ประเพณีแซนโฏนตาเมืองขุขันธ์ตอน1.เรื่องเล่าจากอดีตกาล..ชวนรู้
โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ผมเดินทางไปกับเพื่อนชื่อจำลอง บุญสอง บก.ท่องเที่ยวนสพ.โพสท์ทูเดย์ โดยไม่รู้เลยว่าไปงานอะไร ที่ไหน แต่พอได้เข้าไปถึงอำเภอขุขันธ์ ผมจึงได้รู้แจ้งเห็นจริงว่า มางานอะไร เรื่องราวต่อไปนี้ได้ฟังจากปากของผู้เฒ่าผู้แก่ของบ้านเมืองนี้เช่นคุณแม่จันทร จันทรชิต คุณแม่บัวไข ชมเมือง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตาอุด นายศิริพงษ์ ไพศาลสุวรรณ(โทร.081-9671146) ผู้อำนวยการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอขุขันธ์ นางนงคราญ แก้วจันทร์ และคนสำคัญนายอำเภอขุขันธ์ นายอนุรัตน์ ลีธีระประเสริฐ นอกจากนั้นยัประกอบด้วยเอกสารอีกหลายฉบับ อิเทอร์เนตเมืองขุขันธ์ จับความได้ดังต่อไปนี้
เรื่องราวต่อไปนี้เป็นความผูกพันของอยุธยาราชธานีกับชาวเมืองขุขันธ์ โดยเริ่มที่ครั้งปลายรัชสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ช่วงปีพ.ศ.2301-2310 พระเจ้าเอกทัศน์หรือพระที่นั่งสุริยาอมรินทร์ หรือขุนหลวงขี้เรื้อน ทรงครองราชย์ ในต้นรัชกาลราวๆ ปีพ.ศ.2302 พญาช้างเผือกแตกโรงไปอยู่กับโขลงช้างป่าในเขตเทือกเขาพนมดงเร็ก อันเป็นเขตเมืองขุขันธ์-สุรินทร์ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวกวยหรือส่วย และเขมร เมื่อพระเจ้าเอกทัศน์ทรงโปรดให้ทหารเอกคู่พระทัย(ทองด้วงและบุญมา) นำไพร่พล 30 คน ออกติดตามมาถึงบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ซึ่งชาวกรุงศรีเรียกขานกันว่าเป็นเขมรป่าดง
แต่ก็อย่างว่า ความที่ต่างที่แตกถิ่นดินไกล ด้วยสายตากว้างไกลจำต้องใช้ไหว้วานคนในท้องถิ่นให้ช่วยตากะจะ และเชียงขันธ์ ผู้มีคาถาอาคมทางไสยศาสตร์และเชี่ยวชาญเรื่องจับช้าง พร้อมด้วยสมัครพรรคพวกที่มีความสามารถอีกหลายนายประกอบด้วย เชียงปุมแห่งบ้านเมืองที เชียงสีแห่งบ้านกุดหวาย เชียงฆะแห่งบ้านอัจจะปึง และเชียงชัยแห่งบ้านจาระพัด ได้เข้าช่วยราชการตามพญาช้างเผือก เมื่อตามจนพบแล้วจึงได้ส่งพญาช้างเผือกกลับสู่พระนคร ความจงรักภักดีครานั้นทำให้ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ ตากะจะเป็น "หลวงแก้วสุวรรณ"เชียงขันได้เป็น "หลวงปราบ" ผู้ช่วยนายกองปฏิบัติหน้าที่ราชการขึ้นตรงต่อเมืองพิมายและกรุงศรีอยุธยา
รูปปั้นช้างเผือก
ปีพ.ศ.2306 ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล จึงทรงโปรดให้ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนขึ้นเป็น "เมืองขุขันธ์" เลื่อนหลวงแก้วสุวรรณเป็น "พระไกรภักดีศรีนครลำดวน" ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์คนแรก ปีพ.ศ. 2321 พระเจ้าตากสินโปรดเกล้าให้พระยาจักรี(ทองด้วง) ยกทัพไปปราบกบฏที่นครเวียงจันทน์ พระไกรภักดีศรีนครลำดวนได้ยกทัพร่วมรบจนได้ชัยชนะเหนือเวียงจันทน์ ได้รับการปูนบำเหน็จความดีความชอบเป็น "พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน"(พ.ศ.2306-2321) นี่คือประวัติศาสตร์หน้าแรกที่เมืองขุขันธ์ประกาศศักดาว่าด้วยความภักดีและรู้บุญคุณกตัญญุตาแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน ยามศึกร่วมรบยามสงบร่วมรักสามัคคี
อนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน
ปีพ.ศ. 2321 หลวงปราบได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน" (พ.ศ.2321-2325) หลังจากนั้นตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ก็ใช้คำว่า พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน สืบมาจนสิ้นยุคเจ้าเมืองคนที่ 9 แล้วเปลี่ยนเป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนเจ้าเมืองขุขันธ์ 8 คนถัดมาคือ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน(ท้าวบุญจันทร์) พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๓๖๙ เชียงฆะหรือเกาพ.ศ.2369-2393 ท้าวในพ.ศ.2393-2394 ท้าวนวน พ.ศ.2393-2394 ท้าวกิ่ง พ.ศ.2394-2395 ท้าววัง พ.ศ.2395-2426 และท้าวปัญญา ขุขันธิน พ.ศ.2426-2440
ต้นตาลเก้ายอด
ตลอดการว่าการของเจ้าเมืองทั้ง 9 นั้นมีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นคู่ขนานกับบุญญาธิการอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือ มีต้นตาลโตนดต้นหนึ่งแตกยอดถึง 9 ยอดด้วยกัน ทั้งๆที่มีลำต้นเพียงลำต้นเดียวเท่านั้น ต้นตาลเก้ายอดต้นนี้เกิดเมื่อใดไม่ปรากฎหลักฐานการบันทึกที่ หมู่.8 บ้านตาดม ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ และได้ตายลงเมื่อปีพ.ศ.2509 โชคดีที่ยังเหลือเพียงภาพถ่ายที่บันทึกไว้ นั่นคือความอัศจรรย์กับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยอะไรหรือ เพราะว่าโดยธรรมชาติของต้นตาลโตนดนั้นจะมีเพียงลำต้นเดียวเดี่ยวๆชูเรือนยอด และเป็นต้นไม้ที่คงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศได้ทุกสภาพ เนื้อไม้แข็งแกร่ง มีลายนกเขา ลูกตาลก็สารพัดประโยชน์เช่น คั้นน้ำทำขนมตาล ปาดงวงได้น้ำตาล หัวตาลแกงกินได้ ต้มจิ้มน้ำพริกก็ได้
ผู้อาวุโสเล่าความ
ปีพ.ศ.2440 สมัยรัชกาลพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2411-2453) โปรดเกล้าให้เปลี่ยนตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์เป็น ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ และปีพ.ศ.2449 ย้ายศาลากลางเมืองขุขันธ์ไปยังจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบันนี้ แต่ยังเรียกว่าศาลากลางเมืองขุขันธ์ ปีพ.ศ.2450 ยุบเมืองศรีสะเกษและเมืองเดชอุดมไปขึ้นกับเมืองขุขันธ์ ปีพ.ศ.2459 โปรดเกล้าให้เปลี่ยนชื่อเมืองขุขันธ์เป็นชื่อจังหวัดขุขันธ์ และครั้งสุดท้ายเปลี่ยนชื่อจังหวัดขุขันธ์ไปเป็นชื่อจังหวัดศรีสะเกษ และเปลี่ยนชื่ออำเภอห้วยเหนือเป็นอำเภอขุขันธ์เมื่อปีพ.ศ.2481 จบกันเสียทีกับความสับสนวุ่นวาย ย้ายกันไปแล้วก็ย้ายกันมา ตามแต่สถานการณ์ของบ้านเมืองที่มองคนละมุม
ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชน
ฟังดูแล้วได้ความรู้ว่า เมืองขุขันธ์ นั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนาของบ้านเมืองจนเป็นปึกแผ่น เป็นด่านแรกของดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือทางด้านใต้ หากนับอายุกันแล้วก็กว่า 200 ปี มีประชากรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่กันอย่างสงบสุขถึง 5-6 ชาติ อันได้แก่ เขมร ลาว ส่วย เยอ จีน และน่าจะมีคนไทยจากหลายภาคมาผสมผสานอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นชาวกวยหรือส่วย เยอ และเขมร ดังนั้นวัฒนธรรมประเพณีดีงามต่างๆจึงเกิดขึ้นจากชนเผ่าเหล่านี้เป็นหลัก ประเพณีแซนโฏนตา หรือ แซนโดนตา มีนิยามว่า ประเพณีคืนสู่เหย้าของเหล่าลูกหลานเพื่อมาบูชาหรือไหว้คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย(โดนหรือโฏน) อันเป็นบรรพบุรุรษที่เคารพกราบไหว้ โดยเริ่มตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำเดือน 10 ไปจนถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ช่วงเดือนกันยายน แต่เดิมก็เป็นประเพณีที่ชาวส่วยหรือกวยถือปฏิบัติกันเงียบๆ กลุ่มญาติพี่น้องใครพี่น้องมัน
ที่เมืองขุขันธ์ได้เพิ่มความเคารพบูชาถึงเจ้าเมืองอีก 9 ตนด้วย เริ่มต้นที่ พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวนเป็นปฐมด้วยครับ
ผู้เฒ่าผู้แก่และนายกเทศมนตรีเมืองขุขันธ์
แต่แล้ววันหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นปฐมฤกษ์ที่ชาวขุขันธ์ได้ร่วมกันคิดและร่วมกันทำ หยิบจับเอาวัฒนธรรมประเพณีดีงามนั้นออกมาใช้ให้เกิดความตื่นตัวและตื่นเต้นไปทั่วแว่นแคว้นแดนอีสาน เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประเพณีแซนโฏนตาเมืองขุขันธฺเป็นต้นแบบใหเกิดแนวความคิดหยิบจับประเพณีนี้ขึ้นมาใช้ไปทั่วเขตอีสานใต้ เช่นจังหวัดใกล้เคียง อำเภอใกล้เคียง กลายเป็นว่า ไปท่องเที่ยวอีสานตอนใต้แถวๆจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ก็จะได้เห็นว่า มีประเพณีแซนโฏนตาปรากฎอยู่ทั่วไป ไม่ได้ทำกันเพียงในครอบครัวอีกแล้ว หากแต่ได้นำออกมาเป็นประเพณีของแต่ละท้องที่ เป็นอีกประเพณีที่เปิดกว้างให้กับนักท่องเที่ยวได้เข้าชมและบันทึกภาพเก็บไว้ชมสืบไป
นายอำเภอขุขันธ์ นายอนุรัตน์ ลีธีระประเสริฐ
เมื่อพิจารณาดูก็คล้ายกับวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีนที่เมื่อถึงวันตรุษจีนก็จะพากันมาไหว้บรรพบุรุษและญาติผู้ใหญ่ที่เคารพ อันเป็นเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงขึ้น 1 ค่ำเดือน 1 คือราวๆเดือนกุมภาพันธ์ และก็ถือกันว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่จีนด้วย อันเป็นหลักทางจันทรคติ วันตรุษจีนนี้แหละครับเป็นวันรวมญาติเพื่อถามหาสารทุกข์สุกดิบ ห่วงหาอาทรกันและกัน มีการทำอาหารหวานคาวไหว้บรรพบุรุษเหมือนเป็นเครื่องเซ่นไหว้ หลังจากนั้นก็เก็บกินของไหว้ร่วมกันอย่างมีความสุข เด็กๆจะชอบมากเพราะว่าวันนี้ปู่ย่าตายายจะแจก "อั้งเปา"(ซองแดง)มีเงินใช้ได้โชคดี เกิดความสามัคคีในหมู่ญาติสนิท
เครื่องเซ่นไหว้ของหวาน
ส่วนคนไทยภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน ก็มักจะยึดเอาวันสงกรานต์เป็นวันกลับไปไหว้บรรพบุรุษ ในประเพณีที่เรียกว่า รดน้ำดำหัว กล่าวคือ วันที่ 13 เมษายน เป็นวันเนา วันที่ 14 เมษายน เป็นวันล่องสังขาร และวันมหาวันสงกรานต์คือวันที่ 15 ถือกันว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย และได้บังสุกุลกระดูกบรรพบุรุษอีกด้วย ตามประเพณีไทยวันนี้ลูกหลานจะซื้อหาผ้าสวยงามไปไหว้สาญาติผู้ใหญ่ที่มิใช่ ตากับยาย เสมอไป ซึ่งก็เป็นวันรวมญาติและวันแห่งความสุขของครอบครัว หนุ่มสาวได้รดน้ำดำหัวกันทั่วไป มีการละเล่นมากมายในวันทั้งสาม บางทีก็ได้ประสบพบพัตรแล้วเกิดรักกันจนถึงขั้นไปสู่ขอเข้าห้องหอก็หลายคู่ตุนาหงัน
บายตะเบิ๊ดตะโบรและบายเบ็ญ
สรุปว่า วันตรุษจีน วันสงกรานต์ และวันแซนโฏนตา นั้นล้วนเป็นวันดีที่ญาติพี่น้องจะได้ร่วมกันไหว้สาบรรพบุรุษ อันเป็นสิ่งที่ควรกระทำและเป็นความล้ำเลิศของประเพณีดีงาม ที่ทำให้เกิดความรักความสมานฉันดีที่สุด
มีอยู่ไม่น้อยที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่มีเงินเหลือเฟือพอที่จะเดินทางกลับไปบ้านเกิดเพื่อเคารพบูชาบรรพบุรุษ ได้แต่นั่งเหงาเศร้าซึม ด้วยว่าหากออกจากบ้านไปทำงานแดนไกล มีค่าใช้จ่ายสูง และไม่เหลือเก็บ ก็จะไม่มีเงินทองพอที่จะไปร่วมงานประเพณีนี้ได้ มันเป็นความรู้สึกลึกๆที่ยากจะบรรยาย เหมือนว่าแม้นไม่ได้ดีมีเหลือก็ไม่อยากกลับไปให้พ่อแม่พี่น้องเกิดสังเวช
เครื่องเซ่นไหว้คาวหวานและบายศรี
ได้ฟังเรื่องเล่าจากอดีตแล้วผมก็เดินลงไปชมเครื่องเซ่นไหว้ที่ตระเตรียมแสดงไว้ในศาลาหลังหนึ่ง ที่นั่นผมได้เห็นหัวหมู เป็ด ไก่ซึ่งมีทั้งไก่ต้มและไก่ย่าง นอกจากนั้นยังมีถาดใส่กับข้าวสำหรับนำไปถวายพระเรียกว่า"บายตะเบิ๊ดตะโบร" ส่วนอีกถาดหนึ่งเล็กกว่า มีหยิบอาหารเป็นก้อนเล็กๆ นำไปยังวัดแต่นำไปตั้งทิ้งไว้เพื่อให้ผีไร้ญาติ เปรต ผีสางนางไม้ ได้เข้ามารับส่วนบุญ เรียกว่า "บายเบญ" ส่วนหมูเห็ดเป็ดไก่ ผลไม้ก็เช่นกล้วย ส้มโอ อ้อย ฯลฯ และขนมที่ประดิดประดอยทำกันเช่น ข้าวต้มมัดไส้กล้วยสุก ขนมเทียนไส้ถั่ว ขนมข้าวต้มมัดใบมะพร้าวแท่งยาวไส้หมู และ............ห่อเล็กๆ หลังพิธีไหว้แล้วก็กินร่วมกัน
เครื่องเซ่นบวงสรวงที่สาธิตให้ชม
ผมติดใจคำว่า"กล้วยแสนหวี" จึงได้สอบถามจนได้ความรู้เพิ่มเติมมาว่า กล้วยแสนหวีนั้นเกิดแต่ประเพณีแซนโฏนตานั้น ขนมที่ใช้ทำกินกันมากคือ ขนมข้าวต้มมัด เนื่องจากชาวส่วยหรือกวย เยอ และเขมร นั้นกินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก แต่ก็จะปลูกข้าวเหนียวเอาไว้ส่วนหนึ่งเพื่อใช้ทำขนมหวานกินกัน ผิดกับชาวลาวอีสานที่กินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก แต่ใช้ข้าวเจ้าทำขนมหวานกินกัน ดังนั้น พี่น้องผองชาวส่วยขุขันธ์จึงปลูกกล้วยกันไว้รอบบ้าน หัวไร่ปลายนา แต่เมื่อถึงคราวมีงานประเพณีแซนโฏนตา กล้วยกลับไม่พอเพียงที่จะใช้ จึงได้เกิดการค้าขายระหว่างเมืองขึ้น มีกล้วยมากองขายในขุขันธ์มากมากมหาศาล จนได้สมญาว่าเป็น กล้วยแสนหวี
กล้วยแสนหวีมีขายทั้งเมือง
นอกจากนั้น ยังมีการประกวดกล้วยยกเครือกันเป็นที่เอิกเกริก มีรางวัลให้ด้วย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปลูกกล้วยให้มากขึ้น แต่ถ้าปลูกกันจริงจังก็อาจจะไม่ต้องซื้อกล้วยมาจากต่างจังหวัด และถ้าปลูกกันในปริมาณมากๆแล้ว ก็จะเกิดการเหลือจะกิน มีให้ขายได้เงินเข้าครอบครัว เข้าอำเภอ และเป็นการสร้างเม็ดเงินจากพื้นที่ที่ว่างเปล่า เพราะว่ากล้วยนั้นขายได้ทั้งใบตอง กล้วยดิบแปรรูปเป็นกล้วยฉาบ กล้วยสุกและสุกเกินพอดีก็ดัดแปลงเป็นกล้วยฉาบอบน้ำผึ้ง ส่งขายได้ตลอดปี แม้เพียงกล้วยต้นเดียวก็อาจจะสร้างเศรษฐกิจให้กับเมืองขุขันธ์ได้ ทั้งนี้ก็ด้วยเทคโนโลยีการปลูก การผลิต การบรรจุภัณฑ์ และการตลาด เข้าท่าๆ
ประกวดกล้วย..แน่นะ
นี่เพียงปฐมบทแห่งสารคดีที่เกิดแต่ประเพณี แซนโฏนตา การไหว้ยายกับตา หรือการบูชาบรรพบุรุษ ตอนต่อไป ประเพณีแซนโฏนตาเมืองขุขันธ์ตอน2.เสื้อเก๊บ วัฒนธรรมเครื่องแต่งกายของชาวส่วย โปรดติดตาม
ตะบันหมากกลางงานแต่วันนะคุณยาย แต่ก็มาเด้อ
พิธีกรงานแซนโฏนตาน่าทึ่งมากๆ