สันปันน้ำและป่าต้นน้ำ
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-เจริญ ใจชน -ภาพ
ผมเห็นภาพนี้ นึกขึ้นได้ว่า ทำไมไม่เล่าเรื่องด้วยภาพเดียว ก็น่าจะเข้าใจได้ง่ายๆ ผมก็อปปี้รูปจากคุณเจริญ ใจชน เพื่อใช้งานนี้
สันปันน้ำ เป็นสันเขาที่แบ่งแยกพื้นที่ลุ่มน้ำหนึ่งกับอีกลุ่มน้ำหนึ่ง(Basin) ในรูปจะเห็นว่าสันเขาสูงสุดคือจุดแบ่ง หากน้ำฝนตกลงมาจากฟ้า จะไหลลงไปตามความลาดชันของแต่ละพื้นที่รองรับน้ำ

สันปันน้ำในทางวิชาการจัดการป่าไม้เรียกอีกชื่อหนึ่ง โดยมีต้นไม้เป็นองค์ประกอบ เรียกว่าต้นไม้บนสันเขา ต้นไม้กลุ่มนี้สามารถโปรยเมล็ดให้ร่วงไหลไปตามความลาดชันได้ทั้งสองด้าน เป็นกลุ่มต้นไม้ที่ช่วยให้การขยายพันธุ์ตามธรรมชาติเกิดขึ้นได้ดี

ในระเบียบการคัดเลือกตีตราไม้ตามเงื่อนไขสัมปทาน จึงกำหนดให้ยกเว้นไม่ตีตราคัดเลือกเพื่อตัดลงเป็นท่อนซุงทางการค้า แต่ให้คงไว้เพื่อเป็นแม่ไม้และไม้ป่าต้นน้ำสำคัญ

ป่าต้นน้ำ เป็นป่าที่อยู่บนขุนต้นน้ำของแต่ละลุ่มน้ำสาขาซึ่งจะไหลไปรวมกันเป็นห้วย แม่น้ำ คลอง ในทางวิชาการจัดการต้นน้ำ จึงกำหนดให้มีป่าต้นน้ำในปริมาณ 25-40 % ของแต่ละลุ่มน้ำและต้องมีอยู่บนขุนต้นน้ำเท่านั้นจึงจะมีผลกระทบต่อการดูดซับน้ำไว้บนเขาสูงเหมือนแทงค์น้ำที่เก็บกัก
ต้นไม้ให้ความชุ่มชื้น ปกป้องแรงตกกระทบของเม็ดฝน น้ำฝนจะไหลลงไปจากพุ่มใบเรือนยอดหนาทึบช้าๆ และส่วนหนึ่งไหลลงไปตรากิ่งก้านและลำต้นลงสู่ดิน ระบบเรือนรากจะดูดซับอนูน้ำไว้เหมือนเป็นแรงดึงดูด

ป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์จะช่วยให้มีน้ำไหลซึมทีละนิดๆตลอดปี ปริมาณน้ำไม่มีวันหมด คุณภาพน้ำที่ปราศจากดินตะกอน พร้อมให้ปลายน้ำมีน้ำใช้ได้สม่ำเสมอ แต่ถ้ามีป่าที่ลุ่มล่างของลุ่มน้ำ แทบไม่มีผลประโยชน์ต่อคำว่า ต้นน้ำแต่อย่างใด
การปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำจึงจำเป็นต้องปลูกบนเขาสูงเหนือต้นน้ำลงมา
