http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 25/01/2025
สถิติผู้เข้าชม14,649,658
Page Views17,006,931
« April 2025»
SMTWTFS
  12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930   
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

เมื่อน้ำท่วมแหล่งท่องเที่ยว หวาดเสียวหลายเรื่อง โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

เมื่อน้ำท่วมแหล่งท่องเที่ยว หวาดเสียวหลายเรื่อง โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
เมื่อน้ำท่วมแหล่งท่องเที่ยว หวาดเสียวหลายเรื่อง
             โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ   
บ้านเกิดผมมีหลวงพ่อโตมากที่สุดในประเทศไทยครับ
              หลวงพ่อโตองค์แรกชื่อว่าหลวงพ่อโตวัดเกษไชโย หลวงพ่อโตองค์ที่สองชื่อหลวงพ่อโต พรหมรังษี ท่านสถิตอยู่วิหารริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดเกษไชโย หลวงพ่อโตสององค์นี้เดิมก็ล่อแหลมกับการถูกน้ำท่วม แต่ด้วยพุทธศาสนิกชนและวัดร่วมแรงร่วมใจกันป้องกันน้ำท่วมไว้ได้อย่างยอดเยี่ยมมาหลายปีแล้ว แต่ถ้าคิดจะไปกราบท่านในยามนี้เห็นทีจะยาก ด้วยว่าน้ำท่วม  ถนนขาด  อาจเกิดอุบัติภัยได้อีก  ได้รู้เพียงว่าท่านอยู่รอดปลอดภัยจากอุทกภัยก็หายห่วง  
         
 
บ้านและสวนใกล้วัดขุนอินทประมูล พ.ศ.นี้ เศร้าสะเทือนใจ
               องค์ที่สามเป็นพระนอนเรียกขานท่านกันว่า พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล วัดขุนอินทประมูล ท่านเป็นองค์พระนอนที่กล่าวกันว่างดงามที่สุด กลุ่มศิลปินบอกเล่าว่า ท่านเป็นพระหน้านาง แรกที่ได้ยินก็งงๆครับ แต่พอกลุ่มศิลปินเห็นหน้าผมงงๆ ก็เมตตาอธิบายเพิ่มเติมว่า 
               คำว่าพระหน้านางนั้นหมายความถึง พระที่ปั้นรูปหน้างดงาม อมยิ้มพริ้มพรายนิดๆ ตั้งแต่นั้นมาผมก็จำไว้ขึ้นใจ เลยอยากเอามาขยายต่อให้อ่านกันจิ๊บๆ แล้วก็เริ่มสังเกตว่า พระนอนวัดป่าโมกวรวิหาร รูปทรงและใบหน้าท่านมีเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างจริงๆ นี่ก็เป็นอีกองค์หนึ่งซึ่งเป็นพระโตพอควร
 
น้ำท่วมทุ่งนา เดือดร้อนต้นตาลที่ขึ้นอยู่ในท้องนา
               พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูลสุดงามงดองค์นี้ ท่านนอนตากแดดกรำฝนมานับหลายร้อยปีแล้ว รอบๆองค์พระมีแต่เสาอิฐหลายต้นรายล้อมเหมือนว่าเคยมีหลังคากันแดดและฝน พระแท่นบรรทมนั้นยกสูงจากพื้นราวๆ 1.5 เมตร ผนังอิฐที่เห็นเหลืออยู่เหมือนเป็นกำแพงวิหารนั้น ได้กลายมาเป็นเกราะกำบังกางกั้นยามเมื่อน้ำเอ่อจนท่วมทั่วบริเวณวัด ภาพที่ผมถ่ายมาให้ชมด้วยความเป็นห่วงนี้ จะเห็นท่านนอนเอกเขนกอยู่กลางน้ำ ถ้าวันไหนน้ำไหลบ่าเพิ่มมากขึ้นอีก ท่านจะถึงกับจมน้ำไปไหมหนอ จะป้องกันได้หรือไม่ ฐานแท่นบรรทมเมื่อแช่น้ำอยู่นานหลายเดือนนั้นจะทรุดชำรุดไปไหม
 
พระพุทธไสยาสน์ ขุนอินทประมูล..นอนเย็น
               พระอุโบสถหลังใหญ่กำลังก่อสร้าง มูลค่ากว่าสามร้อยล้านบาท กำลังก่อสร้างอยู่แท้ๆก็เกิดน้ำท่วมเอาเสียอีก ส่วนกุฎีอีกหลายหลัง สร้างเสร็จใหม่ๆ พระจำพรรษอยู่ก็ต้องหนีน้ำขึ้นไปอยู่ที่ชั้นสอง หลังน้ำลดก็คงได้ตกแต่งกันใหม่ พระเณรก็คงจะเหนื่อยกันไม่น้อย ประการสำคัญ งบประมาณการก่อสร้างบานปลายขึ้นไปอีกแน่นอน
                ญาติโยมที่เคารพครับ มีเงินเหลือพอเพียงที่จะทำนุบำรุงพระศาสนาก็โปรดส่งมอบความกรุณาได้ที่หลวงพ่อ เจ้าอาวาสครับ 
กุฎีวัดขุนอินทประมูล ถูกน้ำล้อมจนเสี่ยง
                อันว่าวัดขุนอินทประมูลนี้ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดอ่างทอง แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามากราบไหว้และชมความงดงามขององค์พระพุทธไสยาสน์กันอยู่เนืองๆ ส่วนได้เงินเข้าวัดปีละเท่าไรไม่มีสถิติจ้ะ พ่อค้าแม่ขายที่เป็นชาวบ้านย่านนี้ก็พลอยได้ขายได้เงิน ส่วนจะมากหรือน้อยก็ไม่ทราบแต่น่าจะอยู่ได้ จึงยังมีมาขายกันอยู่  
                เกิดน้ำท่วมเสียแล้วเช่นนี้ ทั้งวัดทั้งชาวบ้านสูญเสียรายได้ไปพะเรอเกวียน นี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรง 
 
อุโบสถกำลังก่อสร้างถูกน้ำท่วมหนัก
                นอกจากองค์นี้แล้วก็ยังมีหลวงพ่อโตพระศรีเมืองทอง วัดต้นสน วัดนี้ไหว้พระโตแล้วก็ได้ทำบุญบำรุงพระศาสนา เดินออกไปริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัด ก็จะได้ทำทาน ซื้ออาหารปลาโปรยปรายให้กินกันนับแสนๆตัว ลมก็พัดเย็นสบายดี มีเครื่องดื่มจำหน่ายด้วย  องค์ถัดมาเป็นหลวงพ่อสด วัดจันทรังษี  ซึ่งสร้างไว้ในมณฑปที่สูงสง่างาม มองเห็นได้แต่ไกลๆ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษาเจริญนั้นท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ด้านวิปัสนากรรมฐาน ถือเคร่งธรรมะปฏิบัติ หากแต่มิใช่พระนักเทศน์
                 ใกล้ๆถนนสายเอเซียกำลังมีการก่อสร้าง รูปปั้นหลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด  องค์โตมากๆ  เอาไว้เสร็จเรียบร้อยเมื่อใด จะไปถ่ายรูปมาเชิญชวนกันไปท่องเที่ยวเพื่อทำบุญเสริมสิริมงคลร่วมกัน 
หลวงพ่อโตวัดม่วง
                เลยล่องลงไปทางอำเภอวิเศษชัยชาญ บนถนนสายอ่างทอง-สุพรรณบุรี จะมองเห็นหลวงพ่อโตวัดม่วงแต่ไกลทางฟากซ้ายมือ  ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลกทีเดียว เดิมเป็นวัดร้าง หลวงพ่อเกษมเจ้าอาวาสท่านได้มาบูรณะจนรุ่งเรือง ท่านได้สร้างแหล่งสวรรค์และนรกภูมิเพื่อเตือนสติพุทธบริษัท ก่อนปลายชีวิตของท่านได้วางรากฐานพระพุทธรูปองค์โตที่สุดในโลก แล้วเสร็จหลังท่านมรณะภาพไปแล้ว ทั้งนี้ก็ด้วยบุญบารมีที่ได้สร้างไว้ จึงมีญาติโยมที่มาเที่ยวชมและร่วมทำบุญสร้างมรดกทางพุทธศาสนาไว้คู่แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ 
  
                 ริมถนนสายนี้ ได้เห็นภาพเศร้าสะเทือนใจ มีชาวนากำลังเกี่ยวข้าวอยู่ในน้ำที่นองแทบท่วมยอดข้าว มีเรือไม้เล็กๆลำหนึ่งบรรทุกข้าวที่เกี่ยวขึ้นมาได้ ชาวนากลุ่มนี้คงเป็นครอบครัวเดียวกัน มีคนเกี่ยวสามคนอีกสองคนคอยรับกำข้าวมาเรียงใส่เรือ มือซ้ายที่กำกอข้าวในน้ำแล้วใช้มือขวาที่กำเคียวเกี่ยวจนขาด ตะวัดกำข้าวที่เปียกชุ่มน้ำส่งให้คนเรียง ไม่รู้ว่าระหว่างที่ใช้เคียวเกี่ยวข้าวอยู่นั้น น้ำตานองใบหน้าด้วยหรือไม่ เห็นภาพนี้แล้วก็ได้แต่คิดเพียงว่า ไฉนหนอชาวอ่างทองถึงได้วิบากนัก ปีนี้ข้าวราคาเกวียนละหมื่นห้า กลับนาล่มจมน้ำเสียสิ้น 
                  นี่คือผลพวงจากธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ ขากสรวงสวรรค์กระนั้นหรือ
เห..ด้วยอารมณ์ไหนกันแน่
                 ถ่ายรูปกันจนหนำใจแล้วก็เดินทางต่อไปกราบหลวงพ่อโต วัดสี่ร้อย ซึ่ง ณ ที่หมู่บ้านนี้มีตำนานเล่าขานกันถึงเรื่องราวของขุนรองปลัดชู กองอาทมาตที่ยกทัพ 400 ชีวิตมุ่งลงใต้เพื่อไปปกป้องแผ่นดินบ้านเกิดถึงเมืองกุยบุรี แต่ด้วยเกมส์ศึกที่ด้อยด้วยกำลังหนุนและเสบียงกรัง กองทัพหนุนที่ไม่ยอมหนุน
                  ในที่สุด หัวหมู่ทะลวงฟันต้องจบชีวิตสิ้นทั้งสี่ร้อยคน นั่นคือหลวงพ่อโตวัดสี่ร้อย ริมฝั่งขวาของแม่น้ำน้อย แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ อนุสรณ์ที่ให้รำลึกถึงวีรชนคนกล้า ส่วนองค์พระโตนั้นสายพระเนตรที่มองลงต่ำ เห็นได้ว่า เศร้าหมอง
 
ก้ามปูต้นใหญ่หน้าวัดสี่ร้อย
                เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมปีพ.ศ.2554 นี้ มีแต่น้ำที่ท่วมท้นล้นบริเวณวัด แม่ค้าพายเรือขายของได้สบายๆ แม้ว่าหลวงพ่อท่านจะฝ่าแดดกรำฝนและทนน้ำท่วมมาหลายร้อยปี แต่ท่านก็ยังคงนั่งนิ่ง มิได้มีวี่แววว่า ท่านจะล้มคว่ำขะมำหงาย พินิจแล้วก็สบายใจหายห่วงไปอีกองค์หนึ่ง เพียงแต่ว่า เมื่อน้ำท่วมเสียอย่างนี้ ก็ไม่มีผู้คนเข้ามากราบไหว้ ถ้าคิดในแง่ดีก็น่าจะดี  ที่น่าห่วงน่าจะเป็นนักเรียนโรงเรียนวัดสี่ร้อยที่เด็กๆจะไม่มีสนามเล่นเช่นเดิมเสียแล้ว
                 วัดนี้มีต้นก้ามปูยักษ์ให้ร่มเงาถึงสองต้น ยามแล้งลมพัดเย็นเล่นกันได้สบายๆ
 
หลวงพ่อโตวัดสี่ร้อย
                 เดินย่ำน้ำถ่ายรูปกันแล้วก็เดินย่ำน้ำกลับขึ้นรถยนต์ วิ่งต่อไปยังจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อมุ่งไปยังอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างทางได้เห็นทุ่งนาเขียวขจีของจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นการทำนาครั้งที่สอง ผ่านไปอีกช่วงหนึ่งได้เห็นรถเกี่ยวและนวดข้าวกำลังทำงานอยู่เห็นแล้วก็อดสะเทือนใจไม่ได้ เพิ่งผ่านมาเมื่อครู่นี้เอง ที่จังหวัดอ่างทองต้องยืนเกี่ยวข้าวในน้ำ ข้าวเปียกเกี่ยวยาก เหนื่อยทั้งใจและร่างกาย และข้าวที่ได้ก็อาจจะขายไม่ออกตามราคาที่ควรจะได้ แต่อีกจังหวัดหนึ่งเกี่ยวข้าวได้ด้วยเครื่องจักรกล สะดวก สบาย ได้ข้าวทุกเม็ดเด็ดขาดจริงๆ
                 นี่คือความแตกต่างของผู้นำการบริหารจัดการน้ำระหว่างสองจังหวัด ฝีมือคนละชั้นจริงๆ
รถเกี่ยวและนวดข้าวที่จังหวัดสุพรรณบุรี
                 จอดรถยนต์ลงไปถ่ายรูปการเกี่ยวและนวดข้าวด้วยเครื่องจักรกล บันทึกไว้ด้วยหัวใจที่ห่อเหี่ยว แต่ก็อยากได้เก็บไว้เป็นภาพแทนการจดจำ
                 เลยจังหวัดสุพรรณบุรีเข้าเขตอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มองไปไกลสุดสายตามีแต่น้ำกับน้ำ บางแห่งน้ำส่งกลิ่นเหม็นเน่า บางทุ่งน้ำไหลหลั่งเข้าไปได้ไม่หยุดหย่อน ถนนราดยางน้ำท่วมจนตะไคร่น้ำจับ ลงไปเดินจึงรู้ว่าลื่นจนแทบไถลไปกับน้ำ 
                 "น้ำท่วมมาสองเดือนกว่าแล้วครับ ก็เลยมาทอดแหหาปลาบนถนนนี่แหละ" หนุ่มหนึ่งเล่าให้ฟังแล้วก็เหวี่ยงแหโครมลงบนถนนที่มีแต่น้ำ บางคนก็ทอดแหลงข้างๆถนน ได้ปลาตัวเล็กๆก็มี ได้ปลาตัวใหญ่เป็นกิโลสองกิโลก็มี ดูท่าทางสนุกสนานกันอยู่ 
ทอดแหกันบนถนน
                 จอดรถยนต์ทิ้งไว้ริมถนน เดินขึ้นสะพานใหญ่ไปถ่ายรูปรถยนต์ที่จอดแอบไว้ริมถนน ได้เห็นกระทั่งวัวฝูงที่เดือดร้อน เดินไล่กันบนถนนแห้ง แทบไม่เชื่อสายตาว่า น้ำท่วมคราวนี้มีเรื่องเล่ามากมาย วิถีชีวิตชาวบ้านเปลี่ยนไป อารมณ์ความรู้สึกเปลี่ยนไป ความเครียดก็เครียดมากขึ้นไปอีก บ้านไม่มีอยู่ อู่ไม่มีนอน
                  บางบ้านมาปลูกเพิงอยู่ริมถนนที่มีน้ำนอง  ลูกเล็กๆสองคนนอนกลิ้งอยู่ในน้ำ ไม่รู้สึกรู้สาก็ด้วยความไร้เดียงสา            มีรถทหารทะยอยบรรทุกคนข้ามจากเสนาไปยังแยกวรเชษฐ์ และเลยไปสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ใต้วัดกษัตราธิราช
                                         
วัวก็เดือดร้อน รถก็เดือดร้อน เฮ้อ
รถไถนาพาหนะจำเป็นนั่ง
                 โบกรถบรรทุกสิบล้อคันใหญ่ ปีนขึ้นไปนั่งบนหลังคาหน้ารถ ถ่ายรูปมุมสูงได้บ้าง เมื่อถึงเป้าหมายของรถสิบล้อก็ลงเดินย่ำน้ำที่แยกวรเชษฐ์ โบกรถอีกครั้งเป็นรถไถนา เจ้าของใจดีให้เราสามคนอาศัยไปด้วย เล่าอะไรให้ฟังเสริมภูมิปัญญาได้เยี่ยม ถึงสะพานใต้วัดกษัตราธิราชหาเรือล่องไปวัดไชยวัฒนาราม แหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
                  การดิ้นรนเพื่อให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลไม่ง่าย แม้เหนื่อยแต่ก็ได้ภาพมาประกอบเรื่องจากสถานที่จริง 
เพิงพักริมทางและเด็กๆน่ารัก
ถ่ายจากด้านหน้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา
                  วัดไชยวัฒนารามเป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ทุกปีสามารถป้องกันน้ำล้นตะลิ่งได้ แต่ปีนี้ทนทานกับแรงดันของน้ำไม่ไหว เขื่อนที่สร้างไว้พังโครมเดียว ทะลักท่วมไปทั่วทุ่ง พระเจดีย์อิฐที่เหลืออยู่ถูกน้ำล้อมไว้ทุกด้าน ไม่แน่ใจว่าฐานอิฐเหล่านี้จะทนทานน้ำเซาะได้มากน้อยเพียงใด ปีนี้ป้องกันไม่ได้ ปีต่อไปจะได้ไหมเล่า 
                   ในเมื่อวัดไชยวัฒนารามมีความสำคัญและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดเม็ดเงินได้อย่างยั่งยืน ไม่เข้าใจ ทำไมการแก้ไขปัญหาจึงซ้ำซาก ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเสียที ทำไม
น้ำท่วมวัดไชยวัฒนาราม 100 %
                  น้ำท่วมเพียงนี้ เห็นทีจะเสียวไส้ ไร้งานก็ไร้เงิน โอ  โอ   โอ  แต่เปล่าเลยครับ มีคนหนุ่มอีกหลายคนที่พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เมื่อน้ำท่วม เขาได้ถอยเรือที่มีอยู่ออกมาวิ่งรับส่งชาวบ้านที่เดินทางด้วยรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซด์ได้อีก เพราะว่าถนนได้กลายเป็นน้ำ จากรถจึงต้องเปลี่ยนเป็นเรือ เกิดอาชีพอีกมากมาย บางคนก็รับจ้างลากจูงรถที่ตายแช่น้ำ หรือ เฝ้ารถที่จอดอยู่บนถนน ในจำนวนคนเหล่านี้ บางชนชอบทอดแหหาปลา ก็ไปซื้อแห ซื้อตาข่าย มาทอดและมาดัก ได้อาหารให้กับครอบครัว เหลือกินก็ขายได้เงินอีกทอดหนึ่ง
เรือรับจ้างขนส่งทางน้ำ
ทอดแหได้ปลามากจนเกินจะกินก็ขาย
ลงข่ายรอบเจดีย์วัดไชยวัฒนาราม
               
 
 
 
                

Tags : ท่องแดนแผ่นดินธรรม

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view