ขุนสถาน อุทยานสวรรค์เมืองน่าน
มณี บันลือ/เรื่อง นิวัตร/ภาพ
ความยิ่งใหญ่ของหน่วยงานมิใช่อยู่ที่โครงสร้าง หรือสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตรโหฐาน หากแต่อยู่ที่คุณค่าแห่งการกระทำ ซึ่งใหญ่ยิ่งกว่า มันคือหัวใจของคน ผู้เป็นผู้บริหารหน่วยงาน ตามไปดูผลงานที่นอกหน้าที่แต่เป็นการสร้างสวรรค์ที่ทรงคุณค่า ควรแก่การชื่นชมและเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ด้วยความอบอุ่น สบายใจ และประทับใจในความเอาใจใส่ของหน่วยงานเล็กๆ บนยอดดอยสูงลิบ ขุนสถาน
ทิวทัศน์หน้าสถานี
สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน ตั้งมานานหลายสิบปีแล้วเพื่อทำงานวิจัยรักษาต้นน้ำ เป็นหน่วยงานเล็กที่สุดของกรมป่าไม้สมัยหนึ่ง แต่ด้วยความตั้งใจที่ดี มีความรักสวยรักงาม ประกอบกับพื้นที่ตั้งสถานีอยู่บนภูเขาสูง 1,455 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง บนถนนสายอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน - ห้วยแกต อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ถนนลาดยางเรียบร้อยแล้ว ขึ้นลงจากทางไหนก็สะดวกครับ แต่รถยนต์ต้องขึ้นดอยได้ดี รถเก๋งก็ได้
แรกเป็นศาลานั่งกินข้าว นานเข้าพักได้ด้วย
งบประมาณแผ่นดินให้มาเพื่อทำการวิจัยตามแผนงาน แต่หัวหน้าหน่วยงานนี้ นายมนตรี พุทธวงศ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 6 รักและชอบความสวยงาม จึงได้ปลูกต้นนางพญาเสือโคร่ง ซึ่งเป็นไม้ป่าเมืองไทยที่โด่งดังมาจากดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย มาก่อนแล้ว แต่เมื่อนำมาปลูกที่ขุนสถานก็เจริญเติบโตดี มีดอกให้ชื่นชมกันมานานนับสิบๆปี จนรู้กันทั่วไปว่า หน้าหนาว ถ้าไปเมืองน่าน ต้องไปที่ขุนสถาน
มุมหนึ่งมุมนี้ก็มีเสน่ห์ซึ้งๆ
ในงานวิจัยต้นน้ำของคุณมนตรี ยังมีการทดลองปลูกพืชไม้ผลเมืองหนาว เช่น ต้นบ๋วย ต้นท้อ ต้นพีช ซึ่งก็ออกดอกสวยงามตระการตา เพียงแต่ว่าออกดอกช่วงเวลาที่แตกต่างกันไปนิดหน่อย นอกจากนี้ ยังมีการทดลองปลูกดอกไม้เมืองหนาวหลายชนิด เช่น แกลดดิโอลัส คาร์เนชั่น เก็กฮวย พิทูเนีย กุหลาบพันปี ฯลฯ จนสถานีทดลองแห่งนี้มีสีสันของดอกไม้สวยงามตลอดปี
ไม้ดอกและไม้ผลเมืองหนาวอันเป็นไม้ต่างถิ่นกำเนิด (Exotic species) ปลูกทดลองที่นี่ได้ แต่ถ้านำไปปลูกในอุทยานแห่งชาติ (ขุนสถาน) และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วไป ละก้อ มีปัญหาครับ ผิดหลักการจัดการป่าอนุรักษ์สากล
แต่ถ้านำเอากุหลาบพันปี (ไทย) กุหลาบแดง ดอกสามสี (กุหลาบขาว) ต้นไฟเดือนห้า (เมเปิ้ล) นางพญาเสือโคร่ง คูณ กัลปพฤกษ์ (ซึ่งมีขึ้นอยู่ข้างๆสถานี ดอกสีชมพูสวยมาก) เรียกว่าต้นไม้ดอกหรือใบสวยงามจากในประเทศไทยจากจังหวัดไหนก็ตาม นำมาปลูกได้ไม่ผิดกติกาสากล
เรื่องดีๆอย่างนี้ ไม่ค่อยมีใครขยันทำกันหรอก ด้วยว่าชอบอ้างถึงงบประมาณบ้าง แผนงานบ้าง ไม่ใช่หน้าที่บ้าง แต่แท้ที่จริง "คุณมันห่วย ขี้เกียจ ขี้โกง" มากกว่า
บ้านพักสำนักงานได้งบประมาณมา 2 หลัง หลังแรกเป็นที่ทำการ มี 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ รูปแบบตามแบบของกรมป่าไม้ในสมัยนั้น กับห้องพักคนงาน 6 ห้อง ที่เหลือนอกจากนี้ คุณมนตรีได้ร่วมกับคนงานประจำ ช่วยกันสร้างบ้านพัก "เงาไม้" เพื่อใช้รับรองแขกเหรื่อที่เข้ามาเยี่ยมเยียน เป็นการใช้เวลาว่างๆจากงานประจำ และใช้เศษวัสดุจากธรรมชาติเสริม แค่นี้ก็ได้บ้านพักเก๋ไก๋ไม่เบา
ในแต่ละปีช่วงเดือน ตุลาคม-กุมภาพันธุ์ จะมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาใช้ประโยชน์ ไม่มีค่าบริการใดๆ เพราะว่าไม่ใช่หน่วยงานเช่นอุทยานแห่งชาติ จึงไม่มีการเก็บเงิน ส่วนใครจะบริจาคเพื่อช่วยเหลือค่าแฟ็บค่าซักล้างก็ตามแต่ใจ ไม่มีกติกาเลย ไม่ให้เลยสักบาท เจ้าหน้าที่ก็ยังกล่าวขอบคุณ เพราะว่า พวกเขาคิดว่า นี่เป็นการ "ตอบแทนพระคุณผู้เสียภาษีทุกคนจึงได้กลายมาเป็นเงินเดือนแก่พนักงานทุกคนที่นี่"
เป็นงานเพิ่มที่ไม่ได้ตั้งใจเพียงใช้เวลานอกราชการเสริม ส่วนงานตามแผนครบถ้วน
ในช่วงเดือนมีนาคม-กันยายนก็เป็นอีกบรรยากาศหนึ่ง ดอกไม้ป่าก็เปลี่ยนไปอีกชนิดหนึ่งๆ บนบ้านพักก็ยังมีอากาศที่หนาวเย็นสบาย ชวนให้พักผ่อนได้ กางเต็นท์ใต้ร่มเงาต้นนางพญาเสือโคร่งก็ได้ ห้องน้ำห้องสุขามีให้อาศัยได้อย่างสมบูรณ์แบบ น่าไปไหมล่ะ
บ้านเงาไม้.......น่ารัก..........น่าพัก
ใกล้ๆกับสถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน มีหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ลงไปเยี่ยมเยียนได้ เด็กๆน่ารัก และชาวม้งก็รู้สึกยินดีต้อนรับแขกด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ปีนี้ไปไม่ทันหนาว ปีหน้าอย่าลืมแวะไปนะจะบอกให้ ถ้าขึ้นจากบ้านห้วยแกต จ.แพร่ ระยะทางราวๆ 50 กม. แต่ถ้าขึ้นทางนาน้อย ระยะทางราวๆ 40 กม. ไปทางไหนก็ได้ ไปไม่ถูกถามทางจากชาวบ้านได้ทั่วไป บอกว่าจะขึ้นขุนสถาน แค่นั้นแหละเขาบอกทางให้ได้เลย
1. ที่ตั้งและลักษณะภูมิประเทศ 2. ลักษณะทางอุทกวิทยา 3. ลักษณะทางธรณีวิทยา 4. ลักษณะทางปฐพีวิทยา 5. ลักษณะภูมิอากาศ 6. ลักษณะพืชพรรณและการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ขั้นบันไดที่ขุดแต่งไว้รองรับนักท่องเที่ยวกางเต็นท์
ข้อมูลจำเพาะ
สถานีวิจัยลุ่มน้ำขุนสถาน อ.นาน้อย จ.น่าน
สถานีวิจัยลุ่มน้ำขุนสถาน ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 20 องศา 30 ลิบดา ถึง 24 องศา 30 ลิบดา เหนือ และเส้นแวงที่ 57 องสา ถึง 62 องศา 40 ลิบดา ตะวันออก ในท้องที่อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเนินเขาและภูเขาซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,000 ถึง 1,728 เมตร มีความลาดชันด้านข้างสูงเฉลี่ยประมาณ 35 - 40 % เป็นพื้นที่ต้นกำเนิดน้ำแหง ก่อนที่จะไหลมารวมกับลำน้ำอื่น ๆ ในลุ่มน้ำน่าน
สถานีวิจัยลุ่มน้ำขุนสถาน มีพื้นที่ลุ่มน้ำทดลองที่รับผิดชอบอยู่ประมาณ 8,750 ไร่ ควบคุมลุ่มน้ำย่อย คือ ลุ่มน้ำห้วยส้มทั้งหมด
ลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำห้วยส้ม เป็นหินแกรนิต
จากความเย็นและชื้นของอากาศ ทำให้การสลายตัวของหินต้นกำเนิดดินพวก sand stone granite และ slate เป็นไปอย่างช้า ทำให้ดินส่วนใหญ่เป็นพวก Red-Yellow Podzolic และ Reddish Brown Lateritic เป็นชั้นบาง ๆ เคลือบอยู่บนชั้นหิน ซึ่งบางแห่งแทบจะไม่มีดินอยู่เลย โดยมีลักษณะเป็นดินผสมหิน
ลักษณะอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดปีมีอุณหภูมิเฉลี่ย 19.9 C มีอุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน เฉลี่ย 27.4 C และต่ำที่สุดในเดือนธันวาคม และมกราคม เฉลี่ย 12.6 C ในรอบปีมีฝนตกประมาณ 10 เดือน เริ่มจากเดือนมีนาคม ถึงเดือนธันวาคม มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 2,134 มม. ฝนตกมากในเดือนพฤษภาคม 403.2 มม. ปริมาณการระเหยทั้งปี 11,892 มม. หรือ 57.72 % ของฝนที่ตกลงมาทั้งหมด จากอุณหภูมิที่ต่ำและฝนตกชุก จึงทำให้อากาศมีความชื้นโดยเฉลี่ย 79.9 %
สำหรับพื้นที่สวนป่านั้นเดิมเป็นป่าดิบเขาที่อุดมสมบูรณ์ ต่อมาถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อทำการเกษตร โดยชาวเขาเผ่าม้งขุนสถาน จนกระทั่งดินเสื่อมค่าลง จึงถูกปล่อยทิ้งไว้เป็นไร่ร้าง มีหญ้าคาขึ้นปกคลุม จึงได้มีการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ชนิดไม้ที่ปลูกคือ ยูคาลิปตัส คามาลคูเลนซิส และสนสามใบ
แม้จะมีอากาศเย็น และดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำแต่ความต้องการที่ดินในการยังชีพยังมีแนวโน้มสูง พื้นที่ป่าดิบเขาดั้งเดิมที่ประกอบไปด้วย ไม้ก่อชนิดต่าง ๆ จำปีป่า เหมือดคน และมณฑา จึงถูกแผ้วถางลงเป็นจำนวนมาก เพื่อเพาะปลูกพืชเกษตรต่าง ๆ ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวไร่ ท้อ กะหล่ำปลี เป็นต้น