จาริกธรรม 4 ตำบล
1.พุทธคยา สถานที่ทรงตรัสรู้
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ใกล้ค่ำเต็มทีเมื่อรถจอดที่หน้าวัดมหาโพธิ์(Mahabodhi Temple) หรือ Bodh Gaya และภาษาบาลีเรียกว่า พุทธคยา อันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งด้วยพระสงฆ์จากชาวพุทธทั่วโลก เช่น บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา เนปาล กัมพูชา เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนาม มาร่วมกันสวดมนต์พร่ำพรมคาถาขององค์พระตถาคต เป็นครั้งที่ 9 ปีนี้อยู่ระหว่างวันที่ 2-12 ธันวาคม 2556 อลังการงานนี้เชียวแหละครับ
The 9th Annual Tipitaka Chanting Ceremony 2-12 December,2013
ผู้นำทานให้กับพุทธศาสนิกชน
พุทธคยาวันนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ขององคืการยูเนสโก้(UNESCO) เมื่อปีพ.ศ.2545 โดยได้รับการดูแลจากพี่น้องชาวพุทธและชาวฮินดู ร่วมกัน เป็นสมบัติของมวลหมู่พี่น้องร่วมโลกที่ทรงคุณค่า ควรแก่การเยี่ยมชมและกราบไหว้พุทธสถานอันเป็นมหาเจดีย์ที่ได้รับการฟื้นฟูบูรณะขึ้นใหม่จนสมบูรณ์ดังในภาพที่เห็นนี้
ประตูทางเข้าวัดมหาโพธิ์เจดีย์พุทธคยา
พระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ นี้สร้างด้วยศิลปะชมพูทวีปรูป ๔ เหลี่ยม ฐานสี่เหลี่ยมด้านเท่า ปลายเรียวทรงกรวย สูง ๑๗๐ ฟิต โดยรอบฐานองค์พระเจดีย์วัดได้ ๕๘ เมตรกับ ๗๖ เซนติเมตร สร้างเป็นแบบ ๒ ชั้น ส่วนฐาน รวมทั้งด้านหน้ามุขที่ยื่นออกมา วัดโดยรอบได้ ๑๒๑ เมตร กับ ๒๙ เซนติเมตร ส่วนสูงของฐานวัดได้ ๑๖ ฟิต หย่อน ๕ เซนติเมตร
และบริเวณบนฐานที่กล่าวถึงอยู่นี้ มีพระเจดีย์องค์ขนาดย่อม ๔ องค์ ซึ่งมีทรวดทรงและศิลปะในการสร้างแบบเดียวกันกับพระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์สูงประมาณ ๔๕ ถึง ๕๐ ฟิต ตั้งแวดล้อมทั้ง ๔ มุม ส่วนทางด้านตะวันออกขององค์พระเจดีย์สร้างเป็นซุ้มหน้ามุขมีเชิงหน้ากระจังยื่นออกมาทั้ง ๒ ชั้น แต่มีลักษณะลดหลั่นและเล็กกว่ากันอย่างได้สัดส่วน
หลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ กว่า 2556 ปี พระพุทธศาสนารุ่งเรืองกว้างไกลในชมพูทวีป ณ แคว้นมคธ เมืองปาฏลีบุตร(เมืองปัทนะ) ที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงครองราชย์ พระองค์ทรงลิ้มรสพระธรรมจนซาบซึ้งจึงได้ทรงสร้างพุทธคยามหาเจดีย์ช่วงระหว่างปีที่ทรงครองราชย์ พ.ศ.270-311 กษัตริย์พุทธในอินเดียองค์ต่อๆมาได้บูรณะและต่อเติมเพิ่มมากขึ้นๆ และเริ่มเสื่อมลงเมื่อชาวมุสลิมได้บุกเข้าทำลายจนสิ้น ศาสนาพุทธแทบหมดไปจากแผ่นดินอินเดีย
ชาร์ลส์ ดอยส์ ได้เขียนภาพพระมหาโพธิ์เจดีย์พุทธคยาเมื่อปีพ.ศ.2370 ยังมีสภาพที่เห็นทรวดทรงและรูปลักษณ์ขององพระมหาเจดีย์
ก่อนการบูรณะพระมหาโพธิ์เจดีย์เมื่อปีพ.ศ.2417 มีการถ่ายภาพพระมหาโพธิ์เจดีย์พุทธคยาไว้ ก่อนที่พระเจ้ามินดงพระมหากษัตริย์พม่าได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อบูรณะหลังถูกทิ้งร้างกว่า 1,000 ปี
แต่ค่ำนี้ ผมได้มากราบไหว้พระมหาโพธิ์เจดีย์พุทธคยาองค์ที่สวยสม ภายใต้การตกแต่งเพื่อเฉลิมฉลองด้วยการสวดมนต์บูชาครั้งที่ 9 มีพระสงฆ์จากประเทศดังกล่าว มีซุ้มให้พระสงฆ์ได้นั่งสวดมนต์ ในฐานดังกล่าวนี้แหละครับที่ชวนให้ผมเดินไปเยี่ยมชม ผมเป็นคนเขียนหนังสือแม้จะเป็นพุทธศาสนิกชน แต่ก็ไม่ได้เคร่งดังภาพที่เห็น ช่างน่าศรัทธาเหลือใจ
ผมเดินถ่ายรูปไปจนรอบองค์พระมหาเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ โดยมีเพื่อนพี่น้องพุทธจากทุกสารทิศ สำเนียงที่สื่อสารกันจับใจความได้ว่ามีทั้งชาวไทย พี่น้องลาว กัมพูชา ศรีลังกา เวียดนาม และแยกแยะไม่ออกด้วยว่าไม่รู้สำเนียงที่แตกต่าง ตลอดจนการแต่งองค์ทรงเครื่องของพระสงฆ์แต่ละประเทศก็ช่างแตกต่างกัน
ที่เห็นแตกต่างมากคือพี่น้องชาวพุทธจากทิเบต ซึ่งหน้าตาท่าทางและวิธีการกราบไหว้โดดเด่นเห็นชัดเจนเหมือนในสารคดีทีวีที่เคยเห็น ส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนมากกว่าพระสงฆ์ ๆ นั้นจะนิยมนั่งท่องคาถาจากหนังสือเล่มใหญ่ๆ จับตามมุมต่างๆ สวมผ้าจีวรสีเข้มเกือบแดง นุ่งห่มพร้อมสู้ลมหนาว แต่ละองค์ล้วนเคร่ง สมถะ และดูเยือกเย็น น่าเคารพยิ่ง
ได้เวลาที่ไกด์ทอม(สุวิทย์ คำอาจ)นัดหมาย ผมเดินออกไปรอที่หน้าประตูทางเข้าวัดตามกำหนดเวลา บอกตามตรง แม้อยากถ่ายรูปอีกมากมาย แต่เมื่อมีการกำหนดเวลานัดหมายจึงต้องตรงต่อเวลา มิเช่นนั้นการไปท่องเที่ยวเป็นกลุ่มแบบทัวร์เหมาเช่นนี้อาจเกิดปัญหาได้ นักท่องเที่ยวที่ดีจึงต้องรักษาเวลาร่วมกัน การท่องเที่ยวจึงสนุกและได้ใจ
หากถือว่าอภิสิทธิ์ชนคนสื่อละก้อ น่ารังเกียจเชียว ขอขอบพระคุณสายการบินซิตี้แอร์เวย์ www.cityairways.net ที่กรุณาสนับสนุนการเดินทางในครั้งนี้