ประเพณีทอดกฐินสามัคคี วัดสะแล่ง อ.ลองจ.แพร่
โดยป่าน ศรนารายณ์ เรื่อง/ธงชัย เปาอินทร์-ภาพ
การทอดกฐินหรือการกรานกฐินเป็นประเพณีทางพุทธศาสนาที่ตกทอดสืบต่อกันมาภายใต้บทบัญญัติในพระวินัยปิฏกเถรวาท กาลกฐินหรือระยะเวลาที่บัญญัติให้ทอดกฐินได้ อยู่ระหว่างวันแรม 1 ค่ำเดือน11ถึงวันขึ้น 15 เดือน 12 (วันลอยกระทง) รวมเวลา 1 เดือนเท่านั้น
นั่นคือภายหลังจากการเข้าพรรษาของพระสงฆ์เป็นเวลา 3 เดือน วัดหนึ่งรับผ้าทอดกฐินได้เพียงครั้งเดียว โดยการถวายผ้ากฐินนั้นมิได้ระบุว่าจะถวายแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งเช่นเดียวกับการถวายสังฆทาน และนี่คือบทบัญญัติที่พระสงฆ์องค์เจ้าต้องถือปฏิบัติ
ประธานธานี ภมรนิยม อุ้มไตรผ้ากฐิน
พุทธศาสนิกชนคนพุทธรู้กันทั่วไป ดังนั้นในแต่ละปีๆ หากประสงค์จะทอดกฐินวัดใดจึงต้องสืบเสาะหาเรื่องราวให้พบว่า วัดไหนว่างกฐินอยู่ ก็ต้องจองไว้ให้มั่นเหมาะ เมื่อจองกฐินแล้วก็จะละเลยมิได้ บาปจะตกหนัก คนพุทธที่ถือเคร่งจะไม่ยอมพลาด ไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง น้ำจะท่วมเจิ่งนอง ก็ต้องไปทอดให้ได้ตามประสงค์
ดูแต่อดีตผู้บังคับบัญชาของป่านเถอะ ปีนี้อายุจะย่างเข้าปีที่ 84 แล้ว ปวารณาตนเองกับวัดสะแล่ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ว่าขอจองกฐินทอดวันที่ 6 พฤศจิกายน 2554 ตอนที่จองกฐินข้ามปีนั้นท่านตั้งใจว่าอายุก็มากเหลือเกินแล้ว อยากทำบุญใหญ่กับเขาสักที เป็นกฐินสามัคคีของครอบครัวกับลูกชายที่อุตสาหะเดินทางมาจากประเทศอเมริกา
ส่วนเพื่อนฝูงที่ยังเหลือมีชีวิตอยู่(นายอุดม หิรัญพฤกษ์และพวก)ก็มุมานะที่จะเข้าร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อหวังผลบุญหนุนให้เพื่อนได้สมใจปรารถนา ด้วยว่าในอนาคตชาติหน้าชาติไหนก็จะได้เกิดมาเกื้อหนุนบุญนำร่วมกันอีก แม้ว่าจะมีอุปสรรคขวากหนามสักเพียงใด ก็จะต้องไปร่วมให้จงได้ นั่นแลคือเพื่อนแท้
อุปสรรคขวากหนามที่ทอดขวางกลางทางไม่ใช่จรเข้ขวางคลอง ไม่ใช่อสุนิบาตฟาดเปรี้ยงๆ แต่เป็นน้ำที่ท่วมตั้งแต่พิษณุโลก พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี แล้วก็ไหลเอิบอาบไปจนทั่งกรุงเทพมหานคร จนแทบจะออกเดินทางจากบ้านไม่ได้ ชุ่มแฉะกันดี
เพื่อนๆรุ่นราวคราวเดียวกันบางคนน่ะหรือ ต้องนั่งจ้องน้ำจากชั้นสองพร้อมกับจิบเบียร์แกล้มกุนเชียงทอดไปพลางๆอยู่ที่กรุงเทพ แล้วก็ได้แต่ทอดถอนใจ บุญไม่ได้ไปร่วมกับเพื่อนๆที่รักชอบกัน ฝากแต่เงินไปร่วมแล้วก็อนุโมทนาทางโทรศัพท์ ส่วนคนที่ยึดมั่นศรัทธาแรงก็จะไปให้ได้ ทั้งๆที่น้ำมาจ่ออยู่ปากซอยบ้านแล้วก็ตาม
ด้วยเหตุฉะนี้ รถตู้ 2 คัน ที่จองกันไว้ตามจำนวนผู้ประสงค์บุญ 16 นาย/นาง จึงเหลือเพียง 4 คน/1คัน ดั้นด้นลุยน้ำลุยท่ากันไปยังจุดนัดหมายแล้วก็ฮ้อตะบึงบึ่งไปยังเป้าหมาย โชคดีเหลือหลายที่ถนนสายเอเซียกู้พ้นน้ำได้แล้ว จึงประหยัดระยะทางอักโข เว้นแต่ไม่ได้ประหยัดเวลา รถโคตรติดบนโทลเวย์
ค่ำลงนอนพักค้างด้วยความสุขสมใจที่ ปันเจนไฮอะเวย์รีสอร์ทบ้านป่าที่เหลือเชื่อ ความหนาวเย็นโอบไว้รอบเรือนกาย นอนสบายจนสายโด่ง ได้เวลาต้องเดินทางไปยังวัดสะแล่ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ แห่กฐินกันรอบอุโบสถอย่างคร่ำเคร่ง ผู้เป็นประธานวันนี้ นายธานี ภมรนิยม และครอบครัว ร่วมกันเวียนรอบอุโบสถตามประเพณี แล้วก็แห่ไปยังศาลาการเปรียญของวัด
พิธีทอดผ้ากฐินดำเนินการไปด้วยวัฒนธรรมประเพณีที่งดงาม พุทธบริษัทที่ร่วมงานบุญครั้งนี้เนื่องแน่นอยู่ในศาลา พนมมือด้วยความตั้งจิตตั้งใจรับบุญใส่เกศา ได้เงินมากน้อยถวายวัดนั้นเรื่องไม่น่าสนใจ แต่พระสงฆ์ได้ผ้ากฐินไปกรานนั้นซิคือเป้าหมาย เป็นพุทธวินัยที่ได้กลายมาเป็นประเพณีดีงาม ใครใคร่จองกฐินก็ต้องจองแต่เนิ่นๆ
ประธานกฐินสามัคคี ธานี ภมรนิยมและภรรยา
ในประเทศไทยนั้นแบ่งกฐินออกเป็นกฐินหลวงและกฐินราษฏร์ กฐินหลวงนั้นหมายถึงกฐินพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนกฐินราษฏร์นั้นเป็นกฐินของประชาชนคนทั่วไป นอกจากนั้นยังมีจุลกฐิน แต่ที่สำคัญในแต่ละปีจะมีกฐินตก ซึ่งหมายถึงวัดใดวัดหนึ่งซึ่งไม่มีญาติโยมจองกฐินเลย กฐินตกกลายเป็นกฐินสำคัญเพราะว่ามีพุทธศาสนิกชนกลุ่มหนึ่งคอยใฝ่หากฐินตก แล้วรับไปทอดให้
ว่ากันว่ากฐินตกนั้นได้บุญใหญ่หลวง เพียงแต่ต้องหูตากว้างขวางและมีผู้ที่ช่วยเสาะหาให้ด้วย แต่อย่างไรก็ตามกฐินตกนั้นบางครั้งแก้กันด้วยศรัทธาวัดนั้นๆ ช่วยกันทอด ในแต่ละปีมีกฐินตกมากน้อยเพียงใด ไม่มีสถิติให้ติดตาม หากวัดใดยังไม่มีผู้จองกฐินละก้อ โปรดแจ้งมาที่ ธงชัย เปาอินทร์ โทร.081-9416364 หรือ E-mail:thongchai_paoin@hotmail.com ได้เลย จะหาผู้ทอดกฐินให้
เมื่อครั้งพุทธกาล มีภิกษุจากชาวเมืองปาไฐยรัฐ 30 รูป ได้เดินทางมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถึ การเดินทางไปถึงเมืองสาเกตุก็ถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อน ครั้นออกพรรษาจึงเดินทางต่อไปเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าตามเป้าหมาย แต่การเดินทางครั้งนั้นยากลำบากจากฝนที่ยังตกชุกอยู่ ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงได้บัญญัติให้พระสงฆ์รับผ้ากฐินหลังจำพรรษาครบ 3 เดือนได้
พี่ๆป่าไม้แพร่ รุ่น 8
อานิสงค์ 5 ประการที่ได้รับคือ ไปไหนไม่ต้องบอกลา ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับสามผืน ฉันคณะโภชน์ได้อันหมายถึงล้อมวงกันฉันอาหารได้ เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้โดยที่ยังมิได้วิกัปป์และอธิษฐานโดยไม่ต้องอาบัติ และจีวรลาภอันเกิดขึ้น จักได้แก่ภิกษุผู้ได้กราบกฐินแล้ว
ประเพณีการทอดกฐินสามัคคีจึงเป็นประเพณีดีงามที่พุทธศาสนิกชนคนพุทธควรคำนึงและถือปฏิบัติสืบไป