วัดเขายี่สาร
วัดบนเขาหนึ่งเดียวของจังหวัดสมุทรสงคราม
โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ผมเคยไปเที่ยววัดเขายี่สารนานมากแล้ว ที่ไปก็เพราะว่าโครงการปลูกป่าภาคเอกชน ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกป่าบนที่ดินกรรมสิทธิ์ เน้นเป้าหมายว่าจะให้เป็น "ป่าของใครป่าของมัน" ลงทุนกันเองส่วนหนึ่ง ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาล(กรมป่าไม้)อีกส่วนหนึ่ง
เพื่อนรุ่นพี่ชื่อ ไส นามสกุลจำไม่ได้แล้ว บ้านอยู่ข้างๆแม่กลอง แต่คนละฝั่งกับวัดเขายี่สาร เขาปลูกป่าไม้โกงกางเพื่อเผาเอาถ่านไม้ไปขายเป็นอาชีพที่ทำมาแต่หนุ่ม นั่นแหละทำให้ผมข้ามไปไหว้พระวัดเขายี่สาร หลวงปู่ศรีราชา พระเกจิศักดิ์สิทธิ์ของชาวเขายี่สารเคารพกราบไหว้กันทั่ว
จากนั้นมาผมก็ไม่ได้ไปอีกเลย จนถึงวันนี้ วันที่เป็นเจ้าของ www.thongthailand.com คิดถึงพี่ไสและวัดเขายี่สารอีกหน แต่ก็ไปด้วยความเร่งรีบ มีพวกไปด้วย ไม่คล่องตัวนัก จึงไม่ได้ไปเยี่ยมเพื่อนชื่อไส อีก จะอยู่หรือไม่ก็ไม่รู้เลย
แปลกแต่จริงที่ชุมชนเขายี่สารอยู่กันมานานมากกว่า 800 ปีแล้ว เป็นชุมชนใหญ่สองฝั่งแม่กลอง โดยมีวัดเขายี่สารเป็นศูนย์รวมจิตใจ อุโบสถบนเขายี่สารมีรูปลักษณะคล้ายเรือ สร้างมาแต่สมัยตอนปลายกรุงศรีอยุธยา สถาปัตยกรรมตอนปลายกรุงศรีอยุธยา ประมาณปีพ.ศ.2246 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าเสือ
ช่วงสมัยรัชการที่ 3 สุนทรภู่ได้เขียนเกี่ยวกับวัดเขายี่สารในนิราศเมืองเพชรบุรี
เสียงชะนีที่เหล่าเขายี่สาน วิเวกหวาน หวัว หวัว ผัวผัวโหวย
หวิวหวิวไหวได้ยินยิ่งดิ้นโดย ชะนีโหยหาคู่มิรู้วาย
สุนทรภู่เขียนนั้นสำแดงว่าที่ริมฝั่งแม่กลองมีเขายี่สารเป็นป่าดงพงพี ชะนีจึงร้องเพรียกเรียกหาผัวอยู่ไหวบนยอดไม้
และคำให้การชาวกรุงเก่า ก็บันทึกเอาไว้ว่า หนึ่งเรือฝากใต้ปากกว้าง 8 ศอก 7 ศอก ชาวบ้านยี่สาร บ้านแหลม เมืองเพชรบุรี บ้านบางตะบูน บรรทุก กะปิ น้ำปลา ปลากะพง ปลากุเลา ปลาทู ปลากะพง มาจอดขายอยู่ท้ายวัดพระนางเชิง นี่ก็คืออีกหนึ่งหลักฐานว่า บ้านเขายี่สารนั้นมีมาแต่ครั้งกระโน้นโน่นเทียว
หลักฐานจากวัดเขายี่สารนั้นพินิจกันที่ บานประตูแกะสลักบานหนึ่ง เป็นลายก้านขด ลักษณะคล้ายเถามะลิเลื้อย ตรงกลางเป็นรูปลายกะหนกรูปดอกบัวตูม อีกบานหนึ่งเป็นลายสานแบบตะแกรงมีลายสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสองอยู่ตรงกลาง
ด้านหน้าโบสถ์มีซุ้มพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ เป็นเอกลักษณ์หนึ่งในหลายสิ่งของวัดเขายี่สารที่งดงามมากๆ นอกจากนี้บานหน้าต่างยังมีภาพเขียนตัวละครในพงศาวดารเรื่อง ห้องสิน
พระประธานในอุโบสถปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทองสวยงามนอกจากนั้นยังประดิษฐานด้วยรอยพระพุทธบาทจำลอง ส่วนด้านหน้าอุโบสถเป็นศาลาการเปรียญเก่าที่ยังมีร่องรอยให้เห็นอยู่ รอบๆมีเจดีย์บรรจุอัฐิญาติโยมทั่วไป
วิหารด้านหลังอุโบสถหลังเก่า สร้างด้วยศิลปะร่วมสมัย ลวดลายปูนปั้นงดงาม ซุ้มประตูและหน้าต่างงดงาม แต่ภายในไม่ได้เข้าไปชม หากวันใดได้เข้าไปชมจะถ่ายรูปมาให้แฟนๆได้ชมอีกครั้ง
ผมเดินลงจากเขายี่สารทางด้านหลัง ผ่านศาลาหลังใหญ่ เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร มีเรื่องเล่าหลายสิ่งที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่เป็นวัสดุเก่าที่เป็นหลักฐานการเกิดและดำรงอยู่ของชุมชน
พอเดินไปทางลานหน้าวัดติดแม่น้ำแม่กลอง มีศาลาริมน้ำที่เก่าแก่และเป็นศิลปะวัตถุอีกชนิดหนึ่งที่เหลืออยู่ ในอดีตคือศาลาท่าน้ำที่ชาวบ้านจะแวะขึ้นท่าลงท่า หรือนั่งเล่น รับลมเย็นๆหน้าวัด ควรอนุรักษ์ศาลาท่าน้ำเหล่านี้ไว้ ในอนาคตจะไม่มีให้เห็น
พฤติกรรมชุมชนคนเขายี่สารนั้นหลักๆก็มีอาชีพประมง อวนล้อมปลาทู โป๊ะ เลี้ยงหอยแครง หอยแมลงภู่ มีเรือประมงทั้งเรือเล้กและเรือใหญ่ออกหาปลา หนุ่มแน่นอาจเป็นไต้ก๋งเรือ บางคนอาจเป็นกลาสีเรือ พ่อค้าคนกลาง พ่อค้าปลาปลีกย่อย ทำกะปิ น้ำปลา ปลาเค็ม
อาชีพของชาวเขายี่สารยังมีการทำไม้ป่าชายเลนเพื่อเผาเอาถ่าน อดีตก็เป็นป่าสัมปทาทำไม้โกงกาง แต่ภายหลังด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นก็ได้มีการปลูกป่าไม้โกงกางบนที่ดินของตนเอง แล้วก็ตัดหมุนเวียนเพื่อเผาถ่าน โดยไม่ต้องพึ่งพาป่าโกงกางตามธรรมชาติอีก
วันนี้ บ้านเขายี่สารและวัดเขายี่สารได้พัฒนาไปตามนโยบายขายการท่องเที่ยว ขายวิถีชีวิตของชาวประมงบ้านเขายี่สาร ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการนำพืชป่าชายเลนมาใช้ประโยชน์ หรือการใช้เปลือกไม้ เนื้อไม้ มาเป็นสีย้อมผ้าจากธรรมชาติ
มีของที่ระลึกและของเล่นที่ประดิษฐ์จากผลหรือเมล็ดไม้ป่าชายเลนเช่น ลูกตะบูน เม็ดตะนัน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมเรื่องอาหารการกินของชาวเขายี่สารที่ใช้วัตถุดิบจากพืชและสัตว์ป่าชายเลน
แม้แต่การวางกับดักปูโดยประมงเรือเล็ก ก็เป็นการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นทำมาหากินตามประสาคนชายน้ำป่าชายเลน การเลี้ยงหอย การล้อมโป๊ะปลาทู การตกปลา ตกกุ้ง แต่การแล่นเรือผีหลอก ไม่รู้ว่ายังมีเหลืออยู่หรือเปล่า