลงห้วยกันอย่างเดียวเลย ถ้ามีเวลาพักที่หมู่บ้านนี้ น่าจะได้สารคดีชีวิตที่น่าสนใจมาก

ว่ากันตามจริงแล้ว ผมอยากจะนอนพักค้างอ้างแรมตามริมถนนที่เขาสร้างไว้ อยากเรียนรู้วิถีชีวิตของชนเผ่าต่างๆมาก อยากเห็นศิลปะ วัฒนธรรมการกินอยู่หลับนอน วัฒนธรรมการใช้ชีวินครองคู่ แต่ก็อย่างว่า มากันหลายคนไม่สะดวกนัก ช่วงเวลาที่เหลือจึงต้องทำเวลากันหน่อย เพื่อให้ถึงเป้าหมายตามกำหนดนัดกับรีสอร์ทที่จะเข้าพักแรม
ถ้าจะไปแบบเอ้อระเหยลอยชายก็ต้องขับรถไปจากกรุงเทพแล้วก็เดินทางไป พักไป นั่นคือเวลาไม่มีความหมายอีกต่อไป ผมจึงได้แต่ร้องเพลง "ต้องมีสักวัน" ที่จะทำตามหัวใจใฝ่หา และเมื่อถึงเวลานั้น ก็หวังว่าสังขารยังจะเอื้ออำนวยอยู่ด้วย (61 แล้วคร๊าบ)

ผมเห็นนักท่องเที่ยวจอดรถยนต์ เพื่อกางเต็นท์นอนตามรายทางไปทั่ว ดูท่าจะไม่ได้จองที่พักไว้หรือไม่ก็ประหยัดเงิน หรืออาจจะชอบแบบว่า ลำบากๆ มีชาวบ้านถางพื้นที่หน้าบ้านไว้ ติดป้ายเขียนเองเล็กๆ ว่ามีที่กางเต็นท์ ห้องสุขา และราคากำกับไว้ก็มี
นี่แหละที่กล่าวกันว่า "การท่องเที่ยวกระจายรายได้สู่ชุมชน" เพียงด้วยบรรยากาศของชุมชนบนเขาหนาวได้ใจ มีหรืออาจจะมีทะเลหมอกให้ชม และได้สัมผัสรสชาติของชีวิต

เมื่อจอดรถยนต์เข้าที่ที่โครงการหลวงดอยอ่างขาง ผมเห็นแปลงดอกไม้เมืองหนาวมากมายหลากหลายสีสัน มันช่างเย้ายวนใจเหลือเกิน ผมแทบจะทอดทิ้งให้เพื่อนร่วมคณะแบบตัวใครตัวมัน ด้วยว่าผมกระหายที่จะได้ถ่ายรูปดอกไม้สวยๆมาฝากแฟนๆ
แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคนมีกล้องดิจิตอลติดตัวกันอยู่แล้ว ประเภทถ่ายรูปประกอบคน จึงเกิดขึ้นด้วยฝีมือของเขากันเอง โล่งอกไปที

นอกจากแปลงดอกไม้ที่ปลูกไว้กลางแจ้งแล้ว ยังมีซ่อนไว้ในโรงเรือนอีกหลายโรง ผมเดินไปถ่ายรูปทีละโรงๆ ถ่ายจนแทบว่าจะเดินต่อไปไม่ไหว บางโรงเรือนตกแต่งแบบสวนสวรรค์ในเทพนิยาย บางโรงเรือนบ่มเพาะขยายพันธุ์ดอกไม้เมืองหนาวแสนสวยไว้สำรอง เช่นตะเกียงญี่ปุ่นที่มีหลายสายพันธุ์ แคระก็มี ดอกแปลกๆก็มี สีชมพูก็มี สีแดงเยอะเลย

บนพื้นที่ที่สูงกว่า 1000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง อุณหภูมิเย็นจัด 10 กว่าองศานิดๆ เมื่อตอนกลางวัน และเย็นเยือกเมื่อพระอาทิตย์หายลับขอบเขาไปแล้ว เริ่มต้นที่ 7-6-5-... องศา หนาวจนต้องซุกตัวลงไปในที่นอนแบบ งอก่องอขิง สวมเสื้อยืด 3 ชั้น หน้าต่างประตูปิดสนิท เมฆหมอกโรยตัวลงจนมืดไปทั้งหุบเขา

"อูย!! หนาว เบียดเข้ามาหน่อยซิ" เสียงกระซิบของใครคนหนึ่ง
"ดีจังที่มีไออุ่นมาอิงแอบแนบข้างนะนี่" อีกเสียงหนึ่งกระซิบตอบเบาๆ
ความเงียบงันของราตรีกาล บ่มเพาะความสุขให้อย่างเงียบๆ ไม่มีใครตื่นขึ้นมานั่งผิงไฟอย่างในฝัน หมอกลงจัดจนพื้นโต๊ะเก้าอี้สนามเปียกแฉะ มันเกิดพิกัดของอารมณ์โรแมนติกไปนิดๆ แค่จะขยับกายเพื่อออกไปฉี่ก็ยังคิดแล้วคิดอีก มันหนาวๆๆๆ
เช้าตรู่ มองไปทางไหนล่ะ ในเมื่อมีหมอกสีขาวลงพรมไปทั้งหุบเขา แสงแดดส่องสว่างก็กว่า 8 โมงเช้าไปแล้ว แต่ปีหนึ่งๆ ได้มาสัมผัสบรรยากาศอย่างนี้สักครั้ง ก็เกินคุ้ม
ติดต่อที่พักโครงการเกษตรหลวงดอยอ่างขางได้ที่ 053-450107-9 ต่อ 114
|
ชื่อบ้านพัก |
พักได้ |
อัตราค่าที่พัก เม.ย. - ก.ย. |
อัตราค่าที่พัก ต.ค. - มี.ค. |
บ้าน AK 1-20 |
2 คน |
800 บาท (ไม่รวมอาหารเช้า)
|
1,400 บาท (รวมอาหารเช้า)
|
บ้านริมดอย1-6 |
6 คน |
1,200 บาท (ไม่รวมอาหารเช้า)
|
2,200 บาท (รวมอาหารเช้า)
|
บ้าน AK หลังใหญ |
47 คน |
150 บาท/คน/คืน (ไม่รวมอาหารเช้า)
|
200 บาท/คน/คืน (ไม่รวมอาหารเช้า)
|
บ้านดาว |
6 คน |
150 บาท/คน/คืน (ไม่รวมอาหารเช้า)
|
150 บาท/คน/คืน (ไม่รวมอาหารเช้า)
|
บ้านไต้หวัน |
15 คน |
150 บาท/คน/คืน (ไม่รวมอาหารเช้า)
|
150 บาท/คน/คืน (ไม่รวมอาหารเช้า)
|
อาคารหอประชุม1-2 |
2 เตียง |
800 บาท (ไม่รวมอาหารเช้า)
|
1,000 บาท (ไม่รวมอาหารเช้า)
|
อาคารหอประชุม3 |
5 เตียง |
1,200 บาท (ไม่รวมอาหารเช้า)
|
1,500 บาท (ไม่รวมอาหารเช้า)
|
อาคารหอประชุม4 |
3 เตียง |
1,000 บาท (ไม่รวมอาหารเช้า)
|
1,200 บาท (ไม่รวมอาหารเช้า)
|
|