http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 25/01/2025
สถิติผู้เข้าชม14,649,652
Page Views17,006,805
« April 2025»
SMTWTFS
  12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930   
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ฤาษีแห่งเลตองคุ ตอน2. โรงเรียน ตชด.บ้านเลตองคุ โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

ฤาษีแห่งเลตองคุ ตอน2. โรงเรียน ตชด.บ้านเลตองคุ โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

ฤาษีแห่งเลตองคุ

ตอน 2.โรงเรียน ตชด.บ้านเลตองคุ

โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

           เช้าตรู่ ผมมุดออกจากเต็นท์ที่กางนอนหน้าสุขศาลาพระเทพ ไอเย็นโรยตัวอยู่รอบๆ หมอกไล้ยอดไม้ที่บนภูเขาเบื้องหน้า เป็นค่ำคืนที่เงียบสงบ ได้ยินเพียงเสียงหริ่งหรีดเรไรที่ขับขานกันก้องพงไพร แต่ไม่ได้ยินเสียงสัตว์กีบเช่นเก้ง กวาง “เห่า”เลย  ไม่ได้ยินแม้เสียงไก่ป่าทำหน้าที่นาฬิกาปลุกทุกชั่วยาม ไม่มีแม้แต่ไก่บ้านขับขานด้วย เป็นดินแดนสงบงามตามพฤติกรรมของสังคมกะเหรี่ยงที่นับถือฤาษีเป็นสรณะ

 

เต็นท์ที่กางนอน

           หมู่บ้านเลตองคุตั้งมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่เมื่อหมวดตำรวจตระเวณชายแดนที่ 611 ขึ้นไปปฏิบัติการเมื่อปีพ.ศ.2529 พบว่า มีกะเหรี่ยงที่พูดภาษไทยได้เพียงคนเดียว ชื่อหม่อเอหมี  เดือนสิงหาคม พ.ศ.2529 หมวด ตชด.610 ขึ้นไปเปิดสอนหนังสือเพื่อให้พูดอ่านเขียนภาษาไทยได้  มีเด็กๆมาเรียนเพียง 7 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 3 คน แต่อายุขัยการเปิดสอนทำได้เพียง 1 เดือนก็ต้องเลิกล้มไป ด้วยว่าชาวกะเหรี่ยงกลัวว่าจะทำให้ความเชื่อเรื่องฤาษีเสื่อมสลายไป

 

ผอ.สุรินทร์ ติเพียร และตชด.

             ความพยายามยังไม่สิ้น ปีพ.ศ.2532 พ.ต.อ.เทโพ ตรีชนะ และผบ.ร้อย ตชด. 347 ร.ต.อ.ไพศาล สุระวาศรี ไปพบว่ามีเพียงผู้ใหญ่บ้านคนเดียวที่พูดภาษาไทยได้ จึงได้ประสานงานกับ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนตาก ให้ครู 2 คน ครูอาสา 1 คน ตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนภาษาขึ้น เปิดสอนวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2533 สอนทั้งนักเรียนและชาวบ้าน

 

โรงอาหาร

            พอถึงปีพ.ศ.2534  นำเข้าโครงการพระราชดำริ ปัจจุบันนี้ เป็นโรงเรียนตำรวจตระเวณชายแดนบ้านเลตองคุ มีครูชาย  8 คน  ครูหญิง 2 คน นักเรียนชาย 169 คน นักเรียนหญิง 144 คน รวมทั้งสิ้น 363 คน การสื่อสารสามารถติดต่อได้ที่ letongku_342@hotmail.com เท่ห์หยอกซะไม่มี จากอุ้มผาง-รร.บ้านเลตองคุ 105 กม. เป็นพื้นที่ตั้งของโรงเรียนที่ห่างไกลจากชุมชนคนฤาษี หากนักท่องเที่ยวหรือบุคคลภายนอกไปเยี่ยมยามต้องพักแรมบริเวณนี้ดีที่สุด เป็นพื้นที่ยกเว้นเรื่องอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์  

 

รดน้ำผักทุกเช้าที่เข้าเวร

              คณะครูที่สอนหนังสือนั้นมีทั้งครูจากตำรวจตระเวนชายแดน ครูอาสา ครูจาก สพฐ. ได้เห็นสภาพของโรงเรียนแล้วก็น่าเห็นใจ เป็นโรงเรือนเรียบๆ สีเก่าๆ มีโรงเรือนพิเศษเป็นโรงอาหารของนักเรียน มีแปลงปลูกผักไว้เป็นอาหารกลางวัน มีบ้านพักครูอยู่ริมฝั่งห้วยน้ำใสๆ มีอาคารเรียนตั้งอยู่กระจัดกระจาย และที่น่าเห็นใจมากก็คือ การติดต่อสื่อการกับบุคคลภายนอก ครูได้รับความยากลำบาก แต่ด้วยหน้าที่และอุดมการณ์จึงอดทนหรืออาจจะต้องทนทำ

 

กระท่อมพักครู น่าเอ็นดู

             ผมเดินตามคณะผอ.ททท.ตาก คุณสุรินทร์ ติเพียร ไปยืนคุยกับ ตชด.และครูที่หน้าโรงเรียน ยืนพูดคุยกันไปท่ามกลางไอหมอกจางๆ เหลียวไปเห็นบ้านกะเหรี่ยงมีต้นมะพร้าวและหมากขึ้นปะปนอยู่กับทุเรียน เดินไปชะเง้อดูเด็กนักเรียนทำหน้าที่เวรรดน้ำแปลงผัก แล้วก็ไปเยี่ยมยามบ้านพักครูหลังกระจิดริ๊ด เด็กนักเรียนคนหนึ่งเดินคัดเลือกหัวกะหล่ำแล้วตัดไปส่งโรงอาหาร ในโรงอาหารมีทีวีตั้งอยู่เครื่องหนึ่ง นี่คือความบันเทิงผ่านระบบดาวเทียม หนึ่งเดียว

 

แปลงผักนักเรียน ปลูกเองกินกันเอง

           เด็กๆในหมู่บ้านยั้วเยี้ยยังกับมด วิ่งเล่นกันตามประสาอย่างร่าเริงและน่ารัก ดวงตาที่ใสซื่อบริสุทธิ์ปราศจากความเคลือบแฝงใดๆ แต่ละคนนุ่งห่มด้วยเสท่อทรงกระบอกสีขาวแถบสีบานเย็น แต่ทั้งสองสีที่เห็นผสมกับฝุ่นจนกลายเป็นสีโก้ซะมากกว่า เด็กชายเด็กหยิงแต่ด้วยชุดเดียวกัน ตัดผมสั้นๆกันทุกคน ยังไม่พ้นวัยเรียนก็ยังไม่ต้องไว้ผมยาวเยี่ยงฤาษี

 

         จอมทะโมนมีทั้งหญิงและชาย ปีนป่ายไล่กวดกันตามประสา แต่ด้วยความคะนอง บางคนแก้ผ้าโชว์เพศให้เห็น ดูเหมือนเขาจะเริ่มชาชินกับคนแปลกหน้า โดยเฉพาะคนที่ถือกล้องถ่ายรูป บางกลุ่มเดินตามพวกเราไป บางกลุ่มยืนมองเฉยๆ ใบหน้าราบเรียบเหมือนเห็นตอไม้เคลื่อนไหวได้ แต่บางกลุ่มเริ่มเอียงอายกับสภาพของตนเอง

 

           เด็กนักเรียนชายหญิงเมื่อจบการศึกษาภาคบังคับ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนใหญ่เลิกไปเรียนต่อ และเริ่มไว้ผมยาวเยี่ยงฤาษี มัดผมยาวๆด้วยผ้าแถบสีสันตามชอบ ใส่เสื้อผ้าแบบคนนอก มีกระดุมกลัดร่องหน้าอก สีเสื้อผ้าเริ่มเปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมใหม่กำลังคืบคลานเข้าถึง อาจจากการได้รับชมทางทีวีดาวเทียม อาจเพราะว่านักท่องเที่ยวนำเสื้อผ้าเข้าไปแจก หรืออาจเพราะว่าอยากเปลี่ยนแปลงให้เหมือนโลกภายนอก

 

ชุดขาวแถบชมพูเรียกว่า เชวา แต่หนุ่มน้อยนุ่งโสร่งกับเสื้อเชิ้ต

            แน่นอนว่า ผลจากการศึกษาที่โรงเรียนจะทำให้เกิดพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ความเชื่อ และความศรัทธา น่าจะคงอยู่

            “ทำไมไม่ไว้ผมยาวอย่างคนอื่นๆ” ผมถามจากหนุ่มกะเหรี่ยงคนหนึ่งซึ่งตัดผมรองทรง สวมเสื้อผ้าทั่วๆไป

            “ผมเพิ่งกลับจากไปทำงานที่จังหวัดระยองครับ” ผมฟังเขาเฉลยแต่ก็ยังไม่เข้าใจ

ความน่ารักของเด็กๆ เล่นกันตามประสา

            “ตอนจะออกไปหาประสบการณ์ชีวิตนอกหมู่บ้าน ผมตัดผมยาวออกเพื่อให้เหมือนกะเหรี่ยงที่อื่นๆ แต่เมื่อกลับมาอยู่บ้านเดิม ผมก็จะเลี้ยงผมให้ยาวอย่างฤาษีที่นี่ครับ”

            นี่คือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงชั่วคราว นี่คือทฤษฏีที่น่าทำการศึกษาวิจัยต่อไป

ฤาษีผสม ชุดเชวากับชุดสมัยนิยม

ผช.มาต้อนรับ นี่คือฤาษี

ถ่ายไว้ให้จดจำรำลึกถึงเสมอ

 

 

Tags : ฤาษีแห่งเลตองคุตอน1. ตะลุยภู

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view