ตะลอน...เลย3.
เชียงคาน วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
เชียงคาน เป็นอำเภอติดแม่น้ำโขง มีถนนชายโขงเลียบแม่น้ำโขง บ้านเรือนที่ปลูกสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งติดแม่น้ำโขง อีกฝั่งหนึ่งติดชุมชนและถนนอีกสายที่อยู่แถวใน มีท่าเรือที่ต้องเดินลงไปเพื่อใช้ประโยชน์จากการสัญจรทางน้ำ ข้ามไปมาหาสู่กับพี่น้องทางฝั่ง สปป.ลาว อันเป็นคนเชื้อชาติดั้งเดิมที่อพยพข้ามมาตั้งเมืองเชียงคานนั่นเอง
บ้านไม้หลังเก่าแปลงเป็นร้านขายของฝาก
ต่อมาพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนก็เข้ามาทำมาหากิน ลงหลักปักฐานแต่งงานกับคนท้องถิ่น ส่วนใหญ่ทำมาค้าขายโดยอาศัยห้องแถวไม้ที่ปลูกเป็นอาคารพาณิชย์ บ้างค้าของชำ บ้างค้าของป่า รับซื้อและขายจากพี่น้องทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว บ้างก็เปิดขายอาหารเป็นร้านข้าวต้มตามสั่ง บ้างก้าวไกลไปอีกก็เปิดโรงแรมเพื่อให้คนต่างถิ่นได้พักแรมคืน
บ้านเรือนสองฝั่งถนนชายโขงจึงมีทั้งเรือนไม้ แบบเรือนแถว และเรือนไม้เป็นหลังๆ ตามแต่ฐานะและกิจการที่ทำอยู่ ชั้นเดียวบ้าง สองชั้นสามชั้นบ้าง ไม่มีกติกาแน่นอน มีกระทั่งโรงเตี๊ยม โรงหนัง โรงยาฝิ่น โรงเรียน คละเคล้าไปกับวัดในพุทธศาสนา หัวตลาดวัดหนึ่ง ท้ายตลาดอีกวัดหนึ่ง วิถีชีวิตดั้งเดิมจึงมีพระสงฆ์ออกโปรดสัตว์ บิณฑบาตทุกเช้า
ภาพอย่างนี้มีให้เห็นทั่วไป
สภาพภูมิประเทศริมชายแม่น้ำโขง เป็นที่ราบลาดเนิน สภาพภูมิอากาศปกติมีทั้ง 3 ฤดู คือ ฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน เป็นสภาพภูมิอากาศที่เป็นมาชั่วนาตาปี ยามเข้าฤดูหนาวลมหนาวโชยมาเมื่อใด ก็หนาวขึ้นทีละนิดๆ จนหนาวสั่น ผิวกายที่แห้งเริ่มปริแตก แสบคันไปตามแต่ละบุคคล บางคนแก้มแดงปลั่งแต่แตกลายงา ต้องทาด้วยน้ำมันมะพร้าว
กาแฟสดร้านเก๋
บางคนริมฝีปากที่เคยอิมเอิบเรื่องปริแตกเป็นร่อง แสบอย่าบอกใคร แม่จะให้ขี้ผึ้งหรือสีผึ้งที่ใช้ทาปากก่อนกินหมาก ใช้ทาถูเพื่อสมานริมฝีปากแดงที่แตกอ้า แต่บางคนต้องทนทุกข์ทรมานมากยิ่งขึ้นเมื่อต้องออกไปทำงาน แล้วย่ำไปบนดินที่ชื้น น้ำที่แฉะ ผิวหนังของเท้าแตกจนอ้า ทั้งแสบและคัน แม่ต้องใช้ด่างทับทิมละลายน้ำอุ่นแล้วแช่เท้าเพื่อป้องกันเชื้อโรคก่อนจะทาด้วยขี้ผึ้งหรือครีมสมัยใหม่ในเวลาต่อมา
อาอี๊เปลี่ยนเป็นเจ้าของโฮมสะเตย์
เรื่องเสื้อหนาวที่ต้องนุ่งห่มนั้น ส่วนใหญ่พี่น้องชาวเชียงคานจะถักทอกันจากไหมพรมสีสันฉูดฉาด เป็นเสื้อกั๊กแขนกุดบ้าง เป็นเสื้อหนาวแขนยาวทั้งตัว สวมทับไปอีกชั้นเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น แม้ว่าคนเชียงคานจะเคยปลูกฝ้ายกันมาก ถักทอเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มได้ แต่ความหนาวเหน็บที่เกินกำลังก็ต้องมีตัวช่วย
หนุ่มสาวปั่นจักยานเที่ยว
ในยามหนาว ไม่ใช่แค่อากาศที่หนาวเย็น แต่มีหมอกลงพรมพรายไปทั้งตลาด ไม่เลือกที่บ้านชานเมืองหรือที่ทำการนายอำเภอ ได้รับความหนาวเหน็บจากอากาศและหมอกเหมยอย่างเท่าเทียมกัน
เป็นความสุขอีกมิติหนึ่งที่เช้าขึ้นมาก็ดังไฟใกล้ตัว อาศัยไออุ่นให้กับร่างกายโดยเฉพาะฝ่ามือที่ยื่นไปอังความร้อน เพิ่มความสุขให้ทรงจำ
ข้าวจี่ชุบฟักทอง ยุคนี้
ยามเช้าอย่างนี้แหละ แม่จะปั้นข้าวเหนียวเป็นแผ่นบางๆ แล้วเสียบปลายไม้ไผ่ซีก ปักอิงไออุ่นจากกองไฟ เด็กๆในครอบครัวตาเป็นมัน เหล่กันไปแล้วก็เหล่กันมา พูดคุยกันเป็นปกติ
แต่คราใดที่เห็นว่า ข้าวจี่เริ่มส่งกลิ่นหอมขึ้นจมูก ต่างจดจ้องและกลืนน้ำลายลงคอแผ่วๆ แม่แบ่งปันให้ได้กินทุกคน ช่างเป็นความสุขเหลือแสน
มันแดงเผา หอมอร่อย
ค่ำลง หลังเสร็จจากภารกิจ ทั้งครอบครัวก็มารวมตัวกันอีก หน้าบ้านใครก็หน้าบ้านมัน สุมไฟให้ไออุ่นกันทั่วทุกครัวเรือน คราวนี้อาจมีปิ้งไก่ผิงไฟให้สุก หรืออาจเป็นปลา หรือนก หนูที่พ่อหามาได้ ที่ลืมไม่ลงก็กระติ๊บข้าวเหนียวตั้งอยู่ใกล้ๆ แจ่วอีกถ้วยหนึ่ง จะเผ็ดมากเผ็ดน้อยขึ้นอยู่กับฝีมือของแม่ใคร ปรุงรสไหน
ร้านขายของฝาก
นอกจากนั้น ยังอาจจะมีมันแดง หรือเผือก หรือฟักทอง ปิ้งบนเส้าไปกองน้อย เป็นขนมที่เติมเต็มให้กับชาวเชียงคานบ้านป่าแต่อดีต กลิ่นหอมของเนื้อมันส่งกลิ่นตลบอบอวล เมื่อนั้นแหละ พวกเด็กๆจะได้แบ่งปันกันทั่วหน้า แต่วันนี้ ผมเห็นเขาปิ้งมันแดงบนตะแกรงเหล็ก ก็อยากกิน ต้องเอาสักหน่อย เพื่อ รำลึกถึงวันวาน
วันนี้ เชียงคานบนถนนชายโขงได้เปลี่ยนแปลงไปจากวิถีชีวิตดั้งเดิมเกือบสิ้น กลายเป็นร้ายขายอาหารยามราตรี รถเข็นแบบเก่าๆ มีขนมและปิ้งกุ้งฝอยให้เลือกหยิบ ที่เยอะมากก็ลูกชิ้นปิ้งหรือทอด เป็นวิวัฒนาการการกินที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย บางบ้านขายของที่ระลึกมากมายหลายอย่าง เสื้อแสงที่เขียนคำว่า เชียงคาน มากแบบ
ฝรั่วนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ภายใต้แสงแดดอุ่นๆ
ร้านขนมเส้น ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านอาหารตามสั่ง มีให้เลือกได้ไม่จำกัด รถจัรยานสองล้อถีบกลายเป็นพาหนะของนักท่องเที่ยว บ้านเรือนแถวหรือเป็นหลัง ถูกดัดแปลงเป็นเรือนพักแบบโฮมสะเตย์ หรือรีสอร์ท หรือโรงแรม มีแม้กระทั่งที่เรียกว่า เกสท์เฮ้าส์ ฝรั่งอั้งหม๊อนั่งอ่านหนังสือพิมพ์อาบแดดอย่างสุขสม
ศิลปินนักร้องเปิดหมวก
ผมไม่ทราบว่า องค์กรไหน ทำให้เชียงคานเปลี่ยนไป การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือนายอำเภอคนไหน ไม่มีข้อมูลให้สืบค้นบนอินเตอร์เนต โทรไปถาม ททท.เลย ว่าเชียงคานมีโรงแรม รีสอร์ท โฮมสะเตย์ และเกสทเฮ้าส์ เท่าไร ไม่ได้คำตอบ เธอให้เบอร์อำเภอเชียงคานมาเบอร์หนึ่ง ซึ่งเธอว่า อำเภอน่าจะมีข้อมูลมากกว่า
กุ้งฝอยเสียบไม้ เพิ่งเคยกิน
ผมโทรไปแล้ว รอสายแล้ว ก็ตัดฉับเป็นแฟกซ์ การเขียนสารคดีตอนนี้ของผมจึงห้วนๆเพียงนี้ อยากไปพักที่ไหนก็เปิดอินเตอร์เนตกันนะครับ แฮ่............
ถุงสำเร็จมีให้ซื้อมาสวมใส่ทิ้งชายรอบเอวอย่างในภาพ
แม้แต่ธนาคารก็แต่งให้เก๋ เพื่อถ่ายรูปเป็นที่ระลึก