ประเพณีแซนโฏนตาตอน7.
พิธีบวงสรวงเซ่นดวงวิญญาณบรรพบุรุษ
โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ประเพณีแซนโฏนตาเมืองขุขันธ์มีสองระดับ ระดับแรกเป็นประเพณีวิถีชีวิตของชาวเขมร หรือ กวย เมืองขุขันธ์ ที่บรรดาลูกหลานจะกลับมาบ้านเกิดเพื่อเคารพกราบไหว้บรรพบุรุษและยังเผื่อแผ่ไปให้ผีไร้ญาติ บ้านไหนก็ทำกันโดยปกติ
อีกระดับหนึ่งเป็นระดับความสำคัญของการบูชาบรรพบุรุษผู้สร้างเมืองขุขันธ์ ณ ที่นี้คือ พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน(ตากะจะ หรือหลวงแก้วสุวรรณ เจ้าเมืองขุขันธ์คนแรก)
งานที่ผมไปไหว้สามานี้เป็นระดับหลัง อันเป็นการร่วมกันบูชาบรรพบุรุษผู้สร้างเมืองขุขันธ์
ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต
เมืองนี้ฉลาดที่ร่วมกันทำจนกลายเป็นประเพณีโด่งดัง ระดับเป็น Festival ออกสู่สายตาสาธารณชนได้อย่างเกรียงไกร มีคุณค่าควรเป็นทรัพยากรท่องเที่ยวที่หาชมได้ยากและเป็นเอกลักษณ์ควรส่งเสริม ผมเองหากจังหวัดใดมีงานประเพณีเช่นนี้ ผมก็อยากไปชมและไปสัมผัสลึก เพื่อเสริมความอยากรู้ อยากเห็น อยากชื่นชม และอยากนำไปเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รับรู้
จากบทความประเพณีแซนโฏนตาในทองไทยแลนด์นี้ อาจไปไกลถึงต่างประเทศด้วยกลไกโลกดิจิตอลและworld wide web
นายอำเภอขุขันธ์ นายอนุรัตน์ ลีธีระประเสริฐ กล่าวรายงาน
ประเพณีแซนโฏนตาตอน 7. พิธีบวงสรวงดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นไฮไลท์ของงาน ณ ที่หน้าอนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เครื่องเซ่นไหว้ที่แห่แหนกันมาตลอดวันวางเรียงรายไปตามที่กำหนดกันไว้ พี่น้องลูกหลานที่มาร่วมงานจากหมู่บ้านใดก็จับจองนั่งรออยู่เบื้องหน้าเครื่องเซ่นไหว้ของกลุ่มชุมชนตน บ้างก็นุ่งห่มด้วยชุดเสื้อเก๊บ ไหมทอสีดีมะเกลือย้อม บ้างก็นุ่งโสร่งสวยงามสวมเพียงเสื้อขาวเช่นพื้นบ้านทั่วไป แต่ที่ทุกคนทำคือ มาร่วมใจกันรำลึกถึงพระคุณของพระยาไกร
บวงสรวงบูชาบรรพบุรุษ พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน
ผู้นำพิธีการอันได้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต และนายอำเภอนายอนุรักษ์ ลีธีระประเสริฐ จุดธูปเทียนบูชาตามลำดับ หลังจากนั้นก็เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ของเมืองขุขันธ์ และชาวบ้านร้านถิ่นทั่วๆไป สวดมนต์ด้วยคำบูชาพระรัตนตรัย ตั้งนะโม 3 จบ แล้วสวดชุมนุมเทวดาให้ท่านลงมารับรู้รับทราบ เป็นสักขีพยานในพิธีแซนโฏนตา อนุโมทนาสาธุในมุทิตาจิตของลูกหลาน อันเป็นประชากรเมืองขุขันธ์เป็นส่วนใหญ่ ส่วนนักท่องเที่ยวและสื่อมวลชนเช่นผมก็พนมมือไหว้ตามไปด้วย
ประธานในพิธีจะนำรินน้ำสะอาดลงในถาดที่เตรียมไว้(กรวดน้ำ) แล้วก็รินเครื่องดื่มทีละชนิดๆละนิดๆ พร้อมกันก็กล่าวเชื้อเชิญปู่ย่าตาทวด เหล่าบรรพบุรุษทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้วทุกคน โดยระบุชื่อและนามสกุลตลอดจนเผื่อแผ่ให้กับผีไร้ญาติไปด้วยทุกผู้
พิธีกรรมเริ่มขึ้นอย่างสงบงาม ทุกคนพนมมือและเกาะเกี่ยวเมื่อถึงคราต้องรินน้ำ เป็นการส่งสารถึงผู้เป็นบรรพบุรุษและผีไร้ญาติ ผมถ่ายรูปไปก็นึกในใจ เคร่งขรึมและเข้มขลัง
พิธีกรรมการบวงสรวงบรรพบุรุษ พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวนนี้ ทำสืบทอดกันมากว่า 10 ปีแล้ว เป็นประเพณีที่ดีงามด้วยจิตคาระวะ สวยงามด้วยกระบวนความร่วมมือร่วมใจกันแห่แหน น่าเคารพที่เกิดจากจิตใจของทุกคนในเมืองขุขันธ์ กตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษ และกล้าแสดงออกอย่างเปิดเผยเพื่อให้สังคมรับรู้ว่า ทำดีไม่ต้องเกรงกลัวใคร มีแต่สร้างเสริมเติมแต่งให้ชาวโลกรับรู้และศรัทธา
เป็นค่านิยมที่ในอนาคตจะช่วยให้เกิดประเพณีดีงามเช่นนี้มากยิ่งขึ้น
ช่วงเทศกาลสารท ระหว่างขึ้น 14-15 ค่ำ เดือน 10 พี่น้องเชื้อสายลาวจะประกอบพิธีตรุษสารทเรียกว่า สารทลาว ช่วงวันแรม 13-15 ค่ำ เดือน 10 พี่น้องชาวเขมร ส่วย เยอร์ จะเพียงทำบุญตักบาตรที่วัดเหมือนวันสำคัญทางพุทธศาสนาเรียกว่าวันสารทน้อย (แคเบญตูจ) แต่ถ้าเป็นช่วงสารทใหญ่ วันแรม 13-15 ค่ำ เดือน 10 ถือกันว่าเป็นประเพณีแซนโฏนตา
วันแรม 13 ค่ำ พี่น้องลูกหลานจะช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือนของตนเป็นพิเศษกว่าทุกวัน ช่วยกันห่อข้าวต้ม ขนม จัดหากล้วยสุก ข้าวกระยาสารท อาหาร หวานคาว ผัก ผลไม้นานาชนิด ในอดีตก็เช่นเผือก มัน หรือของที่บรรพบุรุษเคยชอบ
วันแรม 14 ค่ำ เช้า ถือกันว่าวันนี้เป็นวันพิธีการ เจ้าบ้านจะปูเสื่ออาสนะด้วยที่นอนนุ่มๆ ปูทับด้วยผ้าขาว และจัดเครื่องบัดพลี เครื่องเซ่นไหว้ เป็นหมวดหมู่ นับตั้งแต่ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียวใส่ขันใบใหญ่ตั้งไว้เป็นประธานข้างประตูทางเข้า ตั้งขันน้ำโรยด้วยกลีบดอกไม้ให้ปู่ย่าตายายได้ล้างหน้า ล้างตา ล้างมือ ล้างเท้า แล้วสวมใส่ผ้าสะไบที่ลูกหลานเตรียมไว้ให้ พร้อมปะพรมด้วยน้ำหอมกระแจะจันท์ ขมิ้นผง แม้กระทั่งสร้อยสนิมพิมพาภรณ์ให้เลือกประดับตามชอบใจ
ได้เวลาสำคัญ หัวหน้าครอบครัวจะเรียกลูกหลานมานั่งล้อมเครื่องสักการะ บวงสรวง สังเวย จุดธูปเทียน จากนั้นประมุขของบ้านก็จะกล่าวนำบูชาพระรัตนตรัยพร้อมกันกับการตั้งนะโม 3 จบ แล้วสวดชุมนุมเทวดา ให้ลงมารับรู้รับทราบ หลังจากนั้นเป็นการกรวดน้ำตามประเพณี การรินน้ำนี้หากมีเครื่องดื่มใดๆก็ต้องรินถวายทุกน้ำด้วย นี่คือประเพณีแซนโฏนตาเมืองขุขันธ์
ถ้าปีหน้าฟ้าใหม่ แต่ประเพณีแซนโฏนตานี้ยังอยู่ ผมอยากไปเก็บภาพระดับท้องถิ่น ในแต่ละครอบครัว เพื่อนำมาประกอบกันกับเรื่องที่เห็นในเมืองขุขันธ์ จะมีใครเชิญไหมหนอ