ประเพณีแซนโฏนตาเมืองขุขันธ์ตอน2.
"ผ้าอาวเก๊บ" วัฒนธรรมเรื่องเครื่องแต่งตัวชาวส่วย เมืองขุขันธ์
โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ถ้าสืบสาวราวเรื่องของผ้าไหมในโลกนี้ คงยาวนับพันลี้หมื่นลี้ อย่ากระนั้นเลย เรามาตัดตอนเพียงแค่ว่า มีการหยิบจับเอาตัวไหมมาเลี้ยงด้วยภูมิปัญญาของแต่ละถิ่นแล้วใช้เส้นใยไหมที่สาวได้เพื่อถักทอเป็นผืนผ้าไหมสวยเลิศหรู แน่นอนว่า แต่ละเรื่องราวมีมิติที่แตกต่าง ชาวจีน ชาวญี่ปุ่น ชาวไทย ชาวกัมพูชา ชาวเขมร ชาวส่วย หรือกวย และอีกนับไม่ถ้วนในโลกที่ใช้ผลผลิตจากสัตว์ตัวเล็กๆคล้ายคลึงกัน ต่างกันแต่ว่า ใครจะถักทอด้วยเทคนิคใดได้รวดเร็วกว่ากัน หรือใครจะออกแบบลวดลายได้แปลกแตกต่างและงดงามกว่ากัน หรือใครจะย้อมเส้นไหมได้เนียนนวลกว่ากัน สุดท้ายที่ใครจะใช้ผ้าไหมที่ได้แล้วนั้นตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งตัวได้อลังการกว่ากัน นั่นคือวิถีแห่ง "ไหม"
ประตูทางเข้านิทรรศการ
จีน ญี่ปุ่น ไทย ลาว เวียดนาม พม่า ฯลฯ จะประดิดประดอยอย่างไรก็ตาม ช่างเขาเถอะ วันนี้สนใจมากเมื่อได้ไปรู้ไปเห็นว่า ชาวเขมร และส่วยหรือกวย เมืองขุขันธ์ เขาใช้"ไหม" กันอย่างไร หลังจากได้เดินไปชมนิทรรศการการผลิตเส้นไหม การต้มดักแด้ไหม การสาวไหม การถักทอ แต่การย้อมไม่ได้สาธิตให้ชม แล้วให้ชมผืนผ้าไหมลายลูกแก้ว ซึ่งแท้จริงแล้วมีลวดลายมากมายหลายลายเช่น ผ้าไหมลายสมอ ลายสกู ลายกระเนียว ลายอันเปรม ลายโฮร ลายโกนจะดอ การตัดเย็บด้วยมือล้วนๆ การเทอแซวหรือการเย็บก็ด้วยมือ ที่เรียกว่า อาวเก๊บ
ดักแด้ไหมในรังธรรมชาติ
แต่ด้วยว่ากี่ทอผ้าไหมหน้าแคบ จึงมีการต่อผ้าโดยต่อทางหัวผ้านุ่งเรียกว่า กะบาลซัมป๊วด แต่ถ้าต่อเชิงผ้านุ่งเรียกว่า ปะโบร และด้วยเทคนิกการทำให้ผ้าทิ้งตัวสวยงามมากขึ้นจึงมีการนำผ้าฝ้าย เรียกผ้าสะเลิ๊ก มาต่อปลายปะโบร ช่วยให้เวลานุ่งผ้ายาวสมส่วน งดงามมากขึ้น เรื่องราวที่กล่าวมานี้เป็นวิถีชีวิตของชาวกวยหรือส่วยและเขมร ที่สืบทอดผ่านกาลเวลามาหลายสิบชั่วอายุคน มันกลายเป็นวัฒนธรรมของการแต่งองค?ทรงเครื่องของชาวส่วยหรือกวยและเขมร เชื่อไหม ชาวส่วยที่เป็นชาวบ้านเมืองขุขันธ์ของเรานี่แหละนุ่งซิ่นไหมสวยๆกันทั่วไป
ต้มดักแด้ไหมและสาวไหม
แม้คำว่าทั่วๆไปนั้น หมายถึงหญิงสาวจะสวมเสื้อเก๊บพาดบ่าด้วยผ้าสะไบหรือเรียกว่าผ้าเบี่ยง นุ่งผ้าถุงติดปะโบรและติดผ้าสะเลิ๊ก ไปร่วมในงานบุญ งานมงคลงานเทศกาลตามประเพณี แม้แต่งานวัดงานประเพณีต่างๆ ส่วนผู้ชายจะนุ่งโสร่ง สวมเสื้ออาวเก๊บลายลูกแก้วแขนยาว ใช้ผ้าขาวม้าลายโกนจะดอคาดเอวหรือโพกหัวตามแต่ว่าจะไปร่วมงานประเภทใด แต่ที่เห็นท่านนายอำเภอและผู้มาร่วมงานกลับใช้ผ้าขาวม้าพาดไหล่แล้วห้อยมาเป็นสไตล์ เพื่อความแปลกและโก้เก๋ ดังในภาพครับ
นายแบบกับนางแบบ
เส้นไหมชาวกวยหรือส่วย และเขมร นิยมย้อมด้วยมะเกลือ(Diospyros mokkis Griff.) หรือตะโกนา(Diospyros rhogdocalyx Kurz.) ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน EBENACEAE ซึ่งจะให้สีดำสนิท ส่วนสีอื่นๆก็จะได้จากเปลือกไม้อีกหลายชนิดเช่น เปลือกไม้แดงให้สีน้ำตาล ตะเคียนหนูหรือต้นเหว ใบให้สีเขียวเหลือง เปลือกให้สีน้ำตาล ทองหลางป่า ใช้ดอกให้สีแดง ฯลฯ(ต้นไม้ยาน่ารู้ ธงชัย เปาอินทร์)
ความวิจิตรบรรจงของการตัดเย็บด้วยมือเปล่าๆ เย็บแต่ละฝีเข็มต้องใช้ทั้งสมองที่คิดประดิษฐ์ลาย และความละเอียด พลาดก็จิ้มมือตนเองได้เจ็บ สายตาและสมาธิต้องแน่วแน่ ลองคิดดูว่าแม่บ้านหรืออนงค์หนึ่งถ้าต้องจัดหาเสื้ออาวเก๊บสักตัว ต้องมุ่งมั่นเพียงใด รักนะ จึงถักทอให้ หวานซะไม่มี
ผู้หยิงและผู้ชายแต่งชุด ไหมผ้าเก๊บ
ภาพที่ถ่ายมาลงให้ได้ชมกันนั้นมากเกิน ได้แต่เลือกเอามาเท่าที่จะเลือกได้ พอให้เห็นว่า ผู้ชายเขาแต่งตัวกันอย่างไร หล่อขนาดไหน ส่วนผู้หญิงนั้นเมื่อเธอแต่งแล้วสวยแค่ไหน ถามดูแล้วเพียงเสื้อไหมลายลูกแก้วที่นายอำเภอใส่นั้นตัวเดียวกว่า 2,000 บาทเข้าไปแล้ว ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้าลายโกนจะดออีกเท่าไร
เห็นแล้วก็ได้แต่นึกในใจ ถ้าชายชราร่างอ้วนๆคนหนึ่งแต่งบ้างจะงามสง่าอย่างเขาไหม ปีหน้าฟ้าใหม่หากมีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวเทศกาลประเพณีแซนโฏนตาเมืองขุขันธ์อีกละก้อ จะซื้อแล้วสวมใส่ผสมโรงไปกับชาวเมืองขุขันธ์ด้วย ท่าจะเท่ดี
งดงามและหล่อเหลา
เขียนเรื่องนี้โดยเก็บความรู้จาก สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ส่วนหนึ่ง มองเห็นด้วยตาและสอบถามอีกส่วนหนึ่ง หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็ขอได้โปรดแจ้งให้มาสเตอร์เว็บได้รู้ จะได้แก้ไข หรือเพิ่มเติม หรือปรับปรุงใหม่
แต่ถ้ามีส่วนดีอยู่บ้างขออุทิศให้กับพี่น้องชาวขุขันธ์ที่พร้อมใจกันสืบสานประเพณีดีงามเยี่ยงนี้สืบไป โดยเฉพาะเพื่อนรุ่นน้องชื่อ จำลอง บุญสอง บก.ท่องเที่ยว นสพ.โพสท์ทูเดย์ ที่กรุณาลากจูงให้ www.thongthailand.com ได้บันทึกภาพและข้อมูลมาใช้เขียนเรื่องราวเหล่านี้ ถ่ายทอดให้แฟนๆชาวเว็บได้อ่าน ได้ชมภาพ และได้วางโปรแกรมในปีหน้า เผื่อจะไปท่องเที่ยว เมืองขุขันธ์ ครับ
นี่แหละการเย็บด้วยมือ
ผ้าไหมลายลูกแก้ว
สาวงามเมืองขุขันธ์และแม่ลูกผูกพัน
เอ้า ถ่ายกันเข้าไป