มหกรรมลิเกเฉลิมพระเกียรติ
เพื่อคนไข้อนาถา รพ.พระนั่งเกล้านนทบุรี
โดยป่าน ศรนารายณ์ เรื่อง-ภาพ
บ้านป่านอยู่หน้าวัด ห่างแค่ข้ามคลองที่ขวางกั้น วัดมีงานมหรสพใดๆได้ยินแล้วแทบกระโดด โดยเฉพาะลิเก แม้ว่าป่านติดงานบ้านอยู่ แฟนพันธุ์แท้น้องชายของป่านก็รบเร้าจนต้องรีบหนีไปกันจนได้ ลิเกคือความบันเทิงของคนบ้านนอกคอกนาอย่างเรา คิดไม่ถึง วันนี้ลิเกมาเล่นในห้องแอร์อาคารเจษฎาบดินทร์ ของโรงพยาบาลก็เพื่อการกุศล โดยระดมลิเกดังๆที่ยังเหลืออยู่รวมกันจาก 85 คณะ 85 ชีวิตที่มีทั้งลิเกชาย ลิเกหญิง และลิเกเด็กคนดังอย่าง ศรราม น้ำเพชร ทุกคณะมาด้วยใจถวายความจงรักภักดีเฉลิมพระเกียรติแด่ในหลวง
โอ้ เหลือเชื่อ แต่ก็ต้องเชื่อ แฟนๆมากันตรึมค่ะ
ความจริงวันนี้(18กย54) ป่านมีงานที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ต้องไปเก็บภาพ แต่เมื่อแฟนพันธุ์แท้น้องชายป่านอยากไปดูลิเก ก็เลยต้องหันหัวเรือตามใจ ขึ้นไปถึงห้องแล้วตื่นตาตื่นใจกับภาพที่ได้เห็นค่ะ ผู้ชมเต็มห้อง มีทุกวัย แต่ส่วนใหญ่วัยกลางคนถึงผู้สูงวัย(ชรา) ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เมื่อเหลียวแลไปรอบๆจึงได้เห็นบรรดาลิเกมากมาย แต่งองค์ทรงเครื่องกันมาเต็มพิกัดค่ะ พระเอกหรือตัวโกงก็แต่งกันแพราวพราว เพชรเทียมส่องแสงประกายระยิบระยับ ส่วนลิเกหญิงก็อะร้าอะร่ามเหลือกำลัง ผัดหน้าทาแป้งกันตามแบบฉบับ
นางเอกลิเกดวงแก้วลูกท่าเรือกับอีกนางไม่รู้ชื่อ
ป่านปรี่เข้าไปขอถ่ายรูป ได้รูปนิ่งก่อนการแสดงมาพอสมควร ลงให้ได้ชมภาพกันอิ่มตา อิ่มใจสำหรับแฟนลิเก ได้พบนางเอกคนดัง ดวงแก้ว ลูกท่าเรือ พวงมาลัยแบงค์ร้อยแบงค์ยี่สิบเต็มคอ ได้เห็นคณะยอดอร่อยจากจังหวัดนครสวรรค์ สอบถามแล้วได้ความว่าล้วนแต่สืบสานตำนานลิเกต่อจากบรรพบุรุษ
"มันเหมือนซึมอยู่ในสายเลือด เกิดมาก็ได้ยินพ่อแม่ร้องรำลิเก พอจำความได้ก็ร้องเป็น รำเป็นค่ะ" ดวงแก้วเล่าความที่ฟังแล้วก็คล้ายๆกับคณะยอดอร่อย
"จะทิ้งไปประกอบอาชีพอื่นก็เสียดาย เสียความรู้สึก ก็เลยประกอบอาชีพสองอย่างควบกันไปครับ ไม่มีงานจ้างไปเล่นลิเกผมก็คือคนทำนา" พระเอกลิเกคณะยอดอร่อยกล่าว
นางเอกไร้นามกับพระเอกจากคณะยอดอร่อย
ป่านเคยเห็นตัวจริงลิเกที่วัดบ้านเกิด ตอนไม่ได้แต่งหน้าทาแป้ง บางคนดำปี๋ บางคนขาวซีดๆ บางคนล่ำบึ้ก เขาและเธอก็ล้วนปุถุชนคนธรรมดา เพียงแต่มีศิลปะในหัวใจและมีพรสวรรค์ในการขับขานและเริงรำ เหมือนสวมหัวโขนแล้วก็เป็นไปโดยอัศจรรย์ ในหมู่บ้านป่านเคยมีผู้ชายรุ่นน้า(อ่อนกว่าแม่) จำได้ว่ามีอยู่ 3 คน ไปฝึกเป็นลิเกถึงกรุงเทพ คณะหอมหวล แต่น่าจะไม่ประสบความสำเร็จนัก จึงกลับมาอยู่บ้านเหมือนเดิม มีครอบครัว มีลูกเต้าเหมือนเขาอื่น ในที่สุดวิญญาณลิเกคงยังสิงอยู่ น้าว้าย น้าหยุด และน้าหวิด ตั้งคณะลิเกขึ้นมา แล้วก็ให้ลูกๆเล่นกัน แต่ละคืนจะฝึกกันจริงๆจังๆ น้าว้ายถือไม้เรียวเล่มหนึ่ง หวดก้นเพื่อนๆของป่านที่ฝึกแล้วด้าน สอนยาก จำไม่แม่น เล่นเอาหน้าเบี้ยวหน้าบูดไปตามกัน
ข้อสังเกตนะคะ คนที่จะฝึกเป็นลิเกนั้นเขาจะฝึกกันตั้งแต่ยังเด็กๆ เหมือนแก้วน้ำที่ว่างเปล่า เติมอะไรลงไปก็บรรจุได้ คนไหนรูปร่างดี หน้าหล่อ ตาคม ร้องเสียงไพเราะ รำสวย ก็จะได้ฝึกเป็นพระเอก คนไหนรูปร่างสูงใหญ่ ดูบึกบึน เสียงใหญ่ ห้าวกร้าวแกร่งก็จะได้เล่นเป็นตัวโกง คนไหนแววตาขี้เล่นทะเล้นเป็นประจำก็จะได้เล่นเป็นตัวรองตามพระเอกหรือตลกตามพระ กรณีเด็กหญิงก็เหมือนกัน นางเอกต้องหน้าหวานเจี๊ยบ เสียงหวานพริ้ว และลีลาท่าร่ายรำอ่อนช้อย ส่วนนางร้ายก็จะคล้ายๆตัวโกง แต่เสียงจะแปร้แปร๋นอย่างช้างร้อง ฯลฯ
อลังการงานศิลป์ของลิเก
เรื่องที่เล่นกันส่วนใหญ่ก็เอาละครนอกละครในมาแสดง จักรๆวงศ์ๆ พระสังข์รจนา ราชาธิราช ปลาบู่ทอง ฯลฯ หลังๆมานี้เปลี่ยนไป มีการประพันธ์เรื่องขึ้นใหม่เพื่อให้ทันสมัย มีการสอดแทรกเรื่องราวของการขับร้องเพลงลูกทุ่ง และยิ่งโด่งดังมากเมื่อลิเกกลายเป็นนักร้องไปในที่สุด ได้ออกทีวี ได้ออกโชว์ ได้อัดแผ่นในนามนักร้องลิเก เช่น รุ่นเดอะก็ พระอาจารย์ พร ภิรมย์ บรมครูเพลงแหล่ดาวลูกไก่ รุ่นหลังมานี้ก็มี ไชยา มิตรชัย หรือกุ้ง สุทธิราช เป็นต้น
ว่ากันว่า แผ่นขายดียังกับเทน้ำเทท่า แต่อย่างไรก็ตาม หนีไม่พ้นแผ่นซีดีปลอมก็อปปี้เหมือนกับนักร้องดังๆอย่างเบิร์ดธงไชย ก็อตจักรพันธ์ เฮ้อ ความโลภทำให้คนกล้ากระทำผิด คนกล้ากระทำผิดก็ได้เงินเยอะ ได้เงินเร็ว เสี่ยงแต่ได้สาแก่ใจมั้ง
เพชรพลอยแพรวพราวลวดลายแตกต่าง
พิธีกรประกาศว่า การรวมตัวของลิเก 85 คณะครั้งนี้ มีลิเกจากกรมศิลปากรเช่น ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ ถนอม นวลอนันต์ ฯลฯ ลิเกดังๆก็มี ศรราม น้ำเพชร ลิเกเด็กคนดัง ดวงแก้ว ลูกท่าเรือ ฯลฯ เรื่องที่จะแสดงวันนี้คือ พ่อผู้เสียสละ ประพันธ์โดยจันทร์แรม พอได้ยินชื่อจันทร์แรมเท่านั้นเองเป็นเรื่อง ป่านได้รับเสียงกระซิบจากแฟนพันธุ์แท้ว่า
"จันทร์แรมนี่ไงที่เล่นลิเกปิดวิกที่วัดอบทม ทุเรียนใหญ่ปิดวิกวัดห้วยคันแหลนบ้านเรา จำได้ไหม"
ป่านพยักหน้าว่าจำได้ ก็หนีไปดูด้วยกันทุกทีจะจำไม่ได้เชียวหรือ ป่านเดินถามลิเกที่ยืนระเกะระกะว่าคนไหนคือจันทร์แรมหรือ
นี่แหละอดีตพระเอกจันทร์แรม แจ่มชาวไร่ ผู้ประพันธ์บทลิเกวันนี้
ป่านเดินเข้าไปหาจันทร์แรมหรือ จันทร์แรม แจ่มชาวไร่ พระเอกลิเกคณะดังที่ลงโรงเล่นกันแถวภาคกลาง ปัจจุบันนี้ท่านสูงวัย น่าจะกว่า78 ปีหรือ 80 กว่าๆ หน้าตายังมีเค้าพระเอกเหลืออยู่
"ใช่ ผมจันทร์แรม แจ่มชาวไร่ ในอดีต" ป่านได้เบอร์โทร.มาด้วย 02-9114626 หรือ 084-1137174 เผื่อว่าใครอยากจะไปสัมภาษณ์ท่านออกทีวี เพื่อค้นหาประวัติที่เกี่ยวข้องกับลิเกเพิ่มเติม
"ผมประพันธ์เรื่อง พ่อผู้เสียสละที่จะแสดงวันนี้" อดีตพระเอกคนดังตอบยิ้มๆ
พระราชวิจิตรปฏิพาณ ธรรมะหน้าม่าน
พิธีกรประกาศว่า ก่อนเริ่มการแสดง ใคร่ขอให้ชมและฟัง "ธรรมะหน้าม่าน" จากพระราชวิจิตรปฏิพาณ วัดสุทัศน์เทพวราราม หลังจากนั้นท่านพระราชก็ขึ้นธรรมาสเทศนาธรรมหน้าม่าน มีการติดกัณฑ์เทศ ได้เงินเท่าไรไม่รู้ หลังจากเทศนาธรรมจบแล้วท่านได้เรียนเชิญประธานการจัดงานขึ้นไปรับเพื่อบริจาคสมทบเข้ากองทุนเพื่อคนไข้อนาถาทั้งสิ้น
กัณฑ์เทศบริจาคให้คนไข้อนาถา
พิธีกรประกาศอีกครั้ง ว่าการแสดงจะเริ่มต้น ณ บัดนี้ อันเป็นการเปิดโรง ด้วยการรำถวายมือ ไม่ออกแขกอย่างสมัยเก่าแล้ว อาจจะด้วยว่าวันนี้มากันหลายสิบคณะ นักแสดงหนาแน่นเกินไป บนเวทีที่รำถวายมือมีลิเกครบทีม มองดูละลานตาจับใจ พระเอกก็หล่อๆ นางเอกก็สวยสุดๆ เพชรพรายแพรวพราวไปทั้งเวที แม่ยกยกกล้องกดกันฉับๆ หลังจากรำถวายมือก็ปล่อยเวลาว่างเพื่อให้แม่ยกได้สัมผัสกับลิเกในดวงใจ บางคนคล้องคอพระเอกด้วยเงินพวงใหญ่ คล้องจนล้นคอ ส่วนนางเอกก็ใช่แตกต่าง ได้พวงมาลัยจากแม่ยกกันเพียบ มีการถ่ายรูปไว้ดูเหมือนพระเอกหนังนางเอกหนังละครเหมือนกันแหละ สังคมใครก็สังคมมัน
การรำถวายมือ
กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการแสดงความรักของเหล่าแม่ยกพ่อยกก็ปาเข้าไปนับชั่วโมง หลังจากนั้น พิธีกรประกาศว่า การแสดงเรื่องพ่อผู้เสียสละกำลังจะเริ่มขึ้น เสียงจ้อกแจ่กจอแจสงบลง ปี่พาทย์เริ่มบรรเลง ลิเกชายหญิงรี่ร่ายรำออกไปกลางเวที แล้วก็เริ่มร้องรำตามท้องเรื่อง มีฉากท้องพระโรงที่พระเจ้าแผ่นดินออกว่าราชการ มีฉากการกรีฑาทัพของเหล่าชาวพม่า มีการออกทัพจับศึกแล้วก็รบราฆ่าฟันกัน อันเป็นการแสดงที่ยังรักษารูปแบบลิเกไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ส่วนใครรำสวย ย่องามนั้นป่านจำไม่ได้เลย ดูก็ไม่ค่อยออกว่าท่ารำนั้นเรียกว่าอะไร เพลงปี่พาทย์ที่ตีรับลิเกออกและลิเกเข้า ก็ไม่รู้แล้วว่าชื่ออะไร แต่สำเนียงเคียงใกล้กับภาพความทรงจำในอดีต
แม่ยกทั้งหลายโปรดคล้องอีกครั้ง
ป่านอยากได้รูปสวยๆมาฝากแฟนๆเว็บไซต์ทองไทยแลนด์ดอทคอม จึงแอบบปีนขึ้นไปบนเวที มุมที่มีฉากบังข้างเวที แล้วป่านก็ได้พบกับภาพของป่านเมื่อครั้งยังเด็กๆ ที่นั่นมีเด็กหญิงราวๆ 6-7 ขวบสองคน นอนคว่ำหน้าชมการแสดงบนเวที แววตาที่เห็นเหมือนแววตาที่ป่านเคยเป็น ยามลิเกสนุกก็หัวเราะกลิ้ง ยามลิเกโศรกเศร้าโสกาก็นั่งร้องไห้ขี้มูกโป่ง ป้ายกันจนเสื้อเปียก พอป่านขยับจะถ่ายรูปไหนก็สนใจอิงเข้ามาขอชม ด้วยความอยากรู้อยากเห็น เด็กหนอเด็ก
นี่แหละภาพชีวิตของป่านเมื่อยามเด็กๆ
ที่โต๊ะตัวหนึ่งตั้งพ่อแก่บูชาด้วยผลหมากรากไม้พวงมาลัยครบครัน กลิ่นควันธูปลอยละล่องฟ่องเฟื้อ พ่อแก่คือพ่อครูของเหล่าศิลปินทุกสาขา ในแต่ละคณะลิเก หรือละคร หรือโขน ล้วนต้องบูชาพ่อแก่เพื่อความขลังค์ในวิชาชีพและเมตตามหานิยม ขาดไม่ได้
ก่อนการแสดงเจ้าของคณะจะต้องทำพิธีสักการะ เชื่อกันว่า หากลบหลู่ก็จะไม่มีแฟนๆติดตามชม และก็มีเรื่องเล่ากันว่า เคยเกิดอุบัติเหตุถึงฆ่าฟันกันเองด้วยอาวุธมีคม เพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่คณะ นักแสดง และเจ้าภาพ ก่อนการแสดงจึงต้องบูชาพ่อแก่ด้วยความเคารพเสมอ
พ่อแก่ บูชาทุกโรงลิเก
เครื่องดนตรีมโหรีปี่เป่าประกอบด้วย พิณพาทย์ระนาดเอกระนาดทุ้ม ตะโพนมอญ ตะโพนไทย(กรณีมีการรบหรือชกต่อยในเรื่อง) ปี่ ฉิ่ง ฉับ ฉาบ กับ โหม่ง ฆ้องใหญ่ ฆ้องเล็ก พร้อมนักดนตรีผู้บรรเลง โดยเฉพาะเปิงมางเมื่อถึงเวลาบรรเลงจะดังกระหึ่มหึกเหิมใจ สนุกครึกโครมทีเดียวเชียวจ้ะ ยิ่งคนตีตัวใหญ่ๆ นั่งอยู่มุมสูงๆ เวลาตีแต่ละครั้งกระแทกกระทั้นมันพะยะค่ะ เครื่องดนตรีวันนี้ มีไว้เพื่อการแสดงในงานลิเก งานฌาปนกิจ แต่ถ้าเป็นงานมงคลเช่นวันเกิด วันขึ้นปีใหม่ วันฉลองลาภยศ ก็จะเป็นวงปี่พาทย์อีกแบบหนึ่ง ก่อนรับงานเขาจะถามว่าไปงานมงคลหรืองานอัปมงคล เพื่อจะได้จัดให้ได้เหมาะสม
เปิงมาง อันระทึกล้นเหลือ
ที่บ้านป่าน หากจะมีลิเกสักโรง สักคืน นั้นต้องว่าจ้างกันแพงเอาการ นับหมื่นนับแสนบาทกันทีเดียว เพื่อประกอบการงานฌาปนกิจ,งานบวช,งานฉลองพัดยศ,งานผ้าป่ากฐินสามัคคี,งานรื่นเริงประจำปีของวัด แต่ไม่เคยมีการแสดงลิเกในงานแต่งงานค่ะ
ส่วนโรงลิเกนั้นถ้าเป็นที่วัดก็จะมีโรงลิเกถาวรสร้างเอาไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ แต่ถ้าเป็นงานที่บ้านก็จะเป็นลานนวดข้าว หรือกลางทุ่งกลางนาไปเลยก็มี ลิเกที่ป่านเคยดูนั้นนอกจากงานมหรสพดังที่กล่าวมา ก็มีลิเกปิดวิก เก็บสตางค์เข้าชม เล่นกันไปเล่นกันมา หลายคณะต้องขายฉากเพื่อหาเงินจ้างรถเหมากลับบ้านก็มี เหตุผลก็แสดงไม่เก่งบ้าง เก่งแต่เล่นไพ่เจ๊ง หมดตัวก็มี
พระเอกนางเอกงานนี้ ดูซี บทจำจากนางจรไปรบ เศร้าไหม
ฉาก เป็นผ้าสีสันสวยงาม มักเขียนเป็นท้องพระโรงที่พระเจ้าแผ่นดินออกว่าราชการ หรือทิวเขาป่าดงพงไพร แค่ค่าฉากแต่ละฉากก็เป็นเงินหลายพันถึงหลายหมื่นบาท ลิเกทุกตัวต้องช่วยกันแบกขนติดตั้งจนถึงรื้อลงเพื่อเดินทางต่อไป ศิลปินวาดฉากก็มีเฉพาะเหมือนศิลปินเขียนโปสเตอร์โรงหนัง สีสันที่ใช้มักฉูดฉาดบาดตา แต่โดดเด่นเห็นชัดๆ ภาพเขียนแบบศิลป์คนบ้านนอกแบบชาวบ้านๆดูไม่ออก ดีไม่ดีหาว่า เขียนสีไม่ชัดไปโน่น แฝงเร้นมิติใดๆไม่เข้าใจ ต้องซื่อๆตรงๆ
วันนั้น ป่านดูลิเกไม่จบเรื่องก็ต้องรีบเดินทางไปเก็บภาพการชุมนุมของคนเสื้อแดง 19 กย.54 วันครบรอบ 5 ปี รัฐประหาร เพื่อใช้ประกอบเรื่องการ์ตูนกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในหน้าที่ของสื่อมวลชนคนทำเว็บไซต์ก็จำต้องแต่งแต้มให้มีเรื่องราวมากมายหลายวิทยาการ แฟนๆที่มีอยู่หลากหลายจะได้เลือกเข้ามาชมตามชอบ บางคนชอบเรื่องท่องเที่ยวทั่วไทย บางคนชอบเรื่องวันเดียวเที่ยวที่ไหนดี บางคนชอบอ่านหนึ่งภาพ,1,000 คำ และบางคนชอบอ่านเรื่องสั้น/ยาวโดยเอื้อยนาง ล้วนนานาจิตตังค่ะ แต่ก็มีกลุ่มหนึ่งชอบการเมือง หรือระบอบประชาธิปไตย
เรื่องราวเกี่ยวกับลิเกนั้น ป่านขอก็อปปี้จากวิกิพิเดียมาลงต่อท้ายเผื่อใช้ในการค้นหา ทำรายงานหรือ อยากรู้ ก็เปิดชมได้ คัดลอกไปใช้งานได้ ไม่ว่ากัน ตามระบอบโลกเสรีทางข่าวสารข้อมูลออนไลน์
สำหรับเว็บไซต์นี้ เปิดกว้างเพื่อการเรียนรู้ ให้ทั้งข้อมูล ภาพ และแถม อยากใช้ไหว้วานอะไรเพิ่มเติมก็คอมเม้นท์เข้ามานะคะ บรรณาธิการบริหารของป่านประกาศเสียงดังฟังชัด ทุกอย่างเพื่อสาธารณชนคนทั่วไป ให้ได้ ให้หมดจนหมดตัวค่ะ
ลิเก
ลิเก เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คำว่า ลิเก เพี้ยนมาจากคำว่า ซิเกร์ ในภาษาเปอร์เซีย ที่ยืมมาจากคำว่า ซิกรุ (Zakhur) ในภาษาอาหรับ อันหมายถึงการอ่านบทสรรเสริญเป็นการรำลึกถึงอัลลอหฺพระเจ้าในศาสนาอิสลาม พระครูศรีมหาโพธิคณารักษ์ก็ได้กล่าวถึงลิเกไว้[1] ว่า พวกมุสลิมนิกายชีอะห์ หรือเจ้าเซ็นจากเปอร์เซีย นำสวดลิเกที่เรียกว่า ดิเกร์ เข้า มาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย[2] กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรง บันทึกว่า ยี่เกนั้น เพี้ยนมาจาก จิเก
มีบันทึกว่า พวกแขกเจ้าเซ็นได้สวดถวายตัวในการบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อ พ.ศ. 2423 ต่อมาคิดสวดแผลงเป็นลำนำต่าง ๆ คิดลูกหมดเข้าแกมสวด ร้องเป็นเพลงต่างภาษา และทำตัวหนังเชิด โดยเอารำมะนาเป็นจอก็มี ลิเกจึงกลายเป็นการเล่นขึ้น ต่อมามีผู้คิดเล่นลิเกอย่างละคร คือ เริ่มร้องเพลงแขก แล้วต่อไปเล่นอย่างละครรำ และใช้ปี่พาทย์อย่างละคร
หน้าตาอย่างนี้เห็นปุ๊บก็รู้เลย ตัวโกงแน่ๆ และแม่ยกยังไม่หยุด
[แก้] ชนิดของลิเก
- ลิเกบันตน เริ่มด้วยร้องเพลงบันตน(เพี้ยนจาก ปันตน)เป็นภาษามลายู ต่อมาก็แทรกคำไทยเข้าไปบ้าง ดนตรีก็ใช้รำมะนา จากนั้นก็แสดงเป็นชุด ๆ ต่างภาษา เช่น แขก ลาว มอญ พม่า ต้องเริ่มด้วยชุดแขกเสมอ ผู้แสดงแต่งตัวเป็นชาติต่าง ๆ ร้องเอง พวกตีรำมะนาเป็นลูกคู่ มีการร้องเพลงบันตนแทรกระหว่างการแสดงแต่ละชุด
- ลิเกลูกบท คือ การแสดงผสมกับการขับร้องและบรรเลงเพลงลูกบท ร้องและรำไปตามกระบวนเพลง ใช้ปี่พาทย์ประกอบแทนรำมะนา แต่งกายตามที่นิยมในสมัยนั้นๆ แต่สีฉูดฉาด ผู้แสดงเป็นชายล้วน เมื่อแสดงหมดแต่ละชุด ปี่พาทย์จะบรรเลงเพลง 3 ชั้นที่เป็นแม่บทขึ้นอีก และออกลูกหมดเป็นภาษาต่าง ๆ ชุดอื่น ๆ ต่อไปใหม่
- ลิเกทรงเครื่อง เป็นการผสมผสาน ระหว่างลิเกบันตนและลิเกลูกบท มีท่ารำเป็นแบบแผน แต่งตัวคล้ายละครรำ แสดงเป็นเรื่องยาวๆ อย่างละคร เริ่มด้วยโหมโรงและบรรเลงเพลงภาษาต่างๆ เรียกว่า "ออกภาษา" หรือ "ออกสิบสองภาษา" เพลงสุดท้ายเป็นเพลงแขก พอปี่พาทย์หยุด พวกตีรำมะนาก็ร้องเพลงบันตน แล้วแสดงชุดแขก เป็นการคำนับครู ใช้ปี่พาทย์รับ ต่อจากนั้นก็แสดงตามเนื้อเรื่อง ลิเกที่แสดงในปัจจุบันเป็นลิเกทรงเครื่อง
- ลิเกป่า เป็นศิลปะการแสดงที่เคยได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและ จังหวัดทางภาคใต้ทั่ว ๆ ไป แต่ในปัจจุบันลิเกป่ามีเหลืออยู่น้อยมาก ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า เดิมลิเกป่าจะมีแสดง ให้ดูทุกงาน ไม่ว่าจะเป็นบวชนาค งานวัด หรืองานศพ ลิเกป่ามีเครื่องดนตรีประกอบการแสดง 3 อย่าง คือ กลองรำมะนา 1-2 ใบ ฉิ่ง 1 คู่ กรับ 1 คู่ บางคณะอาจจะมีโหม่ง และทับด้วย ลิเกป่ามีนายโรงเช่นเดีวกับหนังตะลุง และมโนราห์ และโร สำหรับการแสดงก็คล้ายกับโรงมโนราห์ ผู้แสดงลิเกป่า คณะหนี่งมีประมาณ 6-8 คน ถ้ารวมลูกคู่ด้วยก็จะมีจำนวนคนพอ ๆ กับมโนราห์หนึ่งคณะ การแสดงจะเริ่มด้วยการโหมโรง "เกริ่นวง" ต่อจากเกริ่นวงแขกขาวกับแขกแดงจะออกมาเต้นและร้องประกอบ โดยลูกคู่จะรับไปด้วย หลังจากนั้นจะมีผู้ออกมาบอกเรื่อง แล้วก็จะเริ่มแสดงเลย
ดวงแก้ว ลูกท่าเรือ นางเอกคนดัง
[แก้] ส่วนประกอบในการแสดง
วิธีแสดง เดินเรื่องรวดเร็ว ตลกขบขัน การแสดงเริ่มด้วยโหมโรง 3 ลา จบแล้วบรรเลงเพลงสาธุการ ให้ผู้แสดงไหว้ครู แล้วจึงออกแขก บอกเรื่องที่จะแสดง ในอดีตมีการรำถวายมือหรือรำเบิกโรง แล้วจึงดำเนินเรื่อง ต่อมาการรำถวายมือก็เลิกไป ออกแขกแล้วก็จับเรื่องทันที การร่ายรำน้อยลงไปจนเกือบไม่เหลือเลย คงมีเพียงบางคณะที่ยังยึดศิลปะการรำอยู่
ผู้แสดง เดิมใช้ผู้ชายล้วน ต่อมานายดอกดิน เสือสง่า ให้บุตรสาวชื่อละออง แสดงเป็นตัวนางประจำคณะ ต่อมาคณะอื่นก็เอาอย่างบ้าง บางคณะให้ผู้หญิงเป็นพระเอก เช่น คณะกำนันหนู บ้านผักไห่ อยุธยา การแสดงชายจริงหญิงแท้นั้น คณะนายหอมหวล นาคศิริ เริ่มเป็นคณะแรก ผู้แสดงต้องมีปฏิภาณในการร้องและเจรจา ดำเนินเรื่องโดยไม่มีการบอกบทเลย หัวหน้าคณะจะเล่าให้ฟังก่อนเท่านั้น นอกจากนี้ การเจรจาต้องดัดเสียงให้ผิดปกติ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ของลิเก แต่ตัวสามัญชนและตัวตลกพูดเสียงธรรมดา ในยุคหลังจากนั้นก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยโดยการเกิดรายการลิเกทางโทรทัศน์ขึ้นมาเช่น ลิเกรวมดาวของ คุณ วิญูญู จันทร์เจ้า โดยมี สมศักดิ์ ภักดี เป็นพระเอกลิเกคนแรกของประเทศไทยที่ได้ออกโทรทัศน์ และต่อมาก็เริ่มมีคณะลิเกรุ่นใหม่ๆรวมถึงลิเกเด็กเกิดขี้นมาตามลำดับเช่น คณะลิเกไชยา มิตรไชย คณะลิเกกุ้ง สุทธิราช คณะลิเกเด็กวัดสวนแก้ว คณะลิเก ศรราม-น้ำเพชร ฯลฯ
เพลงและดนตรี ดำเนินเรื่องใช้เพลงหงส์ทองชั้นเดียว แต่ดัดแปลงให้ด้นได้เนื้อความมาก ๆ แล้วจึงรับด้วยปี่พาทย์ แต่ถ้าเล่นเรื่องต่างภาษา ก็ใช้เพลงที่มีสำเนียงภาษานั้นๆ ตามท้องเรื่อง แต่ด้นให้คล้ายหงส์ทอง ต่อมานายดอกดิน เสือสง่า ได้ดัดแปลงเพลงมอญครวญของลิเกบันตนที่ใช้กับบทโศก มาเป็นเพลงแสดงความรักด้วย
เรื่องที่แสดง นิยมใช้เรื่องละครนอก ละครใน และเรื่องพงศาวดารจีน มอญ ญวน เช่น สามก๊ก ราชาธิราช ฉันใดเวือง
แฟนพันธุ์แท้เพียบเลยจ้ะ
การแต่งกาย แต่งตัวด้วยเครื่องประดับสวยงาม เลียนแบบเครื่องทรงกษัตริย์ จึงเรียกว่าลิเกทรงเครื่อง บางครั้งก็ลดเครื่องแต่งกายที่แพรวพราวลงไป โดยตัวนายโรงยังแต่งเลียนแบบเครื่องทรงของกษัตริย์ในส่วนที่มิใช่เครื่องต้น เช่น นุ่งผ้ายกทอง สวมเสื้อเข้มขาบหรือเยียรบับ แขนใหญ่ถึงข้อมือ คาดเข็มขัดนอกเสื้อ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ แต่ดัดแปลงเสียใหม่ เช่น เครื่องสวมศีรษะ เครื่องประดับหน้าอก สายสะพาย เครื่องประดับไหล่ ตัวนางนุ่งจีบยกทอง สวมเสื้อแขนกระบอกยาว ห่มสไบปักแพรวพราว สวมกระบังหน้าต่อยอดมงกุฎ ที่แปลกกว่าการแสดงอื่น ๆ คือสวมถุงเท้ายาวสีขาวแทนการผัดฝุ่นอย่างละคร แต่ไม่สวมรองเท้า
สถานที่แสดง ลานวัด ตลาด สนามกว้าง ๆ ในโทรทัศน์ ฯลฯ โดยปลูกเพิงสูงระดับตา ด้านหน้าเป็นที่แสดง ด้านหลังเป็นที่พักที่แต่งตัว มีฉากเป็นภาพเมือง วัง หรือป่าเขาลำเนาไพร
[แก้] อ้างอิง
- ^ วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 หน้า 43
- ^ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์, ลิเก