ตึกขุนอำไพพาณิชย์ ถนนอุบล จ.ศรีสะเกษ
โดยป่าน ศรนารายณ์ เรื่อง-ภาพ
เมื่อเดือนกันยายน 2554 ได้มีโอกาสไปเที่ยวเมืองศรีสะเกษ แวะชมตึกขุนอำไพพาณิชย์ในเขตเทศบาล ริมถนนอุบล ท่ามกลางฝนปรอยๆ ได้ถ่ายรูปตัวตึกซึ่งเก่าแก่ และได้ชมเครื่องใช้ประเภทเครื่องเงินเก่าๆ แล้วก็ได้ชมนานาผลิตภัณฑ์ของฝากมากมายในตึก ถือได้ว่าเป็นร้านของฝากที่เชิดหน้าชูตาคนศรีสะเกษเลยทีเดียว
ตึกนี้เป็นบ้านเก่าของขุนอำไพพาณิชย์(นายอินทร์ นาคสีหราช) คหบดีชาวศรีสะเกษ ได้สร้างตึกนี้เมื่อพ.ศ.2468 ฝีมือช่างชาวจีนและมอญ แต่ก็มีบันทึกว่าช่างเป็นชาวญวน ขุนอำไพพาณิชย์ไม่มีบุตรจึงได้ขอนางเฉลา ช.วรุณชัย หลายสาวมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมและเป็นผู้รับมรดกในเวลาต่อมา
ตึกหลังนี้สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ทาสีครีม ไม่มีรากฐาน ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นผนังหนา 6-8 นิ้ว ฉาบปูนจนหนาและใช้ความหนาของผนังตึกเป็นคานและเสา ปูนปั้นเหนือประตูและหน้าต่างได้รับอิทธิพลจากคติโบราณของจีน ลวดลายไม้ฉลุเหนือประตูหน้าต่างงดงาม ซึ่งถือเป็นช่องระบายอากาศ
ตึกนี้ได้รับการบูรณะไว้ดี จนได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการดีเด่นการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในเมืองเมื่อปีพ.ศ.2530 และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้เรียบร้อยแล้ว ตึกหลังนี้สร้างติดถนนตามรูปแบบอาคารพาณิชย์ ยาวถึง 6 ห้อง 24 เมตร กว้างมากถึง 10 เมตร ต้องยอมรับว่าเจ้าของได้ดูแลรักษาอาคารไว้ได้ในสภาพที่ดี ดูแข็งแรง มั่นคง ปลอดภัย
ชั้นล่างเปิดเป็นห้องแสดงสินค้าประเภทของฝาก จากฝีมือของคนศรีสะเกษ มีหลากหลายรูปแบบ เครื่องไม้ เครื่องเบญจรงค์ เสื้อผ้าสำเร็จ ดอกไม้ประดิษฐ์ ตุ๊กตุ่นตุ๊กตา รวมความว่าร้านนี้จำหน่ายของฝากทุกชนิดที่ค่อนข้างจะมีราคาสูง เหมาะสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ
ชั้นบนเป็นห้องโถงโล่งทั้งชั้น มีตู้เก็บของเก่าประเภทเครื่องเงินวางอวดสายตา มีรูปขุนอำไพพาณิชย์ และมีแผ่นป้ายแสดงถึงเผ่าพันธุ์ที่สืบทอดต่อๆกันมา คล้ายกับเป็นหอเกียรติยศของตระกูล พื้นปูด้วยไม้เนื้อแข็ง ส่วนจะเป็นไม้อะไรไม่ได้ตรวจพิสูจน์ แต่เช็ดถูไว้อย่างดี จนเรียกได้ว่า กระดานมันแผลบ
ด้านหลังร้านเป็นโถงโล่ง เรียงตัวด้วยโอ่งมังกร กับเก้าอี้ไม้ให้นั่งเล่นได้ เหมือนเป็นบ้านกึ่งร้านค้าที่ให้พนักงานหรือเจ้าของได้หลบมานั่งพักผ่อน โดยมีชั้นสองยื่นยาวออกมาเหมือนกันสาด เพิ่มการป้องกันแดดและฝนได้อีกชั้นหนึ่ง
มองในแง่ของตัวอาคารเก่าแก่กว่า 86 ปี ก็ถือได้ว่ารักษาไว้ได้อย่างดีเยี่ยม อยู่ในสภาพที่ใช้ประโยชน์ได้ มีความปลอดภัยจากการพังทะลาย และเป็นแบบอย่างที่ดี ที่มีอาคารเก่าแก่แล้วรักษาไว้ เพราะว่ามีเรื่องราวให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้และลอกเลียน